สืบเค้าที่มาตำนานเมืองลับแล

สืบเค้าที่มาตำนานเมืองลับแล

 

เมืองลับแล เป็นเมืองโบราณแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีการกล่าวถึงตำนานที่มาของชาวลับแลไว้หลายข้อมูล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเชิงมุขปาฐะ ได้แก่

1) ตำนานเมืองลับแล (เมืองแม่ม่าย) ของ มณเฑียร ดีแท้ พ.ศ. 2519 เล่าว่าเมืองลับแลเป็นเมืองที่เข้าไปได้ยากและผู้คนรักษาสัจจะคำพูดเป็นอย่างมาก

2) ประวัติเมืองลับแล รวบรวมโดย พระครูสิมพลีคณานุยุติ อนาวิละเถระ พ.ศ. 2522 เป็นที่นิยมในการกล่าวอ้างถึงที่มาของชุมชนเมืองลับแลเป็นอย่างมาก กล่าวถึงที่มาของชาวลับแลว่ามาจากเมืองเชียงแสน

 

นอกจากนี้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 คณะทำงานศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลับแลและศูนย์ศึกษาเอกสารโบราณ (ศอบ.) มูลนิธิสืบสานล้านนา ได้ค้นพบ ตำนานฉบับเก๊า หรือ ตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์ วัดลับแลงหลวง ณ  วัดท้องลับแล อำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นอีกตำนานหนึ่งที่กล่าวถึงที่มาของชาวลับแลและการตั้งเมืองลับแล ถือเป็นการจุดประกายความรู้และการสืบค้นข้อมูลเรื่องที่มาของเมืองลับแลให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้มีความมุ่งหมายที่จะนำเสนอวรรณกรรมที่กล่าวถึงที่มาของชาวลับแลเพียง 2 เรื่องคือ ประวัติเมืองลับแล ฉบับพระครูสิมพลีคณานุยุติ อนาวิละเถระ กับตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบริบททางประวัติศาสตร์

 

ประวัติเมืองลับแล ฉบับพระครูสิมพลีคณานุยุติ อนาวิละเถระ พ.ศ. 2522

 

ประวัติเมืองลับแลฉบับนี้ พระครูสิมพลีคณานุยุต (จำปา  คำคง) ได้กล่าวถึงที่มาของเอกสารว่า“เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ครูบาอาจารย์และเพื่อนนักเรียนรู้ว่าข้าพเจ้าเกิดที่ลับแล ท่านก็เล่าเรื่องประวัติเมืองลับแลให้ฟัง ข้าพเจ้าถึงจนตรอก ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสืบถามค้นหาหลักฐานกับผู้เฒ่าผู้แก่ และแสวงหาหนังสือพงศาวดารภาคพายัพ โดยเฉพาะได้รับความรู้มาจากพระครูธรรมฐิติวงษ์คีรีเขต เจ้าคณะแขวงเมืองลับแล มาเรียบเรียงรวบรวมขึ้นเป็นวรรคเป็นตอน  และก็ได้แสดงปาฐกถาต้อนรับคณะผ้าป่ากรุงเทพฯ และปาฐกถาในงานปริวาสกรรมที่วัดดอนสัก ลับแลทุกปีด้วย เหตุนี้จึงได้อัดเทปไว้ให้ผู้สนใจเปิดฟัง ผู้ที่ได้ฟังแล้วก็ขอให้พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม” 

 

ประวัติเมืองลับแลจึงได้ถูกรวบรวมตีพิมพ์เป็นเล่มในงานพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2525

 

นอกจากพงศาวดารภาคพายัพที่พระครูสิมพลีคณานุยุตได้นำมาศึกษาแล้ว ท่านยังได้กล่าวไว้ใน อลัมภกถา ในหนังสือเล่มเดียวกันว่าได้ศึกษาจาก “หนังสือประวัติพระนครนาคพันธ์สิงหนวัติโยนกชัยบุรีศรีเชียงแสน ที่เป็นต้นตระกูลของชาวลับแล ประชาชนชาวเมืองเชียงแสนได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในหุบเขาลับแลตั้งแต่สมัยอาณาจักรโยนกเป็นเวลาผ่านมาช้านาน”  ในตำนานฉบับนี้ได้ให้ที่มาของชื่อเมืองลับแลอยู่ 2 ประการคือ

