สงกรานต์
คลังบทความ

สงกรานต์

 

นายยอมโง่ถามว่า ปีนี้สงกรานต์วันอะไร นายอวดฉลาดตอบว่า วันพุฒขึ้นแปดค่ำเดือนห้าเป็นวันมหาสงกรานต์ วันพฤหัสกับวันศุกร์เป็นวันเนาว์ วันเสาร์เป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศกใหม่ ถ้ายังไม่ถึงวันเถลิงศกคงต้องใช้ว่าปีมะเส็ง แต่ยังเป็นฉศกอยู่ ต่อเมื่อใดถึงวันเสาร์ขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนห้าแล้ว จึงใช้ว่าปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1267 แต่สงกรานต์ปีนี้มีสี่วัน นายยอมโง่ถามว่าสงกรานต์บางปีมีสามวัน บางปีมีสี่วันเป็นเพราะอะไร นายอวดฉลาดตอบว่าที่มีสามวันนั้น เพราะสงกรานต์มากลางวัน ก็ในปีนี้สงกรานต์มากลางคืนดึกถึงเก้าทุ่มสามสิบหกนาที เกี่ยววันต้นอยู่ไม่ถึงสามชั่วโมง เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นสี่วัน

 

ความตอนหนึ่งในบทกลอนนำปะหน้าปฏิทินของโรงพิมพ์เจริญราษฎร์ (วัดเกาะ) ที่นิยมพิมพ์หน้าปกด้วยถ้อยคำสำนวนที่ครึกครื้นมากกว่าหนังสือปฏิทินของโรงพิมพ์อื่นๆ ในสมัยนั้น ฉบับนี้กล่าวถึงการกำหนดวันสงกรานต์ในสมัยก่อนที่แตกต่างจากปัจจุบันคือ ไม่ได้ถือเอาวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันขึ้นสงกรานต์เสมอไป อาจารย์สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย ได้ชวนท่านผู้อ่านมาอภิปรายถึงเรื่องนี้กันในบทความเรื่อง “สงกรานต์” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (เมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2519)

 

ส. พลายน้อย ได้เสนอว่าในอดีตการกำหนดวันสงกรานต์นั้นไม่ได้ตรงกันทุกปี โดยเทียบดูจากปฏิทินเก่าๆ เช่น ฉบับ ร.ศ. 124 วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 12 เมษายน (วันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5) ฉบับ ร.ศ. 127 วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 12 เมษายน (วันอาทิตย์ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5) หรือเก่ากว่านั้นในประกาศของทางราชการสมัยรัชกาลที่ 4 เช่น พ.ศ. 2404 ตรงกับวันที่ 11 เมษายน (วันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 2 ค่ำ) จะเห็นว่าวันสงกรานต์นั้นไม่แน่นอนและไม่ได้อยู่ในเดือน 5 เสมอไป ต่อมาในปัจจุบันวันสงกรานต์ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 13 เมษายนของทุกปี

 

งานสรงน้ำพระเนื่องในวันสงกรานต์ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร

ภาพถ่ายเมื่อ 13 เมษายน พ.ศ. 2522 (ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

นอกจากนี้ ส. พลายน้อยยังได้กล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ของไทย พบว่าหลักฐานเก่าแก่ที่มีคำว่า “สงกรานต์” ปรากฏอยู่คือ ศิลาจารึกอักษรขอมที่ปราสาทวัดพนมวัน นครราชสีมา จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 1625 กล่าวถึงการจัดของสังเวยเทวดาในเวลาขึ้นปีใหม่และในเวลาเปลี่ยนปักษ์ ซึ่งสงกรานต์ตามจารึกนี้เป็นวันเพ็ญเดือน 12 ดังนั้น จึงน่าจะหมายถึงขึ้นปีใหม่เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติมากกว่า

 

