พลูหลวง : ดวงดาว-โหราศาสตร์
คลังบทความ

พลูหลวง : ดวงดาว-โหราศาสตร์

ภาพปก : อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ  เจ้าของนามปากกา "น. ณ ปากน้ำ" และ "พลูหลวง" (ที่มา : http://nornapaknam.blogspot.com)   

 

นอกจากความรอบรู้ในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและงานศิลปกรรมแล้ว อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ ยังมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และคติความเชื่อต่างๆ ทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก ซึ่งท่านได้เผยแพร่ผลงานเขียนในเชิงโหราศาสตร์ผ่านนามปากกา “พลูหลวง”

 

ในวารสารเมืองโบราณก็มีบทความที่น่าสนใจของ “พลูหลวง” อยู่หลายบทความ กองบรรณาธิการได้รวมบทความที่ตีพิมพ์ในช่วง “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” อันเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์ประยูรได้ร่วมก่อร่างวางรากฐานวารสารเมืองโบราณ มานำเสนอให้ทุกท่านได้อ่านกัน ดังนี้

 

 

   

"เขาพระสุเมรุ"

ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กันยายน 2517) หน้า 103-107

 

“พลูหลวง” เสนอมุมมองเรื่องคติเขาพระสุเมรุ จากการศึกษาโหราศาสตร์และดาราศาสตร์    

“เขาพระสุเมรุมีสภาพความเป็นมาอันลึกซึ้ง ผู้จะทำความเข้าใจต่อคตินี้ได้อย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องมีการศึกษาระเบียบการโคจรของดวงดาวและการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ไปสู่จักรราศีต่างๆ มีพรรณนาไว้ในคัมภีร์สุริยยาตร์ อันเป็นคัมภีร์คำนวณปฏิทินดาราศาสตร์ของไทย ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว... เขาพระสุเมรุไม่ใช่ที่อื่นไกล คือ โลกของเรานี่เอง"”

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://issuu.com/muangboranjournal/docs/0101-2517/104

 

 

 

"เรื่องราวของรัตนชาติ"

ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม 2518) หน้า 143-147

 

หลายคนอยากมีเครื่องประดับ ก็แค่เลือก “อัญมณีประจำวันเกิด” แต่คุณจะรู้หรือไม่ว่า อัญมณี หรือ รัตนชาติ ที่เลือกกันมานั้นเป็นคุณหรือโทษแก่ตนเอง“การใช้อัญมณีสีต่างๆ ตามวันเกิดนี้ย่อมได้ผลดีอยู่ แต่ถ้าได้ผูกดวงชะตา วางลัคนาตามเวลาเกิดอย่างแน่นอนแล้วจึงเลือกเอาดาวที่เด่นที่สุดตามดวงชะตามาใช้ จะให้ผลดีกว่าดาววันเกิด เพราะว่าบางทีดาววันเกิดอาจจะไปอยู่ในตำแหน่งไม่ดีในดวงชะตา เช่นเป็นอริมรณะ หรือวินาศต่อลัคนาหรือว่าไปเกาะกุมกับดาวบาปเคราะห์ การเอาสีของดาวที่เสื่อมคุณภาพนั้นมาใช้ประดับร่างกายแทนที่จะเป็นคุณก็กลับผันแปรเป็นโทษเสียด้วยซ้ำไป”

 

ปัจจุบันคนทั่วไปต่างมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกอัญมณีมาเป็นเครื่องประดับนั้นมีเพียงผิวเผิน ในบทความนี้ “พลูหลวง” ได้นำเสนอความเชื่อและลักษณะที่ให้คุณและโทษเกี่ยวกับรัตนชาติ หรือที่เรียกว่า “แก้วเก้าประการ” เอาไว้อย่างละเอียด และแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่เราอาจจะไม่เคยทราบกันมาก่อน ทั้งในแง่มุมคติความเชื่อของโลกตะวันออกและตะวันตก

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67593089/-1-2

 

 

 

"ขวากับซ้าย"

ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2518) หน้า 72-76

 

“ขวาร้าย ซ้ายดี” อาจเป็นคำพูดที่เราได้ยินมาแต่วัยเด็ก แต่ก็หารู้อย่างลึกซึ้งไม่  “พลูหลวง” ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง ขวากับซ้ายว่า “คติความเชื่อเกี่ยวกับรหัสเร้นลับของธรรมชาติ เมื่อได้ตรวจสอบแล้ว ตรงกันทุกชาติทุกภาษา คือถือว่า ‘ขวาเป็นมงคล ส่วนซ้ายเป็นอวมงคล’ จึงได้จำแนกสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกและจักรวาลออกเป็นสองฝ่าย”