 

1) เหตุที่ชื่อ “ลับแล” มีที่มาจากพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับนั่งที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ แล้วก็เสด็จยืนที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคลทอดพระเนตรมองไปในป่าทางทิศเหนือ มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะมืดมัวด้วยหมอกเมฆจึงได้ชื่อว่า “ลับแล” ที่หมายถึง มองแลไปทางใดก็ไม่เห็นสิ่งใดเลย

 

2) มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “ลับแลง” ด้วยภูมิทำเลของพื้นที่เมืองลับแลมีเทือกเขาม่อนฤๅษีอยู่ทางทิศตะวันตกเป็นทิวเขาใหญ่ ช่วงเวลาเย็นแสงพระอาทิตย์จะลับไปกับม่อนฤๅษี จึงเรียกชื่อว่า “ลับแลง” หมายถึง พระอาทิตย์ลับหายไปช่วงตอนเย็น

 

อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 ตั้งอยู่ที่เชิงม่อนอารักษ์  อำเภอลับแล 

 

ตำนานนี้ยังบอกว่าชาวเมืองลับแลมีความเคารพต่อ “ปู่พญาแก้ววงษ์เมือง” ซึ่งเป็นผีปู่บรรพชนมาจากเมืองเชียงแสน พญาแก้ววงษ์เมืองเป็นอดีตกษัตริย์ในพระนครนาคพันธุ์สิงหนวัติโยนกชัยบุรีศรีเชียงแสน รัชกาลที่ 13 เมื่อคณะของหนานคำลือและหนานคำแสนออกเดินทางอพยพจากเมืองเชียงแสนได้เชิญให้ปู่พญาแก้ววงษ์เมืองเสด็จติดตามมาคุ้มครองรักษา จากเมืองเชียงแสนเดินทางรอนแรมมาถึงหาดงั่ววังแฟน (อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่) แล้วเดินทางข้ามภูเขามายังหุบเขาลับแลและได้ตั้งชุมชนบ้านเมืองขึ้นที่บ้านเชียงแสน หมู่ 1 ตำบลฝายหลวง โดยมีหนานคำลือและหนานคำแสนช่วยกันปกครองเมือง

 

เวลาผ่านไป 7 ปี เจ้าคำลือกับเจ้าคำแสนก็ชวนกันไปเข้าเฝ้า พระเจ้าเรืองธิราช พระมหากษัตริย์แห่งพระนครนาคพันธุ์สิงหนวัติโยนกชัยบุรีเชียงแสน รัชกาลที่ 21 เจ้าคำลือมีบุตรสาวชื่อ สุมาลี ส่วนเจ้าคำแสนมีบุตรสาวชื่อ สุมาลา ทั้งสองคนมีความสามารถพิเศษด้านการทอผ้า การปักหมอน และงานฝีมือต่างๆ เจ้าคำลือและเจ้าคำแสนได้นำผลงานของบุตรสาวไปถวายแด่พระเจ้าเรืองธิราช ทำให้พระเจ้าเรืองธิราชทรงดำริว่าเมืองลับแลเจริญขึ้นจึงควรมีพระมหากษัตริย์ปกครอง จึงได้ขอบุตรสาวของเจ้าคำลือและเจ้าคำแสนให้อภิเษกสมรสกับพระราชโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าฟ้าฮ้ามราชกุมาร  หรือ เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร 

 

เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารได้จัดขบวนอิสสริยยศจากเมืองเชียงแสนมาถึงเมืองลับแลที่บ้านเชียงแสน ฝ่ายเจ้าสาวได้จัดเครื่องขันหมากนำไปที่ม่อนอาฮักษ์(ม่อนอารักษ์) อันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองปู่พญาแก้ววงษ์เมือง ข้างฝายหลวง ซึ่งเมื่อทำพิธีเซ่นสรวงเสร็จแล้วจึงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรส เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองเมืองลับแลเมื่อ พ.ศ. 513

 

