พลิกพับบุด
แวดวงเสวนา

พลิกพับบุด

 

สืบเนื่องจากมีการพบว่าเอกสารโบราณที่ถูกเก็บรวบรวมอยู่ในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จำนวนหลายร้อยเล่มได้สูญหายไป เป็นที่มาของการสืบเสาะตามหา รวมทั้งได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อหาผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันในแวดวงผู้สนใจเอกสารโบราณเชิงคุณค่าทางภูมิปัญญาและเป็นสมบัติของท้องถิ่น อันประกอบด้วยคณะสงฆ์และฆราวาสได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร เพื่อเป็นช่องทางนำเอาเอกสารโบราณเหล่านี้กลับคืนมา โดยมีนายแพทย์บัญชา พงศ์พานิช เป็นผู้ประสานงาน

 

เมื่อวันพุธที่  22 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมเสวนาหัวข้อ พลิกพับบุด หนังสือบุดสมุดข่อยโบราณ สมบัติชาติ และมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้เป็นเวทีนำเสนอข้อมูลเชิงคุณค่าของเอกสารโบราณที่หายไป ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร  วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ อาจารย์ภูธร ภูมะธน นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเอกสารโบราณชาวนครศรีธรรมราช อาจารย์จุฑารัตน์ จิตโสภา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยภาพจิตรกรรมในหนังสือบุดภาคใต้ รวมถึงนายแพทย์บัญชา  พงษ์พานิชและนายสุรเชษฐ์  แก้วสกุล ผู้ดำเนินการและดูแลศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร

 

บรรยากาศการเสวนา "พลิกพับบุด"

 

อาจารย์ศรีศักรเริ่มต้นกล่าวถึงหนังสือบุดหรือสมุดข่อยโบราณที่หายไปนี้ว่าถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นนครศรีธรรมราช โดยบริบทแล้วคนในท้องถิ่นเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดและทราบดีว่าสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไร อันเป็นฐานของประวัติศาสตร์สังคมอย่างหนึ่ง จะเห็นว่าจากเหตุการณ์นี้ท้องถิ่นได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการนำเอาสิ่งที่เป็นมรดกของพวกเขาเหล่านี้กลับคืนมา สอดคล้องกับสภาพสังคมทุกวันนี้ที่ภาครัฐได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกท้องถิ่นที่ว่าท้องถิ่นนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียในการอนุรักษ์มรดกของเขาเอง

 

ความรู้สึกหวงแหนนี้มิได้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน หากแต่เกิดจากกระบวนการอบรมทางวัฒนธรรมภายในท้องถิ่นที่มีผู้อาวุโสคอยให้คำชี้แนะ รวมถึงวัดที่เป็นสถาบันให้ความรู้และขัดเกลาจริยธรรมในท้องถิ่น ซึ่งเอกสารโบราณต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาจากบริบทเหล่านี้ โดยที่คนในท้องถิ่นรู้ถึงที่มาที่ไปว่าทำขึ้นเพื่ออะไร เช่น เพื่อใช้อบรมสั่งสอนศีลธรรมของคนในชุมชน ใช้เป็นกฎข้อบังคับในการปกครองท้องถิ่น อย่างไรก็ดี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เอกสารโบราณเหล่านี้กลับถูกมองข้ามในคุณค่าที่แท้จริง บางส่วนได้มีการนำไปใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ใช้เป็นส่วนประกอบมวลสารวัตถุมงคล แต่ก็มีบางส่วนที่ทางวัดและทางชุมชนก็ยังคงเก็บเอาไว้เป็นอย่างดี

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

 

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ได้ยกตัวอย่างของบริบททางสังคมนครศรีธรรมราช และที่มาของหนังสือบุดซึ่งได้เก็บรวบรวมเอาไว้ว่า ในอดีตนั้นมีการกำหนดอยู่ในวิชาเรียนของวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ซึ่งผู้ที่เรียนจะต้องแสวงหาหนังสือบุดตามวัดหรือบ้านเรือนมาเพื่อเป็นคะแนน แต่นั้นมาจึงทำให้วิทยาลัยครูซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้มีหนังสือบุดเก็บเอาไว้กว่า 4,000 เล่ม อาจถือว่ามากที่สุดในภาคใต้

 

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

 

นับแต่การนำเอาหนังสือบุดมาเก็บไว้เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดการที่เป็นระบบ เช่น การทำทะเบียน และต่อไปจะมีการทำเป็นไมโครฟิลม์ รวมถึงปริวรรตหรือแปลให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นเพื่อนำมาจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ต่อไป อีกด้านหนึ่งการนำเอาหนังสือบุดเหล่านี้มาเก็บรักษาไว้ ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมท้องถิ่น เช่น กรณีของบ้านนักศึกษาคนหนึ่งที่ทวดมีหนังสือบุดวางไว้บนหิ้งพระและจะสวดบทในหนังสือบุดทุกวัน แต่เมื่อนำหนังสือบุดมาเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชแล้ว ทวดก็ไม่ได้อ่านหนังสือบุดอีก ชาวบ้านที่รอฟังทวดสวดทุกวันก็ไม่ได้ฟังอีกเลย ทำให้หนังสือบุดหายไปในบริบทสังคม

