การถือศีลอดของมุสลิมเป็นข้อกำหนดตามหลักการทางศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับเรียกว่าศิยาม คือการงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ การร่วมประเวณีระหว่างสามีภรรยา ตลอดจนการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม ในช่วงตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า [1] โดยจะมีการถือตลอดหนึ่งเดือนรอมฎอนหรือที่เรียกว่าเดือนบวช [2] หลังจากถือศีลอดครบเวลาในช่วงตะวันลับขอบฟ้าของแต่ละวันจะมีการละศีลอดมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เรียกว่าแก้บวช มุสลิมมลายูปตานีใช้ว่า “บูกอปอซอ” (เปิดบวช)
อาหารที่ใช้ละศีลอดนั้นถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) บนโลกใบนี้ประกอบขึ้นจากคนหลากหลายชนชาติ ภาษาและวัฒนธรรม ทำให้มุสลิมแต่ละพื้นที่มีอาหารตามแบบท้องถิ่นของตนเอง โดยแบบอย่างของท่านนบี (ซุนนะ) ให้แก้บวชด้วยอินทผาลัมหรือน้ำเปล่า หากใครปฏิบัติถือว่าได้บุญ ไม่ปฏิบัติก็ไม่ถือว่าเป็นบาป ด้วยความสำคัญของมื้ออาหารแก้บวชทำให้บางชุมชนมีการจัดตั้งตลาดที่ขายเฉพาะช่วงเดือนถือศีลอด โดยจะเริ่มขายตั้งแต่ช่วงบ่ายเป็นหลัก เพื่อรองรับคนในชุมชนมาเลือกซื้อไว้รับประทานตอนแก้บวชนั่นเอง
มัสยิดซอลาฮุดดีนหรือสุเหร่าท่าช้าง เปิดไฟสว่างไสวช่วงเดือนบวช
แต่ละคืนนอกจากมีกิจกรรมละศีลอดร่วมกันแล้ว หลังจากละหมาดกลางคืน (วักตูอีชา)
จะมีการละหมาดตารอแวะ (ละหมาดที่มีเฉพาะเดือนบวช) ร่วมกันของคนทั้งชุมชนทุกคืน (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
บรรยากาศภายในโถงมัสยิด ขณะกำลังนั่งขอดูอาร์ (ขอพร) หลังจากละหมาดตะรอแวะเสร็จ
ตะเกียงที่อยู่ภายในซุ้มโค้งคือเครื่องสังเค็ดในงานพระราชพิธีพระบรมศพรัชกาลที่ 9 (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
โรงเลี้ยงอาหารแก้บวชที่มัสยิดซอลาฮุดดีน ท่าช้าง ย่านตลาดแขก โดยมีเจ้าภาพรับผิดชอบค่าอาหารวันละ 4 ท่าน
ตลอดเดือนบวชคนในชุมชนย่านตลาดแขกทุกคนสามารถมารับประทานแก้บวชได้ฟรี (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ย่านตลาดแขก เมืองนครฯ
ผู้เขียนเป็นคนมุสลิมสงขลา ปัจจุบันมาทำงานอยู่ที่นครศรีธรรมราช ปีนี้ (2566) ก็เข้าสู่ปีที่สามแล้ว โดยที่พักและที่ทำงานตั้งอยู่ที่ย่านท่าวังซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจของชาวจีนที่นครศรีธรรมราช และมีพื้นที่ต่อแดนกันเป็นถิ่นฐานของมุสลิมเรียกว่า ตลาดแขก เป็นย่านที่ผู้เขียนคุ้นเคยเป็นอย่างดีทั้งช่วงเวลาปกติและช่วงเดือนบวชเพราะได้ฝากท้องไว้กับที่นี่ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีการปิดถนนย่านตลาดแขกเพื่อขายอาหารในช่วงเดือนบวช
