“ท่าสองยาง” อยู่ที่ไหน ?

“ท่าสองยาง” อยู่ที่ไหน ?

 

ถ้าจะเดินทางไป “ท่าสองยาง” จังหวัดตาก ต้องดูจุดหมายปลายทางให้ดีว่าเป็นที่ตำบลท่าสองยางหรือที่ตัวอำเภอท่าสองยางกันแน่ เพราะหากปักหมุดจุดหมายในแอปพลิเคชันแผนที่นำทางผิดไป ก็คงจะเสียเวลาเดินทางไม่น้อยเพราะทั้งสองแห่งตั้งอยู่ไกลกันพอสมควร

 

ที่ตั้งบ้านท่าสองยางและบ้านแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ทั้งสองแห่งเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำเมย  

(ปรับปรุงจากแผนที่ Google) 

 

บ้านท่าสองยาง ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย เดิมเป็นที่ตั้งของที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยาง เมื่อครั้งที่ยังขึ้นกับอำเภอเมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน) จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาคารที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยางสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ดังปรากฏในประกาศราชกิจจานุเบกษาว่า นายน้อยผัด กำนันตำบลท่าสองยาง ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้สร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ และนายสิกาเล่อ ผู้ใหญ่บ้านแม่เวย (แม่เหว่ย) ได้บริจาคทรัพย์สร้างอาคารที่ว่าการฯ โดยจะสร้างขึ้นเป็นอาคารเรือนไม้ชั้นเดียว ใช้เสาไม้แดง ฝาไม้ตะเคียน มุงหลังคาใบพลวง รวมเป็นจำนวนเงิน 700 รูปี และนายตะวาได้บริจาคสิ่งของเครื่องใช้สำนักงาน ได้แก่ เก้าอี้หวายนอน 1 ตัว เก้าอี้ผ้านอน 2 ตัว  เก้าอี้หวายนั่ง 3 ตัว โต๊ะเขียนหนังสือ 1 ตัว หม้อน้ำ 3 ใบ หม้อขันเหล็กวิลาส 3 ใบ กระดาษเขียนหนังสือครึ่งรีม หมึกดำ 2 ขวด ด้ามปากกา 3 ด้าม ปากกา 1 หีบ รวมเป็นเงินทั้งหมด 180 รูปี [1]

 

ชาวบ้านท่าสองยางส่วนมากเป็นคนเมืองที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่กับชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาแต่เดิม โดยชื่อ “ท่าสองยาง” เป็นคำที่คนเมืองใช้เรียกกัน ส่วนกะเหรี่ยงจะเรียกว่า “แม่ตะวอ” ในบันทึกเรื่อง ประวัติบ้านแม่ต้านในอดีต เขียนโดยอาจารย์ทอง ศิริวงษ์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ต้าน (ราษฎร์บำรุง) [2] กล่าวว่า “แม่ตะวอ เป็นภาษากะเหรี่ยง เรียกลำห้วยแม่จะวางว่าแม่ตะวอโกล” ซึ่งลำห้วยแม่จะวางมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาสูง ไหลผ่านบ้านแม่จวาง (ตำบลท่าสองยาง) แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านท่าสองยาง ส่วนชื่อบ้านท่าสองยางนั้น บ้างว่ามีที่มาจากต้นยาง 2 ต้น แต่ที่น่าจะเข้าเค้าที่สุดคือ “ยาง” ในความหมายที่คนเมืองใช้เรียกชาวกะเหรี่ยง เพราะแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกกะเหรี่ยงมาแต่เดิม

 

ริมแม่น้ำเมยที่ตำบลท่าสองยาง พรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างประเทศไทยและพม่า

ฝั่งตรงข้ามที่เห็นเจดีย์ตั้งอยู่เรียงราย ชาวบ้านเล่าว่าเดิมเป็นบริเวณที่ตั้งค่ายแม่ตะวอของกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู  

 

 

ร้านค้าตั้งอยู่ใกล้กับท่าข้ามบ้านท่าสองยาง 

 

