“...ความต่างกันในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการพัฒาจากข้างใน กับการพัฒนาจากข้างนอกโดยรัฐและเอกชนก็คือ การพัฒนาที่ทำให้คนช่วยตัวเองและทำเอง ในลักษณะการเป็นพี่เลี้ยง แนะนำแนวคิด แนวทาง และวิธีการที่เป็นไปได้ รวมทั้งการช่วยเหลือลงทุนทางเทคนิคและค่าใช้จ่ายบ้าง โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตลอดจนทรงคิดประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสม โดยเสด็จไปแนะนำให้ความรู้ด้วยพระองค์เองตามท้องถิ่นต่างๆ แนวคิด และแนวทาง ตลอดจนวิธีการดังกล่าวเรียกว่าการสร้างพลังทางสติปัญญาและความรู้ให้แก่ผู้คน ให้สามารถพัฒนาด้วยตนเอง ดังที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Empowerment...”
ชื่อบทความ สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้าภูมิพล พระผู้ทรงทัดดินต่างปิ่นเกล้า
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ผู้เขียน อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
ปีที่พิมพ์ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2560) “อโยธยาศรีรามเทพนคร”
สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้าภูมิพล พระผู้ทรงทัดดินต่างปิ่นเกล้า
การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นเหตุให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่เป็นทั้งคนไทย คนต่างชาติ ต่างศาสนา ที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยภายใต้ร่มพระบารมี ต่างพากันออกมาแสดงความอาลัยร่ำไห้และโหยหาเกือบทุกหนแห่งในบ้านเมือง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญยิ่งเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งแรกมีมาแล้วในวันที่ 23 ตุลาคม 2453 อันเป็นการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระบรมอัยกาธิราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่คนทั้งประเทศออกมาร่ำไห้กันไม่ขาดสาย พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้งสองพระองค์ทรงมีอะไรคล้ายกันหลายอย่างในการปกครองบ้านเมืองที่ต้องผจญและผ่านยุคแห่งความยุ่งยาก ขัดแย้งกันเองภายใน และการคุกคามด้วยภัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และสงครามจากภายนอก ซึ่งทั้งสองพระองค์ต้องทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้รอดพ้นด้วยความยากลำบาก และต่างก็ทรงมีระยะเวลาในการปกครองประเทศที่ยาวนานกว่าพระอดีตมหาราชที่มีมาในสยามประเทศ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์นาน 40 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมพรรษา 57 พรรษา ขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ถึง 70 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมพรรษา 89 พรรษา หากในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมพรรษายืนนานเช่นรัชกาลที่ 9 แล้ว คงมีระยะเวลาที่ครองราชย์ได้ยาวนานเช่นกัน เพราะทั้งสองพระองค์ต่างเสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คือ รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษา 14 พรรษา ส่วนในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษา 19 พรรษา
ทั้งสองพระองค์ทรงประสบปัญหายุ่งยากในการปกครองบ้านเมืองคล้ายคลึงกัน ครั้งรัชกาลที่ 5 บ้านเมืองถูกคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษที่พยายามจะเอาเมืองไทยเป็นอาณานิคมเช่นเดียวกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร ญวน พม่า และมาเลเซีย ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงเหนื่อยทั้งพระวรกายและพระราชหฤทัยในการปฏิรูปบ้านเมืองภายใน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการปกครอง ที่ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างว่าล้าหลังและป่าเถื่อน (barbarian) ให้เกิดความทันสมัยและศิวิไลซ์ (Civilized) พร้อมกับการดำเนินวิเทโศบายทางการเมืองกับภายนอก โดยเฉพาะกับมหาอำนาจที่คุกคามเอกราชของบ้านเมือง การพยายามรักษาความเป็นเอกราชของประเทศสยามไว้นั้น ทรงยอมแม้ต้องเสียดินแดนไปเป็นจำนวนมาก จนได้รับการกล่าวถึงว่า รัชกาลของพระองค์เป็นสมัยที่ประเทศไทยสูญเสียดินแดนมากที่สุด จากที่เคยเป็นประเทศมหาอำนาจซึ่งมีเมืองขึ้นและอาณาเขตกว้างขวางที่สุดครั้งรัชกาลที่ 3 มาเป็นประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งที่สามารถธำรงเอกราชของชาติบ้านเมืองไว้ได้ สาเหตุการถูกคุกคามและการเสียดินแดนคือสิ่งสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระสุขภาพพลานามัยอ่อนแอ นำไปสู่การทรงพระประชวรและสวรรคตในที่สุด ด้วยพระชนมพรรษายังไม่ควรแก่เวลา การทรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อยที่ต้องอุทิศทั้งกายใจและสติปัญญาในการทำนุบำรุงสุขของประชาชน และการนำประเทศชาติให้รอดพ้นจากการเป็นขี้ข้าของต่างชาติดังกล่าว ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ล้วนซาบซึ้งและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืม และได้ยกย่องพระองค์ขึ้นเป็น พระปิยมหาราชเจ้า คือ พระผู้ทรงชนะใจประชาชน อย่างที่มีคำพังเพยในภาษาอังกฤษว่า “The King who stoops to conquer”
เสียงเพรียกที่เสมือนฟ้าดินได้ลิขิต
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนม์ชีพแตกต่างไปจากพระบรมอัยกาธิราช ในลักษณะที่เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย หาได้เป็นองค์อธิปัตย์ที่มีสิทธิและพระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองบ้านเมืองเช่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะถูกกีดกันให้ทรงดำรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์สูงสุดของประเทศเท่านั้น อำนาจการปกครองแผ่นดินและบริหารราชการตกไปอยู่ที่รัฐสภาและคณะรัฐบาล การที่ต้องสถิตอยู่ในฐานะสัญลักษณ์สูงสุดของบ้านเมือง โดยไม่ต้องทรงทำอะไรเลยในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนนั้นย่อมกระทำได้ ซึ่งโดยทฤษฎีแล้ว คณะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคงพอใจ เพราะจะได้ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองกับทางรัฐบาล ในชั้นแรกเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหันสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 8 พระองค์ยังทรงแปลกแยกจากความเป็นคนไทย เพราะทรงเติบโตในต่างประเทศ และแม้จะได้รับการอบรมความเป็นคนไทยจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ผู้เคยเป็นสามัญชนมาก่อน แต่ก็ทรงดำรงพระชนม์ชีพแบบบุคคลสมัยใหม่ที่เกิดในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการเลี้ยงดูและศึกษาเล่าเรียนแบบชนชั้นกลางในยุโรป ทรงมีพระนิสัยชอบทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ มีพระอัจฉริยภาพในความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์และประดิษฐ์ อีกทั้งทรงร่าเริงและว่องไว เพราะไม่ต้องทรงรับพระราชภารกิจในการเป็นพระมหากษัตริย์เช่นสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช แต่ชะตากรรมได้กำหนดให้พระองค์ต้องขึ้นครองราชย์แทนทันทีที่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสวรรคต ทั้งๆ ที่ยังไม่ทรงรู้จักบ้านเมืองและประชาชนดี ด้วยชะตากรรมอีกเช่นเดียวกัน ที่ทำให้ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ได้มีโอกาสเสด็จออกไปพบปะประชาชนเพื่อทรงอำลา จึงทรงพบความจริงที่ว่า ประชาชนทั่วไปผู้อยู่ข้างล่างตามท้องถิ่นต่างๆ นั้น ยังมีความเคารพเชื่อมั่นต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นที่พึ่งของชีวิต เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในเรื่องนี้จากการเฝ้าแหนของประชาชนจำนวนมากที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ และมีเสียงตะโกนว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” เป็นเสียงเพรียกที่เสมือนฟ้าดินได้ลิขิต ซึ่งพระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ในพระราชประวัติส่วนพระองค์ว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร” พระราชดำรัสที่จะตรัสกับประชาชนในขณะนั้น คือข้อผูกมัดทางศีลธรรม (moral obligation and commitment) ที่พระองค์ต้องทรงกระทำในฐานะพระมหากษัตริย์ในทางพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระสมมติเทวราชในทำนองเดียวกับพระมหาเวสสันดร ผู้ทรงเป็นพระบรมโพธิสัตว์ในพระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นหลังจากทรงศึกษาจบจากต่างประเทศ และเสด็จนิวัติพระนครเพื่อเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์แล้ว พระองค์ก็อยู่ในฐานะพระสมมติเทพตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นภาวะที่ทรงตระหนักและรำลึกในพระราชภารกิจ ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและสติปัญญาในการทำนุบำรุงสุขและขจัดทุกข์ภัยที่บังเกิดแก่ประชาราษฎร์ของพระองค์ตลอดมา ดังสะท้อนให้เห็นจากครั้งหนึ่งที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความยากลำบาก พระองค์ตรัสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า ราษฎรได้ยกย่องให้พระองค์เป็นสมมติเทพ ก็ต้องทรงปฏิบัติให้สมกับการเป็นสมมติเทพ
พระราชภารกิจในฐานะพระสมมติเทพในทางพระพุทธศาสนานั้น คือการกระทำอย่างเสียสละที่มีเมตตาธรรม ขันติธรรม วิริยะธรรม ความชอบธรรมที่ไม่คำนึงถึงความสุขสันต์ใดๆ ในชีวิต เป็นการอุทิศพระองค์อย่างที่เรียกกันในพระคัมภีร์ทางศาสนาว่า เป็นการทรมานกายเพื่อให้ได้มาซึ่งความหลุดพ้น ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า salvation ซึ่งเป็นการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนาและนักบุญในคริสต์ศาสนานั่นเอง ดังสะท้อนให้เห็นจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพบเห็นราษฎรที่เป็นโรคขี้เรื้อนกุดถังมาเฝ้าฯ รับเสด็จด้วยความจงรักภักดี พระองค์หาได้ทรงรังเกียจไม่ ได้เสด็จเข้าใกล้และทรงพระเมตตาสัมผัสร่างกายของคนเหล่านั้น ท่ามกลางความตระหนกตกใจของบรรดาข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ ทรงรับฟังความเดือดร้อนและพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้คนเหล่านั้นพ้นทุกข์ สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ อันเป็นที่มาของสถาบันราชประชาสมาสัย พระราชกรณียกิจเพื่อดูแลช่วยเหลือคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนดังกล่าว ไม่เคยอยู่ในสำนึกของรัฐไทยแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเลย แม้แต่สังคมในชุมชนระดับล่างที่เป็นพุทธศาสนาก็ไม่สนใจ บุคคลผู้ยากไร้เหล่านั้นต้องแยกออกไปอยู่กันตามลำพัง จึงมักมีชุมชนคนขี้เรื้อนอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ มีแต่บรรดาบาทหลวง หมอสอนศาสนา ของคริสต์ศาสนาเท่านั้นที่ให้ความสนใจและให้ความช่วยเหลือการรักษาพยาบาล สถาบันราชประชาสมาสัยซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ จึงนับเนื่องเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจากพระเมตตาโดยแท้
พระราชภารกิจของพระสมมติเทพ
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆ ทุกหนแห่ง ทำให้พระองค์ทรงเห็นและเข้าพระทัยในสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนข้นแค้นของประชาชน รวมทั้งความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคมทุกท้องถิ่น ทุกภูมิภาคของประเทศ จึงทรงงานด้านการพัฒนาเพื่อความสุขและอยู่ดีกินดีของประชาชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ทรงช่วยเหลือด้วยกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา และที่สำคัญคือพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ด้วย พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นองค์อธิปัตย์เช่นสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช ในหลวงรัชกาลที่ 5 แต่เป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้อยู่ที่พระองค์ จึงยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินไม่ได้ และพระองค์ก็มิได้ทรงก้าวล่วงแต่อย่างใด เลยทำให้การพัฒนาบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเกิดเป็นเส้นทางคู่ขนานกันไป โดยในระยะแรก รัฐบาลทางหนึ่ง ขณะที่อีกทางหนึ่งเป็นหนทางแห่งพระองค์ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งในด้านแนวคิด นโยบาย วิธีการและการดำเนินการ ทางรัฐบาลเป็นการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาบ้านเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตามแนวทางและรูปแบบทางตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และบรรดาพันธมิตรในโลกทุนนิยมประชาธิปไตย ที่กำลังทำสงครามเย็นกับบรรดาบ้านเมืองและประเทศทางสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เรียกกันว่า “คอมมิวนิสต์” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ในความเห็นของข้าพเจ้าคิดว่าสุดโต่งด้วยกันทั้งคู่ เพราะทำความฉิบหายให้กับมนุษยชาติพอๆ กัน ด้วยต่างมุ่งมั่นพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไปในหนทางที่ทำลายสภาพธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ เพื่อความต้องการทางวัตถุที่ให้ความสุขทางกายจนขาดดุลกับความสุขทางใจและจิตวิญญาณสังคมไทย ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ โดยเฉพาะในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือยุคของการเริ่มเปลี่ยนประเทศและสังคมไทยจากสังคมเกษตรกรรม ที่คนไทยทั้งประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอมีพอกิน ไม่อดอยาก ไม่ขาดแคลนในเรื่องอาหารและปัจจัย 4 เพราะดินแดนประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพดีกว่าหลายๆ ประเทศในโลก ดูไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่ที่ต้องเปลี่ยนเพราะอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจทางโลกทุนนิยมเสรี ซึ่งมีอเมริกาเป็นหัวโจกครอบงำความคิดและสติปัญญาของผู้นำในรัฐบาล ข้าราชการ นักวิชาการ และปัญญาชนรุ่นใหม่ ให้มุ่งไปพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจเพื่อให้พ้นจากความล้าหลังและยากจน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อในการครอบงำและยึดครองของคอมมิวนิสต์ ความเป็นเหยื่อในการพัฒนาและการจัดการบริหารบ้านเมืองเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตามภาพพจน์ของอเมริกันดังกล่าว ทำให้คณะผู้บริหารบ้านเมืองพัฒนาประเทศในทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยมอย่างไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ที่ประเทศไทยไม่อดอยากและยากจนแม้แต่น้อย สิ่งที่ถูกยกให้เป็นธงชัยในการพัฒนาของรัฐบาลยุคนั้นและยุคต่อๆ มาก็คือ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ที่เป็นปรัชญาวัตถุนิยมโดยแท้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระบวนการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองและสังคมภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็เกิดขึ้น และดำเนินเรื่อยมาจนตราบทุกวันนี้ ยิ่งทำก็ฉิบหายไปเรื่อย ทั้งธรรมชาติและมนุษย์ที่เป็นโลกธาตุ เพราะมุ่งที่จะเอาทุกสิ่งอย่างที่เป็นธรรมชาติ ทรัพยากร ดินฟ้าอากาศ มาผลิตเป็นสินค้าเพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนที่เป็นนายทุนทั้งในชาติและข้ามชาติ และกลุ่มคนที่มีอำนาจและเงิน เพื่อให้มีความมั่งคั่งยิ่งๆ ขึ้นไป ในยุคนี้แม้แต่คนก็ยังถูกคิดถูกทำให้เป็นทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาจาก “ข้างใน”
การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตามแผนพัฒนาแต่ละยุคแต่ละสมัยของรัฐที่ผ่านมา นับแต่สมัยต้น พ.ศ. 2500 ที่นับเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษแล้วนั้น เป็นการพัฒนาที่มักประกาศเสมอว่า เป็นการพัฒนาแบบวางแผน (planned change) ที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่โดยการปฏิบัติและการกระทำ เป็นการพัฒนาจากบนลงล่าง (top down) แบบบังคับให้เปลี่ยนแปลง (forced change) ในทำนองเดียวกับประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจล้วนๆ แม้ว่ามีคำว่า “สังคม” พ่วงท้ายอยู่ก็ตาม เป็นการพัฒนาตามตำรา แนวคิด ทฤษฎีที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศมหาอำนาจในระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการจัดองค์กรการดำเนินการเป็นสภา ทบวง กรม กองต่างๆ ที่บุคลากรได้รับการอบรมมาจากตะวันตก รวมทั้งกระบวนการในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนถึงการประเมินผล
การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการปะทะสังสรรค์กันของคนสองกลุ่ม กลุ่มที่จะไปเปลี่ยนแปลงนับเป็นคนจากข้างนอก คือ จากข้างบนในระดับการกำหนดวัตถุประสงค์ การวางนโยบายและยุทธศาสตร์ให้กับข้าราชการผู้ออกไปปฏิบัติตามหน้าที่ของกรม กอง หรือหน่วยงานที่ทางรัฐจัดตั้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตทางเศรษฐกิจ คนอีกกลุ่มที่อยู่ข้างล่างคือประชาชนและผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่เรียกกันว่า “คนใน” การพัฒนาของรัฐบาลแบบนี้แทบไม่แลเห็น “คนใน” ที่เป็นเป้าหมายแท้จริงในการพัฒนาเลย แม้ว่าจะมีการอ้างการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นก็ตาม แต่เป็นการนำเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่ให้อำนาจในการตัดสินใจ (decision making) โดยย่อก็คือการพัฒนาโดย “คนนอก” ที่จะไปเปลี่ยนแปลงโดยไม่แลเห็นคนใน เพื่อการยกระดับชีวิตวัฒนธรรมให้อยู่ดีกินดี และมีความสุขทั้งด้านกายและใจ การพัฒนาที่มุ่งแต่เนื้อหาทางเศรษฐกิจเพื่อการมีเงิน มีรายได้เป็นสำคัญนั้น สะท้อนให้เห็นจากนโยบายการเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก เพื่อทำให้เกิดรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP) ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการมาจนทุกวันนี้ เป็นการพัฒนามิติทางเศรษฐกิจที่มีคำว่า “สังคม” เป็นคำประดับให้สวยงาม เมื่อไม่สนใจในมิติทางสังคมที่หมายถึงชีวิตวัฒนธรรมของคนในชุมชนท้องถิ่นซึ่งเคยอยู่กันมาช้านาน แต่สมัยสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา (peasant society) และสังคมเกษตรกรรมแบบกสิกร (farmer) ที่มีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านมาโดยธรรมชาติ สังคมชาวนา คือ สังคมของคนในท้องถิ่นที่มีชีวิตร่วมกันในชุมชนแบบที่มีมาแต่ดั้งเดิมนับพันปี เป็นสังคมที่คนอยู่กันด้วยความสัมพันธ์ทางครอบครัว เหล่าตระกูลและเครือญาติของคนในหลายชาติพันธุ์ ต่างศาสนาและที่มาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพากันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ต่างใช้ทรัพยากรร่วมกันในการอยู่อาศัยและทำกินอย่างมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลทุกข์สุขกันเพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกันของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม ไม่ใช่สัตว์เดี่ยว เช่น สัตว์เดรัจฉานที่เป็นปัจเจก ทั้งหมดนี้คือการมีชีวิตร่วมกันในชุมชน เป็นชีวิตวัฒนธรรมแบบพอเพียง (self contain)
การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่มีมิติทางสังคมที่ผ่านมา เน้นรายได้ทางเศรษฐกิจด้วยปรัชญาแบบ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เพื่อให้เกิดรายได้ต่อหัวที่เรียกว่า GDP คือสิ่งที่ทำลายชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่เคยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เครือญาติ เหล่าตระกูลและชุมชน ที่สัมพันธ์กับการจัดการทรัพยากรทั้งดิน น้ำ และพืชพรรณ สิ่งมีชีวิตในนิเวศวัฒนธรรมที่เคยมีอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบล่มสลาย และผลที่ตามมาก็คือความทุกข์ยากของประชาชนทั่วไปในระดับล่าง ทำให้สังคมไทยอยู่ในสภาพความเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะยากจน หิวโหยและเดือดร้อน แต่การพัฒนาตามแนวคิดและแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพัฒนาจากข้างล่าง จากคนในท้องถิ่นที่ประสบความเดือดร้อนให้มาเชื่อมโยงกับการพัฒนาจากข้างบนหรือจากข้างนอก เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างกัน ทรงมุ่งที่คนในซึ่งอยู่รวมกันเป็นชุมชนในท้องถิ่น เป็นการพัฒนาที่มีมิติทางสังคม และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่ในบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมที่เป็นนิเวศวัฒนธรรม ในความคิดเชิงมานุษยวิทยาที่ข้าพเจ้าได้เล่าเรียนมา คือการพัฒนาแบบองค์รวมทั้งโลกธาตุ ที่แลเห็นทุกธาตุส่วนที่เป็นองค์ประกอบของโลก มี 6 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ ธาตุที่หมายถึงสิ่งที่มีชีวิต อันได้แก่ คน สัตว์ ต้นไม้ ฯลฯ การมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมจะดำรงอยู่ได้นั้น ทุกสิ่งที่เป็นธาตุต่างๆ ทั้ง 6 ธาตุนี้จะต้องสัมพันธ์กันอย่างมีดุลยภาพ แต่การจะพัฒนาได้นั้น จะทำไม่ได้ผลดีโดยการพัฒนาจากข้างบน หรือจากภายนอกที่ทำตามตำราแม่บทและแนวคิดทฤษฎี แต่ต้องเป็นเรื่องของการลงไปศึกษาเก็บข้อมูลกันในพื้นที่ หรือท้องถิ่นที่มีชุมชนมนุษย์อยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงตรากตรำพระวรกายในการศึกษาเก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง ด้วยพระองค์ในท้องถิ่นที่ประชาชนประสบความเดือดร้อน แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป็นแนวคิด แนวทาง และวิธีการแก้ไข เพื่อขจัดทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าธาตุใดที่เป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ มนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็จะทรงพยายามแก้ไขให้
เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจากข้างล่าง หรือจากคนในชุมชน ในท้องถิ่นตามที่กล่าวมา พระองค์ต้องทรงริเริ่มและทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ด้วยทุนทางพระสติปัญญาและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยไม่คาดหวังความร่วมมือจากทางรัฐบาล ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาจากข้างบนและข้างนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างในก่อน” และการเข้าถึงด้วยแนวทางเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ในเรื่องนี้ทรงละไว้ให้เข้าใจกันเองว่า การเข้าถึงคือถึงอะไร ซึ่งในแนวปฏิบัติของพระองค์ก็คือ เข้าถึงคน แต่ไม่ใช่เป็นคนในฐานะปัจเจก หากเป็นคนที่อยู่ร่วมกันในครอบครัว เป็นตระกูล หมู่เหล่า ที่แม้จะหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา แต่อยู่กันอย่างเป็นชุมชนในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือพระองค์ได้แสดงการเข้าถึงอย่างไร เป็นตัวอย่างด้วยการเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทลงไปยังท้องถิ่นเป้าหมาย ด้วยแผนที่ สมุดบันทึก และกล้องถ่ายรูปออกไปเก็บข้อมูล ที่เห็นได้จากการสังเกต ได้ยินได้ฟังจากการสังสรรค์กับผู้คนในท้องถิ่นอย่างเป็นกันเอง อย่างคนธรรมดาที่ไม่แสดงอาการเหลื่อมล้ำในลักษณะต่ำสูง ทำให้ผู้คนเกิดความไว้วางใจ เคารพรักและให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงน่าเชื่อถือได้ อันที่จริงในการใช้แผนที่ในการเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลดังกล่าว ก็มีนักวิชาการและนักพัฒนาทำกันอย่างกว้างขวาง แต่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติ คนทั่วไปส่วนใหญ่ใช้แผนที่ในลักษณะแบบนก (bird eyes view) คือกางแผนที่แล้ววางแผน หรือถ้าหากจะต้องลงพื้นที่ก็ทำอย่างคร่าวๆ แบบขี่ม้าเลียบค่ายเลียบเมืองอะไรทำนองนั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้แบบหนอน (worm eyes view) ที่เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ยากลำบากและทุรกันดารอย่างไร เพื่อเข้าไปให้เห็นผู้คนและสิ่งมีชีวิตที่สัมพันธ์กับดิน น้ำ ลม และอากาศ ที่มีระดับสูงต่ำและระดับอุณหภูมิที่เป็นจริง จึงทรงเข้าถึงและเข้าใจในปัญหาของความเดือดร้อนที่จะต้องนำไปวางแผนแก้ไขในการพัฒนา ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นจากการดำเนินการแก้ไขในเรื่องการจัดการน้ำ ทั้งเพื่อการเกษตรกรรม การป้องกันน้ำท่วม ฝนแล้ง และการส่งเสริมพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนเลือกเฟ้น เน้นใช้ และประดิษฐ์เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่คนในชุมชนที่จะต้องพัฒนา
อยู่รอดด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
ความต่างกันในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการพัฒนาจากข้างใน กับการพัฒนาจากข้างนอกโดยรัฐและเอกชนก็คือ การพัฒนาที่ทำให้คนช่วยตัวเองและทำเอง ในลักษณะการเป็นพี่เลี้ยง แนะนำแนวคิด แนวทาง และวิธีการที่เป็นไปได้ รวมทั้งการช่วยเหลือลงทุนทางเทคนิคและค่าใช้จ่ายบ้าง โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตลอดจนทรงคิดประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสม โดยเสด็จไปแนะนำให้ความรู้ด้วยพระองค์เองตามท้องถิ่นต่างๆ แนวคิดและแนวทาง ตลอดจนวิธีการดังกล่าวเรียกว่า การสร้างพลังทางสติปัญญาและความรู้ให้แก่ผู้คน ให้สามารถพัฒนาด้วยตนเอง ดังที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า empowerment การเสด็จลงไปถึงผู้คนที่จะต้องพัฒนาในท้องถิ่นด้วยพระองค์เอง ก็คือการเข้าถึงและเข้าใจในความต้องการของคน รู้ถึงศักยภาพ ความรู้และสติปัญญา และความขัดข้องได้อย่างแจ่มชัด อีกทั้งได้ทรงเข้าถึงในเรื่องโลกทัศน์และคำนิยมของผู้คนที่เป็นเหยื่อของวัตถุนิยมที่แพร่หลายจากชนชั้นปกครอง ชนชั้นกลาง ในโลกของทุนนิยมเสรีแบบทางตะวันตก ทำให้ต้องทรงพระราชทานแนวคิดและปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อให้เป็นรากฐานในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงและมีคุณภาพ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน โดยความเข้าใจของข้าพเจ้าคือ ปรัชญาของความพอเพียงในชีวิตของปัจเจกบุคคล ซึ่งมีทั้งความพอเพียงในทางวัตถุที่ได้ดุลยภาพ กับความพอเพียงทางจิตใจ อันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Self sufficiency เพราะความพอเพียงของแต่ละบุคคลนั้นไม่เท่ากัน เป็นความพอเพียงตามอัตภาพของแต่ละบุคคล อันนี้เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับส่วนรวมหรือในระดับชุมชน เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม ต้องอยู่รวมกัน จึงจะมีชีวิตรอด การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนร่วมกัน ที่ทำให้เกิดความพอเพียงและยั่งยืน หรือเรียกว่า sustainable economy หรือ sustainable development คือ พอเพียงและยั่งยืนของคนในชุมชนร่วมกัน และตัวอย่างที่เป็นเลิศในความพอเพียงก็อาจแลเห็นได้จากวิถีทางในการดำรงพระชนม์ชีพของพระองค์จากสื่อวิดีโอและภาพยนตร์