ย่านตลาดแขกเป็นย่านที่มีมุสลิมหลากหลายกลุ่ม ทั้งมลายูเกเดาะห์ (แขกเมืองไทรบุรี) ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ มลายูกลันตัน (กลาแต) มุสลิมจากอินโดนีเซีย และมุสลิมชนชาติจีนที่เข้ามาต่างช่วงเวลากัน ต่างแต่งงานผสมปนเปกันอยู่ในย่านนี้ ด้วยความหลากหลายของมุสลิมหลากเชื้อสายนี้เองทำให้ย่านตลาดแขกมีอาหารและขนมที่หลากหลายวัฒนธรรมทั้งมลายู ชวา อาหรับ และจีน รวมถึงอาหารท้องถิ่นไทยปักษ์ใต้ อาทิ สลัดแขก ซุปยาวา ข้าวหมกอาหรับ ซาลาเปา ข้าวมันแกง แฮกึ้น ขนมจีน อ้วน (ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง) ซัมบูซะ มะตะบะ โรตี ขนมจีนที่กินกับแกงหลายแบบของคนเมืองคอน ไม่ว่าจะเป็นแกงกะทิ น้ำพริก น้ำเคย ผัดผักต่าง ๆ ยำผักกูด ยำชะคราม และแกงส้มที่คนภาคใต้นิยมรับประทาน เช่น แกงส้มปลากระบอก ปลาทับทิม ปลาดุกทะเล ฯลฯ อาหารเหล่านี้บางอย่างทำขายเฉพาะเดือนบวชเท่านั้น
ซุ้มประตูประดับตลาดเฉพาะกิจสำหรับเดือนบวชที่ย่านตลาดแขก ทุกเย็นจะมีการปิดถนน มีร้านรวงต่างๆ มากกว่า 20 ร้าน
ตั้งขายสินค้ากันในเต็นท์หลังคาสีเขียว เริ่มขายประมาณบ่ายสามถึงหกโมงเย็นตลอดเดือนบวช (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ตลอดช่วงเดือนบวชมีการประดับดวงไฟบริเวณสะพานลอยที่ย่านตลาดแขกโดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
หลังละหมาดตารอแวะเสร็จผู้เขียนมักจะแวะมาชมประจำ (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
โต๊ะ (คุณยาย) ขายขนมหรังหน้าเรียบ และเมี่ยงคำ อาหารอีกชนิดที่นิยมรับประทานกัน
ในช่วงเดือนบวชของคนมลายู เมืองนคร ช่วงเวลาปกติโต๊ะก็ทำขายเช่นกัน (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าในย่านตลาดแขก มุสลิมส่วนใหญ่เป็นคนมลายูเกเดาะห์ หรือที่คนไทยผู้นับถือศาสนาพุทธเรียกว่าแขกเมืองไทรบุรี แม้ว่าปัจจุบันที่นี่จะไม่มีคนพูดภาษามลายูแล้ว โดยต่างใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นหลัก และเรียกตนเองว่า “คนแขก” ซึ่งหมายถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม ผู้เขียนพบว่าในช่วงเดือนบวชในชุมชนจะมีการทำขนมมลายูออกมาจำหน่ายด้วย เพราะเป็นขนมที่คนมลายูที่นี่นิยมรับประทานกันในช่วงเดือนนี้ ได้แก่ ตะปงจีหนอ ตะปงกีเซะ ตะปงบูหงอ และตะปงตาหยาบ ขนมทั้ง 4 อย่างนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะยังคงถูกเรียกด้วยภาษามลายูสำเนียงเกเดาะห์ โดยคำว่า “ตะปง” ของคนมลายูที่ตลาดแขกหมายถึงขนม (ในภาษามลายูกลาง คำว่า “Tepung” หมายถึงแป้ง “kuih” หมายถึง ขนม) ขนมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าความเป็นมาของความเป็นมลายู ถือเป็นหลักฐานที่ยังมีลมหายใจเพราะยังคงสืบทอดทำกินทำขายและเรียกด้วยชื่อมลายูมาจนถึงปัจจุบัน
ความคึกคักของตลาด ผู้คนในชุมชนหลากหลายช่วงวัยต่างออกมาจับจ่ายซื้ออาหารและขนมเพื่อแก้บวชเวลาประมาณ 18.32 น.
(ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
สะเต๊ะ อาหารในวัฒนธรรมชาวมลายู มีทั้งสะเต๊ะเนื้อไก่ เนื้อวัว และตับวัว ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อตามความชอบ
รับประทานคู่กับแตงกวาหั่นบางๆ พริกสด และอาจาด (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ข้าวยำซาวในหม้อใบใหญ่สีขาวและขนมซำบูซะ ขนมแป้งทอดไส้เนื้อและไส้ไก่ รับประทานคู่กับอาจาด (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ร้านขายอาหารและขนมหลากหลายชนิด ในภาพจะเห็นถุงใส่ผักนานาชนิดและไข่ต้มตั้งอยู่ใกล้กับคนขาย เรียกว่า สลัดแขก
เป็นอาหารมลายูอีกชนิดที่นิยมกินกันในช่วงเดือนบวช รวมถึงในช่วงเวลาปกติ
ประกอบไปด้วย ผักกาด เต้าหู้ทอด ไข่ต้ม มันเทศทอดกรอบ มะเขือเทศ มีน้ำราดเป็นน้ำแกงกะทิใส่ถั่ว
ซึ่งเป็นอาหารชนิดเดียวกันกับสูตรของมุสลิมสงขลาที่เรียกว่า เปรี้ยวหวานหรือเถ้าคั่ว หรือที่คนนายูเรียกว่า รอเย๊ะ และคนมลายูสตูลเรียกว่า ปัสสะมอส นั่นเอง
มีความใกล้เคียงกับอาหารคนจีนและคนไทยสงขลาที่เรียกว่า เถ้าคั่วหรือเต้าคั่ว แต่ต่างกันที่น้ำราดที่ทำจากน้ำตาลโหนดและใส่หูหมูด้วย (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
เกร็ดความรู้ขนมมลายู 4 ชนิด
(1) ขนมตะปงจีหนอ เมื่อพิจารณาจากชื่อ คำว่า “ตะปง” (Tepung) คือคำมลายูมีความหมายว่าขนม ส่วน “จีหนอ” หมายถึงคนจีน ทั้งนี้คุณซายิดฟาเดล รับไทรทอง ชาวมลายู พูดมลายูเกเดาะห์ บ้านทุ่งจีน ตำบลนาเคียน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า “…ภาษามลายูที่บ้านทุ่งจีนจะเรียกคนจีนว่า โอรัง จีนอ (โอรัง คือคน/ จีนอ คือ จีน)…” ดังนั้นคำว่า จีหนอ ของคนมลายูตลาดเเขกคือการกร่อนเสียงตามสำเนียงไทยถิ่นใต้เเต่เรียกด้วยคำมลายูนั่นเอง ขนมตะปงจีหนอทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาล และกะทิเป็นหลัก ห่อให้มีรูปทรงสีเหลี่ยมผืนผ้า ตัวแป้งใช้แป้งข้าวเจ้ากวนกับกะทิใส่น้ำตาลทราย ภายในมีไส้ทำจากแป้งข้าวเจ้ากวนกับน้ำตาลไม่ใส่กะทิ จากที่ได้กินตอนเเก้บวชพบว่ารสชาติเหมือนกับขนมหางจิ้งจกหรือขนมกรวยเป็นอย่างมาก ต่างกันที่รูปแบบการห่อและขนมกรวยนั้นไม่มีไส้
ขนมตะปงจีหนอ จีหนอหมายถึงคนจีน ตามการเรียกของคนมลายู ผู้เขียนเชื่อว่าคนมลายูมองว่าขนมชนิดนี้มีสีขาว
ซึ่งคนจีนนั้นจะมีผิวขาว จึงนำมาตั้งเป็นชื่อเรียกขนม
เพราะในสังคมคนมลายูหากใครมีผิวขาวจะมีคำเปรียบเทียบว่า ขาวเหมือนลูกคนจีน (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