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 519 เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารได้ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้าพนธิราช พระเชษฐาที่เมืองโยนกนาคพันธุ์เชียงแสน และได้สร้างสถูปขึ้นที่วัดป่าแก้วเรไร (วัดเจดีย์คีรีวิหาร) กระทั่งในคราว พ.ศ. 525 กษัตริย์ขอมจากเมืองกัมโพช (ทุ่งยั้ง) ที่อยู่ทางทิศใต้ต้องการได้เมืองลับแลเป็นเมืองขึ้นเพราะเมืองลับแลมีความเจริญขึ้นมาก เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารจึงต้องยกทัพไปปราบศัตรูจนได้รับชัยชนะ สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า วัดชัยชุมพล และเมื่อยกทัพกลับได้แวะพักระหว่างทาง ซึ่งจุดที่เป็นสถานที่พักทัพจึงได้ชื่อว่า วัดดอนชัย

 

วัดเจดีย์คีรีวิหาร 

 

ตำนานเมืองลับแลฉบับพระครูสิมพลีคณานุยุต ประพันธ์ขึ้นโดยอาศัยเค้าโครงที่ยึดตามตำนานสิงหนวัติกุมาร โดยมีการนำบริบทของชุมชนลับแลมาอธิบายประกอบ ไม่ว่าจะเป็นขนบของงานฝีมือสตรี การเกษตรกรรม การปลูกทุเรียน ลางสาด และพืชพรรณต่างๆ เรื่องราวในตำนานสิงหนวัติกุมารเกิดขึ้นเมื่อมหาศักราชที่ 17 ตรงกับ พ.ศ. 430 เขียนในลักษณะตำนานของเชื้อวงศ์ไทยฮ่อ และเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้ตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 เมื่อ พ.ศ. 2479 ซึ่งเมื่อเทียบตำนานสิงหนวัติกุมารกับตำนานเมืองลับแลฉบับนี้ มีข้อสังเกตดังนี้

 

1) ในตำนานเมืองลับแลได้กล่าวถึงปู่พญาแก้ววงษ์เมืองว่าเป็นกษัตริย์เมืองโยนกเชียงแสน องค์ที่ 13 แต่เมื่อตรวจสอบกับตำนานสิงหนวัติกุมาร พบว่ากษัตริย์องค์ที่ 13 มีพระนามว่า พระองค์แก้ว ครองเมืองโยนกเชียงแสน ระหว่างปี พ.ศ. 889-930

 

2) พระเจ้าเรืองธิราช กษัตริย์องค์ที่ 21 ของเมืองโยนกเชียงแสน ผู้เป็นพระบิดาของพระเจ้าพนธิราชและเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารในตำนานเมืองลับแลนั้น ไม่มีปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนวัติกุมาร โดยในตำนานสิงหนวัติกุมาร กษัตริย์องค์ที่ 21 มีพระนามว่า พระองค์เกลา ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1039-1054 ส่วนกษัตริย์องค์ที่ 20 มีพระนามว่า พระองค์พัน และองค์ที่ 22 มีพระนามว่า พระองค์พิง จะเห็นว่าไม่มีพระนามใดตรงกันกับตำนานเมืองลับแลฉบับนี้เลย

 

3) เมื่อเทียบตามพุทธศักราชที่ปรากฏในตำนานเมืองลับกับตำนานสิงหนวัติกุมาร พบว่าช่วงเวลาที่เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารครองราชย์ที่เมืองลับแล พ.ศ. 513-525 ตรงกับสมัยของกษัตริย์โยนกเชียงแสนพระองค์แรกในตำนานสิงหนวัติกุมารคือ พระยาสิงหนวัติราช ที่ครองราชย์ช่วง พ.ศ. 431-532 ส่วนชื่อ หนานคำลือ ผู้นำเมื่อครั้งอพยพมายังเมืองลับแลนั้น พระครูสิมพลีคณานุยุตน่าจะนำพระนามของ พระองค์ลือ กษัตริย์องค์ที่ 17 มาเป็นต้นเค้าในการตั้งชื่อ

 

4) ตำนานสิงหนวัติกุมารดำเนินเรื่องตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาลกล่าวถึง เจ้าสิงหนวัติกุมาร พระโอรสของพระเจ้าเทวกาลแห่งนครไทยเทศ เจ้าสิงหนวัติกุมารได้สร้างเมืองชื่อว่า นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองสุวรรณโคมคำที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก ต่อมาเมืองล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำเพราะกษัตริย์และราษฎรกินปลาไหลเผือก

 

สังเกตว่าในตำนานสิงหนวัตกุมารไม่มีการใช้คำว่า “เชียงแสน” ต่อท้ายชื่อเมือง ต่างจากตำนานเมืองลับแล ส่วนอีกตำนานหนึ่งของล้านนาคือ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน เป็นตำนานที่กล่าวถึงบรรพชนของราชวงศ์มังราย เริ่มด้วยเทวบุตรชื่อ ลาวจก หรือ ลวะจังกราช ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งในตำนานสิงหนวัติกุมารก็มีเรื่องลาวจกเหมือนกัน แต่กล่าวว่าเป็นหัวหน้าชาวป่าชาติละว้า เรียกว่า ปู่เจ้าลาวจก หาใช่เทพบุตรที่จุติลงมาเป็นท้าวพระญามหากษัตริย์ อีกทั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยต้นพุทธกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเรื่องลาวจกที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน

 

จากตำนานล้านนาทั้งสองฉบับนี้ ชื่อเมืองในตำนานสิงหนวัติกุมารที่เป็นต้นเค้าให้กับตำนานเมืองลับแล ออกชื่อว่า “ช้างแสน” ขณะที่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน (ปู่เจ้าลาวจก) ออกชื่อว่า “เชียงแสน” ชัดเจนกว่า แต่กระนั้นเมืองเชียงแสนในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ก็มิใช่เมืองเชียงแสนในสมัยราชวงศ์มังรายที่ในชินกาลมาลีปกรณ์บอกว่าสร้างขึ้นโดยพระญาแสนภู เมื่อ พ.ศ.1870 ที่บริเวณใกล้กับสบกก ซึ่งก็คือเมืองโบราณเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ดังนั้น เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน และเมืองเชียงแสน จึงเป็นคนละเมือง คนละบริบทกัน

 

ตำนานฉบับเก๊า พระเจ้ายอดคำทิพย์ วัดลับแลงหลวง

 

ตำนานเมืองลับแลฉบับนี้ถูกค้นพบ 2 ฉบับ เขียนด้วยดินสอลงในกระดาษสมุด ฉบับแรกพบเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561 ระบุว่าเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2526 ส่วนฉบับที่ 2 พบในแฟ้มเอกสารบนกุฏิเก่า วัดท้องลับแล ระบุว่าเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2524 ในหน้าแรกของตำนานฉบับเก๊าฯ บอกประวัติที่มาของตำนานฉบับนี้ว่า เดิมเป็นธัมม์ล้านนาได้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ในคราวที่นายไทย และนางทอง แก้วพูลปกรณ์ ได้มาบูรณะฐานชุกชีพระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดท้องลับแล ซึ่งธัมม์ผูกนี้ห่อไว้ด้วยผ้าจีวรเก่าๆ วางไว้ที่ใต้ฐานพระประธาน สภาพค่อนข้างผุยุ่ยแตกหัก แต่ยังพออ่านความได้ ภายในเขียนเรื่องชื่อและประวัติของพระพุทธรูปประธานในอุโบสถแต่เป็นแนวอภินิหาร และยังมีเรื่องราวที่กล่าวถึงพญาแก้วและเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวลับแล

 

วัดท้องลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 

 

พระครูธรรมเนตรโสภณ (บุญธรรม  มาอาจ) เจ้าอาวาสวัดท้องลับแลได้นำตำนานฉบับนี้ไปปรึกษากับพระครูธรรมฐีติวงษ์คีรีเขตร (บุญใหญ่  อินทปญโญ)  เจ้าอาวาสวัดเจดีย์คีรีวิหาร ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน แต่พระครูธรรมฐีติวงษ์คีรีเขตร มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2502 จึงเป็นไปได้ยากที่พระครูธรรมฐีติวงษ์คีรีเขตรจะได้ตรวจสอบธัมม์ตำนานฉบับเก๊าฯ ใน พ.ศ. 2507 ได้ จึงมีความขัดแย้งเรื่องที่มาของเอกสารและเป็นปัญหาในความน่าเชื่อถือของตำนานฉบับนี้

 