ทางอินเดียมีมกรสงกรานต์ ตรงกับเดือนมฤคเศียร (ราววันที่ 12-13 มกราคม) ถือเอาจากดวงอาทิตย์ที่ย้ายราศีเป็นหลัก ถือกันว่าเดือนมกราคมเป็นเดือนที่ดวงอาทิตย์โคจรลงไปสุดทางใต้ เข้าสถิตในราศีมังกร ราววันที่ 12 – 13 มกราคม จากนั้นจะเริ่มโคจรกลับขึ้นเหนือนับเป็นมกรสงกรานต์ บ้างเรียกว่าติลสงกรานต์คือวันงา ซึ่งเป็นวันที่พวกพราหมณ์เอาเมล็ดงามาบดและถูตัว ในการนักขัตฤกษ์มกรสงกรานต์นี้ ชาวฮินดูทั้งหลายอาบน้ำชำระกายพร้อมด้วยพวกพราหมณ์ และเอาเมล็ดงามาถูตัวและเชื้อเชิญพวกพราหมณ์มา เอาหม้ออันเต็มไปด้วยเมล็ดงาและของสิ่งอื่นมอบให้แก่พราหมณ์นั้น ชาวฮินดูทั้งหลายนุ่งห่มผ้าใหม่และตกแต่งเครื่องประดับ แล้วเอาเมล็ดงาคลุกกับน้ำตาลทรายจ่ายแจกกัน

 

ทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัยก็มีมีนสงกรานต์ (มีนาคม-เมษายน) มีการเอาข้าวย้อมสีบวงสรวงภูติผีปีศาจ ส่วนที่มาของสงกรานต์ไทยนั้น อาจเป็นไปได้ว่ารับมาจากมอญ ตามจารึกวัดพระเชตุพนฯ ที่เรื่องมหาสงกรานต์อ้างถึงพระบาลีฝ่ายรามัญ นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่านิทานตำนานสงกรานต์ของไทลื้อก็คล้ายกับของมอญ ต่างกันแค่เพียงจำนวนของลูกสาว (นางสงกรานต์) ของไทลื้อมีทั้งหมด 12 คน เวียนกันไปตามปีนักษัตร ส่วนทางพม่ามีความเชื่อว่าพระอินทร์จะเสด็จลงมาในช่วง 2-3 วันก่อนสิ้นปี เรียกว่า “สักยามิน” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “สักกะ” ที่เป็นนามหนึ่งของพระอินทร์ เชื่อกันว่าสักยามินจะถือสมุดเล่มใหญ่ 2 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นหนังสุนัข อีกเล่มหนึ่งเป็นทอง ใช้จดความดีชั่วของมนุษย์ ดังนั้น จึงถือกันว่าต้องประพฤติดีในช่วงก่อนขึ้นปีใหม่ บ้างว่าสักยามินลงมาเยี่ยมญาติ ในช่วงเทศกาลสิงกันหรือสงกรานต์จะวางหม้อน้ำใส่ดอกไม้ตั้งไว้หน้าบ้านเพื่อต้อนรับสักยามิน แล้วเอาน้ำในหม้อน้ำพรมลงบนพื้นดินขอให้โชคดี มีทรัพย์สมบัติ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำนาได้ผลดี

 

งานสรงน้ำพระเนื่องในวันสงกรานต์ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร

ภาพถ่ายเมื่อ 13 เมษายน พ.ศ. 2522 (ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

ส. พลายน้อย ยังได้รวบรวมประเพณีความเชื่อในวันสงกรานต์ที่ต่างๆ มาเสนอไว้ด้วย เช่น ที่พม่ามีประเพณีปล่อยปลาในเทศกาลสงกรานต์ ถือเอาการที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ สัญลักษณ์ของราศีมีนเป็นรูปปลา การปล่อยปลาจึงเท่ากับว่าพระอาทิตย์ได้ย้ายจากราศีมีนแล้ว ส่วนประเพณีปล่อยปลาของไทยนั้นถือเอาอย่างศิษย์ของพระสารีบุตรที่เป็นสามเณรชะตาขาดแต่ได้ทำบุญปล่อยปลาที่ตกคลักอยู่ในหนองน้ำแห้งให้พ้นจากความตาย ผลบุญจึงช่วยให้สามเณรมีชีวิตอยู่ต่อ นอกจากนี้ในวันสงกรานต์ของไทยยังมีพิธีกรรมอื่นๆ เช่น ก่อพระเจดีย์ทราย เอาไม้ไปค้ำกิ่งโพธิ์ สรงน้ำพระ เป็นต้น รวมถึงการละเล่นต่างๆ เช่น การเล่นสะบ้าที่ยังแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชาวมอญจนถึงปัจจุบัน และที่ไม่ค่อยเห็นกันแล้วคือ การร่วมกันกวนกาละแมและข้าวเหนียวแดงเพื่อนำไปทำบุญและแจกจ่ายกันในละแวกบ้าน

 

อ่านบทความเรื่อง “สงกรานต์” ฉบับเต็มได้ใน 10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67624123/-2-3

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น