(2) ขนมตะปงกีเซะ คำว่า “กีเซะ” คือมะพร้าวที่นำไปตากแดดแล้วนำไปคั่ว ภาษาไทยถิ่นใต้บางพื้นที่เรียกว่ามะพร้าวคั่ว คำว่ากีเซะตรงกับภาษามลายูกลางว่า Kerisik นั่นเอง ขนมตะปงกีเซะทำจากแป้งข้าวเหนียว มะพร้าว น้ำตาลและเกลือนำมากวนรวมกัน ตัดให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนและคลุกด้วยผงแป้งข้าวเหนียว ขนมชนิดนี้มีส่วนผสมและรสชาติใกล้เคียงกับขนมที่คนในลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เรียกว่า “ขนมดู” นั่นเอง และพบว่าในวัฒนธรรมมลายูปตานีก็มีขนมที่คล้ายกันนี้เช่นเดียวกัน ผู้เขียนได้ข้อมูลจากกัลยาณมิตรชาวนายู อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) ให้ข้อมูลว่า “…คล้ายขนมแถวบ้านเรียกว่า กือลอเมาะ ฮาบู (กลิ้งฝุ่น) เนื้อจะมีส่วนผสมน้ำตาลแว่น เนื้อมะพร้าว และแป้ง แต่รูปทรงจะเป็นทรงกลม คำว่า กือลอเมาะ แปลว่า คลุกฝุ่นก็ได้ …”
ขนมตะปงกีเซะ 5 ชิ้น ราคาเพียง 10 บาท สำหรับปีนี้มีเรื่องน่าตกใจเกี่ยวกับขนมนี้ที่ผู้เขียนเห็นว่าควรบันทึกไว้
เนื่องจากคนในชุมชนมีการสั่งทำป้ายโลโก้ติดบนกล่องขนม ทางร้านที่ทำให้ฟังพลาด
จากชื่อขนมตะปงกีเซะเพี้ยนเป็น “ขนมกระโปรงอีเซ๊ะ” (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
(3) ตะปงบุหงอ คำว่าบุหงอหมายถึงดอกไม้ ภาษามลายูปตานีเรียกว่า บุงอ และภาษามลายูกลางใช้คำว่า บุหงา (Bunga) ตะปงบุหงอจึงหมายถึงขนมดอกไม้นั่นเอง ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเจ้า ไข่ น้ำตาลทราย และน้ำ ผสมรวมกันให้สามารถปั้นเป็นก้อนได้ แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ กดแป้งให้แบน ชุบด้วยไข่แล้วทอดในน้ำมันร้อนๆ พอสุกตักขึ้นมาตั้งให้สะเด็ดน้ำมัน เวลารับประทานเพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลทราย
ขนมตะปงบุหงอ หรือขนมดอกไม้ เป็นขนมที่มีความหอมของกลิ่นไข่เป็นเอกลักษณ์ (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
(4) ตะปงตาหยาบ หรือขนมตาหยาบ ขนมชนิดนี้ภาษามลายูกลางเรียกว่า “Ketayap” คุณอลงกรณ์ อำมาตย์นิติกุล ชาวมลายูที่บ้านตำมะลัง จังหวัดสตูล ซึ่งสามารถใช้ภาษามลายูถิ่นสตูลได้ดี ทั้งยังสามารถแหลงไทยถิ่นใต้ได้ด้วยให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “…ทางสตูลนั้นมุสลิมที่ใช้ภาษามลายูจะเรียกว่า เกอตายับ (Ketayap) ส่วนกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้นั้นเรียกว่า ตาหยาบ สำหรับเกอตายาบหรือตาหยาบนั้นเป็นชื่อเรียกของหมวกที่ชาวมุสลิมนิยมใส่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา…” สอดคล้องกับข้อมูลจากอาจารย์โรฮาณี ปูเต๊ะ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ข้อมูลว่า “...ขนมเกอตายับ Ketayap คำว่า Ketayap นอกจากเป็นชื่อเฉพาะของขนมเเล้วยังหมายถึง หมวกที่มุสลิมใช้สวมประกอบศาสนกิจที่เรียกว่า กาปีเยาะ...”
