“...สมัยก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี เราไม่ใคร่ได้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะหน้าที่ของเวียงและวังดีเท่าที่ควร เพราะโบราณสถานทั้งสองประเภทนี้มักก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีความคงทนถาวรน้อย เช่น กำแพงเมืองสร้างด้วยดินและปราสาทราชวังสร้างด้วยเครื่องไม้ ยกเว้นแต่เพียงวัดเท่านั้นที่ก่อสร้างด้วยอิฐหรือศิลาแลงและปูน จึงเหลือเป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองในอดีตได้ดี
“จนกระทั่งสมัยกรุงศรีอยุธยาเราจึงเริ่มเห็น และเข้าใจลักษณะและหน้าที่ที่แท้จริงของเวียง วัง และวัด เพราะเป็นเวลาที่โบราณสถานทั้งสามประเภทก่อสร้างด้วยวัสดุที่คงทนถาวรและเหลือร่องรอยให้ได้เห็นได้ศึกษาในปัจจุบัน และจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมของเวียง วัง และวัดดังกล่าวนี้ ทำให้ได้แลเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาในระยะเวลาต่างๆ ได้เด่นชัด”
ในบทความ “เวียงและวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา” โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 (เมษายน-มิถุนายน 2520) หน้า 67-77 ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงพัฒนาการและความสำคัญของ “เวียง” ที่มีการก่อสร้างกำแพงเมือง ป้อม ประตู คูเมือง และ “วัง” อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นศูนย์กลางการปกครองของบ้านเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแบบแผนและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเวียงและวัง สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและสังคมวัฒนธรรมอีกด้วย
อาจารย์ศรีศักรเสนอว่าการเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพและความซับซ้อนของเวียงวังในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เริ่มเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เห็นได้จากการขยายอาณาเขตพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นภายในบริเวณพระราชวัง ภายหลังสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการสร้าง “วัง” ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากพระราชวังหลวง ได้แก่ วังของพระมหาอุปราชและเจ้าฟ้าองค์สำคัญ วังของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง) อันเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา นอกจากนี้ยังมีพระราชวังที่ใช้สำหรับเป็นสถานที่แปรพระราชฐาน เช่นพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรีสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งคติการสร้างวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นนี้ ได้สืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” คลิกที่ https://www.yumpu.com/nl/document/view/67648020/-3-3