อีกสิ่งหนึ่งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งการพัฒนาจากข้างใน แตกต่างไปจากการพัฒนาจากข้างบนหรือจากข้างนอกของคนในโลกวัตถุนิยมแบบตะวันตก ก็คือการพัฒนาทางศีลธรรม จริยธรรม ในมิติทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ ศาสนา ประเพณีและพิธีกรรม ที่แสดงออกให้เห็นจากการสร้างวัด สร้างโรงเรียน ที่พระองค์ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ เสด็จไปเยี่ยมประชาชนและร่วมในประเพณีพิธีกรรมควบคู่กันไป ตลอดจนเสด็จนมัสการพระอริยสงฆ์และแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะในเรื่องสมาธิและวิปัสสนา ทั้งหมดนี้แลเห็นจากการให้ความสำคัญกับโครงสร้างความเป็นชุมชนสมัยใหม่ คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ที่เรียกกันย่อๆ ว่า บวร ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมโยง บูรณาการให้สัมพันธ์กับการมีชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน ด้วยการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ เสด็จเยี่ยมประชาชนที่เดือดร้อนทุกแห่งหนของประเทศ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรด้วยพระสติปัญญาและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น ส่งผลให้ทางรัฐและเอกชนขานรับโครงการพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาให้เข้าถึงประชาชนกว่า 4,500 โครงการ ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ เกิดหน่วยงานที่เป็นองค์การรองรับมากมาย โดยทรงเฝ้าดูและทรงติดตามตลอดเวลา บรรดาโครงการใหญ่ๆ ที่ทรงริเริ่มและได้ดำเนินการให้เป็นผลดีแก่ประชาราษฎร์ ที่สำคัญคือการพัฒนาดิน น้ำ ลม และอากาศ เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่แห้งแล้ง ดินเค็ม ขาดน้ำ ให้กลับฟื้นขึ้นมาเป็นป่าเขาที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นไร่ เป็นนา เป็นเรือกสวน แหล่งประมงน้ำจืดและน้ำเค็มที่สามารถเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย และพันธุ์พืชที่มีทั้งในท้องถิ่นตามธรรมชาติและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพืชและไม้ผลฤดูหนาวที่นำมาให้คนบนที่สูงทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและปลูกฝิ่นเป็นอาจิณ ผลสัมฤทธิ์ก็คือคนต่างชาติพันธุ์เหล่านั้น กลายเป็นคนไทยที่มีอาชีพและทำมาหากินอย่างสุจริต
ณ พื้นที่ใดที่ประชาชนทุกข์ร้อน จะเสด็จพระราชดำเนินไปช่วยเหลือและฟื้นฟูให้มีชีวิตที่ดี มีสุขภาพและสวัสดิภาพ สิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนใครในโลกก็คือ พระราชวังอันเป็นที่ประทับหาได้มีความโอ่อ่าตระการตาไม่ หากเป็นที่อยู่อาศัยของผู้บำเพ็ญกรณีย์ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ทดลองพันธุ์พืช ต้นไม้ และปศุสัตว์ รวมทั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สิ่งของจากการเกษตรปลอดสารพิษ ออกมาจำหน่ายอย่างมีมาตรฐานในด้านคุณภาพและความปลอดภัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นทั้งผู้นำและผู้ปฏิบัติ ในความคิดที่ประเทศไทยต้องเป็นสังคมเกษตรกรรมด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จึงจะอยู่รอดในโลกที่กำลังถูกทำลาย ด้วยการเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มุ่งการผลิตจนเกินกำลังของดิน น้ำ อากาศ และทรัพยากรที่มีความหลากหลายชีวภาพ ดังทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า “ไม่จำเป็นต้องเป็นเสือ” ให้กับคนในวงการของรัฐและธุรกิจเอกชนที่มุ่งความเป็นเสือ ซึ่งเรียกกันว่า นิกส์ (NIC) อย่างเป็นแฟชั่นนิยม จนประสบความล่มจมหมดตัวเมื่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ใน พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตว่า ก่อน พ.ศ. 2541 คนไทยพอมีพอกิน แต่หลังปี พ.ศ. 2541 แล้วไม่พอกินพอเพียง ซึ่งในช่วงเวลาของการพอมีพอกินนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นช่วงเวลาหลังทรงขึ้นครองราชย์ที่พระองค์เสด็จไปพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานตามท้องถิ่นต่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ บ้านเมืองแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาอยู่ในสภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างชนบทกับเมือง ระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่าง ความยากจนจึงเป็นเรื่องของการด้อยโอกาสและไม่พอมีพอกิน ในขณะที่รัฐบาลแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความร่ำรวยทางวัตถุและเงินตรา เพราะเงินคือความปรารถนาสูงสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนา “คนใน” ที่เป็นรากหญ้าให้มีชีวิตที่พอมีพอกินในเรื่องอาหารและสิ่งจำเป็นในการบริโภคอุปโภค ไม่เน้นความร่ำรวยในเรื่องเงินตราและวัตถุ แต่ยุคหลังฟองสบู่ที่คนชั้นกลางซึ่งร่ำรวยเงินตราประสบความหายนะ ภาวะความยากจนอันเนื่องจากการไม่มีเงินก็ระบาดทั่วไปในบรรดาคนชั้นกลาง และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุนนิยมข้ามชาติครอบงำประเทศไทย คนรวยที่เป็นชนชั้นกลางกลับฟื้นคืนใหม่ ประเทศไทยก็เข้าสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ความเจริญเติบโตเป็นบ้านเมืองทันสมัยทางวัตถุ แต่ไร้ศีลธรรมและจริยธรรม ก็เข้ามาแทนที่การเกษตรกรรม ซึ่งบรรดาอุตสาหกรรมหนักและเบาทั้งหลาย ทำให้คนในสังคมเกษตรกรรมแต่เดิมไร้ที่ทำกิน ผันตัวเป็นแรงงานเข้าไปทำงานในเมืองและแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่แพร่หลายไปแทบทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างซับซ้อน จนเกิดความขัดแย้งและ ความไม่พอเพียงไปทั่ว
มหัศจรรย์แห่งพระบารมี
ความขัดแย้งนั้นมักเกิดจากความอดอยากหิวโหย ความโกรธ ความเกลียด ที่ตามมาด้วยความรุนแรง แต่คนไทยไม่อดอยาก มีแต่โลภและอยากรวยในด้านเงินตราและอำนาจ ทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นเป็นระยะ เป็นภัยพิบัติที่มาจากรัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งคือธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว และความแห้งแล้ง สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงงานหนักทั้งสองด้าน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หาได้ทรงเหลือบ่ากว่าแรงในการดูแลช่วยเหลือ แม้ว่าจะต้องทรงทำอยู่เรื่อยๆ แต่ภัยพิบัติทางการเมืองดูโหดร้ายกว่า เพราะพระองค์ทรงอยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ แต่กระนั้นผู้นำของความชั่วร้ายก็พยายามหาเรื่องให้พระองค์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยบ่อยๆ เพื่อหวังทำลาย กระนั้นก็ดี ในทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความรุนแรง ผู้คนจะฆ่ากันตายทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแผ่พระบารมีมาช่วยบรรเทาให้ และให้พลังแก่ผู้คนที่เป็นฝ่ายทำดีเพื่อกู้ประเทศ ข้าพเจ้าได้เห็นการแสดงออกซึ่งพระบารมีถึง 3 ครั้งในบั้นปลายพระชนม์ชีพขณะทรงประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 อันเป็นปีที่ทางรัฐบาลชั่วร้ายจัดให้มีการเฉลิมฉลองในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยกำหนดให้ผู้คนที่มาร่วมในงานพระราชพิธีสวมเสื้อสีเหลือง อันเป็นสีวันพระราชสมภพของพระองค์ โดยหวังให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่ง คือ เกิดม็อบเสื้อเหลืองของรัฐบาล แต่การณ์กลับตรงข้าม