วัฒนธรรมหินตั้ง
ศรีศักรทัศน์

วัฒนธรรมหินตั้ง

 

“...วัฒนธรรมหินตั้งเป็นหลักฐานสำคัญที่หลงเหลือมาจากสมัยที่มนุษย์ยังนับถือผีและสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างเข้มข้นซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการตั้งถิ่นฐานถาวร โดยมนุษย์ในช่วงสมัยนั้นใช้หินตั้งเป็นเครื่องมือสำหรับแบ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่สาธารณ์ สมัยต่อมาหินตั้งคลี่คลายสู่เสมาหินซึ่งอาจารย์ศรีศักรสำรวจพบทั้งการปักเสมาหลักเดี่ยวและ 2-3 หลักกลางเนินดินล้อมรอบด้วยเสมาขนาดย่อมตามทิศทั้ง 8 นอกจากนั้นยังมีเสมาหินที่ปักเพื่อแสดงเขตแดน ตำแหน่งของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จุดที่เป็นทางแยก และบริเวณที่ลำน้ำสบกัน เป็นต้น กระทั่งต่อมาจึงพบการใช้หินตั้งสลักรูปเสมาปักล้อม 8 ทิศ รอบโขดหิน เพิงผา หรือลานหินสมมติเป็นเขตสังฆารามในพุทธศาสนา...”

 

ชื่อบทความ     วัฒนธรรมหินตั้ง

ผู้เขียน             อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

คอลัมน์            บทบรรณาธิการ

ปีที่พิมพ์           วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2563)

“เขาสามแก้ว : แหล่งอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกลูกปัดบนฝั่งอ่าวไทย”

 

วัฒนธรรมหินตั้ง

วัฒนธรรมหินตั้ง (Megalithic culture) นับเป็นขั้นตอนหนึ่งในวิวัฒนาการทางสังคมมนุษย์ จากสังคมเร่ร่อนเข้าสู่สังคมที่มีการตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานถาวร และมีพัฒนาการของชุมชนจากบ้าน (villages) เป็นเมือง (towns) เป็นนคร (city) และเป็นรัฐ (state) ในที่สุดความคิดทางมานุษยวิทยาที่ได้รับการอบรมมา ข้าพเจ้ามองวิวัฒนาการดังกล่าวเป็น 3 อย่าง  อย่างแรกคือวิวัฒนาการทางชีววิทยาด้านร่างกายและสมอง จากการเป็นสัตว์สังคมคล้ายลิงขึ้นเป็นคนหรือมนุษย์ ที่ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือสังคมเพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกัน อย่างที่ 2 คือวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมเรื่องเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น เครื่องมือในการประกอบอาชีพและอาวุธ ตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ สู่ยุคโลหะสำริดมาเป็นยุคเหล็ก และอย่างที่ 3 คือวิวัฒนาการทางพื้นที่อยู่อาศัยขึ้นเป็นชุมชนบ้าน เมือง และรัฐ ซึ่งอย่างสุดท้ายคือเรื่องที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

 

วัฒนธรรมหินตั้งคือวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ซึ่งมนุษย์ใช้หินเป็นเครื่องมือในการแบ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ออกจากพื้นที่สาธารณ์ (profane) ทำให้เกิดลักษณะความเป็นชุมชนขึ้น มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีสำนึกในเรื่องพื้นที่ (sense of territory) ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน คือ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำมาหากิน และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์กับความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ พื้นที่ทั้ง 3 นี้นับรวมเป็นพื้นที่ภายในท้องถิ่น (locality) ที่มีความสัมพันธ์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในกาละและเทศะต่างๆ แต่พื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งให้เห็นความต่างก็คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่สาธารณะ เช่นในชุมชน ปัจจุบันพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์คือบริเวณวัดและศาลผี เป็นต้น

 

สมัยก่อนที่จะมีการก่อสร้างวัดและศาลเจ้า จะใช้แท่งหิน โขดหิน หรือกองหินแสดงตำแหน่งของความศักดิ์สิทธิ์ การใช้แท่งหินหรือกองหินเป็นเครื่องหมายนี้ คือเบื้องต้นของสิ่งที่เรียกว่า หินตั้ง  หินตั้งที่ยังหลงเหลือให้เห็นในทุกวันนี้ก็คือเสมาหินที่ปัก 8 ทิศรอบโบสถ์หรืออุโบสถ เป็นสิ่งที่แสดงถึงอาณาบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์กับประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาและระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ชาวบ้านแต่โบราณเรียกวัดในระดับชุมชนบ้านว่า สิม ที่หมายถึงเสมาที่ปักแสดงเขตโบสถ์ ทำให้โบสถ์เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้าน ขณะที่วัดในระดับเมืองเรียก ธาตุ ที่หมายถึงพระสถูปเจดีย์ที่เป็นสัญลักษณ์วัดธาตุของเมือง มีพื้นที่กว้างกว่าสิมของหมู่บ้าน มักมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 เขต คือ พุทธาวาส สังฆาวาส และพื้นที่สาธารณะที่มีขอบเขต

 

ตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมา ข้าพเจ้าพบว่ามีการใช้สิมหรือเสมาปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารทางศาสนาล้อมทั้ง 8 ทิศ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ สถูป เจดีย์ วิหาร รวมทั้งแสดงเขตพุทธาวาส และปักแสดงตำแหน่งโดยรวมของพื้นที่ในขอบเขตของวัด ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นร่องรอยของสิ่งที่เรียกว่า “หินตั้ง” ที่ยังเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีในปัจจุบัน สิมล้วนพัฒนาขึ้นจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีการใช้หินตั้งแสดงเขตและแบ่งเขตของชุมชนบ้านและเมืองมาก่อนสมัยที่มีการนับถือพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูในประเทศไทย

 

หินตั้งที่พบปักกระจายอยู่ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง อ. บรรพตพิสัย จ. นครสวรรค์ 

หินเหล่านี้ชาวบ้านเก็บบางส่วนมากองรวมไว้ตรงหลุมขุดค้นที่พบโครงกระดูก

 

พัฒนาการของบ้านเมืองในภาคอีสาน

ในงานศึกษาพัฒนาการของบ้าน เมือง และรัฐในดินแดนประเทศไทย ข้าพเจ้าเลือกภาคอีสานเป็นแหล่งศึกษาสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่กึ่งแห้งแล้งที่มีดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เหมาะกับการมีวิวัฒนาการของชุมชนบ้าน เมือง และรัฐ คล้ายกันกับแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ เช่น อียิปต์ เปอร์เซีย และอินเดีย แม้ว่าจะมีช่วงเวลาของวิวัฒนาการที่ต่างกัน อย่างเช่นการเกิดเป็นสังคมเมือง (urban society) ของคนในแถบตะวันออกกลางที่เกิดมาแล้วราว 6,000 ปี ในอินเดีย 3,500 ปี ขณะที่เอเชียอาคเนย์ซึ่งมีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่ง เพิ่งพัฒนาขึ้นราว 2,500 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทย วิวัฒนาการของชุมชนบ้านขึ้นเป็นเมืองและรัฐหาได้เกิดขึ้นในเวลาพร้อมๆ กันในแต่ละภูมิภาค บางภาคอยู่ในสภาพล่าช้า เช่น ภาคเหนือ บางภาคพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่น ภาคกลางและพื้นที่ตามชายฝั่งทะเล แต่ภาคที่แลเห็นวิวัฒนาการตามลำดับคือภาคอีสาน ที่มีพัฒนาการของชุมชนบ้านมาแต่ยุคสำริด คือราว 3,500 ปีในพื้นที่ลาดลุ่มและราบลุ่มของแม่น้ำมูล-ชีในแอ่งโคราช และพื้นที่ในลุ่มน้ำสงครามและลำน้ำอื่นๆ ในแอ่งสกลนคร จนกระทั่งถึงสมัยยุคเหล็กราว 2,500 ปีลงมา จึงมีพัฒนาการของชุมชนบ้านขึ้นเป็นเมือง และเป็นรัฐแรกเริ่ม (early state)

 

เหตุที่มีพัฒนาการขึ้นในช่วงเวลา 2,500 ปีลงมานั้น เป็นเพราะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับศูนย์กลางอารยธรรมที่เข้ามาตามเส้นทางการค้าระยะไกล จากอินเดียทางตะวันตกกับยูนนานและเวียดนามทางตะวันออก อารยธรรมทางตะวันออกมาตามเส้นทางน้ำและเส้นทางบกตามชายฝั่งทะเลจีน เป็นอารยธรรมที่มากับการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้จากหินเป็นโลหะ เช่น สำริดและเหล็ก ควบคู่กับระบบความเชื่อทางศาสนาที่สัมพันธ์กับจิตวิญญาณ (supernaturalism) คือการนับถือและทำพิธีกรรมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งบนดินและท้องฟ้า สะท้อนให้เห็นจากกลองมโหระทึกหรือกลองกบที่ทำด้วยสำริด เป็นศาสนาและระบบความเชื่อที่มาจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากแหล่งอารยธรรมทางยูนนานและเวียดนาม เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่เดิมมีคนอยู่อาศัยน้อย

 

ภาคอีสานนอกจากมีพื้นที่ลาดลุ่มและราบลุ่มกว้างใหญ่กว่าภูมิภาคอื่นๆ ในบริเวณตอนใต้ของยูนนานแล้ว ยังเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ เช่น ของป่า แร่ธาตุ อาทิ เกลือ ทองแดง และเหล็ก ที่ดึงดูดคนจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เป็นสังคมเกษตรกรรมคู่ไปกับการทำอุตสาหกรรมเกลือและเหล็ก เพื่อส่งออกไปยังบ้านเมืองภายนอกที่อยู่ใกล้เคียง จุดอ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่งของพื้นที่กึ่งแห้งแล้งและชุ่มชื้นของอีสานก็คือการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยตลอดทั้งปีของชุมชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความจำเป็นในเรื่องการจัดการน้ำกินน้ำใช้ให้ชุมชนแต่ละท้องถิ่นมีน้ำใช้ได้ตลอดปี สิ่งดังกล่าวทำให้เกิดการรวมกำลังกันของผู้คนทั้งในระดับชุมชนและท้องถิ่นในการจัดการน้ำร่วมกัน

 

เมื่อปี พ.ศ. 2522 ข้าพเจ้าและอาจารย์ในภาคมานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนอุดหนุนจากโครงการแม่น้ำโขงของสหประชาชาติ ทำการศึกษาการกักเก็บน้ำในบริเวณที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำมูล-ชีในแอ่งโคราช และบริเวณลุ่มน้ำสงครามในแอ่งสกลนคร ได้สำรวจพบเนินดินที่เป็นแหล่งชุมชนโบราณกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณใกล้กับหนองน้ำและลำน้ำ เนินดินเหล่านี้เป็นทั้งเนินดินที่มีคูน้ำล้อมรอบกว่า 200 เนิน สลับกับเนินดินที่ไม่มีคูน้ำล้อมรอบ จากการขุดค้นทางโบราณคดีและการสำรวจศึกษาของข้าพเจ้าและคณาจารย์พบว่า เนินดินส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กตอนปลายลงมา คือราว 2,500 ปี เพราะพบเครื่องมือเหล็กรวมอยู่กับเครื่องใช้อื่นๆ และบางแห่งก็พบว่าเป็นแหล่งถลุงเหล็กที่ยังเหลือตะกรันเหล็กเป็นกองเนินใหญ่น้อย นอกจากนั้นในบางแห่งที่เป็นดินเค็ม มีการทำเกลือที่เหลือร่องรอยเนินดินซึ่งเกิดจากการทับถมของดินเกลือ และเศษภาชนะดินเผาที่ใช้ต้มเกลือและใส่เกลือเป็นกองเนินใหญ่โต แสดงให้เห็นว่าทั้งการถลุงเหล็กและทำเกลือเป็นอุตสาหกรรม สังคมอีสานโบราณหาใช่เป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าวเป็นอาหารหลักอย่างในภูมิภาคอื่น หากทำอุตสาหกรรมการผลิตเกลือและเหล็กไปในตัวด้วย

 

เพราะฉะนั้นกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ 2,500 ปีลงมา ดินแดนที่ราบสูงอีสานทั้งแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร มีผู้คนจากภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนมากมาย เกิดการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จนต้องมีการจัดการน้ำเพื่อให้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่นดำรงอยู่ได้ตลอดปี จึงมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็กขึ้น ที่สำคัญคืออ่างเก็บน้ำที่เป็นสระล้อมชุมชนที่เรียกว่า tank moats ซึ่งมีจำนวนราว 200 กว่าแห่งขึ้นไป การสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นสิ่งที่เหลือกำลังของผู้คนในชุมชนที่จะทำขึ้นตามลำพัง เพราะในแต่ละชุมชน ส่วนมากมีพื้นที่ที่ขุดเป็นผืนน้ำมากกว่าพื้นดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการร่วมมือกันเป็นองค์กรในการขุดสระน้ำของชุมชนใหญ่น้อยที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน เป็นผลให้บรรดาชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันและใกล้เคียง มีรูปแบบและโครงสร้างในการจัดการน้ำแบบเดียวกัน

 

ตำแหน่งที่ปักหินตั้ง ซึ่งต่อมากลายเป็นพื้นที่ทางพุทธศาสนา มีการปักเสมาหิน

 

ในการสำรวจศึกษาแหล่งชุมชนโบราณที่มีสระน้ำล้อมดังกล่าว ข้าพเจ้าแลเห็นโครงสร้างของการรวมกลุ่มของชุมชน ทั้งมีคูน้ำล้อมรอบและไม่มี จากแนวคันดินและร่องน้ำที่เชื่อมโยงกับชุมชนใหญ่ (town) ที่เป็นศูนย์กลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้แลเห็นรูปแบบของเนินดินที่มีคูน้ำล้อมรอบแต่ละแห่งว่ามีลักษณะเดียวกัน เป็นรูปแบบไม่สม่ำเสมอ ทั้งรูปกลม รูปเหลี่ยมแบบสม่ำเสมอ และขนาดของเนินดินที่มีคูน้ำล้อมรอบก็มีทั้งเล็กและใหญ่ไม่เท่ากัน ชุมชนบ้านและเมืองเหล่านี้กระจายกันอยู่ตามลำน้ำสายเล็กและใหญ่ของบริเวณที่ลาดลุ่มและราบลุ่ม ซึ่งมีชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคูน้ำล้อมใกล้กับหนองบึงขนาดใหญ่ (lake) หรือบางทีก็ใกล้กันกับชุมทางที่ลำน้ำมาสบกันไปลงแม่น้ำที่ใหญ่กว่า ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางกายภาพของชุมชน ที่มีองค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีพื้นฐานจากการใช้แรงงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยและทำกินในช่วงเวลาแรกของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ยุคเหล็ก

 

ต่อมาจึงแลเห็นพัฒนาการของความเป็นรัฐแรกเริ่ม จากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และอารยธรรมจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งจากทางตะวันออกที่มาจากยูนนานและเวียดนาม กับทางตะวันตกที่มาจากบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและอินเดีย โดยทางตะวันออกนั้นมีมานานแล้ว เห็นได้จากการกระจายเข้ามาของเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก รวมถึงประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 (Secondary Burial) ที่เปลี่ยนจากการฝังศพทั้งร่างมาเป็นการนำเอาชิ้นส่วนของโครงกระดูกใส่หม้อดินเผาแล้วฝัง (jar burial)

 

เนินดินซึ่งมีหินตั้งปักอยู่ภายในเมืองโบราณบ้านโนนเมือง อ. ชุมแพ จ. ขอนแก่น

 

ประเพณีการฝังศพกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากภายนอก

ประเพณีการฝังศพใส่หม้อกระดูกนี้ไม่น่าเป็นของกลุ่มคนที่อยู่ในภาคอีสานมาก่อนยุคเหล็ก ซึ่งก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากบ้านเมืองชายทะเลในเขตประเทศเวียดนามเข้ามา และเผ่าพันธุ์หนึ่งที่สำคัญคือพวกซาหวิ่นที่อยู่ในกลุ่มออสโตรนีเซียนที่พูดภาษามาเลย์ คนกลุ่มนี้เป็นพวกพ่อค้าระยะไกล (long distance trader) ทั้งทางบกและทางทะเล เป็นบรรพบุรุษของพวกจามที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของนครรัฐเป็นแว่นแคว้น เช่น จามปาทางชายฝั่งทะเลของเวียดนามตอนกลาง เหนือปากแม่น้ำโขงไปจนถึงตังเกี๋ยและฟูนัน จากปากแม่น้ำโขงไปจดตอนใต้ของกัมพูชา ประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ที่มากับคนภายนอกจากฝั่งทะเลเข้ามาในอีสานดังกล่าวได้แพร่หลายไปแทบทุกแห่งในภูมิภาค ทำให้เกิดเนินดินที่เป็นที่ฝังหม้อกระดูกในชุมชนบ้านและเมืองแทบทุกแห่ง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านศาสนาและความเชื่อของผู้คน ที่แต่ก่อนเป็นความเชื่อที่เรียกว่า animism คือเชื่อในเรื่องสิ่งไม่มีชีวิตในธรรมชาติ เช่น โขดหิน ภูเขา แหล่งน้ำ เนินดิน ดังเช่นจอมปลวกที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งซึ่งคนในท้องถิ่นเห็นว่าเป็นลักษณะไม่ธรรมดา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ที่ต้องแสดงความเคารพและทำพิธีกรรม เกิดเป็นความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ (supernaturalism) ที่คนปัจจุบันเรียกรวมๆ ว่า “ผี” ทำให้เนินดินอันเป็นที่ฝังหม้อกระดูกกลายเป็นที่รวมของวิญญาณบรรพบุรุษของชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องดูแลคนที่อยู่ในชุมชนผู้เป็นเสมือนลูกหลาน นับเป็นการเกิดลัทธิบูชาบรรพบุรุษขึ้นมา

 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในที่ราบสูงอีสานครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงเวลา 2,500 ปีลงมา ก็คือเส้นทางการค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเลกับบ้านเมืองที่เป็นรัฐขนาดใหญ่ หรืออาณาจักรเดียนหรือเตียนที่อยู่รอบทะเลสาบคุนหมิงในยูนนาน อันเป็นศูนย์กลางอารยธรรมยุคสำริด-เหล็ก ที่ไม่เพียงนับถือเรื่องจิตวิญญาณที่เป็นผีบนดินแต่อย่างเดียว หากพัฒนาขึ้นเป็นความเชื่อในเรื่องผีบนท้องฟ้าที่เรียกว่า ผีฟ้า หรือ ผีแถน และนำเอาดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจสูงสุดในจักรวาล ด้วยการสร้างกลองสำริดหรือมโหระทึกขึ้นมาเป็นวัตถุที่ใช้ในพิธีกรรม ประเพณีพิธีกรรมสำคัญที่ต้องทำในรอบปีก็คือพิธีขอฝน อันเป็นพิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่มีรูปกบประดับกลองสำริด ด้วยกบคือสัญลักษณ์ของน้ำหรือฝนที่มากับลมมรสุม

 

โครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 2,500 ปีในหลุมขุดค้นที่บ้านโนนเมือง พบภาชนะดินเผาเขียนสีที่ใช้เซ่นศพ

 

แต่ในทางสังคมและการเมืองการปกครอง กลองสำริดเป็นวัตถุทางเกียรติภูมิของบุคคลที่เป็นผู้นำชุมชนและสังคม เช่นผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ เป็นเจ้าบ้านและเจ้าเมือง มีกลองสำริดไว้ในครอบครองและตกทอดเป็นมรดกของวงศ์ตระกูล เหตุนี้จึงพบว่าตามเนินดินที่เป็นแหล่งฝังหม้อกระดูกหรือศพของผู้นำชุมชนมีการขุดพบกลองมโหระทึก ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากสังคมระดับบ้านและเมืองขึ้นเป็นรัฐแรกเริ่มนั้น มีพัฒนาการของโครงสร้างสังคมของคนในตระกูลผู้นำและแวดวงขึ้นเป็นชนชั้น ทำให้เกิดพัฒนาการของเนินดินฝังศพของตระกูลสำคัญ โดยสร้างสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์เพื่อบ่งแสดง ดังมีการใช้แท่งหิน ก้อนหิน ที่เป็นวัตถุถาวรปักหรือตั้งแสดงในรูปที่เป็นแท่งเดี่ยว (monolith) หรือการปักล้อมเนินดิน โดยสรุปก็คือแท่งหินหรือก้อนหินเป็นเครื่องหมายของความศักดิ์สิทธิ์และการแบ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่สาธารณะ

 

ในการศึกษาสำรวจของข้าพเจ้าพบว่า การใช้หินตั้งแสดงความศักดิ์สิทธิ์และขอบเขตพื้นที่นั้น หาได้จำกัดอยู่เฉพาะแหล่งฝังศพไม่ หากกินไปถึงแหล่งธรรมชาติ เช่น ภูเขา ทางน้ำ หนองน้ำ ที่คนท้องถิ่นเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ในระบบความเชื่อที่เรียกว่า animism ด้วย อย่างเช่นบริเวณที่ลำน้ำมาสบกัน คุ้งน้ำ เวินน้ำ หรือภูเขาที่มีรูปร่างผิดปกติ เป็นต้น จะมีการปักหินแสดงบริเวณพื้นที่ทำพิธีกรรมกราบไหว้ตามฤดูกาลที่กำหนด ความเป็นรัฐจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพัฒนาการของชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งมีการสร้างคันดินเป็นเชิงเทินเพื่อป้องกันการรุกล้ำจากศัตรูภายนอก และเพื่อป้องกันอุทกภัยที่จะเข้ามาทำลายชุมชนภายใน โดยมีคันดินและร่องน้ำที่ใช้ทั้งการชลประทาน และคันถนนที่เชื่อมต่อกับบรรดาชุมชนบ้านเมืองที่อยู่โดยรอบในลุ่มน้ำเดียวกัน แต่ที่โดดเด่นและเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องก็คือ เมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ของหนองน้ำหรือบึงใหญ่ที่เรียกว่าเป็นทะเลสาบ เช่น หนองหานกุมภวาปี หนองหานสกลนคร เป็นต้น

 

ตามที่กล่าวมาแล้ว จากพัฒนาการของโครงสร้างทางกายภาพ เช่น ชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบแนวคันดินเพื่อการชลประทาน และบริเวณที่ลาดลุ่มและที่ราบลุ่มของแม่น้ำใหญ่ๆ  ทั้งในแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครในสมัยยุคเหล็ก คือราว 2,500 ปีลงมา นับเนื่องเป็นพัฒนาการจากภายใน ต่อมาเมื่อมีการติดต่อกับภายนอกด้วยเส้นทางการค้าระยะไกลกับบ้านเมืองที่เป็นอาณาจักรและรัฐใหญ่ อันเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมที่ยูนนานซึ่งผ่านจากเวียดนามที่อยู่ในเขตพื้นที่ชายทะเล ทำให้ได้รับอารยธรรมความเป็นบ้านเมืองและความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม คติทางศาสนา ประเพณี พิธีกรรม ดังเช่นกลองมโหระทึก เครื่องประดับสำริด รวมทั้งแก้วและหินมีค่า เข้ามาในลักษณะที่เป็นสินค้าเกียรติภูมิ (prestige goods) ซึ่งเสริมฐานะความสำคัญทางการเมืองและสังคมให้กับบรรดาผู้นำของบ้านเมืองที่เป็นกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีฐานะในสังคม

 

เหตุนี้จึงมีการพบโบราณวัตถุที่เป็นกลองมโหระทึก เครื่องประดับสำริด แก้ว แหวน เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นของจากยูนนานผ่านเวียดนามเข้ามาในที่ต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในช่วงราว 2,300 ปีลงมา พบร่องรอยการติดต่อกับอินเดียที่ผ่านบ้านเมืองทางภาคใต้และภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เห็นได้จากรูปแบบของภาชนะดินเผาขัดมันสีดำที่เรียกว่า พิมายดำ (Phimai black ware) รวมทั้งบรรดาเครื่องประดับที่ทำด้วยเปลือกหอยทะเลน้ำลึก ลูกปัดแก้ว และหอยเบี้ยที่ใช้เป็นเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ที่สำคัญก็คือช่วงเวลานี้เป็นยุคที่มีการทำเกลือและถลุงเหล็กเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเหล็กมีการนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธอย่างกว้างขวาง มีรูปแบบที่ได้รับมาจากทางยูนนานและจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ส่วนมากพบตามเมืองใหญ่ๆ เช่นที่หนองหานสกลนคร เมืองพิมาย เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองเสมา ดงเมืองแอม นครจัมปาศรี บ้านตาดทอง ภูมิโปน พุทไธสง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ เมืองฝ้าย บ้านทะเมนชัย เมืองตะลุง เป็นต้น บรรดาเมืองโบราณเหล่านี้ล้วนมีกำเนิดมาจากชุมชนที่มีคูน้ำล้อมมาก่อน การเกิดโครงสร้างทางภายภาพของความเป็นเมืองใหญ่ เป็นนครรัฐ เห็นได้จากการสร้างเนินคันดินที่เป็นเชิงเทินล้อมรอบ มีคันถนนหรือคันชลประทานกระจายตัวออกไปยังพื้นที่โดยรอบ อันเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านที่มีเนินดินฝังศพและเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชุมชน มีการขุดสระน้ำและบ่อน้ำ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่พัฒนาจากบริเวณที่เป็นหนองบึงหรือลุ่มน้ำที่มีการขุดขึ้นเพื่อกักน้ำ ซึ่งต่อมาในสมัยหลังคือบาราย ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 ลงมา

 

ในช่วงเวลา 2,300 ปีลงมาที่เป็นพัฒนาการของรัฐ บ้านเมืองที่เป็นรัฐแรกเริ่มมีการใช้แท่งหิน ก้อนหิน และกองหินปักแสดงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และบริเวณที่เคยเป็นที่ฝังศพมาก่อน เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร นักโบราณคดีกรมศิลปากรขุดพบก้อนแลงวางอยู่เหนือชั้นดินที่พบหม้อบรรจุกระดูกเขียนสีในยุคบ้านเชียง และข้าพเจ้าสำรวจพบกองหินที่ก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนลานเขาเหนือเพิงภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อันเป็นแหล่งพิธีกรรมของคนโบราณในยุคนั้น อาจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ชิน อยู่ดี สำรวจพบเนินดินที่มีการใช้แท่งหินธรรมชาติซึ่งยังไม่มีการตกแต่งให้เป็นรูป ปักล้อมพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนโบราณในเขตจังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงประเพณีการใช้หินตั้งปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ก่อนที่บ้านเมืองจะรับอิทธิพลพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูจากทางอินเดีย

 

หินตั้ง เสมาหิน และภูสามเส้า

ต่อมาข้าพเจ้าได้รับทุนอุดหนุนจากมูลนิธิโตโยต้า เพื่อสำรวจแหล่งเสมาหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าเสมาหินที่มีการแต่งหินธรรมชาติให้เป็นรูปกลีบบัวและดอกบัวนั้น คือวิวัฒนาการของหินตั้งในสมัยการนับถือผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ มาเป็นสมัยที่มีการนับถือพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูที่น่าจะมีอายุแต่สมัยทวารวดี คือราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ลงมา จนถึงสมัยลพบุรีราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ลักษณะของการปักเสมาหินในภาคอีสานนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ประการแรก เพื่อแสดงความเศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง จะเป็นหลักเดี่ยว (monolith) หรือ 2-3 หลักกลางเนินดิน ที่มีเสมาขนาดย่อมปักรอบ 8 ทิศตามลักษณะทางจักรวาลวิทยาของอินเดีย ประการที่ 2 ปักแสดงเขตแดนและตำแหน่งของแหล่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นโขดหิน เพิงผา บริเวณทางแยกหรือสบกันของลำน้ำลำคลอง รวมทั้งระยะทางด้วย

 

ลวดลายหม้อปูรณฆฏะที่สลักบนแผ่นเสมาหิน

 

นอกจากหลักหินและแท่งหินที่กล่าวมานี้ วัฒนธรรมหินตั้งยังมีวิวัฒนาการเพื่อแสดงขอบเขตของศาสนสถานและสถานที่สำคัญในเขตเมือง ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคารทางสถาปัตยกรรมเช่นวัดและวังขึ้นมา คติโบราณในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านดินแดนหรือเขตแดนที่ยังมีอยู่จนปัจจุบัน เช่น การผ่านช่องเขาและสันปันน้ำจากบ้านเมืองหนึ่งไปยังอีกบ้านเมืองหนึ่ง ผู้ผ่านจะต้องประกอบพิธีกรรมด้วยการโยนหินสามก้อนก่อนที่จะเดินทางผ่านไป เพื่อเป็นการบอกกล่าวและแสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้น ตัวอย่างเช่นการโยนหินผ่านเขตแดนไทย-พม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี ที่ต่อมามีการสร้างพระเจดีย์สามองค์ขึ้นทับกองหินสามกองนั้น

 

ในภาคเหนือ คติเรื่องหินสามก้อนยังกินความหมายไปถึงภูสามเส้าในตำนานพระธาตุดอยตุง ก่อนที่จะมีการสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นเป็นวัดวาอาราม หรือในที่อื่นๆ แหล่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาบนเนินหลายแห่งที่มีหินตั้ง ถูกเปลี่ยนมาเป็นการสร้างรอยพระพุทธบาทหรือพระธาตุเจดีย์ขึ้นมาแทน หรือบริเวณลำน้ำโขงในภาคอีสาน โขดหินที่ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ได้ถูกเปลี่ยนศาสนสถานของผีมาเป็นรอยพระพุทธบาทในพุทธศาสนา และตัวอย่างที่แลเห็นได้ทุกวันนี้ก็คือปราสาทพระวิหารและปราสาทตาเมือนธมบนเทือกเขาพนมดงเร็ก ติดกับชายแดนกัมพูชา คือสิ่งที่ถูกเปลี่ยนและถูกสร้างให้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู คือการเปลี่ยนผีให้เป็นเทพเจ้า หาใช่เป็นสิ่งที่แสดงขอบเขตอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ขอมเหนือดินแดนในภาคอีสานไม่

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องหินตั้งและกองหินภูเขา เช่น ภูสามเส้า รวมทั้งภูมิสัณฐานทางภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นเช่นบริเวณเวินน้ำและสบน้ำ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การใช้คำว่า “หินตั้ง” อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะเข้าใจในเรื่องการเป็นวัฒนธรรมหินตั้ง จำเป็นที่จะต้องบูรณาการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้ากับบริบทพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและบ้านเมือง ในเวลาและสถานที่ที่สัมพันธ์กับกลุ่มชนที่เป็นสังคมนั้นๆ ทางตำนานและความเชื่อ (myth) เช่นกรณีภูสามเส้า ในพงศาวดารโยนกที่เป็นต้นกำเนิดของการสร้างพระธาตุดอยตุง ภูสามเส้าและหินสามก้อน (หินสามกอง) เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของคนโบราณในแอ่งที่ราบลุ่มเชียงแสน เป็นเทือกเขาที่มีลำน้ำ ลำห้วย ไหลลงมายังที่ราบลุ่มเชียงแสน ก่อนที่ทางน้ำเหล่านั้นจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง พื้นที่ลาดลุ่มและราบลุ่มนี้คือบริเวณที่เกิดเป็นบ้าน เป็นเมือง และเป็นรัฐขึ้น โดยมีนครรัฐอยู่ที่เมืองเชียงแสนในสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา เทือกเขาที่กล่าวถึงเรียกกันในปัจจุบันว่า ดอยตุง เป็นเทือกเขาที่มีดอยสูงใหญ่อยู่ 3 ดอยติดกัน ที่ในตำนานเรียก ภูสามเส้า เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชนเผ่าลัวะ โดยปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้าชนเผ่า (tribe) ต่อมาลูกหลานของปู่เจ้าลาวจกเคลื่อนย้ายลงจากดอยมาตั้งเมืองที่ลำน้ำสายหนึ่งในบริเวณที่เรียกว่า เมืองเงินยาง ต่อมาได้เกิดเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย และมาตั้งเมืองใหญ่ใกล้แม่น้ำโขงเป็นนครรัฐคือ เชียงแสน

 

ในการสำรวจศึกษาทางมานุษยวิทยาโบราณคดีของข้าพเจ้าพบว่า พื้นที่สำคัญที่สุดในการตั้งถิ่นฐานของชนเผ่าลัวะบริเวณภูสามเส้าอยู่ที่ดอยตุง อันเป็นดอยลูกกลางระหว่างดอยทั้ง 3 โดยมีตำแหน่งสำคัญอยู่ที่บ่อน้ำซับเล็กๆ ซึ่งปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่า บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นบริเวณที่คนมาทำพิธีกรรมกราบไหว้ขอน้ำ ก่อนขึ้นไปไหว้พระธาตุบนยอดดอยตุง บริเวณบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คือตำแหน่งของหินตั้ง เพราะนอกจากอยู่ใกล้โขดหินแล้ว ยังมีการนำก้อนหินมาวางไว้ให้โดดเด่นในสมัยสังคมชนเผ่า บ่อน้ำซับคือน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคของกลุ่มชนที่อยู่ ณ ที่นั้น นับเป็นความมั่นคงของชีวิต จนเกิดคติที่ว่าบ่อน้ำดังกล่าวเป็นรูของพญานาค ผู้เป็นเจ้าของน้ำและดินในสังคมโบราณของล้านนาและล้านช้างทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง

 

การเคลื่อนย้ายของชนเผ่าบนยอดดอยตุงลงมาสร้างเมืองในที่ลาดลุ่มเชิงเขาจะเกิดขึ้นเมื่อใด ยังไม่มีใครทราบ แต่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นคันดินและคูน้ำอันแสดงขอบเขตของความเป็นชุมชนบ้านเมืองให้เห็น มีโครงสร้างของคันดินในการจัดการน้ำเพื่อการชักน้ำไปใช้ในเมืองและชุมชน พร้อมกับการระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วมช่วงน้ำป่าไหลหลาก บรรดาบ้านเมืองที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ ทั้งแอ่งเชียงแสน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และลำปาง ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าตีความว่า เป็นบ้านเมืองของชนเผ่าลัวะที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูง ก่อนที่กลุ่มชนไท-ลาว และอื่นๆ จากภายนอกจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานและผสมผสานจนเกิดเป็นบ้านเมืองและรัฐขึ้นในที่ราบลุ่ม เป็นนครรัฐ เช่น เชียงแสน เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และร่องรอยบ้านเมืองบนเขาและเชิงเขาในที่สูงก็คือการมีอยู่แต่เดิมของบ้านเมืองเข้าเป็นรัฐชาติพันธุ์ (tribal states)

 

เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว มีนักวิชาการท้องถิ่นผู้เป็นลูกศิษย์ของข้าพเจ้า 2 ท่าน คือ นายสมบัติ วิทยาคม และอาจารย์สุภาพ ต๊ะใจ ได้ศึกษาร่องรอยของชุมชนที่เป็นบ้านเมืองของพวกลัวะในที่สูง ก็เพราะแหล่งโบราณสถานที่สัมพันธ์กับหินตั้ง ซึ่งพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า เวียงอันเป็นบริเวณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ในแต่ท้องถิ่นอาจมีบริเวณที่เป็นเวียงไม้เช่นกัน เพราะมีทั้งเวียงที่เป็นที่อยู่อาศัยและเวียงอื่นๆ ที่โอบล้อมเนินดินที่เป็นศาสนสถาน มีโขดหินหรือหินสามก้อนแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ และตำแหน่งที่เป็นที่ฝังศพและอัฐิของผู้ที่เป็นเจ้าเมืองหรือหัวหน้าชุมชนบนเทือกเขาผีปันน้ำที่แบ่งเขตแอ่งเชียงใหม่ออกจากแอ่งลำปาง และบนเขาในเขตอำเภอเทิงต่ออำเภอเชียงคำ นายสมบัติสำรวจพบเนินโบราณสถานหินสามก้อนที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพุทธสถาน โดยการสร้างพระธาตุเจดีย์หรือรอยพระพุทธบาททับลงไป

 

ทั้งหมดนี้ทำให้ข้าพเจ้าตีความได้ว่า ดินแดนภาคเหนือเกือบทั้งหมดเคยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกรวมๆ ว่า คนลัวะ ตั้งถิ่นฐานเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นรัฐ มาแต่สมัย 2,500 ปี หรือช่วงเวลา 500 ปีก่อนคริสตกาล ที่ยืนยันอายุเวลาของบ้านเมืองดังกล่าวเช่นนี้ ข้าพเจ้าใช้หลักฐานโบราณวัตถุที่ทำด้วยสำริด เช่น กลองมโหระทึก อาวุธ ขวาน หอก ดาบ และภาชนะสำหรับทำพิธีกรรมที่พบตามแหล่งที่เป็นชุมชนโบราณดังกล่าวเป็นตัวกำหนด ในภาคกลางทางด้านตะวันตกแต่เขตจังหวัดตาก กำแพงเพชร ลงมาจนถึงอุทัยธานีและกาญจนบุรี ตามเทือกเขาถนนธงชัยต่อกับเทือกเขาตะนาวศรีพบศาสนสถานในวัฒนธรรมหินตั้งที่เป็นเนินดิน มีกองหินแสดงขอบเขต เช่น วงตีไก่ ซึ่งเมื่อมีการขุดบริเวณเนินดินตอนกลาง พบการบรรจุอัฐิบุคคลสำคัญที่มีภาชนะดินเผาเคลือบ ลูกปัด เครื่องใช้ อาวุธ ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา

 

แหล่งฝังศพหรืออัฐิบุคคลสำคัญของคนลัวะดังกล่าว สะท้อนให้เห็นจากการขุดพบภาชนะเคลือบที่เรียกว่า สังคโลก จากเตาเมืองศรีสัชนาลัยและเตาเผาในเขตแคว้นล้านนา เช่นที่สันกำแพงและเวียงกาหลง เป็นต้น จนราวพุทธศตวรรษที่ 23 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มีการรบระหว่างอยุธยากับล้านนา มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า ทางกองทัพมีการเจรจาขอความร่วมมือจากเจ้าเมืองบนภูเขาที่เป็นคนลัวะ ให้ร่วมมือและเป็นกำลังในการทำสงคราม หลักฐานเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่า การดำรงอยู่ของชนเผ่าลัวะและวัฒนธรรมหินตั้ง อันเป็นลัทธินับถือผีและบรรพบุรุษยังคงอยู่ แม้ว่าสังคมของกลุ่มชนที่เป็นบ้าน เป็นเมือง บนพื้นที่ราบจะเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแล้วก็ตาม

 

สุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงก็คือ แหล่งวัฒนธรรมหินตั้งที่ภูพระบาทบนเทือกเขาภูพาน ในเขตจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย อันเป็นบริเวณมีเพิงหินและโขดหินธรรมชาติ อันเนื่องจากการสึกกร่อนด้วยการกระทำของลมและฝน ที่คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์เคยเข้ามาอยู่อาศัย และใช้เป็นแหล่งพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ มีการเขียนภาพสี (rock painting) ไว้ตามผนังหินของเพิงผาในสมัยทวารวดีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ลงมา แหล่งศาสนสถานเหล่านี้ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสังฆารามในพุทธศาสนา คือเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาพำนักและปฏิบัติธรรม ด้วยการใช้หินตั้งที่ทำเป็นรูปเสมาปักล้อม 8 ทิศ รอบโขดหิน เพิงหิน และลานหินให้มีลักษณะเป็นสถูป เจดีย์ วิหาร และกุฏิสงฆ์อย่างต่อเนื่อง จนปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนที่บ้านเมืองในภูมิภาคนี้จะเปลี่ยนมารับพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ ข้าพเจ้าได้เขียนบทความเกี่ยวกับแหล่งหินตั้งดังกล่าวไว้ในนามของ “ภูพานมหาวนาสี” ซึ่งนับเป็นแหล่งโบราณคดีที่เป็นสังฆารามที่สมบูรณ์ที่สุด