พระครูธรรมเนตรโศภณเป็นผู้คัดลอกและแปลธัมม์พื้นเมืองผูกนี้ แล้วเสร็จในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 ในหน้าแรกของตำนานฉบับเก๊าฯ ได้บอกความมุ่งหมายของพระครูธรรมเนตรโศภณว่า หากท่านมรณภาพแล้วให้ศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์ตำนานนี้กับประวัติท่านเป็นที่ระลึก ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 นับเป็นเวลา 22 เดือน ตั้งแต่ท่านแปลธัมม์เสร็จ อย่างไรก็ดี ตำนานฉบับนี้เสมือนเป็นฉบับร่าง มิได้ลงลายมือชื่อพระครูท่านไว้แต่อย่างใด และในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูธรรมเนตรโศภณ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2527 ได้จัดพิมพ์ตำนานเมืองลับแล แต่เป็นฉบับพระครูสิมพลีคณานุยุต โดยในฉบับพิมพ์ครั้งนี้ระบุว่าหนานคำลือกับหนานคำแสนได้อพยพผู้คนมาที่ลับแลเมื่อ พ.ศ. 1500

 

 

พระเจ้ายอดคำทิพย์ (องค์กลาง) พระประธานในอุโบสถวัดท้องลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

 

นอกจากนี้นายสมปรารถน์  เสาวไพบูลย์ นายอำเภอลับแลในช่วงปี พ.ศ. 2526-2527 ได้นำตำนานลับแลฉบับพระครูสิมพลีคณานุยุตมาชำระเรียบเรียงขึ้นอีกครั้งในคราวก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ซึ่งวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2526 ก่อนแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2527 ในฉบับพิมพ์ครั้งนี้บอกว่าเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารได้มาครองเมืองลับแลเมื่อ พ.ศ.1513 ซึ่งมีความแตกต่างจากต้นฉบับของพระครูสิมพลีคณานุยุต

 

สำหรับตำนานฉบับเก๊า พระเจ้ายอดคำทิพย์ วัดลับแลงหลวง หรือวัดท้องลับแล ทางคณะทำงานศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลับแลไม่พบต้นฉบับลานธัมม์เหลืออยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาในตำนานฉบับนี้มีเนื้อความสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ตำนานเมืองตามคติพระเจ้าเลียบโลกและตำนานเมืองในทางปาฏิหาริย์และเหตุการณ์ของเมือง ลักษณะในการประพันธ์เป็นแบบค่าวธัมม์ (ร่าย) มีคำคล้องจองเป็นท่วงทำนอง

 

เรื่องที่มาของของเมืองลับแลในตำนานฉบับเก๊าฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ชาวกะลอม (ขอม) มาตั้งชุมชนในพื้นที่ ไม่ได้นับถือในพระพุทธศาสนา ต่อมามีเชื้อสายปู่เจ้าลาวจกนำผู้คนเข้ามาในเขตแม่น้ำยม ส่วนในเมืองสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองคือ ขุนองค์ฅำรามราช ซึ่งก็คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1821-1842) ได้เข้ามาตั้งเวียงบริเวณ “ข่วงงามหว่างน้ำตาฝั่งมหาสาขาแม่น้ำน่านคณทีแลน้ำแม่ยมออนมีดอยเกล๊าปู่เจ้าเขาเหิน ม่อนดอยเนินระสี น้ำแม่ห้วยแก้วจุมปู แลน้ำแม่ห้วยทรายฅำโอบล้อม หนองสระหลวงแลข่วงก่อนบ่อนนี้แต่เดิมก็ยังเป็นเวียงเจ้าร้างเวียงทะรากสร้างแต่หนหลังให้ใส่ชื่อว่า เวียงสระหลวง

 

