ชื่อหนังสือ : ตามหาเมืองกระบุรีโบราณ
พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนสิงหาคม 2561
ผู้แต่ง : จงจินต์ ศิริพันธุ์
สำนักพิมพ์ : เดือนตุลา
ราคา : 200 บาท
จำนวนหน้า : 175 หน้า
ตามหาเมืองกระบุรีโบราณ เป็นหนังสือท้องถิ่น เขียนโดย จงจินต์ ศิริพันธุ์ ข้าราชการบำนาญและอดีตครูโรงเรียนทับหลีสุริยวงศ์ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งเกิดและเติบโตอยู่ในอำเภอกระบุรีแห่งนี้ ได้เรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเมืองกระบุรี ที่ครั้งหนึ่งถูกลืมเลือนและหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ให้กลับมาอยู่ในสำนึกคนท้องถิ่นอีกครั้ง ภายในเล่มประกอบด้วยเนื้อหา 6 บท ได้แก่
บทที่ 1 พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินเมืองกระบุรี กล่าวถึงการเดินทางมายังกระบุรีของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ ทั้งยังประกอบด้วยบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัย อันบ่งบอกถึงสภาพเส้นทาง ภูมิประเทศ พาหนะในการเดินทางเวลานั้น เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งกล่าวถึงบรรพบุรุษของผู้เขียนคือ “นายสุก” หรือ “ยาเลสุก” ต้นตระกูลกุลมลิวัลย์ ซึ่งปฏิบัติราชการดูแลคนไทยอยู่ในฝั่งมะลิวัลย์ ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ภายหลังการปักปันเขตแดนใหม่ระหว่างสยามกับอังกฤษ ปลายสมัยรัชกาลที่ 4
บทที่ 2 ประวัติศาสตร์เมืองกระบุรี บอกเล่าเรื่องราวของเมืองกระบุรีที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งพงศาวดาร จารึก บันทึกชาวต่างชาติ ที่กล่าวถึงกระบุรีว่าเป็นชุมชนมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีความสำคัญในการเป็นบ้านเมืองบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามันสู่ฝั่งอ่าวไทยแถบจังหวัดชุมพร ซึ่งสัมพันธ์กับการเดินทางทั้งทางบกและทางลำน้ำสายต่างๆ กระบุรียังปรากฏชื่ออยู่ในจารึกโบราณหลายชิ้น รวมถึงในตำนานเมือง 12 นักษัตรของนครศรีธรรมราช ราวพุทธศตวรรษที่ 18 บ่งบอกถึงการเป็นชุมชนระดับเมืองมาเป็นเวลาช้านาน
บทที่ 3 เมืองกระบุรีสมัยอยุธยา กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองกระบุรีในหน้าประวัติศาสตร์สงครามระหว่างไทย-พม่า นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเส้นทางเดินทัพในช่วงเวลาต่างๆ จะต้องผ่านบริเวณเมืองกระบุรีแห่งนี้ สะท้อนถึงความเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรโบราณ
บทที่ 4 พระยาแก้วโกรพ เจ้าเมืองกระบุรีคนแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยข้อมูลท้องถิ่นเชิงลึก ซึ่งผู้เขียนพยายามสืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าเมืองกระบุรีคนแรกและลูกหลานชั้นต่อมา ผ่านเรื่องเล่าและตำนาน โดยมีหลักฐานชั้นต้นประเภทเอกสารโบราณและอาวุธโบราณที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังได้สืบเครือญาติสายตระกูลเจ้าเมือง มีการทำแผนที่สาแหรก โดยพยายามลำดับเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับกลุ่มผู้ปกครองในอดีตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลและสถานที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีน้ำหนัก
บทที่ 5 เขตแดนไทย-พม่า บริเวณแม่น้ำกระบุรี อธิบายถึงชุมชนชาวกระบุรีที่กระจายอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำกระบุรี นับตั้งแต่ก่อนการปักปันเขตแดนเมื่อปลายรัชกาลที่ 4 รวมถึงกรณีพิพาทและการตกลงระหว่างรัฐภายหลังการปักปันเขตแดน นับเป็นภาพสะท้อนถึงการหาทางออกและการปรับตัวของรัฐ ตลอดจนผู้คนในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน จนเกิดเป็นความสงบเรียบร้อย ไม่มีการกระทบกระทั่งระหว่างกัน
บทที่ 6 เหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บ้านทับหลี กล่าวถึงสภาพการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในมิติท้องถิ่นที่บ้านทับหลี อำเภอกระบุรี ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นจุดพัก เป็นทางผ่านเพื่อไปยังฝั่งพม่า นับเป็นการเรียบเรียงเรื่องราวจากเอกสารร่วมสมัยและประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง ที่ได้พบกับเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจ
หนังสือ ตามหาเมืองกระบุรีโบราณ นับเป็นเอกสารที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น ที่มีสัดส่วนของเรื่องราวในมิติประวัติศาสตร์ชาติ อันเป็นภาพกว้างที่เชื่อมโยงเข้าสู่เรื่องราวเชิงลึกในท้องถิ่น โดยมีการลำดับเรื่องราวอย่างน่าสนใจ ตลอดจนการใช้หลักฐานที่หลากหลาย ทั้งเอกสารโบราณ โบราณวัตถุ ตำนานเรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ความทรงจำของผู้คน ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองกระบุรีมีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออนุชนรุ่นหลัง