บ้านท่าสองยางมีความสำคัญเพราะตั้งอยู่ตรงเส้นทางข้ามช่องเขาเข้าสู่ที่ราบในฝั่งพม่า จึงเป็นเส้นทางที่พ่อค้าวัวควายและชาวบ้านใช้เดินทางข้ามไปมาได้อย่างสะดวก ในบันทึกของโฮลต์ ซามูเอล ฮาลเลตต์ (Holt Samuel Hallet) วิศวกรผู้ดูแลการสร้างทางรถไฟในบริติชราช ซึ่งเดินทางสำรวจจากเมืองมะละแหม่ง ข้ามแม่น้ำเมย ไปแม่สะเรียง เชียงแสน เชียงใหม่ ความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการเดินทางมายังด่านชายแดนสยามที่ต้องลัดเลาะมาตามฝั่งแม่น้ำต่องยิน (แม่น้ำเมย) ขณะนั้นเป็นหน้าแล้ง น้ำแห้งขอด สามารถเดินข้ามได้ แต่บางช่วงน้ำสูงระดับบั้นเอว เมื่อข้ามมาแล้วต้องข้ามน้ำแม่ตะวอ ก่อนจะถึงด่านชายแดนสยาม [3] แสดงให้เห็นว่าบริเวณห้วยแม่ตะวอ ซึ่งก็คือบ้านท่าสองยางนั้น เป็นด่านที่สำคัญมาแต่เดิม 

 

สมัยก่อนการเดินทางติดต่อกันระหว่างหมู่บ้านยากลำบากมากเพราะแต่ละแห่งตั้งอยู่ห่างไกลกันมาก ดังเช่นการเดินทางระหว่างบ้านท่าสองยาง-บ้านแม่ต้านต้องใช้เวลาราว 3 วัน ในบันทึกของอาจารย์ทองได้กล่าวถึงเส้นทางนี้ไว้โดยละเอียดว่า

 

การเดินทางด้วยเท้าจากบ้านแม่ต้านพร้อมคนหาบ ต้องเตรียมเสบียงอาหารการกินให้พอ 3 วัน เดินทางไปตามทางเดิน พักนอนที่บ้านแม่อุสุ หรือเลยไปนอนแรมที่แม่ผารู รุ่งขึ้นเดินทางลัดป่าถึงห้วยแม่สอง แล้วข้ามห้วยแม่สองตรงที่เป็นสะพานเวลานี้ ที่ห้วยน้ำสองน้ำเชี่ยว หินลื่น ต้องระวังอย่าให้หกล้ม และเดินตามลำห้วยถึงบ้านแม่สลิดหลวง ถ้าจะพักนอนที่นี่ให้พักริมห้วยแม่สลิดหลวง หรือไม่ก็เลยไปนอนที่ข้างน้ำเมยที่บ้านแม่สลิดน้อย รุ่งขึ้นออกเดินทางต่อไปถึงห้วยโป่ง ห้วยแม่โขะ ห้วยแม่นิล ห้วยมะโหนก ถ้าเดินทางเหนื่อยมากก็พักนอนที่ห้วยนี้ รุ่งขึ้นจึงเดินทางผ่านห้วยแม่หีบ ป่าซางดำ น้ำออกรู ดอยหัวหมดหลวง ผาม่าน ดอยหัวหมดน้อยตามลำดับ จึงเข้าถึงหมู่บ้านท่าสองยางอันเป็นที่ตั้งกิ่งอำเภอ” 

 

ริมฝั่งแม่น้ำเมยที่ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก 

 

ชาวบ้านจากฝั่งพม่านิยมนั่งเรือข้ามมาซื้อสินค้าในตลาดแม่ต้านไปขาย 

 

หากจะล่องแพไปตามลำน้ำเมยต้องจัดเตรียมแพและอาหารการกินให้พร้อม อีกทั้งต้องจ้างคนที่ชำนาญการล่องแพและรู้ทางน้ำอีกอย่างน้อย 2 คน สมัยก่อนคิดค่าจ้างคนละ 5-8 รูปี ตามแต่จะตกลงกัน ต่อมาจ่ายเป็นเงินบาทคนละ 80-100 บาท ดังนั้น หากไม่มีสิ่งของที่ต้องขนส่ง ชาวบ้านจะนิยมใช้การเดินเท้ามากกว่า การล่องแพไปตามลำน้ำเมยต้องผ่านเกาะแก่งและหมู่บ้านหลายแห่ง เช่น แม่สอง แม่สลิดหลวง ก่อนจะถึงบ้านท่าสองยาง ระหว่างทางจะจอดพักตามหาดทรายริมน้ำเมยเพื่อหุงหาอาหาร ในหน้าแล้งใช้เวลาเดินทาง 4-5 วัน ส่วนหน้าฝนใช้เวลาเพียง 1-2 วัน การล่องแพทำได้แค่ขาไปจากบ้านแม่ต้านเท่านั้น ส่วนขากลับต้องใช้เส้นทางเดินเท้าตามที่กล่าวมา   