ตะปงตาหยาบหรือตาหยาบ ขนมมลายูที่ทำเฉพาะเดือนบวชของคนมลายูที่ตลาดแขก จังหวัดนครศรีธรรมราช (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ขนมตาหยาบ (สีเหลือง) จะสังเกตเห็นว่ามีการทำสัญลักษณ์ไว้บนกล่อง
กล่องที่ไม่มีสัญลักษณ์คือไส้หวาน ส่วนกล่องที่มีสัญลักษณ์คือไส้เค็ม
ร้านนี้ขายกล่องละ 20 บาท ในกล่องมี 3 ชิ้น (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ขนมตาหยาบที่ตลาดแขกมี 2 ไส้ คือไส้หวานกับไส้เค็ม โดยไส้หวานทำจากมะพร้าวผัดกับน้ำตาลทราย (กะฉีก) และไส้เค็มทำจากไก่สับ วุ้นเส้น ผัดกับพริกไทยใส่เกลือ มีรสชาติเผ็ดร้อนและมีความเค็มนำ ส่วนตัวแป้งทำจากแป้งสาลีผสมแป้งข้าวเจ้าห่อเป็นทรงกระบอกมีไส้อยู่ข้างใน ที่นี่จะนิยมทำสีเหลืองเป็นหลัก และมีข้อสังเกตว่าขนมตาหยาบนี้นิยมทำกันมากในกลุ่มมลายูสตูล ในขณะที่พื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาโดยส่วนตัวผู้เขียนยังไม่พบว่ามีการทำขนมชนิดนี้ แต่มีขนมที่ใกล้เคียงกันมาก เช่น ขนมแคงของมุสลิมบ้านควนหัวสะพาน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งแป้งและไส้เหมือนกับขนมตาหยาบ แต่ต่างกันตรงที่ขนมแคงจะมีน้ำกะทิราดด้วย แต่ขนมตาหยาบไม่มี [3]
ข้าวหมกอาหรับเนื้อไก่และเนื้อวัว ของร้านหม่อมเตี๋ยวตุ๋นจะทำขายเฉพาะเดือนบวชเท่านั้น
ช่วงปกติจะขายแต่ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นเพียงอย่าง (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ซุปยาวา อุดมไปด้วยเครื่องเทศหลากหลายตามตำรับชวาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่เกาะแห่งเครื่องเทศ
ร้านหม่อมเตี๋ยวตุ๋นจะทำซุปยาวาขายเฉพาะช่วงเดือนบวชเท่านั้น (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ข้าวยำซาวในกะละมังสีขาว ส่วนที่เห็นกำลังตักใส่กล่องคือข้าวยำน้ำ จากการสำรวจพบว่ามีร้านขายข้าวยำในช่วงเดือนบวชถึง 5 ร้าน
สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเมนูที่ยังคงนิยมรับประทานกันในช่วงเดือนบวชของคนมลายู เมืองนคร ได้เป็นอย่างดี (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ร้านอัสม๊ะ เมนูขึ้นชื่อคือข้าวยำซาวและข้าวยำน้ำ มีของว่างอย่างหัวมันน้ำจิ้ม เจ้าของร้านทำขายเฉพาะเดือนบวชเช่นกัน
ทำจากหัวมันเทศทอดกรอบกินกับน้ำจิ้มรสหวานอมเปรี้ยวใส่พริกสดและหอมแดง (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ซามันไก่ ซามันเป็นคำเรียกแกงมัสมั่นของคนมลายูที่ตลาดแขก มีหลายร้านทำแกงชนิดนี้ออกมาจำหน่าย มีทั้งเนื้อไก่ เนื้อวัว และตับวัว