ต่อมากล่าวถึงสมัยพระญามหาธรรมราชาธิราช (พ.ศ.1890-1912) บอกว่า “ขุนองค์ฅำลือไธยตนเป็นใหญ่ในโลกหล้ายกเวียงสระขึ้นกับเวียงชะเลียง” แล้วจึงปรารถนาให้สร้างพระเจดีย์บนม่อนป่าแก้วให้ชื่อว่า “เจติยะพิหารอารามคีรีเขต” นั่นคือ เจดีย์วัดเจดีย์คีรีวิหา ตามที่ถูกระบุในจารึกหลักที่ 319 หรือจารึกเจดีย์พิหารที่พระยานครพระราม ผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์นำไปไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2473 ในบรรทัดแรกของจารึกนั้นบอกว่า “เข้าเสวยราชย์ในเมืองปีเมสญ แต่มาได้เจ็ดปีจึงก่อพระเจดีย์” กล่าวคือ พระญามหาธรรมราชาธิราช (ฦๅไทย) ครองราชย์ที่เมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1890 ปีกุน เมื่อนับปีเพิ่มมา 7 ปีจะตรงกับ พ.ศ. 1896 ปีมะเส็งตรงกันกับที่จารึกบอกไว้

 

เมื่อถึงสมัยของ “ขุนองค์ฅำพระญาไสลือไธย ผู้เป็นใหญ่บนด้าวเจ้าเวียงไธยได้รับตราบอกใบลุกมาแต่เจ้าต๋นยี่กวามแก้ววงเมือง พระเจ้าเวียงเชียงราย ขอกุมพลเศิกขึ้นเหนือลุเถิงยังเขตแคว้นล้านนาทสสะลักขะเขตตาบุรีสะหรีคณทีเชียงใหม่จักขอกินเวียง แต่ถูกกลเศิกพระเจ้าเชียงใหม่ พระญาเวียงไธยจึ่งได้ขอเจ้ายี่กุมกวามแก้ววงเมืองเชียงราย คืนปิ๊กป๊อกออกจากเวียงล่องลงใต้ แลกวาดเทครัวชาวเชียงรายลงเสี้ยงเวียง มาใส่ไว้ที่เวียงซากสระหนองหลวงหว่างห้วยทะรากแก้วแม่จุมปู”  โดยพระญายี่กุมกวามแก้ววงเมืองได้บูรณะสร้างเวียงซาก ให้มีสัณฐานดั่งหอยสังข์ ซึ่งตำนานนี้ได้บอกถึงสัณฐานของเมืองในแต่ละทิศ กล่าวคือ

 

1) เอาสระหนองหลวงเป็นดั่งปากหอยสังข์

2) เอาแนววัดคีรีพิหารเป็นแนวสีมาเขตเวียง

3) เอาน้ำแม่ห้วยแก้วจุมปูและน้ำแม่ห้วยทรายคำไหลล้อมหนตะวันออก

4) หนเหนือมีวัดช้างแล่นหัวข่วงสีมาราม และริมฝั่งน้ำแม่ห้วยแก้วจุมปูเขตนาป่าส้มป่อง ป่าหมาก หนามทูเรียน มีนาป่าโป่ง วัดเชตะวันพิหาร

5) หนตะวันตกเฉียงเหนือมีวัดป่าไม้แดง มาทางตะวันตกมีวัดเวฬุวันพิหารป่าไผ่

6) หนตะวันตกเป็นวัดตาละนาลิเกระม่อนป่าป้าว (ป่าพร้าว) ป่าตาล จำบอน แลม่อนระสีดอยกั้ง แลม่อนเกล๊าปู่เจ้าดอยสูงเป็นเขตบังยังวันตก

7) หนตะวันตกเฉียงใต้ มีวัดพนมม่อนสมอพิหารปงจำน้ำ

8) หนใต้มีวัดมหาวันพิหาร ข่วงน้ำล้อมแลสันดอยเกล๊าเจ้าปู่เป็นแนวตุ้มเวียง ถัดมาเป็นวัดบุปผาอาราม

9) ถัดวนขึ้นไปจบหนตะวันออกเฉียงใต้มีหอไต้ แลกลางเวียงมีพิหารสายดือเวียงเป็นไจยเวียง

 

เมื่อพระญายุทธิษฐิระเจ้านายฝ่ายสุโขทัยไปเข้ากับพระยาติโลกราช กษัตริย์เชียงใหม่ (ในตำนานฉบับเก๊าฯ ออกชื่อว่ “พระญาติโลกะมหาราชาเจ้าฟ้าฮ่ามตนช้างเวียงพิงคณที” เมื่อพระญาติโลกราชยกทัพลงมาเมืองสองแคว ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บอกว่ายกทัพมาเมื่อ พ.ศ.1994 “ไพตั้งทัพอยู่ทุ่งย้าง เมืองฝาง”

