หลวงสำรวจพฤกษาลัยกับโรงเรียนสุทธินอนุสรณ์

หลวงสำรวจพฤกษาลัยกับโรงเรียนสุทธินอนุสรณ์

 

โรงเรียนสุทธินอนุสรณ์ เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ริเริ่มโดยคุณสถาพร ณ ถลาง บุตรสาวของหลวงสำรวจพฤกษาลัย (สมบูรณ์ ณ ถลาง) กับนางประพัสร์ ณ ถลาง เริ่มแรกใช้ชื่อโรงเรียนว่า “สถาพรพิทยา” อักษรย่อ “ส.พ.” ด้วยเปิดทำการเรียนการสอนมากว่า 60 ปี เด็กตะกั่วป่าหลายต่อหลายรุ่น ส่วนหนึ่งก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งนี้ 

 

สถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ถัดจากตึกขุนอินทร์บ้านของขุนอินทรคีรี (ช้อย ณ นคร) อดีตนายอำเภอตะกั่วป่า พ.ศ. 2464 – 2469 พื้นที่ตั้งโรงเรียนเดิมเป็นบ้านของหลวงสำรวจพฤกษาลัย บุคคลสำคัญในแวดวงเกษตรกรรมของประเทศไทย

 

ด้านหน้าโรงเรียนสุทธินอนุสรณ์ อำเภอตะกั่วป่า ในปัจจุบัน

 

หลวงสำรวจพฤกษาลัย หรือนายสมบูรณ์ ณ ถลาง เป็นบุตรหลวงเทพนิธยานุกูล (ชื่น ณ ถลาง) กับนางหร่าย ณ ถลาง (นามสกุลเดิม มุสิกธัช) เกิดที่บ้านเชิงทะเล อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สมรสกับนางประพัสร์ ณ ถลาง ธิดาของพระยาอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง) อดีตเจ้าเมืองกระบี่ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาวิชาการป่าไม้จากมหาวิทยาลัยในประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2464 นายสมบูรณ์ ณ ถลาง ได้เข้ารับราชการกรมป่าไม้ ประจำอยู่ที่สำนักงานป่าไม้ จังหวัดเชียงราย  ก่อนจะย้ายไปที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดต่างๆ อีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการรวบรวมกฎหมายป่าไม้และร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2474

 

หลวงสำรวจพฤกษาลัย (สมบูรณ์ ณ ถลาง) 

(ที่มา : http://www.doa.go.th/rubber/ )

 

บทบาทสำคัญที่สุดของหลวงสำรวจพฤกษาลัยคือ การบุกเบิกและพัฒนาการปลูกยางพาราในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการยาง กรมป่าไม้ ด้วยเป็นผู้ที่มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการทำสวนยางพารา ต่อมาเมื่อกองการยางโอนย้ายมาอยู่กับกรมกสิกรรม (ปัจจุบันคือกรมวิชาการเกษตร) จึงรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองการยาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 - 2503 

 

กองการยางมีหน้าที่วางรากฐานการศึกษาวิจัยการปลูกยางพารา เพื่อเผยแพร่สู่เกษตรกร ทั้งด้านงานปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ยางพาราที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย การวิจัยโรคพืชและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ตลอดจนบุกเบิกสถานีทดลองยางหลายแห่งในภาคใต้ เช่น อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านบางปอ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นต้น

 

ภายหลังจากเกษียณราชการในปี พ.ศ. 2503 หลวงสำรวจพฤกษาลัยมาใช้ชีวิตอยู่ที่ย่านตลาดใหญ่ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พร้อมกันนั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนสถาพรพิทยา ร่วมกับนางประพัสร์ ณ ถลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2523 ภายหลังนางประพัสร์รับช่วงดูแลโรงเรียนต่อมา และเมื่อนางประพัสร์ถึงแก่กรรม คุณสถาพร ณ ถลาง บุตรสาว และนายสันติสุข ณ ถลาง บุตรชาย จึงร่วมกันดูแลโรงเรียนแห่งนี้สืบต่อมา

 

นางสถาพร ณ ถลาง  บุตรสาวหลวงสำรวจพฤกษาลัย และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสถาพรพิทยา 

 

โรงเรียนสถาพรพิทยาเป็นโรงเรียนเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ และสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ขณะที่หลวงสำรวจพฤกษาลัยเป็นผู้จัดการโรงเรียน ท่านได้ลงมือสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ อยู่บ่อยครั้ง  คุณครูศิริวรรณ ณ นคร หรือครูอ้อ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนสุทธินอนุสรณ์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน ได้เล่าความทรงจำในวันวานเมื่อครั้งยังได้เห็น “คุณตา” หรือหลวงสำรวจพฤกษาลัย กับ “คุณยาย” หรือนางประพัสร์ ณ ถลาง เจ้าของโรงเรียนว่า

 

“เหตุที่คุณตาคุณยายสร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา จุดประสงค์แรกเริ่มคือ เพื่อช่วยเหลือคนยากจน ตอนนั้นคือคุณตาเกษียณแล้ว กลับมาอยู่ที่นี่ ส่วนคุณยายก็ขายขนมอยู่ในโรงอาหาร ตอนเย็นๆ คุณตาจะไปเล่นสนามเทนนิสที่อยู่ตรง สภ.ตลาดใหญ่ ซึ่งในสมัยนั้นจะมีคนสูงอายุไปรวมตัวออกกำลังกายกันเยอะ... ด้านหลังโรงเรียน แต่ก่อนจะเรียกว่า ‘บนเขา’ คุณตาจะปลูกกาแฟ และส้มควายที่เรานำมาแกงส้ม นอกจากนี้ก็มีต้นมังคุดและผลไม้ชนิดอื่นๆ เด็กๆ อย่างพวกเรามักเข้าไปเก็บผลไม้กินกัน” 