 

ความเชื่อเรื่อง “ขวากับซ้าย” ปรากฏให้เห็นมาแต่โบราณ เช่น การหันหัวนอนของคนเป็นและคนตายที่เขียนไว้ในไตรภูมิพระร่วง การฝังศพ การไหว้พระ หรือการเวียนเทียนเพื่อบูชาปูชยนียสถานก็จะใช้การเวียนขวา หรือเวียนประทักษิณ ซึ่งทั้งหมดนี้แฝงคติความเชื่อเรื่องขวากับซ้าย  

 

ในตามความเชื่อของศาสนาฮินดูก็ว่า “ขวา” คือการสร้าง ส่วน “ซ้าย” คือการทำลาย  เปรียบกับเทพเจ้าฮินดู พระอิศวรคือพระผู้สร้าง สัญลักษณ์ของเพศชายนับเป็นฝ่ายขวา อาศัยอยู่บนดินที่เขาไกรลาศ ส่วนพระนารายณ์หรือพระวิษณุคือผู้ทำลาย เป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงซึ่งเปรียบกับฝ่ายซ้าย อาศัยอยู่บนน้ำที่กลางเกษียรสมุทร เป็นต้น

 

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67593184/-1-4

ภาพประกอบ : ภาพการเวียนเทียนรอบอุโบสถ จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎกวัดบวรนิเวศวิหาร (ที่มา : www.silpa-mag.com)

 

 

 

“บางส่วนจากคัมภีร์พิไชยสงคราม”

ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม-ธันวาคม 2518) หน้า 87-89

 

คัมภีร์พิไชยสงครามนั้นถือว่าเป็นที่รู้กันแพร่หลายที่สุดในบรรดาคัมภีร์ที่มีมาแต่โบราณ ในตำราพิไชยสงคราม ประกอบด้วยเหตุแห่งการสงคราม อุบายสงคราม ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี นอกจากนี้ยังมีส่วนของตำราดูนิมิต ฤกษ์ยาม และการทำเลขยันต์  ความรู้ในคัมภีร์เล่มนี้หลายคนยึดเอามาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตทั้งการค้าขาย การออกบ้าน การเป็นอยู่ การเสริมสร้างราศี สิ่งมงคลแลอัปมงคลแก่ตนและครอบครัว จึงถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ที่ให้คุณกับคนทั่วไปเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันความรู้แต่เก่าก่อนนี้เกือบจะเลือนหายไปเสียแล้ว ในบทความนี้ “พลูหลวง” ได้บอกเล่าถึงความเชื่อและวิถีการปฏิบัติที่ได้มาจากบางส่วนจากคัมภีร์พิไชยสงครามนับว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

 

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67624052/-2-1

ภาพประกอบ : ตำราพิไชยสงครามจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร ปี พ.ศ. 2512

 

 

 

“วันทั้งเจ็ด”

ใน วารสารเมืองโบราณปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (เมษายน-มิถุนายน 2519) หน้า 103-109

 

“อาทิตย์เป็นมิตรกับครู จันทร์โฉมตรูพุธนงเยาว์ ศุกร์ปากหวานอังคารรับเอา ราหูกับเสาร์เป็นมิตรแก่กัน วันคู่มิตรที่มักส่งเสริมกัน” เป็นคำกลอนที่เราเคยได้ยินมาจากคนเก่าแก่ปู่ย่าตายายในบ้าน แต่หาได้รู้ความหมายที่แท้จริง หรือความเกี่ยวข้องกันของวันแต่ละวันกับหลักโหราศาสตร์แห่งดวงดาว

 

ในปัจจุบันน้อยคนที่จะทราบว่าคติการเสี่ยงเซียมซีเกี่ยวข้องกับดวงดาว คติพุทธมหายานมีความเชื่อเกี่ยวกับกลุ่มดวงดาวว่ามีอยู่ 28 กลุ่ม จึงทำไม้ติ้วในเซียมซีออกมาเป็นเลข 1-28  และถอดเอาลักษณะของกลุ่มดาวนั้น ๆ มาเป็นคำพยากรณ์ เช่นเดียวกับเรื่องวันทั้งเจ็ด พบว่ากลุ่มคนทั่วโลกนำเรื่องวันทั้งเจ็ด อันได้แก่ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ มาใช้ในการศึกษาดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และคติความเชื่อมากมายทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67624123/-2-3

 

ภาพประกอบ : “พระจันทร์ทรงม้า” หนึ่งในประติมากรรมสำริดชุดเทวโลก ตั้งอยู่ที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ ผลงานของอาจารย์สนั่น ศิลากร (ที่มา : เว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น