เมืองกาญจน์ : ยุทธศาสตร์สำคัญของภาคตะวันตก

เมืองกาญจน์ : ยุทธศาสตร์สำคัญของภาคตะวันตก

 

เมืองกาญจน์ : ยุทธศาสตร์สำคัญของภาคตะวันตก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิริวรรณ สิรวณิชย์

ภาควิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

กาญจนบุรีเป็นจังหวัดชายแดนตะวันตกของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นหลายด้าน เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ จึงไม่แปลกที่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในพื้นที่ส่วนใหญ่ มักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นเขตยุทธศาสตร์สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ลุ่มน้ำแม่กลอง : กำเนิดและความสำคัญ

แม่น้ำแม่กลองมีต้นกำเนิดจากหุบเขาและที่สูงในเทือกเขาถนนธงชัย-ตะนาวศรี ที่กั้นเขตแดนของประเทศไทยออกจากเมียนมาร์ ต้นกำเนิดของแม่น้ำนี้อยู่ในเขตจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแยกลำน้ำออกเป็น 2 แคว อันได้แก่ “แควใหญ่” เกิดในเขตจังหวัดตาก ไหลผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แม่น้ำศรีสวัสดิ์  “แควน้อย” เกิดในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านอำเภอไทรโยค จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แม่น้ำไทรโยค ทั้งสองแควไหลมารวมกันที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี  กลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่เรียกว่า “แม่น้ำแม่กลอง” ไหลผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ในเขตอำเภอเมือง อำเภอท่าม่วง อำเภอท่าเรือและอำเภอท่ามะกา ก่อนเข้าสู่จังหวัดราชบุรี ในเขตอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธารามและอำเภอเมืองราชบุรี และออกสู่อ่าวไทย ในเขตอำเภอเมืองสมุทรสงคราม [1]

 

หลุมขุดค้นทางโบราณคดีภายในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ริมแม่น้ำแควน้อย 

 

เครื่องมือหินกะเทาะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี  

 

หากย้อนกลับไปในอดีตพบว่าในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลองแห่งนี้พบหลักฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคแรกในจังหวัดกาญจนบุรีเริ่มตั้งแต่ยุคหินเก่า (Paleolithic Period) ราว 10,000 ปีมาแล้ว มีการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานจำพวกเครื่องมือหินกะเทาะ ทำแบบเรียบง่ายตามแหล่งเพิงผาถ้ำต่างๆ และที่ราบใกล้แม่น้ำแควใหญ่และแควน้อย ปัจจุบันในพื้นที่บ้านเก่า บ้านจันเด บ้านทุ่งหวาน ไทรโยค ท่ากระดาน ท่าขนุน เป็นต้น สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุคโลหะ

 

ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ที่พบในหลุมฝังศพ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี  

 

พอเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของกาญจบุรีในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการสร้างบ้านแปงเมืองเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมีปฏิสัมพันธ์ภายในและนอกภูมิภาค แสดงให้เห็นการเดินทางติดต่อและเชื่อมโยงการค้าระดับโลก ดังปรากฏร่องรอยหลักฐานวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งพบในเขตจังหวัดกาญจนบุรีที่สำคัญ ดังเช่นเมืองโบราณพงตึก อำเภอท่ามะกา บ้านวังปะโท่ อำเภอสังขละบุรี และบ้านท่าหวี อำเภอเมืองกาญจนบุรี ที่ขุดพบฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ ซึ่งบรรจุพระพิมพ์โบราณจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปสำริด ระฆังหิน เครื่องประดับ ฯลฯ [2] รวมทั้งแหล่งอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรที่ปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในศาสนาพุทธนิกายมหายาน เช่น อาคารปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลงบนฐานสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นลักษณะศิลปกรรมศิลปะขอมสมัยบายน และยังมีอาคารบรรณาลัย รวมทั้งโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา จารึกอักษรขอม

 

ปราสาทเมืองสิงห์ก่อด้วยศิลาแลง 

 

รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี องค์จำลอง ตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานปราสาทเมืองสิงห์  

 

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 อารยธรรมขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลงในดินแดนประเทศไทย กอปรกับการฟื้นตัวของกลุ่มอำนาจเมืองที่สร้างความสัมพันธ์กับบ้านเมืองต่างๆ โดยรอบ ผ่านระบบเครือญาติและการค้า ที่ปรากฏหลักฐานจารึก ตำนาน งานศิลปกรรมที่พบตามเมืองต่างๆ ผนวกขึ้นเป็นรัฐสุโขทัย อย่างไรก็ดี ไม่พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรในสมัยสุโขทัยที่กล่าวถึงกาญจนบุรี ในขณะที่หลายเมืองถูกกล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1  ดังความว่า “เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทร เป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด....”  ซึ่งสันนิษฐานว่าเมืองกาญจนบุรี อาจยังเป็น
หัวเมืองขนาดย่อมที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับเมืองใกล้เคียงอื่นๆ และยังคงมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อรัฐสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชธานีอยุธยา โดยมีนโยบายสำคัญคือการขยายอำนาจทางการเมืองและต้องการเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ จึงมีนโยบายขยายอำนาจของราชอาณาจักรอยุธยาไปทางทิศตะวันตก คือ หัวเมืองท่าทางฝั่งตะวันตกซึ่งประกอบด้วย ทวาย มะริดและตะนาวศรี จึงส่งผลให้สถานะของหัวเมืองด้านทิศตะวันตก อันได้แก่ เมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี มีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับอาคารพบที่บริเวณปราสาทเมืองสิงห์  

