แม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นชื่อเรียกช่วงหนึ่งของแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่านเขตจังหวัดสุพรรณบุรี บริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำมีลักษณะเป็นที่ราบกว้างใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต และมีความโดดเด่นมากขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะอยู่บนเส้นทางการผลิตข้าวและน้ำตาลทรายเพื่อการค้าแบบเข้มข้น ทั้งมีการขุดคลองลัดและคลองเชื่อมขึ้นหลายสาย เช่น ขุดคลองดำเนินสะดวกในปี พ.ศ. 2409 เชื่อมระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ขุดคลองภาษีเจริญในปี พ.ศ. 2410 เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น การขุดคลองต่างๆ เหล่านี้ส่งผลดีต่อการคมนาคมและการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระหว่างชุมชนทางตอนเหนือและฝั่งตะวันตก กับตลาดการค้าแถบภาคกลางตอนล่าง และยังช่วยขยายพื้นที่การเกษตรให้กว้างขวางขึ้น เกิดเป็นชุมชนตลอดสองฝั่งน้ำ โดยมีชาวจีนและคนท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการก่อร่างสร้างย่านการค้าริมแม่น้ำสุพรรณบุรี
ในอดีตบริเวณริมน้ำเจ้าพระยาหน้าวัดปทุมคงคา (วัดสามเพ็ง) เป็นที่จอดเรือของพ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อสินค้าจากย่านสำเพ็ง
ภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2469 โดยปีเตอร์ วิลเลียมฮันท์
ในอดีตตามคุ้งน้ำต่างๆ และริมคลองสายรองที่มีทางน้ำเชื่อมถึงแม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นที่ตั้งของชุมชนตลาดน้อยใหญ่หลายแห่ง ทั้งตลาดประจำชุมชน ตลาดประจำอำเภอ และตลาดประจำจังหวัดอาทิ ตลาดบางสามตรงบริเวณปากคลองสองพี่น้องสบกับแม่น้ำสุพรรณบุรี ตลาดบางลี่ริมคลองสองพี่น้อง ตลาดคอวังซึ่งเป็นแหล่งรวมอู่ต่อเรือแห่งใหญ่ของเมืองสุพรรณ ตลาดสุพรรณหรือตลาดท่าพี่เลี้ยง ตลาดบางขวากริมแม่น้ำสุพรรณบุรีต่อปากคลองวังลึกที่สามารถลัดเลาะไปถึงจังหวัดชัยนาท ตลาดท่าช้างทางทิศเหนือของเมืองสุพรรณ เป็นต้น ตลาดนับสิบแห่งที่ตั้งเรียงรายสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีจึงเป็นแหล่งรองรับสินค้า และเป็นแหล่งกระจายสินค้าให้กับพ่อค้ารายย่อย รวมถึงเป็นที่ค้าขายสินค้าให้กับชาวบ้านที่เดินทางมาจับจ่ายหาซื้อข้าวของในตลาดด้วย สินค้าที่นำมาขายมีทั้งพืชผลทางการเกษตรในท้องถิ่น บ้างมาจากบ้านเมืองทางตอนบน หรือจากแถบจังหวัดนครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี และจากแหล่งสินค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ เช่น ท่าเตียน จักรวรรดิ สำเพ็ง โดยพ่อค้าคนกลางจะลำเลียงสินค้ามาส่งยังตลาดต่างๆ ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีด้วย เรือส่งสินค้า หรือที่ในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซงฮ่วยจุ๊น
เรือส่งสินค้าที่ท่าเรือตลาดสุพรรณหรือตลาดท่าพี่เลี้ยงก่อนปี พ.ศ. 2500 (ภาพ: หนังสือสุพรรณบุรีเมื่อวันวาน)
“ซงฮ่วยจุ๊น” วิถีการค้าแห่งสายน้ำ
กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ผู้คนนิยมเดินทางด้วยเรือล่องไปตามแม่น้ำสุพรรณบุรีซึ่งในอดีตเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ คลาคล่ำด้วยเรือที่สัญจรไปมาทั้งกลางวันและกลางคืน มีทั้งเรือพาย เรือแจว ของชาวบ้าน และเรือโดยสาร เรือโดยสารมีทั้งเรือแท็กซี่ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็ก ส่วนใหญ่วิ่งรับส่งชาวบ้านจากพื้นที่รอบนอกไปยังตลาดต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ จึงมีท่าจอดเรือที่ตลาดใหญ่หลายแห่ง และเรือเมล์สีแดงเลือดหมูของบริษัทสุพรรณขนส่งที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารทั้งสายสั้นและสายยาว สายสั้นจะวิ่งจากตลาดสุพรรณไปที่บ้านงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี ที่นี่เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟงิ้วราย เพื่อต่อรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ส่วนสายยาวจะวิ่งจากตลาดสุพรรณถึงตลาดท่าเตียนที่กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นเรือ 2 ชั้น วางสินค้าไว้ชั้นล่าง และจัดเป็นที่นั่งโดยสารที่ชั้นบน สินค้าที่ล่องลงกรุงเทพฯ ส่วนมากเป็นพวกผักผลไม้ ปลา หมู เป็ด ไก่ โดยเรือเมล์จะถึงกรุงเทพฯ ในช่วงหัวรุ่ง ชาวบ้านจะนำสินค้าไปขายที่ตลาดเช้า เช่น ปากคลองตลาด ตลาดปากเกร็ด ส่วนขากลับนอกจากบรรทุกสินค้าของชาวบ้านแล้ว ยังรับฝากหนังสือพิมพ์ขึ้นมาส่งให้กับสายส่งในเมืองสุพรรณด้วย เพราะถึงที่หมายเร็วกว่าเรือสินค้าทั่วไป
นอกจากเรือโดยสารแล้วเรือที่เป็นสีสันแต่งแต้มชีวิตชีวาให้กับแม่น้ำสุพรรณบุรีก็คือ เรือสินค้า ซึ่งคุณยายย่งเกียว แซ่โง้ว บอกกับเราว่า “เวลามีเรือสินค้ามาจอดเทียบท่าในตลาด ชาวบ้านจะตะโกนบอกต่อๆ กันว่าซงฮ่วยจุ๊นมาแล้ว ในภาษาจีน ซงฮ่วยจุ๊นหมายถึง เรือส่ง หรือเรือสินค้าที่ขนของมาส่งร้านค้าในตลาด ขนของมาคราวละมากๆ คล้ายกับซุปเปอร์มาร์เก็ตลอยน้ำ...” ในอดีตเรือสินค้าที่พบเห็นได้ในแม่น้ำสุพรรณบุรีมีทั้งกลุ่มที่เป็นเรือเร่ขนาดเล็ก พายขายของกิน ของใช้แบบขายปลีกโดยรับสินค้าจากร้านค้าในตลาดมาขายอีกทอดหนึ่ง ส่วนมากจะพายขายในระยะใกล้ๆ หรือมีท่าจอดประจำที่หน้าวัดหรือตลาดใหญ่ เรือขายของในกลุ่มนี้ ได้แก่ เรือขายหมู ขายเนื้อสัตว์ขายผักผลไม้ตามฤดูกาล เรือก๋วยเตี๋ยว เรือข้าวโพดคั่ว เรือกาแฟ เรือไอศกรีม เรือน้ำแข็งไส และเรือขนมหวาน เป็นต้น
ส่วนเรือสินค้าขายส่งหรือซงฮ่วยจุ๊นจะบรรทุกสินค้ามาในเรือลำใหญ่ ระวางบรรทุกเทียบได้กับกระสอบข้าวสารตั้งแต่ 10 ลูก ถึงกว่า 1,000 ลูกก็มี สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ เรือสินค้าจากเมืองสุพรรณไปส่งยังที่ต่างๆ ได้แก่ เรือถ่าน เป็นเรือกระแชง โดยรับซื้อจากชาวบ้านแถบอำเภอด่านช้างและพื้นที่ตอนบนที่นำมาขายให้อีกทอดหนึ่ง บ้างก็รับมาจากตลาดอู่ทอง ตลาดบางลี่ ถ้าเป็นเรือถ่านลำเล็กจะพายขายในหมู่บ้านใกล้ๆ ส่วนเรือลำใหญ่จะพายไปขายไกลถึงตลาดคอวัง ตลาดบ้านสุด บางลำไปไกลถึงตลาดเทเวศร์ในกรุงเทพฯ ในการซื้อขายจะใช้ถังไม้ใบย่อมตวงถ่านขายเป็นถัง คุณตากะปั่ง แซ่ลิ้ม วัย 90 ปี เล่าว่า “เรือถ่านที่ล่องไปขายเทเวศร์ เอาไปเท่าไหร่ก็ขายหมด ไม่มีขาดทุน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเตาแก๊ส บ้านทุกหลังต้องใช้ถ่านในการหุงต้มทั้งนั้น...”
ภาพโปสการ์ดหน้าตลาดบางลี่ ริมคลองสองพี่น้อง เมื่อปี พ.ศ. 2509