หลักเขตนครหลวง

หลักเขตนครหลวง

 

ปลายปี 2559 กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก เขตติดต่อระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา-สระบุรี ได้พบหลักคอนกรีตลักษณะเป็นใบเสมา สูงราว 1.50 เมตร จากระดับผิวดิน มีอักษรระบุว่า "หลักเขตนครหลวง" หลักคอนกรีตดังกล่าวพบอยู่กลางทุ่งนาระหว่างวัดพุฒาวาสกับสถานีรถไฟหนองวิวัฒน์ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

 

หลักเขตนครหลวงที่พบมีลักษณะเป็นใบเสมา

 หลักเขตนครหลวงที่พบมีลักษณะเป็นใบเสมา

 

จากการสืบค้นเอกสารพบว่า หลักคอนกรีตดังกล่าวน่าจะเป็นหมุดเขตโดยรอบพื้นที่เวนคืนกว่า 909.9 ตารางกิโลเมตร ของโครงการสร้าง “พุทธบุรีมณฑล” ในปี พ.ศ. 2487 อันเป็นโครงการคู่ขนานกับการสร้าง “เมืองหลวงสำรอง” ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยเวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่เป็นที่มั่นสำรอง และสร้างพุทธบุรีมณฑล โดยมีวัดพระพุทธบาทสระบุรีเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของชาติ และมีหมุดหลักเขตเสมาเป็นสัญลักษณ์แนวเขตโดยรอบวัดพระพุทธบาท แต่อีกนัยหนึ่ง การมีแนวเขตเสมาก็เพื่อต้องการให้พื้นที่นี้เป็นเขตปลอดจากกองกำลังต่างชาติด้วย 

 

กลางใบเสมามีตัวอักษรว่า “หลักเขตนครหลวง”

กลางใบเสมามีตัวอักษรว่า “หลักเขตนครหลวง”  

 

แผนที่แนบท้ายพระราชกำหนดสร้างพุทธบุรีมณฑล

แผนที่แนบท้ายพระราชกำหนดสร้างพุทธบุรีมณฑล

 

อย่างไรก็ดี ทั้งโครงการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่และสร้างพุทธบุรีมณฑล ได้ถูกยกเลิกภายในปีเดียวกันนี้ เช่นเดียวกับการเวนคืนพื้นที่โดยรอบวัดพระพุทธบาทสระบุรีที่ไม่ได้เกิดขึ้น แต่ยังคงหลงเหลือหลักคอนกรีตใบเสมาเช่นนี้ให้เห็นอยู่ในบางพื้นที่ ปัจจุบันสามารถพบหลักเสมาคอนกรีตเช่นนี้ได้กว่า 10 หลัก กระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดสระบุรีและในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