 

กาญจนบุรี: เมืองหน้าด่านทิศตะวันตก

ช่วงเวลานี้เมืองกาญจนบุรี (เมืองเก่า) ที่ตั้งบริเวณเขาชนไก่ ในเขตอำเภอลาดหญ้า มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ที่มีลำตะเพินไหลมาแต่เขตอำเภอบ่อพลอยนั้นเป็นชุมทางการค้าได้ดีกว่าที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังราชบุรีในเขตลุ่มน้ำแม่กลองแล้วยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังอุทัยธานีตามลำแควใหญ่และลำตะเพิน และเดินทางบกจากกรุงศรีอยุธยาผ่านสุพรรณบุรีมายังเขาชนไก่ได้อีกด้วย[3] เห็นได้ว่าพื้นที่เมืองกาญจนบุรีมีความสำคัญในฐานะเมืองด่านด้านตะวันตก มีชายแดนติดต่อกับพม่าโดยมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดนธรรมชาติ ทั้งนี้มีช่องเขาที่เป็นด่านสำคัญ 2 แห่ง ที่ใช้เป็นเส้นทางติดต่อและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ด่านเจดีย์สามองค์ และ ด่านบ้องตี้

 

เมืองกาญจนบุรีเก่า เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่สุดในบรรดากลุ่มเมืองหน้าด้านทิศตะวันตก ความสำคัญของเมืองนี้เป็นผลมาจากปัจจัยด้านตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสุดท้ายก่อนที่กองทัพพม่าจะตีเข้าเมืองสุพรรณบุรีและกรุงศรีอยุธยาต่อไป เมืองกาญจนบุรีเก่าตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่ ในปัจจุบันคือบ้านท่าเสา หมู่ที่ 5 ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี

 

เจดีย์ทรงปรางค์ วัดขุนแผน เมืองกาญจนบุรีเก่า 

 

ข้อมูลในสมุดราชบุรี เรียบเรียงโดยพระยาคทาธรบดี ได้ระบุถึงความสำคัญดังเนื้อความว่า  “...ที่ตั้งเมืองเดิมนี้ย่อมเป็นการเหมาะแก่ทางยุทธศาสตร์ในครั้งกระนั้นเป็นอย่างยิ่ง เหตุด้วยเมื่อพม่ายกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ โดยมุ่งจะไปตีเมืองสุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยาแล้ว จำเป็นต้องเอาชนะกองทัพซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีให้ได้เสียก่อน หากจะหลีกเลี่ยงเลยไปแล้ว จะต้องถูกกองทัพที่เมืองกาญจนบุรีตีตัดหลังและกระหนาบข้าง ดังนี้ท้องที่ในเมืองกาญจน์จึงเกิดเป็นสนามรบมากครั้งมากคราว และจำเป็นที่ฝ่ายพม่าจะต้องยึดเมืองกาญจน์ให้ได้ก่อนเพื่อตั้งเป็นฐานทัพแล้วจึงยกไปตีเมืองสุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยาต่อไป แม้ในคราวที่กองทัพไทยจะไปตีเมืองพม่าก็ต้องไปตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีก่อนเช่นเดียวกัน..”

 

จนกระทั่งในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองกาญจนบุรีลงมาที่ “ปากแพรก” ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง และก่อกำแพงล้อมรอบเมืองปากแพรกเป็นเมืองกาญจนบุรีใหม่ ปากแพรก มีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ เมืองกาญจนบุรีใหม่นี้เริ่มสร้างประมาณวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2374 สำเร็จเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีเศษ  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ระบุถึงการสร้างเมืองกาญจนบุรีว่า “....โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่พระสมุหพระกลาโหมออกไปดูที่สร้างป้อมกำแพงขึ้นที่เมืองกาญจนบุรี เกณฑ์ให้พวกรามัญทำอิฐ ปักหน้าที่ให้เลขเมืองราชบุรี เลขเมืองกาญจนบุรีก่อกำแพง พระยากาญจนบุรีเป็นแม่กองทำเมือง” [5] เห็นได้ว่าการสงครามระหว่างไทยกับพม่า ยุติลงเนื่องจากพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ส่งผลให้หัวเมืองภาคตะวันตก โดยเฉพาะเมืองราชบุรีและเมืองกาญจนบุรีหมดหน้าที่การเป็นหัวเมืองยุทธศาสตร์การสงครามแต่ยังคงทำหน้าที่เป็นเส้นทางการคมนาคม การค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญของลุ่มน้ำแม่กลองอย่างต่อเนื่อง

 

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กำแพงเมืองกาญจบุรีที่ปากแพรก ซึ่งสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 

 

เชิงอรรถ 

[1] ศรีศักร วัลลิโภดม, “ลุ่มน้ำแม่กลอง มีคนยุคหินเป็นบรรพชนคนยุคปัจจุบัน”, ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ “เครือญาติ” มอญลุ่มน้ำแม่กลอง, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2547), 30-32.

[2] กรมศิลปากร, ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๐ จังหวัดกาญจนบุรี, (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2557), 45-47.

[3] ศรีศักร วัลลิโภดม, “ลุ่มน้ำแม่กลอง มีคนยุคหินเป็นบรรพชนคนยุคปัจจุบัน”,52.

[4] สมุดราชบุรี พ.ศ.2468, (พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2468), 74.

[5] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชงพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, (พระนคร: คลังวิทยา, 2504), 121.

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น