“...น้ำมูรธาภิเษก คือ น้ำศักดิ์สิทธิ์ในคติทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของอินเดีย ใช้ชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์หมดมลทิน การสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานภาพของพระมหากษัตริย์ จากมนุษย์ธรรมดาให้กลายเป็นเทพ อยู่เหนือความเป็นมนุษย์ มีความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองและการขจัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร...”
ชื่อบทความ น้ำมูรธาภิเษก
ผู้เขียน อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ปีที่พิมพ์ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2562)
“พุมเรียง : เมืองไชยาเก่าและบ้านเกิดท่านพุทธทาส”
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวางกูร ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคม ศกนี้ มีพิธีกรรมที่สำคัญคือการสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในความคิดทางมานุษยวิทยา พิธีกรรมดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานภาพของพระมหากษัตริย์ จากมนุษย์ธรรมดาให้กลายเป็นเทพ คือเป็นผู้อยู่เหนือความเป็นมนุษย์ซึ่งมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย ที่มีความรู้สึกในเรื่องที่รักที่ชังและความโกรธเกลียด เพื่อให้ดำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม และความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมือง รวมทั้งขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาราษฎร์โดยถ้วนหน้า
พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกอยู่ในประเพณีการปกครองแบบราชามหากษัตริย์ ที่สังคมทั่วไปของบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากอินเดียแต่สมัยต้นคริสตกาล ราว 2,000 ปีมาแล้ว เป็นประเพณีพิธีกรรมที่ต้องมีพราหมณ์ ปุโรหิต ในทางศาสนาฮินดูเป็นผู้ประกอบพิธี สรุปอย่างย่นย่อก็คือเป็นการยกระดับของพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือมนุษย์ธรรมดาที่อยู่บนดิน ขึ้นสู่ท้องฟ้าและสวรรค์วิมาน สะท้อนให้เห็นจากการใช้ภาษาสันสกฤต อันเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ในการกล่าวบรรยายและเรียกชื่อสถานที่ประทับในพระราชวัง
ความสำคัญของพระราชพิธีอยู่ที่น้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ (purification) เพราะ “น้ำ” คือสิ่งสำคัญที่สุดในการชำระล้างความสกปรก แต่เมื่อเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จึงสามารถที่จะชำระสิ่งสกปรกทางจิตใจให้หมดไปได้ ดุจดั่งดอกบัวที่แม้จะเกิดจากโคลนตม ก็สามารถผุดขึ้นเหนือน้ำอย่างบริสุทธิ์หมดมลทิน ดอกบัวจึงกลายเป็นอาสน์ของบุคคลผู้ทรงได้ชื่อถึงความบริสุทธิ์ เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือมนุษย์ ทำให้เกิดรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมในวัฒนธรรมฮินดู-พุทธ ที่เป็นรูปปั้นและรูปภาพของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าที่ล้วนประทับเหนือปัทมอาสน์ทั้งสิ้น รวมไปถึงการสร้างฐานสถาปัตยกรรมทางศาสนา เช่น โบสถ์ วิหาร พระสถูปเจดีย์ และปราสาทราชวังให้เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย อันเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างไปจากบรรดาสถาปัตยกรรมทางโลกวิสัย ยิ่งกว่านั้นในวัฒนธรรมฮินดูของขอมโบราณได้ขยายความสำคัญของบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ทั้งพระ เทพ และกษัตริย์ให้เป็นผู้ประทับเหนือปัทมอาสน์ มีการพัฒนาเอาภาษาสันสกฤตไปผสมผสานกับภาษาขอมและอักษรขอม ใช้เป็นราชาศัพท์ เช่น พระบาท บาทบงกช เป็นต้น และกินเลยไปถึงบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองที่เป็นข้าพระบาท สิ่งเหล่านี้กินความไปถึงราชาศัพท์ที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ที่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (coronation) ซึ่งใช้คำนำหน้าว่า พระบาทสมเด็จ... เช่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่นอกจากทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎแล้ว ยังเฉลิมพระนามนำหน้าว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา...อีกด้วย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อได้ทรงสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้ว
น้ำมูรธาภิเษกคือน้ำศักดิ์สิทธิ์ในคติทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของอินเดีย เป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำ 7 สาย (สัปตสินธวะ) ที่เกิดจากแม่น้ำคงคา คือ คงคา ยมนา สรัสวดี โคธาวารี นัมมทา สินธุ และกาเวรี เป็นแม่น้ำสมมติ เพราะแม่น้ำนัมมทา สินธุ และกาเวรีหาได้เกิดจากแม่น้ำคงคาไม่ แต่เป็นลำน้ำที่เกิดตามลุ่มน้ำในภูมิภาคต่างๆ ของอินเดีย แต่ในตำนานของไทยให้ความสำคัญกับแม่น้ำ 5 สายที่สัมพันธ์กับแม่น้ำคงคา ตามตำนานมหาเวสสันดรชาดกว่า ปัญจมหานที ได้แก่ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู และมหิ ล้วนเป็นลำน้ำที่สัมพันธ์กับบ้านเมืองและรัฐโบราณที่เกิดในแดนภารตะ (คือลุ่มน้ำคงคา ยมุนา) พาราณสี สาวัตถี กบิลพัสดุ์ เวสาลี ราชคฤห์ และปาตลีบุตรซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำคงคาไหลไปรวมกับลำน้ำสาขาอื่นๆ กลายเป็นลำน้ำใหญ่ที่สุด