 

หนังสือบุดเขียนเรื่องคัมภีร์พระกรรมฐาน

 

อาจารย์ภูธร  ภูมะธน ได้กล่าวย้อนไปถึงรูปลักษณ์และการเรียกเอกสารโบราณนี้ว่า ภาคใต้เรียกเอกสารซึ่งมีลักษณะพับได้และมีสีดำว่าหนังสือบุด แต่ทางภาคกลางนั้นเรียกว่าสมุดข่อยหรือสมุดไทย แต่การเรียกว่าสมุดไทยนั้นคงไม่ถูกต้องนักเพราะพบสมุดโบราณเช่นนี้ได้จากประเทศอื่นๆ ด้วย ที่เมืองนครศรีธรรมราชพบหนังสือบุดเช่นนี้เยอะ สะท้อนความเป็นเมืองนักปราชญ์ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับทางราชสำนักตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ด้วยการมีพื้นที่ติดทะเลจึงมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าอยู่ตลอด ทำให้ผู้คนที่นี่มีการพัฒนาองค์ความรู้อยู่เสมอ

 

หนังสือบุดเขียนเรื่องคัมภีร์มหาชาติ

 

หนังสือบุดที่เก็บอยู่ที่สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชนั้น เป็นภาพสะท้อนว่าผู้วางรากฐานเรื่องการรวบรวมเอกสารโบราณเหล่านี้ไว้ ได้ทำด้วยความตั้งใจและมีเจตนาที่ดี แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้บริหาร ซึ่งมีความสนใจในศาสตร์แขนงต่างๆ ที่แตกต่างกัน เอกสารโบราณเหล่านี้อาจไม่ได้รับการดูแลและเห็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรที่จะต้องมีหน่วยงานเฉพาะมาดูแลและพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ต่อไปในอนาคต

 

หนังสือบุดเขียนเรื่องตำราเลขยันต์

 

อาจารย์จุฑารัตน์  จิตโสภา ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าของหนังสือบุดเมืองนครในประเด็นภาพสะท้อนทางสังคมภาคใต้ผ่านภาพจิตรกรรมในหนังสือบุด จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะพบว่ารูปแบบที่ปรากฏในหนังสือบุดนั้นเป็นลักษณะเฉพาะหรือรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะการวาดรูปผู้คนและวัตถุต่างๆ ที่คล้ายกับลักษณะของตัวหนังตะลุง ซึ่งเป็นไปได้ว่าศิลปกรรมทั้ง 2 ชนิดนี้อาจเกิดจากช่างกลุ่มเดียวกันก็เป็นได้ นอกจากนี้รูปแบบอื่นๆ ที่ปรากฏในหนังสือบุด หลายฉบับยังสะท้อนถึงสังคมยุคเปลี่ยนผ่านราวสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา เช่นภาพการแต่งกาย การใส่รองเท้าส้นสูง รวมถึงเนื้อหาที่เป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่น ไกรทอง พระสุธน มโนห์รา หรือรามเกียรติ์ ก็ยังได้รับการส่งผ่านจากวรรณกรรมภาคกลางในยุคหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่การคมนาคมมีความสะดวกมากกว่ายุคอดีต

 

จิตรกรรมในหนังสือบุดมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้

 

นอกจากนี้เนื้อหาในหนังสือบุดภาคใต้ยังพบเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับยุคพระศรีอริยเมตไตรยอยู่จนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 โดยแต่ละฉบับได้ระบุว่าเสมือนเป็นวัตถุธรรม ซึ่งผู้ที่ทำเอกสารเหล่านี้ต่างอุทิศแด่พระพุทธศาสนา และมุ่งหวังให้ตนเองไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ อันเป็นยุคที่มีความสงบสุข ผู้คนอยู่ในศีลในธรรม ขณะที่ในส่วนกลางความเชื่อดังกล่าวนี้ได้เลือนหายไปราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

หนังสือบุดสมือนเป็นวัตถุธรรมที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธศาสนา

 

ในช่วงสุดท้ายของงานเสวนา คุณสุรเชษฐ์  แก้วสกุล ผู้ดำเนินการและดูแลศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร ได้มาอธิบายถึงเรื่องราวของการพบการสูญหายของหนังสือบุด ตลอดจนการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เพื่อสืบหาและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ครอบครองหนังสือบุดได้นำส่งกลับคืนมา นอกจากนี้ยังมีการแนะนำหนังสือบุดที่ได้รับการส่งมอบคืนกลับมา ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่สมบัติอันล้ำค่าอันเป็นรากเหง้าทางภูมิปัญญาได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นอีกครั้ง

 

 

คุณสุรเชษฐ์  แก้วสกุล อธิบายถึงเรื่องราวของการสูญหายของหนังสือบุด

 

บรรยากาศในงานเสวนา

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