‘ใบเสมา’ ร่องรอยความสำคัญของ “เมืองโสม” ในอดีต

‘ใบเสมา’ ร่องรอยความสำคัญของ “เมืองโสม” ในอดีต

การค้นพบหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับผู้คนในท้องถิ่นเพราะเป็นสิ่งที่บอกเล่าภูมิหลังและแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนในอดีต ดังเช่นการค้นพบ “ใบเสมา” ที่วัดป่าบ้านโคกสะอาด หมู่ 5 ตำบลหนองแวง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ห่างจากโรงเรียนบ้านนาเก็น ประมาณ 2 กิโลเมตร สะท้อนถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้

 

ใบเสมาที่วัดป่าบ้านโคกสะอาด ต.หนองแวง อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี 

 

จากหลักฐานในศิลาจารึกจากวัดพระเจ้าองค์ตื้อ เรียกพื้นที่บริเวณอำเภอน้ำโสมว่า “เมืองโสม” มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของเทือกเขาภูพานน้อย ไม่ไกลจากภูกูเวียนหรือภูพระบาท ซึ่งเป็นแหล่งที่พบใบเสมารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เรื่อยไปถึงวัดป่าหนองเป่ง บ้านใหม่ วัดโนนศิลาอาสน์ บ้านกาลึม วัดพระพุทธบาทบัวบาน บ้านไผ่ล้อม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

 

ทางวัดนำใบเสมามารวมกันไว้ที่ใต้ต้นโพธิ์

 

พระอาจารย์บุญกอง อมโร เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านโคกสะอาด ท่านให้ข้อมูลว่าพบใบเสมาขณะทำการขุดลอกคลองบริเวณห้วยชะโนด ชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “เนินคอกม้า” อยู่ห่างจากวัดประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวบ้านจึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัด ใบเสมาที่พบมีจำนวน 6 ท่อน วัสดุหินทราย สภาพชำรุดแตกหัก สามารถนำมาบูรณะโดยใช้ปูนซีเมนต์ประสานจนได้ใบเสมาที่สมบูรณ์เพียง 1 ใบเท่านั้น มีขนาดความสูงจากฐานวัดได้ 130 เซนติเมตร ส่วนที่กว้างที่สุด 60 เซนติเมตร ความหนาหนา  20 เซนติเมตร ส่วนที่ฝังไว้ด้านล่างประมาณ 30 เซนติเมตร ตรงกึ่งกลางใบเสมาทำเป็นสันนูนทรงกรวย  สำหรับชิ้นส่วนใบเสมาที่เหลือ ชาวบ้านและพระสงฆ์พยายามนำมาต่อกันแต่ไม่สำเร็จ จึงนำชิ้นส่วนทั้งหมดไปปักไว้รอบต้นโพธิ์ในวัด

 

 

ลักษณะใบเสมาที่พบ 

 

ต่อมามีนักเรียนโรงเรียนบ้านนาเก็น ขณะบวชเณรภาคฤดูร้อน ณ วัดแห่งนี้ได้สังเกตเห็น จึงทำการสำรวจและแจ้งไปยังสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น เพื่อดำเนินการตรวจสอบ คุณนมัสวิน นาคศิริ นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้มาทำการศึกษาและระบุว่าเป็นใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 

 

นักเรียนทำการวัดขนาดใบเสมาเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น 

 

คุณนมัสวิน นาคสิริ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท กรมศิลปากร ร่วมสำรวจ

 

การพบใบเสมาดังกล่าวนี้ถือเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ทั้งยังปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุอื่นๆ ในบริเวณห้วยน้ำโสมและห้วยน้ำพาน ตลอดถึงบนเทือกเขาภูพานน้อย ซึ่งควรทำการศึกษาต่อไป นอกจากนี้การดูแลรักษาโบราณวัตถุเหล่านี้ยังแสดงถึงพลังของผู้คนในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสมบัติของชาติ รวมถึงความสนใจใฝ่รู้ของเด็กนักเรียนที่รู้จักสังเกต คิดวิเคราะห์ และเชื่อมโยงความรู้ที่เคยศึกษาจากแหล่งเรียนรู้บนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอีกด้วย

 

ขอขอบคุณ

คุณณฌานิมม์ เสนะบุตร์ , คุณอนุสติ วิเศษวงษา , คุณอภิสิทธิ์ คะนองมาก , คุณธนากร ปาณวงษ์ , คุณพงศธร ทองกอง , คุณปรีดา ทองกอง , คุณอนิวรรษ ยงพรม , คุณพชรพล ลีแก้ว , คุณคุณากร นามก่ำ , คุณดนุสรณ์ นามก่ำ 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น