เพราะแทนที่จะเป็นม็อบเพื่อพลังความชั่วร้าย กลับกลายเป็นการชุมนุมที่แสดงพลังของความดีและกล้าหาญของประชาชนที่มีศีลธรรมคลาคล่ำไปทั่วท้องถนนราชดำเนินนอก และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หัวหน้ารัฐบาลที่ชั่วร้ายต้องอัปเปหิตนเองออกนอกประเทศในฐานะผู้แพ้พระบารมี ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2554 ที่พระองค์เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งจากโรงพยาบาลศิริราชไปตามถนนราชดำเนิน จนถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม ในการเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครั้งนั้นก็เช่นกัน มีคนสวมเสื้อเหลืองเฝ้าแหนเรียงรายตลอดเส้นทางถนนราชดำเนินนอกและยิ่งคลาคล่ำบริเวณลานพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นม็อบพลังพระบารมี มีทั้งผู้คนที่ตื่นรู้ทั่วประเทศ เป็นผู้ขับไล่และสนับสนุนให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประสบความสำเร็จในการขจัดรัฐบาลและขบวนการที่ชั่วร้ายให้พ้นไปจากประเทศ
ครั้งที่ 3 คือ การเสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ที่เกิดอัศจรรย์ท้องฟ้ามืดครึ้มในก่อนวันเสด็จดับขันธ์ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 มีการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วประเทศ ทำวิปัสสนาสมาธิ สวดมนต์ และทำบุญเพื่อให้ทรงหายจากพระอาการประชวรมาแต่หนึ่งเดือน และเฝ้าแหนอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อเสด็จสวรรคต ผู้คนจากถิ่นต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทุกเพศทุกวัย ทุกชาติพันธุ์และศาสนา ได้เดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพกันอย่างเนืองแน่น ต่างร่ำไห้ด้วยความอาดูรพูนเทวษ อันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นมหัศจรรย์ นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งจากการบันทึกและความทรงจำครั้งที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์
ในฐานะนักศึกษาทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ โบราณคดี ข้าพเจ้าใคร่สรุปวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวกับการออกมาชุมนุมกันอย่างมโหฬารและมหัศจรรย์ทั้ง 3 ครั้ง ที่มีเหตุมาจากการแสดงความอาลัยรักและกตัญญูกตเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือความธรรมดา เพราะได้มากันอย่างทรมานกายและใจ อันเกิดจากการสูญเสีย “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ที่ได้ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาราษฎร์ที่เป็นคนไทยทั้งประเทศและที่อยู่นอกประเทศทั่วโลก คือสิ่งที่คนมองและเชื่อว่าพระองค์เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระธรรมิกราช ผู้ทรงมาดับยุคเข็ญของบ้านเมือง การออกมาชุมนุมของคนจำนวนมากจากที่ต่างๆ ดังกล่าว ไม่ใช่การมาเที่ยวแสวงหาความสุขสำราญ หรือการแสดงออกที่ไม่มีความจริงใจ หากมาในลักษณะการแสวงบุญ (pilgrimage) ของคนที่มีศาสนาและความเชื่อ สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดเช่นนี้ ย่อมไม่เกิดจากการวางแผนแต่งเล่ห์เพทุบายของบุคคลชั่วร้าย ซึ่งไม่มีชาติ ศาสน์ กษัตริย์แต่อย่างใด หากเกิดจากสำนึกและความซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจที่ทรงคิดและทรงปฏิบัติให้แลเห็นผล ดังเห็นได้จากการทรงงานนานัปการ ทรงตรากตรำพระวรกายและใช้พระสติปัญญาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาราษฎร์ตลอดพระชนม์ชีพ นับแต่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา ในสำนึกของบุคคลที่เป็นวิญญูชน คือ การตรากตรำพระวรกายมากกว่าการเสด็จออกไปหาความสำราญและความหมายทางการเมือง เพื่อความเป็นเอกบุรุษที่เต็มไปด้วยอัตตา หากเป็นการกระทำอย่างไม่มีอัตตา (selfless action) เช่นพระโพธิสัตว์ในคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ด้วยคติความเชื่อดังกล่าว ข้าพเจ้าคิดว่าพระองค์คือมหาบุรุษ ที่ฟ้าดิน “...รังสฤษฏ์ให้ มาอุบัติ ในประยูรเศวตฉัตร สืบเชื้อ…” เช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพในเวลาที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอ้างความเป็นใหญ่อยู่ที่ประชาชนตามแบบตะวันตก เกิดความแตกแยกทั้งบุคคลในพระราชวงศ์และบุคคลที่เป็นขุนนาง ข้าราชการ ซึ่งพยายามสร้างอำนาจและความชอบธรรมขึ้นมาปกครองและบริหารประเทศ ที่แท้จริงแล้วก็คือกลุ่มเผด็จการนั่นเอง แต่เพียงยกพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ในนามของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในขณะที่ประชาชนที่อยู่ข้างล่างและบุคคลสามัญทั่วไปอยู่ในภาวะยากลำบากที่เรียกว่ายากจนก็ว่าได้ เกิดคนได้โอกาสและด้อยโอกาสขึ้นมากมาย ซึ่งมีผลมาจากขาดการอบรมทางศีลธรรมและจริยธรรม ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่เกินแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตยแบบวัฒนธรรมตะวันตก โดยเหตุนี้ ฟ้าดินจึงกำหนดผู้นำที่เป็นธรรมิกราชให้มาอุบัติ เป็นการอุบัติขึ้นในครอบครัวของผู้ที่เป็นเชื้อสายโดยตรงจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชผู้เป็นมัททวะที่มากด้วยพระสติปัญญาและพระเมตตาธรรม ในพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระเยาว์นั้น พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่สหรัฐอเมริกาและเจริญพระชนม์ในประเทศไทยเพียงระยะเวลาหนึ่ง ทรงสืบสายพระโลหิตจากพระบรมราชชนกที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ในการอุทิศพระวรกายในการเป็นแพทย์เพื่อรักษาประชาชน และทรงมีพระบรมราชชนนีที่เป็นสามัญชน แต่มากด้วยพระสติปัญญา ประทับอยู่กับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ทรงรักและเมตตา อบรมความรู้และวัตรปฏิบัติให้เข้าพระทัยในคติธรรมและประเพณีทางพระพุทธศาสนา อันเป็นพื้นฐานทางความเชื่อและศีลธรรมในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงเจริญพระชนม์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ท่ามกลางอารยธรรมตะวันตก พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพที่เป็นพหูสูต ทรงมีความคิดและสติปัญญาในการสร้างสรรค์ (creativity) ถ้าพูดตามภาษาสามัญก็คือ ทรงเป็นเลิศทั้งสมองซีกซ้ายในทางวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา และสมองซีกขวาทางศิลปวิทยา ที่จะทรงคิดประดิษฐ์อะไรก็ได้ให้เป็นผลดี เพราะความเป็นอัจฉริยะนั้นจะไม่เกิดกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่เรียกว่า เอตทัคคะ (specialist) เพราะอัจฉริยะแบบนั้นเป็นเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งคือความเฉลียวฉลาดรู้แจ้ง แต่อีกด้านหนึ่งคือความงี่เง่าเบาปัญญา แต่พระอัจฉริยะของพระองค์ที่เป็นพหูสูต คือความรอบรู้ในด้านต่างๆ ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงเป็นองค์รวม