เสวนา "ปืนใหญ่ในสยาม"
แวดวงเสวนา

เสวนา "ปืนใหญ่ในสยาม"

 

สรุปงานเสวนา “ปืนใหญ่ในสยาม : จากกรณีการพบปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวง”

เรื่อง/ภาพ โดย คุณอารียา หลาทอง นิสิตฝึกงานจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

“ปืนใหญ่ในสยาม : จากกรณีการพบปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวง” เป็นงานเสวนาที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายในงานอบอุ่นไปด้วยประชาชนผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งยังมีการนำปืนใหญ่จริงมาจัดแสดงให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมกันอย่างใกล้ชิด เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ สำหรับประเด็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเสวนานั้น มีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่หลายช่วงตอน ดังนี้ 

 

สืบเนื่องจากการขุดพบปืนใหญ่ระหว่างที่มีการวางท่อระบายน้ำบริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้สร้างความสนใจให้กับประชาชนในวงกว้าง กรมศิลปากรจึงได้จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ปืนใหญ่ในสยาม : จากกรณีการพบปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวง” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับปืนใหญ่ที่ค้นพบ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณศิริรัจน์ วังศพ่าห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปืนใหญ่ พลเรือตรี ดร.สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ คุณมนต์จันทร์ วงศ์จตุรภัทร ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี และ คุณเสน่ห์ มหาผล ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์ เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมี คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นผู้ดำเนินรายการ 

 

 

กิจกรรมเสวนาเริ่มจากการรายงานถึงการค้นพบปืนใหญ่ระหว่างดำเนินการวางท่อระบายน้ำบริเวณท้องสนามหลวง ปืนที่พบเป็นปืนประเภทท้ายตัน ที่ต้องนำดินดำกับลูกกระสุนบรรจุเข้าทางปากกระบอกเมื่อใช้งาน โดยปืนกระบอกนี้มีความยาวตั้งแต่ปากกระบอกถึงท้ายกระบอก 305 เซนติเมตร และมีความกว้างที่ปากกระบอกปืน 40 เซนติเมตร ท้ายปืนมีหู 2 ฝั่ง คาดว่าเป็นส่วนที่เอาไว้ร้อยเชือกเพื่อเคลื่อนย้าย นับเป็นลักษณะพิเศษของปืนใหญ่ที่พบมากจากการสั่งซื้อจากประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดี ยังไม่พบตราสัญลักษณ์ใดๆ ที่ปรากฏบนปืนกระบอกนี้ 

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก! ที่มีการพบปืนใหญ่ในท้องสนามหลวง 

เพราะจากการปรับปรุงพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวงในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อขุดลึกลงไปในระดับหนึ่ง หลายครั้งจะเจอกับอาวุธโบราณ ไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ ปืนโบราณขนาดต่างๆ และลูกกระสุนปืนทุกขนาด ด้วยเพราะท้องสนามหลวงเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้ามาแต่เดิม  คุณศิริรัจน์ วังศพ่าห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปืนใหญ่ กล่าวว่า “ตราสัญลักษณ์ต่างๆ บนปืนจะเป็นตัวบ่งบอกว่าปืนแต่ละกระบอกผลิตขึ้นที่ประเทศใด อยู่ในสมัยไหน เช่น ปืนที่มีตราสัญลักษณ์หนุมานให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นปืนที่ร่วมสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ปืนกระบอกใหม่ที่พบนี้ ยังไม่พบตราสัญลักษณ์ใดๆ จึงยังไม่สามารถบอกถึงประวัติความเป็นมาได้อย่างชัดเจน”

 

 

พลเรือตรี ดร.สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ ให้ข้อมูลว่า “ในพื้นที่นี้ หากขุดบริเวณไหนก็สามารถเจอปืนหรืออาวุธสมัยโบราณอื่นๆ ได้ เพราะเป็นบริเวณที่เคยเป็นป้อมมาก่อน ส่วนพื้นที่ที่ขุดพบได้ง่ายที่สุดในเขตกรุงเทพฯ คือ ป้อมวิชัยประสิทธิ์และบริเวณพระราชวังเดิม” 

 

สำหรับคุณมนต์จันทร์ วงศ์จตุรภัทร ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ในพื้นที่บริเวณวังหน้า ยังมีอีกหลายจุดที่สามารถเจอปืนใหญ่ได้ เพราะรอบวังหน้า มีป้อมปืนตั้งรายล้อมอยู่ถึง 9 ป้อม การขุดพบปืนในลักษณะที่ปลายกระบอกชี้ขึ้นเช่นนี้ คาดว่าเป็นปืนที่ประจำอยู่ในป้อมปืน และโดยปกติแล้วการขุดพบปืนใหญ่หรืออาวุธโบราณอื่นๆ ที่ท้องสนามหลวงนี้ จะพบที่ความลึกประมาณ 1.30 เมตร”

 

 

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ปืนใหญ่กระบอกนี้ คุณเสน่ห์ มหาผล ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า “ปืนกระบอกนี้ อยู่ในขั้นตอนการอนุรักษ์เบื้องต้น เนื่องจากปืนอยู่ในชั้นดินมาเป็นเวลานานนับร้อยปี เมื่อนำขึ้นมาแล้ว เจอกับสภาพอากาศด้านบน อาจส่งผลให้เกิดสนิมได้ ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบและดูปัจจัยของการเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการปรับสภาพราว 1 – 3 เดือน เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ดี หากผ่านกระบวนการอนุรักษ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะนำเข้าสู้ขั้นตอนการดูแลรักษา รวมถึงการศึกษาทำความเข้าใจในโอกาสต่อไป.." 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น