 

อาคารที่ว่าการอำเภอท่าสองยางหลังเก่าที่ตำบลแม่ต้าน

 

ในปี พ.ศ. 2491 กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายกิ่งอำเภอท่าสองยางมาขึ้นกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และได้ทำการย้ายสถานที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอจากตำบลท่าสองยางมายังตำบลแม่ต้านนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2492 เพราะสถานที่เดิมไม่สะดวกแก่การปกครองและประชาชนผู้ไปติดต่อ อีกทั้งไม่สามารถขยายความเจริญได้มากนัก จึงให้ย้ายไปยังหมู่ 1 ตำบลแม่ต้าน ซึ่งมีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น ทั้งเป็นทำเลค้าขายที่น่าจะขยายความเจริญได้มากกว่า [4] และต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ได้ยกสถานะจากกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอท่าสองยาง นอกจากนี้ยังตั้งสถานีตำรวจภูธรแม่เมยขึ้นภายหลังจากย้ายที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าสองยางไปอยู่ที่บ้านแม่ต้าน เนื่องจากเห็นว่าตำบลท่าสองยางมีอาณาเขตกว้างขวางและตั้งอยู่ห่างไกล [5]

 

ตลาดสดเทศบาลตำบลแม่ต้าน ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 ระยะแรกเป็นเพิงไม้ ใครจะมาค้าขายก็ได้ 

 

ด้ายหลากสีสันวางขายอยู่ภายในตลาดเทศบาลตำบลแม่ต้าน เป็นสินค้าที่ชาวกะเหรี่ยงนิยมซื้อไปทอเป็นเสื้อผ้าและถุงย่าม 

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 มีประกาศสร้างแนวทางหลวงจังหวัด สายแม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง จัดเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน และสร้างส่วนต่อขยายจากท่าสองยาง-แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันคือทางหลวงสาย 105 ส่งผลให้การคมนาคมสะดวกมากขึ้น การเดินทางด้วยแพตามลำน้ำเมยจึงหมดไป 

 

สรุป

บ้านท่าสองยางหรือบ้านแม่ตะวอ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง เดิมเป็นที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้ย้ายศูนย์กลางมายังบ้านแม่ต้าน ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเมยอีกแห่งหนึ่ง ดังนั้น ศูนย์กลางอำเภอท่าสองยางจึงตั้งอยู่ที่บ้านแม่ต้านมานับแต่นั้น

 

เชิงอรรถ

[1] ราชกิจจานุเบกษา, โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน สร้างที่ว่าการกิ่งท่าสองยาง แลให้สิ่งของเครื่องใช้เปนของรัฐบาล, (เล่ม ๓๓, ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙) หน้า ๖๗๐.

[2] เป็นเอกสารอัดสำเนาที่เผยแพร่กันในท้องถิ่น ผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์มาจากคุณตาบุญปิง มะโนวงศ์ ชาวบ้านแม่ต้าน เพื่อใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหมู่บ้านแห่งนี้ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 17 มีนาคม พ.ศ.  2544 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547   

[3] สุทธิศักดิ์ ปานโพธิ์ (แปล), ท่องล้านนาบนหลังช้างของโฮลต์ ฮาลเลตต์ พ.ศ. 2427, (กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, 2565), หน้า 27.

[4] ราชกิจจานุเบกษา, เรื่องย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, (ตอนที่ 52ง เล่ม 66, 20 กันยายน พ.ศ. 2492), หน้า 4,387

[5] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องตั้งสถานีตำรวจภูธรแม่เมย, (เล่ม 76 ตอน 50ง, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2502), หน้า 1,278.

 

ติดตามอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านท่าสองยางและบ้านแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และชีวิตวัฒนธรรมริมแม่น้ำเมย  ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 48 ฉบับที่ 4 "เมืองแม่ต้าน ชุมชนการค้าแห่งลุ่มน้ำเมย" 

สั่งซื้อได้ที่

Line Shop : https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/1003908124

Facebook : http://m.me/sarakadeeboranrobroo

 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