แล้วสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คือนวัตกรรม (innovation) ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ ดังเช่นการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวง การสร้างกังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อแก้น้ำเสียให้เป็นน้ำดี เป็นต้น การศึกษาในมหาวิทยาลัยก่อนขึ้นครองราชย์ คือการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้พระองค์ทรงมองทุกสิ่งของโลกธาตุได้ตามความเป็นจริง ซึ่งพิสูจน์และเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเสด็จออกไปศึกษาเก็บข้อมูลตามท้องถิ่นอย่างเข้าถึง ครั้นเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงเพิ่มพูนการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ทางสังคมที่ทำให้เห็นคน เห็นวัฒนธรรม ที่จำเป็นแก่การปกครองในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน แต่อีกศาสตร์หนึ่งที่ไม่ต้องทรงเรียนจากมหาวิทยาลัยก็คือ ศาสตร์ทางความเชื่อในมิติทางจิตวิญญาณ อันได้แก่ ศาสนา ความเชื่อ ลัทธิ ตำนาน ประเพณีและพิธีกรรม ที่ได้ทรงรับการอบรมจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระบรมราชชนนี รวมทั้งทรงค้นคว้าและปฏิบัติด้วยพระองค์เอง สิ่งดังกล่าวนี้คือสิ่งสำคัญที่ร้อยรัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ทรงเข้าพระทัยในการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร คือ ไม่เป็นทั้งกษัตริย์แบบตะวันตกและคิดแบบคนตะวันตก และกษัตริย์แบบตะวันออกแบบเก่าที่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน ขณะเดียวกันก็ทรงไม่ประทับอยู่บนบัลลังก์ในลักษณะของสัญลักษณ์ ภายในพระราชวังที่ใหญ่โตรโหฐานสวยงามแบบปราสาทและวิมานบนสรวงสวรรค์
พระผู้ทรงทัดดินต่างปิ่นเกล้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนบัลลังก์และในพระราชฐานก็แต่เฉพาะในพระราชพิธีที่ต้องทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น เพราะเวลาส่วนใหญ่ของพระองค์อยู่นอกพระราชวัง โดยเสด็จไปตามท้องนา ป่าเขา และแหล่งทุรกันดารทั่วประเทศที่ทรงดั้นด้นไปถึง เพื่อบำบัดทุกข์ยากของประชาชนและฟื้นฟูธรรมชาติบ้านเมืองให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการฟื้นฟูความเป็นมนุษย์และชุมชนด้วยพระสติปัญญาและพระบารมี ที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ฟื้นฟูทั้งระบบในโลกธาตุ ที่ประกอบด้วยคน อันเป็นวิญญาณ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศในลักษณะองค์รวม ที่แลเห็นทั้งมิติทางวัตถุและมิติทางจิตวิญญาณ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างของธาตุทั้ง 6 จะเข้าสู่ดุลยภาพด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีทั้งความพอเพียงในตัวปัจเจกบุคคล (self sufficiency) ที่พระองค์ทรงปฎิบัติเป็นต้นแบบ และเศรษฐกิจชุมชนที่เรียกว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียงและยั่งยืน (sustainable economy) เป็นปรัชญาและระบบเศรษฐกิจที่ทรงใช้ต่อรองกับเศรษฐกิจแบบส่งออกของรัฐบาลและทางราชการ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น (GDP) อันเป็นสิ่งที่บรรดาผู้คนจากข้างล่างที่เป็นชาวนาชาวไร่ปรับตัวไม่ทัน เกิดความเดือดร้อน ด้วยพระวิริยอุตสาหะดังที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าและนักมานุษยวิทยาอีกหลายท่าน โดยเฉพาะดร. สุเทพ สุนทรเภสัช ที่ข้าพเจ้านับถือ แลเห็นการฟื้นตัวของความเป็นมนุษย์และชุมชนในท้องถิ่นจำนวนมาก ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการดีขึ้นที่ไม่ได้มาจากรายได้ต่อหัวที่เชื่อว่าเงินจะบันดาลให้ หากเป็นความสุขมวลรวมของชุมชนที่มีผู้เรียกว่า GNH (Gross National Happiness) ดังที่พระมหากษัตริย์ของประเทศภูฏานบัญญัติไว้ และผู้นำทางปัญญาของไทยแบบตะวันตกพยายามจะไปให้ถึง แต่ไม่เคยถึง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดและวิธีการที่ไม่เหมือนใครในโลก ทั้งโลกทุนนิยมและโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หากเป็นนวัตกรรมโดยตรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ไม่ได้ทรงคิดขึ้นโดยอาศัยทฤษฎีและตำราของใคร เพราะไม่มีอะไรมาอ้างอิงได้ หากมาจากการศึกษาจากก้าวย่างด้วยพระบาทไปทุกหนแห่ง เพื่อศึกษาชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นที่อยู่กันมาอย่างช้านาน ในสังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขาดดุลยภาพและความยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บข้อมูลภาคสนามทั้งด้านกว้างและด้านลึก ด้วยการใช้แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 และภาพถ่ายทางอากาศที่ทางราชการในสมัยนั้นถือว่าเป็นความลับ พร้อมกับกล้องถ่ายรูปและสมุดบันทึกข้อมูลด้วยดินสอ ซึ่งหากมองอย่างนกแล้ว สิ่งที่เห็นจากแผนที่ก็คือข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูล แต่พระองค์ทรงใช้แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศเป็นเพียงเครื่องมือช่วยให้เข้าถึงข้อมูลในลักษณะการมองแบบหนอน ที่นำพระองค์เสด็จเข้าไปได้เห็น ได้ยิน และได้สัมผัสในมิติที่ลึกซึ้ง ซึ่งเรียกว่า เข้าถึง “คนใน” ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนา จนเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิวัฒนธรรม” ของคนในชุมชนท้องถิ่น อย่างที่ดร. สุเทพ สุนทรเภสัช ผู้เป็นนักมานุษยวิทยาเดินดินเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้าปรารภว่า พื้นที่ที่พระองค์ทรงกำหนดให้สร้างเขื่อน สร้างการชลประทานและการเกษตรนั้น ในหลวงทรงเข้าใจไปถึงในอดีต ในตำนานและความเชื่อที่อยู่ในความทรงจำและเอกสารโบราณเหมือนกัน จึงทำให้เป็นที่ยอมรับของคนในได้ ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาจากภายในหรือจากข้างล่าง (bottom up) โดยแท้ ที่แลเห็นมิติของความเป็นมนุษย์ทั้งในด้านวัตถุและจิตวิญญาณ ที่การพัฒนาแบบจากบนลงล่างไม่เคยทำและไม่เคยมี