 

อาคารเก่าภายในบริเวณโรงเรียน เดิมเป็นบ้านของ "คุณตา-คุณยาย" คือ หลวงสำรวจพฤกษาลัยกับนางประพัสร์ ณ ถลาง  

 

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมถึงชั้นเรียนสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “ชั้นน้องน้อยเสน่หา” ต่อมาได้ยุบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เหลือเพียงชั้นเรียนระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสุทธินอนุสรณ์” ภายหลังคงเหลือเพียงระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 จวบจนปัจจุบัน

 

สมัยแรกยังมีจำนวนนักเรียนไม่มากนัก เพราะผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดรับเด็กในตะกั่วป่าที่ยังไม่มีที่เล่าเรียน โดยมิได้มุ่งเน้นกำไรมากนัก เวลานั้นในตัวอำเภอตะกั่วป่ามีโรงเรียนอยู่หลายแห่ง ใกล้เคียงกันมี “โรงเรียนเต้าหมิง” ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนที่เก่าแก่ ปิดกิจการไปเมื่อราว พ.ศ. 2540 นอกจากนี้ยังมี “โรงเรียนเสนานุกูล” ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดเสนานุชรังสรรค์ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา ก่อนจะย้ายไปยังตำบลบางนายสี เยื้องกับโรงพยาบาลตะกั่วป่า เมื่อปี พ.ศ. 2509 ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งเดิมได้เปลี่ยนเป็น “โรงเรียนเทศบาลเสนารังสรรค์” เปิดสอนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

 

อีกแห่งหนึ่งคือ “โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีตะกั่วป่า (ประชาราษฎร์รังสรรค์)” เปิดสอนในระดับประถมศึกษา แรกเริ่มทำการเรียนการสอนกันที่กุฏิวัดหน้าเมืองหรือวัดปทุมธารา ต่อมาย้ายไปอยู่ที่บริเวณวัดศรีนิคมหรือวัดหัวสะพาน กระทั่งมีผู้บริจาคที่ดินสร้างอาคารเรียนเมื่อ พ.ศ. 2499 ในบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน

 

ร้านรวงต่างๆ ในย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า

ในภาพคือ "ร้านฮัวหลอง" จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด ถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2520 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธํุ์) 

 

บ้านของครูอ้ออยู่ที่ตลาดย่านยาว สมัยก่อนการเดินทางมาโรงเรียน เด็กๆ ต้องนั่งรถสองแถว ซึ่งวิ่งจากตลาดย่านยาวมาถึงย่านตลาดใหญ่  ครูอ้อเล่าว่า 

“เราเรียกย่านนี้ว่า ‘ตลาดเก่า’ ที่นี่สนุกมาก มีคนเยอะแยะ ยิ่งช่วงไหว้เจ้า ตรุษจีน สารทจีน คนจากที่อื่นๆ ต้องมาซื้อหาของไหว้ที่ตลาดแห่งนี้ รถรับจ้างมาจอดตรงแถวๆ นี้ เราก็เดินเข้าไป...  บรรยากาศสมัยก่อนบริเวณรอบๆ โรงเรียนสุทธินอนุสรณ์ยังเป็นป่า ข้างๆ โรงเรียนยังไม่มีตึก มีแต่รั้วลวดหนาม ข้างหน้าก็มีต้นมะขามเทศต้นใหญ่ ถนนเส้นหน้าโรงเรียนยังไม่มีตึกแถวมากนัก ฝั่งตรงข้ามมีร้านเต้าส้อแม่อารีแล้ว แต่ตึกหลังอื่นๆ ยังมีไม่มาก ดูโล่งไปหมด พวกเด็กที่นั่งรถสองแถวมาจากย่านยาว รถมาจอดที่หน้าโรงเรียนทางฝั่งถนนศรีตะกั่วป่า ส่วนประตูฝั่งถนนพลับพลาที่เห็นในปัจจุบัน สมัยก่อนยังไม่มี เดิมเป็นภูเขา ไม่มีถนนผ่าน" 

 

ถนนศรีตะกั่วป่า เส้นที่ผ่านหน้าโรงเรียนสุทธินอนุสรณ์ ปัจจุบันมีตึกแถวทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ปะปนกัน  

 

ปัจจุบันโรงเรียนสุทธินอนุสรณ์ยังคงเปิดทำการเรียนการสอนอยู่ ถือเป็นคุณูปการอย่างหนึ่งที่หลวงสำรวจพฤกษาลัยและครอบครัวได้สร้างไว้ให้แก่อำเภอตะกั่วป่ามาช้านาน

 

แหล่งอ้างอิง

วิชิต สุวรรณปรีชา. หลวงสำรวจพฤกษาลัย บิดาแห่งงานวิจัยและสงเคราะห์ปลูกแทนยางพารา ไทย ที่มา http://www.doa.go.th/rubber/

ขอขอบคุณ

ครูศิริวรรณ ณ นคร โรงเรียนสุทธินอนุสรณ์

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