ลำน้ำกบาลสะเปียน เมืองเสียมเรียบ
อย่างไรก็ตาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาเป็นน้ำมูรธาภิเษกของเมืองไทย ไม่ได้นำจากปัญจมหานทีของอินเดีย เพียงแต่เอาความคิดในเรื่องแม่น้ำ 7 สายของอินเดียมากำหนดแม่น้ำ 5 สายในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งน้ำจากสระทั้ง 4 คือ สระเกศ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา อันเป็นสระโบราณริมลำน้ำท่าว้า ซึ่งเป็นแพรกน้ำของแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีนสายหนึ่งที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำจระเข้สามพันที่เมืองอู่ทอง น้ำทั้ง 4 สระของแม่น้ำท่าว้านี้ในตำนานพงศาวดารสมัยอยุธยาระบุว่า เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นน้ำมูรธาภิเษกตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไป และใช้ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ลงมาได้มีการกำหนดแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น จากระดับลุ่มน้ำสายสำคัญมาเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามจังหวัดต่างๆ ภายในพระราชอาณาจักร แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมีทั้งแหล่งที่คนพื้นเมืองรับรู้กันมานานและมีเรื่องเล่าความเป็นมา แต่อีกหลายแห่งก็เพิ่งพบใหม่และสร้างตำนานขึ้นใหม่ด้วย เรียกว่าบ่อน้ำทิพย์ ห้าสระน้ำศักดิ์สิทธิ์บ้างที่ ซึ่งมีทั้งคนไปอาบ ไปไหว้และนำมารักษาโรคภัย หรือบางแห่งก็ไปขอหวย แต่ที่สำคัญ เป็นแหล่งน้ำที่มีพญานาคเป็นเจ้าของหรือเป็นที่อยู่ของพญานาค โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพญานาคนั้นมักไปผูกเข้ากับเรื่องพญานาคของคนล้านช้างและล้านนา ที่ให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำใต้ดินที่เรียกว่า พุ และ หนองหล่ม อันเป็นตำแหน่งการเกิดขึ้นของชุมชนและบ้านเมือง เมืองพระนครหลวงของอาณาจักรกัมพูชาให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำพุ 2 แห่ง อันเป็นต้นน้ำของลำน้ำเสียมเรียบที่ไหลผ่านเมืองพระนคร คือ ลำน้ำกุเลนและลำน้ำกบาลสะเปียน ที่มีการสลักรูปวิษณุอนันตศายินและสหัสลึงค์ไว้เพื่อการประกอบพิธีกรรม รวมทั้งบารายตะวันตก บารายตะวันออก บารายปราสาทพระขรรค์ ปราสาทแม่บุญตะวันตกและตะวันออก รวมทั้งปราสาทนาคพันธ์ที่มีน้ำพุ (spring) อยู่ใต้ท้องน้ำ คล้ายๆ กันกับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยแต่สมัยรัชกาลที่ 9 ลงมา จนปัจจุบันผู้รู้ในเรื่องโบราณคดีท้องถิ่นกำหนดสระน้ำประจำอโรคยาศาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่นที่ปราสาทกำแพงน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ปรางค์กู่ประภาชัยที่ขอนแก่น เป็นต้น
สระแก้ว น้ำศักดิ์สิทธิ์ริมคลองอิปัน จ. สุราษฎร์ธานี
ปัจจุบันแหล่งที่มีน้ำพุหรือน้ำผุดจากใต้ดิน ที่ท้องถิ่นในระดับจังหวัดกำหนดให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะนำมาใช้ในพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกถวายองค์พระมหากษัตริย์มีแต่เพิ่มมากขึ้น และที่ข้าพเจ้าไปเห็นมาก็ที่ สระแก้ว บ้านเขาปดหรือตำบลบางสวรรค์ในลำน้ำคลองอิปัน อันเป็นแควหนึ่งที่ไหลลงจากทิวเขาด้านตะวันตกของแม่น้ำตาปี อันเป็นแม่น้ำสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไหลมาลงแม่น้ำตาปีที่อำเภอพระแสง เป็นแหล่งน้ำที่พบโดยพระเถระผู้ใหญ่ของจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 และพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 การให้ชื่อว่า “สระแก้ว” จึงมีความหมายสอดคล้องกับแหล่งอื่นๆ ที่มีมาแต่โบราณ และแหล่งน้ำพุนี้ก็เป็นสถานที่ตัวอย่างให้คนในปัจจุบันได้รู้ได้เห็นว่ามีลักษณะเช่นใด เพราะเห็นร่องรอยได้ชัดเจนว่าอยู่บนลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลลงจากเขาปดมารวมกับลำคลองอิปันซึ่งไหลลงมาจากเขาพระ และแอ่งที่ลำห้วยบรรจบกับคลองอิปันเป็นจุดที่มีน้ำพุใต้ดินผุดขึ้นมา ทำให้เป็นบริเวณที่มีน้ำใสสะอาดดุจแก้ว ซึ่งออกสีน้ำเงินอมเขียวแตกต่างไปจากสีน้ำแหล่งอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ ทางราชการได้ดูแลรักษาอย่างดี มีการกันพื้นที่ตรงน้ำผุดไว้ไม่ให้ใครเข้ามาทำให้เกิดความสกปรก รักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ไว้ให้คนกราบไหว้ขณะมาชมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วย
สุดท้ายใคร่ขอสรุปความหมาย ความสำคัญของน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า มูรธาภิเษก ในแนวคิดทางมานุษยวิทยาว่า เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการบูรณาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การสรงน้ำมูรธาภิเษกคือพิธีกรรมชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อเข้าสู่ภาวะที่จะเปลี่ยนสถานภาพความเป็นมนุษย์ให้เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า พระสมมติเทพ ที่จะทรงครองราชย์ด้วยความเป็นธรรมเยี่ยงพระจักรพรรดิราช และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก