ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การค้นคว้าความเป็นมาของผืนแผ่นดินไทยนั้นกระทำกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับยุคต้นประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ที่เริ่มมีการใช้ตัวอักษรบันทึกเป็นภาษาเขียน ได้พบหลักฐานทั้งจารึก โบราณสถานและโบราณวัตถุ แต่เรื่องราวในยุคต้นประวัติศาสตร์ที่เก่าไปกว่านั้น ณ เวลานี้ ยังมีการศึกษากันในวงแคบเพราะพบหลักฐานน้อยชิ้น อีกทั้งหลักฐานหลายอย่างยังถูกมองข้าม ด้วยเห็นว่าไม่มีน้ำหนักมากพอต่อการนำมาอธิบายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ทว่ายังมีบุคคลหนึ่งที่เห็นค่าของหลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ถูกมองข้ามมาเก็บรวบรวมและศึกษาตีความ บุคคลผู้นั้นก็คือ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้ค้นหาอดีตในรอยลูกปัด
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้ค้นหาอดีตในรอยลูกปัด
อะไรคือเหตุจูงใจให้คุณหมอหันมาสนใจและทำการรวบรวมศึกษา จนหลายครั้งถูกมองในแง่ลบและบางครั้งก็ถึงกับโดนตำหนิเรื่องการครอบครองวัตถุโบราณต่างๆ คุณหมอต้องก้าวผ่านเรื่องใดมาบ้างบนเส้นทางการศึกษาลูกปัด เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งนำมาสู่การชวนคิด-ชวนคุยกับคุณหมอบัญชาในครั้งนี้...
เริ่มสนใจเกี่ยวกับลูกปัดโบราณได้อย่างไร ?
ผมเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์โดยพื้นฐาน เมื่อสนใจเนื้อหาก็สนใจถึงหลักฐานต่างๆ ไปด้วย ทำให้ชอบเข้าพิพิธภัณฑ์และชอบอ่านหนังสือ เริ่มมาพัวพันเรื่องลูกปัดหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ (พ.ศ. 2547) เพราะเวลานั้นได้ไปช่วยผู้ประสบภัยแถบคลองท่อม จังหวัดกระบี่ จึงพบเห็นลูกปัดที่ชาวบ้านเก็บสะสมไว้เป็นเครื่องประดับ ซึ่งลูกปัดทางฝั่งทะเลอันดามันนั้นมีเยอะมาก ที่ผมสัมผัสและรับรู้ได้คือสวย ทั้งเชื่อว่ามีความสำคัญและมีความเก่าแก่กว่าสมัยศรีวิชัยมาก เนื่องจากเคยเห็นลูกปัดโบราณร่วมสมัยศรีวิชัยในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อคราวไปสวนโมกข์มาก่อนหน้านี้
คุณหมอบัญชามีความสนใจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยู่ก่อนแล้ว
คิดว่าลูกปัดเหล่านี้สามารถบอกอะไรกับเราได้บ้าง ?
อย่างแรกมองไปที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าการศึกษาทุกวันนี้นั้น ติดเพดานอยู่ช่วงเวลาสมัยประวัติศาสตร์ยุคทวารวดี-ศรีวิชัย แต่ลูกปัดที่พบจำนวนมากมีอักขระภาษาก่อนช่วงเวลาดังกล่าวนับพันปี เช่น อักษรพราหมีที่ใช้กันในสมัยพระเจ้าอโศก (ราว พ.ศ. 300) มีหัวแหวนรูปแบบแปลกๆ ซึ่งเก่าไปถึงสมัยโรมัน แล้วที่ผ่านมาทำไมไม่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ไทยเลย เมื่อเจอเยอะเข้าๆ จึงไปขอความรู้จากอาจารย์ผู้ใหญ่ 3 ท่านด้วยกันคืออาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และอาจารย์ภูธร ภูมะธน ซึ่งได้ถามทั้ง 3 ท่านถึงเรื่องราวของลูกปัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร ก็ได้คำตอบว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จำนวนมาก และมีการขุดหากันก่อน พ.ศ. 2547 หลายสิบปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าของเหล่านี้หายไปไหนหมด และเมื่อได้ถามอาจารย์สุธิวงศ์ ซึ่งเวลานั้นท่านเป็นผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษาว่าทำไม่อาจารย์จึงไม่รวบรวมเก็บไว้บ้าง ก็ได้คำตอบว่าของมันเยอะมากจริงๆ ขณะที่อาจารย์ศรีศักรเห็นว่าต้องมีใครสักคนที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องราวเหล่านี้ แล้วทั้ง 3 ท่านก็บอกผมว่า หากมีฉันทะ อิทธิบาทมากพอก็ลองทำดู
แล้วได้ตัดสินใจอย่างไร ?
ตอนนั้นก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในใจว่ามันสุ่มเสี่ยงกับเรื่องผิดกฎหมาย เพราะส่วนตัวเคยได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกไทยรุ่นแรกจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รุ่นเดียวกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จุดนี้เองมันจึงค้านกับหลักคิดที่ว่าผิดกฎหมาย ผิดหลักการ ผิดจรรยาบรรณหรือเปล่า แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงก็พูดว่า ถ้าไม่มีใครเก็บทุกอย่างก็จะหายหมด สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าต้องเอาแน่ อย่างมากแค่ถูกจับหรือถูกตำหนิ ถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากสังคม เมื่อหันไปมองชาวบ้าน เห็นว่าเขากำลังขุดกันอยู่ ขณะที่หันไปมองภาครัฐพบว่าการทำงานตรวจสอบอะไรต่อมิอะไรไม่คล่องตัวอย่างที่คิด ตรงนี้ไม่ได้ตำหนิใคร เพราะสภาวการณ์ของประเทศเรา ระบบงาน รวมทั้งเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ เป็นเช่นนี้ จึงเป็นจุดเริ่มของการเลือกที่จะรวบรวมลูกปัดเพื่อมาศึกษาต่อไป
ลูกปัดโบราณที่ชาวบ้านรวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ
ไปรวบรวมหาลูกปัดจากทุกที่เลยหรือ ?
ทำโดยมีเงื่อนไข ในหลายๆ พื้นที่นั้นตั้งใจว่าจะไม่เข้าไปแตะต้อง เช่นที่เขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีและกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐดูแลแล้ว เราก็ไม่ไปทำให้พื้นที่นั้นมีปัญหา แต่มาภายหลังทราบว่าการดูแลยังไม่รัดกุมพอ ยังมีของหลุดออกมานอกพื้นที่อยู่ ดังนั้นจึงขอเก็บตัวอย่างไว้ทำการศึกษาบ้าง ก่อนที่จะสูญไป
แหล่งเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพรก็เช่นกัน เดิมตั้งใจไม่เข้าไปแตะต้อง เพราะอยู่ใกล้ศูนย์ราชการ ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร และยังเป็นแหล่งที่อยู่ในตัวเมืองต่างจากในหลายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ถึง นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีโดยความร่วมมือระหว่างไทย-ฝรั่งเศสอยู่ด้วยแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะคงมีการควบคุมดูแลไว้อย่างดี แต่เมื่อครั้ง ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เชิญให้มาบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ชุมพร เมื่อเดินทางถึงที่พัก ยังพอมีเวลาเหลือก่อนบรรยาย และเคยได้ยินเรื่องเขาสามแก้วว่าเป็นแหล่งที่มีลูกปัดมาก เป็นของชิ้นเยี่ยมยอดทั้งนั้น จึงตัดสินใจเดินทางไปชมที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาสามแก้ว แต่เมื่อเข้าไปดูแล้วกลับพบสร้อยลูกปัดจัดแสดงอยู่เพียงไม่กี่เส้น พอถามเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้คำตอบกระจ่างนัก สุดท้ายจึงเดินกลับออกมา พบชาวบ้านคนหนึ่งไต่ถามว่ามีลูกปัดให้ดูบ้างไหม เขาบอกว่ามีเพียง 2-3 เส้น แล้วก็นำมาให้ดู พร้อมกับชวนเพื่อนๆ ให้เอามาให้ดูเพิ่มด้วย ซึ่งปรากฏว่ามีมากมายหลายเท่าเมื่อเทียบกับที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ พอถามชาวบ้านว่าเขาจัดการกับลูกปัดเหล่านี้อย่างไร คำตอบที่ได้มาคือไปซื้อไปหากันมาแขวนพอหมดเงินก็ขาย แล้วก็ไปหาใหม่จากคนที่ขุด เป็นวงจรวนเวียนอยู่เช่นนี้
คุณหมอบัญชาพาเดินสำรวจพื้นที่บนเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร
การลักลอบขุดค้นบนเขาสามแก้ว รู้สึกอย่างไร และมีวิธีการจัดการได้อย่างไร ?
รู้สึกเสียใจอย่างมากที่สภาวการณ์ของเขาสามแก้วเป็นเช่นนี้ ปฏิบัติการแรกที่ทำก็คือได้นำเอาเรื่องราวดังกล่าวไปปรึกษากับผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งหลายท่านแนะนำว่าต้องไปคุยกับทางกรมศิลปากรเพื่อให้เขาเป็นผู้ดูแลจัดการ ส่วนตัวเองก็ช่วยเขาในอีกทางหนึ่ง มีการจัดการหารือร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานในพื้นที่และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการควบคุมและเฝ้าระวัง จากนั้นก็เฝ้าติดตามผลแต่ปรากฏว่าไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ ยังมีการขุดหากันอยู่ ในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะเข้าไปรวบรวมลูกปัดโบราณในพื้นที่ด้วยตัวเอง ก่อนที่ของทุกอย่างจะสูญไป ซึ่งเวลานั้นก็ได้ประสานกับชาวบ้านที่มีลูกปัดเก็บไว้ โดยตั้งใจรวบรวมเพียงบางชิ้นที่มีลักษณะพิเศษและสามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของพื้นที่แถบนี้ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวบรวมลูกปัดที่เขาสามแก้วอย่างจริงจัง
การลงพื้นที่สำรวจตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจสภาพพื้นที่
มีวิธีรวบรวมลูกปัดจากแหล่งเขาสามแก้วอย่างไร ?
อย่างแรกเลย ไม่ได้มองว่าของเหล่านี้เป็นโบราณวัตถุ แต่เห็นเป็นสมบัติของแผ่นดิน ตัวเองไม่ใช่นักสะสมแต่มองว่าเป็นเพียงคนเก็บรักษาเท่านั้น จากนั้นจึงเริ่มรวบรวมด้วยการเก็บของจากทุกบ้านที่รู้ว่ามีคุณค่าและอาจถูกขายไปสักวันหนึ่ง เมื่อได้มาก็ทำทะเบียนให้หมายเลข เวลา และสถานที่ที่พบเจอ เว้นแต่ไม่ระบุว่าได้มาจากผู้ใด เพราะอาจทำให้เขาเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนในฐานะแหล่งต้นตอ หากจะมีปัญหาอะไรขึ้นมา คนที่จะถูกจับคงเป็นผมเพียงคนเดียว
นอกจากนั้นแล้วยังได้ฝากให้คนในพื้นที่ช่วยดูว่าหากมีการพบสิ่งไหนใหม่และมีความหมายที่อาจต้องเปลี่ยนมือไป ขอให้แจ้งมาเพื่อจะตามเก็บเอาไว้ศึกษา ซึ่งชาวบ้านเขารู้ถึงความสำคัญว่ามันอาจตอบคำถามเกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอนของเขาได้ เพียงแต่เขาเหล่านั้นไม่มีสายป่านหรือกำลังมากพอที่จะเก็บรักษาไว้ได้ ดังนั้นผมจึงอาสาเก็บเอาไว้ให้เพื่อการนี้ โดยจะใช้คำว่า “ส่งมอบ” ผมเข้าใจว่าชาวบ้านเองก็คงคิดว่าหากส่งให้คุณหมอแล้วมันดูมีคุณค่ากว่าการส่งให้คนอื่นซึ่งเป็นนักค้าหรือนักสะสมทั่วไป เพราะผมไม่ได้นำไปขายต่อหรือไปทำกำไรเพิ่ม แต่นำไปศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้มาในรูปของหนังสือ แล้วนำไปมอบให้กับพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งทุกวันนี้บางคนยังรู้สึกว่ามันยังเป็นของเขาอยู่เพียงแค่หมอนำไปเก็บไว้ให้และคืนความรู้กลับมาให้เขา
ผลจากการศึกษานำมาสู่การเผยแพร่เป็นหนังสือหลายเล่ม
สิ่งที่ได้ลงมือทำไปแล้วนั้น ถือว่าประสบผลสำเร็จแค่ไหน ?
การที่เข้าไปถึงกลุ่มชาวบ้าน อธิบายให้เขาทราบถึงคุณค่าและความหมายของวัตถุต่างๆ นั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นใบเบิกทาง ชาวบ้านที่มีลูกปัดอยู่ในครอบครองก็อยากให้ช่วยดูให้... มันรู้สึกว่าแฟร์นะ ผมได้รับวัตถุของเขามา ก็ตอบแทนเรื่องราวความรู้นั้นกลับไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ นั่นคือการคืนความรู้สู่ท้องถิ่น ที่ผ่านมาเคยพยายาม ตั้งแต่การกระตุ้นท้องถิ่นในระดับคหบดี ไปจนถึงชาวบ้านทั่วไปหลายพื้นที่ หากไม่มีการเคลื่อนไหวหรือต่อยอดใดๆ คนที่สนใจใคร่รู้มีอยู่นับคนได้... เป็นอย่างนี้ทั้งภาคใต้ หรือเขาจะคิดว่ามันเป็นของผิดกฎหมายก็ไม่อาจทราบได้ ปัจจุบันความนิยมยังอยู่แค่ในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “บ้าลูกปัด” เท่านั้น ทั้งที่มันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เกี่ยวกับพัฒนาการของบ้านเมือง ในหลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ของไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน ต่างถูกละเลยทอดทิ้ง คนที่สนใจมองแค่ความสวยงาม ขายได้ไหม? ราคาเท่าไร?
ที่พูดมาทั้งหมดนั้น ต้องกลับมายังจุดเริ่มว่าจริงๆ แล้วลูกปัดและวัตถุเก่าแก่ต่างๆ ที่ได้รวบรวมล้วนเป็น “สิ่งสมมติขึ้น” ไม่มีตัวตน ผมเองก็ไม่มีตัวตนเช่นกัน เพียงแต่มันเป็นร่องรอยและเรื่องราวที่บอกเล่าอดีตซึ่งมีความหมายต่อปัจจุบันและสามารถนำไปใช้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงร่องรอยอดีต หากเราไม่รับรู้ ไม่จัดการให้ดีพอ มันก็หมดความหมายต่อปัจจุบัน หรือถ้าความหมายถูกตีความเปลี่ยนแปลง ก็ไร้ค่าต่ออนาคต ประเด็นจึงอยู่ที่เห็นหรือไม่เห็นคุณค่าของมัน หรือเห็นแบบแคบๆ หรือแบบกว้างใหญ่ไพศาล
ขณะเดียวกันต้องดูว่าเราอยู่ตรงจุดไหน อย่างตัวผมนั้นเป็นพลเมืองคนหนึ่งที่มีความสนใจ แต่ทุกคนก็มีบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่าเราทำอะไร เป็นนักเขียน เป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์ และเมื่อดูหน้าที่ในความพลเมือง หรือ citizenship นั้น เรามีหน้าที่ต้องดูแลรักษามรดกของชาติเอาไว้ ในสิ่งที่เรามี Passion ในแผ่นดินเกิดและประเทศชาติ อย่างผมเป็นพลเมือง เป็นหมอ ก็มีหน้าที่ด้วย อยู่ที่ว่าเราตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองแค่ไหน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมักอยู่ที่ไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเอง บางคนก็ทำหน้าที่ไม่ครบ ทำน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่อย่างผมนั้นคนอื่นมักบอกว่าทำเกินกว่าหน้าที่ จะเป็นนักวิชาการก็ไม่ใช่ ว่ากันตรงไปตรงมาก็คือสิ่งที่ผมทำอยู่เวลานี้คือ หนึ่ง รวบรวม สอง ศึกษาและค้นคว้า อะไรทำไม่ได้ก็เชิญคนอื่นที่มีความรู้ความสามารถมาศึกษามาร่วมกันทำ
คุณหมอบัญชาขณะลงพื้นที่สำรวจร่วมกับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
จากสิ่งที่ทำอยู่คิดว่าส่งผลอย่างไร และสามารถจุดประเด็นให้คนหันมาสนใจเรื่องราวเหล่านี้ได้หรือไม่ ?
ไม่ปฏิเสธว่าตัวผมมีส่วนทำให้เกิดการขุดหาของมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็เป็นคนที่ทำให้ของซึ่งหลบซ่อนอยู่ในพื้นดินถูกนำออกมาให้ได้ศึกษา แม้จะถูกโจมตีบ้างเรื่องการรวบรวมโบราณวัตถุจากพื้นที่ต่างๆ แต่หากของมันยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน ซ้ำยังมีความรู้ประมวลออกมาโดยตลอด ผมคิดว่าได้มีส่วนช่วยจุดไฟให้กับหลายคนเพื่อที่จะศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป อย่างอาจารย์ศรีศักรที่ผ่านมามีความตื่นตัวและสนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเป็นทุนอยู่แล้วอาจารย์เคยบอกมาคำหนึ่งว่า ที่ทำอยู่นี้ก็เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ใครๆ พูดว่างานการศึกษาเรื่องนี้ที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดมและตัวท่านทำมาในอดีตนั้นเลื่อนลอยให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา นั่นคือเรื่องราวของ “สุวรรณภูมิ” ที่มีหลักฐานหลายอย่างรองรับมากแล้วในขณะนี้ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมต้องขอบคุณคณาจารย์และหลายองค์กร ประกอบด้วย
หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ ด้วยผมเป็นศิษย์ท่านพุทธทาสและทำงานที่นี่ จึงรู้สึกว่ามีเกราะบางอย่างคอยปกป้องเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามากระทบตัว อีกทั้งยังระลึกเสมอว่าเราได้ทำในร่มของหอจดหมายเหตุพุทธทาส ได้อาศัยบารมีของท่านที่ทำเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีเอาไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวของแผ่นดินและการเข้ามาของพระพุทธศาสนาอยู่เป็นทุนเดิม
สำนักพิมพ์มติชน ที่เวลานั้นอาจหาญมาสนับสนุนหนังสือ “รอยลูกปัด” ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการศึกษาเรื่องราวผ่านลูกปัดโดยตรงมาก่อน
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ขอให้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนภาคใต้ของไทย และมีหนังสือเผยแพร่ออกมาในเรื่องของปฐมบทพระพุทธศาสนาในภาคใต้
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เห็นความสำคัญของงานศึกษาหลักฐานการเข้ามาของพระพุทธศาสนาผ่านลูกปัด จึงได้นำไปเป็นประเด็นต่อยอดในการประชุมวิจัยพระพุทธศาสนานานาชาติ และนำไปสู่การศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนา ออกมาเป็นหนังสือ "สุวรรณภูมิ"
อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ได้เชิญไปทำการศึกษาเรื่องลูกปัดและหลักฐานพระพุทธศาสนาแรกเริ่มในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน โดยได้อาจารย์ผาสุข อินทราวุธ เป็นผู้เขียนบทนำให้ เช่นเดียวกับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จากเรื่องนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเริ่มศึกษาเรื่องทวารวดีเพิ่มมากขึ้น และยังทำให้มีโอกาสเข้าไปรวบรวมลูกปัดอู่ทอง อันส่งผลต่อเนื่องไปถึงการศึกษาถึงแหล่งโบราณคดีที่ดอนตาเพชร อู่ทอง และคูบัว ที่ได้ร่วมทำวิจัยกับอาจารย์ภูธร ภูมะธนด้วย
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้ค้นหาอดีตในรอยลูกปัด
นอกจากนี้ระหว่างที่ทำงานเรื่องพระพุทธศาสนา ทางสถานทูตอินเดียได้ให้ความสนใจเข้ามาติดต่อประสานงานอยู่ตลอด ไม่ว่ามีการประชุมเรื่องพระพุทธศาสนาในอินเดีย มักเชิญผมไปร่วมด้วยตลอด และมีครั้งหนึ่งมีการจัดเลี้ยงทูตที่อินเดีย ได้พบกับเจ้าหน้าที่จาก GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) ซึ่งตอนนั้นเป็นกรรมการดูแลโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดียอยู่โครงการหนึ่ง โดยรัฐบาลไทยกำลังทำเรื่อง Remote Sensing (ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล) ส่วนรัฐบาลอินเดียทำเรื่องภูมิสารสนเทศอวกาศ ถือเป็นการจับมือทำงานชิ้นสำคัญเพื่อถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักฐานการเข้ามาของพระพุทธศาสนาจากอินเดียถึงไทย คราวนั้นเจ้าหน้าที่ GISTDA จึงทาบทามให้รีวิวการเข้ามาของพระพุทธศาสนาอินเดียผ่านรอยลูกปัด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีอาจารย์ผาสุข เป็นประธานใหญ่ ประจวบกับเวลานั้นรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา จึงต้องการทำเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานเพื่อถวายแด่พระองค์ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ผมระลึกอยู่เสมอว่าจะต้องทำถวายพระองค์ท่าน ด้วยทรงเป็นผู้ริเริ่มในการกำหนดชื่อสนามบิน “สุวรรณภูมิ” จึงได้ผลิตออกมาเป็นหนังสือ 2 เล่ม เล่มหนึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนที่และร่องรอยจากโบราณวัตถุ ส่วนอีกเล่มเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับเมืองและเส้นทางโบราณในอดีต ประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือเหล่านี้ ได้แก่ การพบเส้นทางข้ามคาบสมุทรว่ามีความเป็นไปได้ที่จะอยู่บริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของบ้านเรา นั่นคือบริเวณคอคอดกระ ที่มีความเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ 3-4 จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์ศรีศักรให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาต่อยอดร่วมกันในเรื่องนี้ ถือเป็นการปักหมุดเรื่องเส้นทางข้ามคาบสมุทรในภูมิภาคนี้ ด้วยหลักฐานทั้งหมดที่ค้นพบและการศึกษาค้นคว้าที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าคาบสมุทรไทยของเรา มีเส้นทางข้ามที่สำคัญและมีอายุเก่าไปจนถึงสมัยสุวรรณภูมิ