 

ในตำนานฉบับเก๊าฯ บอกว่าเมื่อทัพเชียงใหม่เข้าเมืองซากได้แล้ว พบว่าชาวเมืองซาก (ทะราก) เป็นชาวยวนเชื้อญาติวงศ์เมืองเชียงรายของท้าวยี่กุมกามที่มีฐานะเป็นลุงของพระญาติโลกราช จึงอภิเษกให้เจ้าเมืองผู้เป็นโอรสท้าวยี่กุมกามเป็นเจ้าเมืองต่อไป และพระญาติโลกราชได้มีนิมิตถึงดวงวิญญาณท้าวยี่กุมกามให้อุทิศบุญกุศลไปให้ พระญาติโลกราชจึงโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระปิตุลาโดยให้ชื่อว่า “พระยอดฅำติ๊บ” ประดิษฐานที่อารามพิหารสายดือเวียง แล้วตั้งชื่อเมืองซากใหม่ว่า “เวียงลับแลงไจย” จากนั้นตั้งเป็นพระอารามให้ชื่อว่า “วัดลับแลงหลวง”  

 

ตำนานฉบับเก๊าฯ มีเรื่องราวที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์อยุธยาสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเหตุการณ์สิ้นสุดลงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนในท้ายธัมม์มีระบุว่า ปู่ครูสุวรรณปัญญาญาณ ได้รจนาไว้ที่วัดลับแลงหลวง ส่วนชื่อเดิมเมืองลับแลที่ปรากฏอยู่ในตำนานฉบับเก๊าฯ ว่าชื่อ เมืองซาก (ทะราก) ซึ่งคำว่า “ซาก” บางครั้งเขียนว่า “ทะราก” ซึ่งการออกเสียงว่า “ซาก” คงมาจาก “ทร” ที่จะออกเสียงเป็น “ซ” ในพงศาวดาร โยนกมีความตอนหนึ่งว่า พระยาไสลือไทยแต่งตั้งให้ท้าวยี่กุมกามไปครองเมืองซาก (อยู่แม่น้ำซากแควยม) ตรงกับที่ตั้งเมืองซากที่แนวเทือกเขาม่อนฤๅษี ต้นน้ำของห้วยแม่ราก ไหลผ่านตำบลบ้านตึกลงไปยังแม่น้ำยมที่ตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

 

พระญายี่กุมกาม กษัตริย์เมืองเชียงราย คงเสด็จมาที่เมืองซากเมื่อ พ.ศ. 1948 เพราะเป็นปีที่เกิดสงครามศึกฮ่อมารบเมืองเชียงแสนและตีเมืองเชียงแสนแตก และเมื่อพระญายี่กุมกามกับพระญาไสลือไทยกกองทัพไปชิงเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ พระญาไสลือไทจึงเสนอให้พระญายี่กุมกามเทครัวชาวเมืองเชียงรายมาอยู่ที่เมืองซาก

 

เมืองลับแลตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์

 

เมืองลับแลปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในหลักฐานฝ่ายอยุธยาคือ หนังสือทูตตอบ เป็นเอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่คณะราชทูตนำโดยออกพระวิสุทธสุนทร(ปาน) ได้จัดเตรียมแนวคำถามและคำตอบต่างๆ ไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพูดคุยกับทูตต่างชาติ เมื่อครั้งเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 ซึ่งเอกสารฉบับนี้ ไมเคิล ไรท์  ได้นำมาเปิดเผยและตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548

 

ในหนังสือทูตตอบฉบับนี้ได้ระบุชื่อเมืองในสังกัดเมืองพิชัยที่เป็นหัวเมืองชั้นตรี 8 เมือง ได้แก่เมืองบางโพ เมืองฝาง เมืองลับแล เมืองพิพัฒน เมือง Ppateboune (เมืองปัตบูร - พญาแมน) เมือง Trevantri Soune (เมืองตรอนตรีสินธุ์ ?) เมือง Phiboune (เมืองพิบูล) และเมือง Patthiimme (ปาด, น้ำปาด)

 

นอกจากนี้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. 2299 ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา 11 ปี มีข้อความระบุในพระราชกำหนดเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา เรื่อง “ความโจรผู้ร้ายให้ส่งไปพิจารณาที่เมืองเหตุเกิด” มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงกรมการเมืองพิไชยบอกหนังสือไปยังลูกขุนว่า ขะนานทองอยู่ที่บ้านน้ำใส แขวงเมืองลับแลมาให้การว่าในเวลาบ่ายมีผู้ร้าย 12 คน ถือปืนหอกเข้าตีชิงเอากระบือผู้เมียไป 17 ตัวขะนานทองตามจับผู้ร้ายได้ เป็นผู้ร้ายจากบ้านฝ่าเฝือก แขวงเมืองทุ่งย้าง (ทุ่งยั้ง) เป็นบ่าวเมืองทุ่งย้าง แต่เมืองทุ่งย้างขึ้นกับเมืองสวรรคโลก จึงเป็นเหตุแห่งการกำหนดกฎหมายพระไอยการนี้ สำหรับการเรียกบุรุษว่า “หนาน” เป็นคำนำหน้านามนั้นมาจากคำว่า “ขะนาน” ซึ่งมีที่มาจากการผูกขนานแพบวชพระสงฆ์ตามธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา นิกายสีหล (ป่าแดง) แบบล้านนา จึงเรียกผู้ที่ลาสิกขาออกมาแล้วว่า “หนาน” ต่างจากคำนำหน้านามผู้ที่ลาสิกขาในภาคกลางว่า “ทิด” นี่จึงเป็นหมุดหมายอย่างหนึ่งที่แสดงว่าชาวเมืองลับแลเป็นชาวโยนกล้านนาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาพ.ศ. 2310

 

จากตำนานเมืองลับแลที่กล่าวถึงที่มาของชาวลับแลทั้ง 2 ฉบับคือ ประวัติเมืองลับแล ฉบับพระครูสิมพลีคณานุยุต และตำนานฉบับเก๊า พระเจ้ายอดคำทิพย์ วัดลับแลงหลวง ทำให้เห็นที่มาของชาวลับแลในลักษณะตำนานที่แตกต่างกัน ตำนานฉบับแรกอิงกับตำนานสิงหนวัติกุมาร ส่วนตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์อิงกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย และอยุธยา

           

เอกสารอ้างอิง

ตำนานพระเจ้ายอดคำทิพย์ วัดลับแลงหลวง. อุตรดิตถ์ : คณะทำงานศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลับแล(เมืองลับแลง), 2561.

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538.

ประชุมจารึกภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61. พิมพ์แจกในงานฌาปณกิจศพนางชื่น  ราชพินิจจัย เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2479 ณ เมรุเชิงบรมบรรพตวัดสระเกศ.

พระครูสิมพลีคณานุยุติ  อนาวิละเถระ. ประวัติเมืองลับแล. ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก พระครูสิมพลีคณานุยุต  อนาวิละเถระ  ณ วัดกลาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ วันที่ 7-8 พฤศจิกายน  2525.

พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม  บุนนาค). พงศาวดารโยนก. พิมพ์ครั้งที่ 6. พระนคร : แพร่พิทยา,2515.

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. “พระราชกำหนดเก่า”, ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉบับหลวงตรา 3 ดวง เล่ม 3, 2481.

มานิต  วัลลิโภดม. ตำนานสิงหนวัติกุมาร ฉบับสอบค้น. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทาง  ประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2516.

ไมเคิล ไรท. ภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์สยาม : เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่เปิดเผย  ใหม่ (2): หนังสือทูตตอบ. (ออนไลน์). จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_8657

วินัย  พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ). ปาไป่สีฟู่ - ปาไป่ต้าเตี้ยน เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยทในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นที่ระลึกและส่งเสริมการค้นคว้าวิจับเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย เนื่องในโอกาสที่นครเชียงใหม่สถาปนามาครบ 700 ปี วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2539.

อนุสรณ์ ในการพระราชทานเพลิงศพพระครูธรรมเนตรโศภณ, อดีตเจ้าคณะอำเภอลับแล และเจ้า อาวาสวัดท้องลับแล อำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์, 9 เมษายน 2527.


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น