ที่กล่าวมาแล้วคือสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำให้กับประชาชน ซึ่งควรเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย หากมองอย่างผิวเผินก็อาจเข้าใจได้ว่า ทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง แต่สิ่งที่ประจักษ์แก่มหาชนทั่วประเทศและทั่วโลกก็คือไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเต็มไปด้วยความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ อย่างที่จะพบเห็นก็แต่เพียงการกระทำของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นราชาธิราช หรือไม่ก็ธรรมราชาธิราชในประวัติศาสตร์และตำนานเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงระมัดระวังพระองค์ที่จะไม่ทรงทำอะไรที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในยามวิกฤติทางการเมืองที่มีคนไปทูลขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานจากพระองค์ ก็ได้ทรงปฏิเสธ รวมทั้งในยามที่ประเทศชาติอยู่ในภาวะการทำสงครามเย็นกับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งครั้งหนึ่งผู้สื่อข่าววิทยุ BBC ทูลถามว่า การที่พระองค์เสด็จไปช่วยเหลือประชาชนและให้การสนับสนุนในการสร้างเขื่อนพลังน้ำก็เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์นั้น พระองค์ทรงตอบด้วยพระปรีชาญาณว่า พระองค์ไม่รู้ว่า (คอมมิวนิสต์) คืออะไร แต่พระองค์ทรงทำสงครามกับความยากจน ถ้าหากเอาชนะได้ ประชาชนก็จะอยู่ดีกินดีโดยทั่วหน้า แม้ว่าประชาชนที่ถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็จะได้รับชัยชนะด้วย เหนือไปกว่านี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่นักข่าว BBC บันทึกไว้ก็คือ การที่พระองค์เสด็จนำขุนนางข้าราชการไปสาบานตนต่อหน้าพระแก้วมรกตภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง ทรงเป็นผู้นำในการสาบานตน ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงพระองค์ด้วย แสดงให้เห็นว่าเหนือพระองค์ท่านก็คือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่พระมหากษัตริย์ยังต้องทรงสยบและทรงยึดเป็นหลักชัยในการปกครองบ้านเมือง ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสาบานอันใดแก่รัฐสภา
ในเรื่องการเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ของพระองค์นั้น ยังมีคนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะนักเขียนตำราประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเทวราชาตามแบบขอมโบราณสมัยเมืองพระนคร เพราะอ่านวรรณคดีที่สรรเสริญพระมหากษัตริย์จนเกินไปประการหนึ่ง และการแสดงออกในลวดลายประดับบรรดาสถาปัตยกรรมในวัง วัด และพระราชพิธี โดยเฉพาะการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์บนพระเมรุมาศ หาได้สนใจศึกษา ลิลิตโองการแช่งน้ำ และบทเริ่มต้นของพระธรรมศาสตร์และกฎหมายตราสามดวง อันเป็นตำรากฎหมายของไทยมาแต่สมัยอยุธยาตราบจนสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเปลี่ยนมาเรียนตำรากฎหมายฝรั่งแทน ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัย ได้อ่านได้ศึกษาเป็นอย่างดี จึงตรัสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถว่า ต้องทำให้สมกับประชาชนยกย่องให้เป็นพระสมมติเทพ เพราะสิ่งดังกล่าวนี้มีอยู่ใน ลิลิตโองการแช่งน้ำ เกี่ยวกับการเกิดของจักรวาลและสถาบันกษัตริย์ในบวรพุทธศาสนาเถรวาท อีกสิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงศึกษาก็คือ ทศชาติชาดก ที่เรียกอีกนัยหนึ่งว่า ทศบารมี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งน่าจะราวสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา ได้มีการย่อมหานิบาตชาดก อันเป็นเรื่องราวของพระมานุษิโพธิสัตว์ 550 ชาติให้เหลือ 10 ชาติ เพื่อเป็นทศบารมีที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงเรียนรู้และบำเพ็ญ โดยมีพระชาติสุดท้ายคือ มหาเวสสันดรชาดก ที่หมายถึงทานบารมี เป็นบารมีพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้คือสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบและเข้าใจเป็นอย่างดี จึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีออกมา เพื่ออบรมให้เข้าใจในลักษณะที่เป็นนิทานเพื่อการปฏิบัติ
จากความรู้ทั้งสองเรื่องดังกล่าว คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ และ ทศชาติชาดก หรือทศบารมี ทำให้เข้าใจได้ว่า ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองของสยามแต่สมัยอยุธยาลงมา พระมหากษัตริย์คือพระสมมติราช คือบุคคลผู้บำเพ็ญคุณธรรมที่ประชาชนยกย่องขึ้นเป็นผู้ปกครอง เป็นพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ทศชาติชาดกหมายถึงวัตรปฏิบัติในการบำเพ็ญกรณีย์เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ด้วยความเมตตาและการเสียสละความสุขส่วนตัว คือพระมานุษิโพธิสัตว์ โดยเหตุนี้จึงมีพระสงฆ์เถระบางรูปและผู้รู้ ผู้อาวุโสในสังคม มองและเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือพระโพธิสัตว์ นั่นก็คือโดยอุดมการณ์ทางการปกครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือพระสมมติราช หรือพระสมมติเทวราช แต่โดยวัตรปฏิบัติในการบำเพ็ญกรณีย์พระองค์คือ พระโพธิสัตว์
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าไม่มีนิสัยทางกวีที่จะสรรหาและแต่งถ้อยคำร้อยกรองขึ้นมาเพื่อแสดงความอาลัยได้ จึงนำถ้อยคำที่มีความงดงามและกินใจของคนไทยในอดีต จากศิลาจารึก ตำนานประวัติศาสตร์ และเรื่องราวทางศาสนา อันสะท้อนให้เห็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักและเป็นที่พึ่งของประชาชน ดังจารึกวัดส่องคบ พ.ศ. 1951 ในแผ่นดินสมเด็จพระรามราชาธิราช เจ้าเมืองชัยนาทและครอบครัวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์เนื่องในการทำบุญสร้างวัด สร้างพระบรมธาตุว่า
“นะโม พุทฺธาย ---- ทศนัขคุณเทศ
ผกาแก้วเกด สพมารกษัตริย์
ทัดดินต่างปิ่นเกล้าเป็นทศมกุฎ
สุดใจดินใจฟ้า กูข้าขอพรรณราย
พระยศ พระเกียรติ พระคุณ ตราไว้ เป็น...”
พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความสุขสบายส่วนพระองค์ เป็นเสมือนการเอาทุกข์ร้อนของแผ่นดินมาเป็นปิ่นประดับพระเศียร ในทำนองเดียวกันกับพระศิวะที่ทรงทัดจันทร์ไว้เหนือพระเกศา ฉะนั้นในวรรณคดีโบราณหลายเรื่องจึงกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ร่มเย็นว่า เป็น “ราชามหาศาล” เช่น พระรามอวตาร ในชาดกมหาชาติอันเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเรียกพระมหาเวสสันดร พระโพธิสัตว์ว่าเป็น “...พระสมมติเทวราช บรมนาถชาวสีพีผู้เลิศไกร” การบำเพ็ญพระกรณีย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เปี่ยมไปด้วยความเสียสละและพระเมตตา ก็คือการกระทำของพระสมมติเทวราช ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ที่ช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ แต่สำหรับคนทุกชาติทุกศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก และเอกอุดมกษัตริยาธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ดังในพระนิพนธ์ สามกรุง ของ น.ม.ส. เอกกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า...
“สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้า จุลจอม จักรเอย
นึกพระนามความหอม ห่อหุ้ม
อวลอบกระหลบออม ใจอิ่ม
เพราะพระองค์ทรงอุ้ม โอบเอื้อเหลือหลาย”
เป็นถ้อยคำง่ายๆ ที่งดงามและกินใจ ซึ่งกำลังสะท้อนให้เห็นจากพฤติกรรมทางสังคมของคนไทยทั้งประเทศ ที่แสดงความอาลัยรักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ประหนึ่งใน นิทราชาคริต วรรคที่ว่า “ทวยราษฎร์รักบาทแม้ เยี่ยงด้วยบิตุรงค์”
เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ คนไทยทั้งชาติจึงเป็นกำพร้า...