แต่ละเจ้ามีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากผู้เขียนซื้อครบทุกร้านแล้วจึงรู้ว่ารสชาติแตกต่างกันบ้าง (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ร้านแกงแบบปักษ์ใต้ รสชาติจัดจ้านแบบเครื่องแกงคนนครของแท้ มีทั้งแกงส้ม ผัดเผ็ดไก่ แกงคั่วไก่และแกงเลี้ยงไข่
จากภาพคือกะละมังแรกนับจากทางขวา เป็นแกงผักรวมในกะทิ ใส่วุ้นเส้นและไข่เป็ด
เป็นเมนูที่นิยมทำกันเฉพาะเดือนบวชเช่นกัน เท่าที่สังเกตมีอยู่เพียง 2 ร้านที่ทำขาย (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ยำชีคราม เรียกตามสำเนียงคนตลาดแขก ผักชนิดนี้ภาษาไทยกลางเรียกว่า ชะคราม เป็นพืชที่ขึ้นชายทะเล
ที่ย่านตลาดแขกช่วงเดือนบวชจะมีร้านที่ยำขายเป็นประจำ ปีนี้มี 2 ร้าน ผู้เขียนซื้อมาแก้บวชเกือบทุกวัน
บางวันได้ใบชะครามมาน้อยทางร้านจึงผสมมะม่วงเบาลงไปด้วย (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ร้านอามีน๊ะ สารีบุตร ขายเมนูแบบจีนเพราะมีบรรพบุรุษเป็นคนจีนแต่งงานกับคนมลายู
ได้แก่ กระเพาะปลา แฮกึ้น และขนมกุ้ยช่าย (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ร้านก๊ะสาว สารีบุตร ขายเมนูอาหารสไตล์วัฒนธรรมอีสาน ก๊ะสาวบอกว่านำอาหารของทางอีสานมาดัดแปลง
ช่วงปกติจะขายตอนกลางคืนที่หน้าโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ขายมาเกือบ 30 ปีแล้ว
ส่วนช่วงเดือนบวชมาขายเฉพาะกิจที่ตลาดแขก (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ก๊ะสาว ผู้รังสรรค์เมนูไส้กรอกข้าวที่ดัดแปลงมาจากอาหารในวัฒนธรรมอีสาน (ที่มา: สามารถ สาเร็ม)
ร้านก๊ะมีย๊ะเจ้าเก่าตลาดแขก ร้านนี้มีขนมหวานหลายอย่างทั้งวุ้นสังขยา น้ำพุทรา ทับทิม
แต่ที่เด่นสุดคือหม้อแกง ทำขายเฉพาะเดือนบวชเท่านั้น เป็นขนมหม้อแกงสูตรโบราณของคนมลายูตลาดแขก (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)
สรุป
การถือบวชเป็นข้อกำหนดตามหลักการทางศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องปรับเปลี่ยนเวลาการกินอาหารของมุสลิมชนชาติต่างๆ จะเห็นได้ว่ากรณีชุมชนย่านตลาดแขกนั้นในช่วงเดือนนี้จะมีการรังสรรค์เมนูอาหารและขนมหวานแบบมลายูที่จะทำกันเฉพาะเดือนนี้เท่านั้น เป็นร่องรอยความเป็นมลายูที่ยังคงเด่นชัด ในขณะเดียวกันก็มีอาหารหลากหลายวัฒนธรรมผสมผสานอยู่ด้วย ทั้งจีน อาหรับ อินเดีย อันเป็นผลมาจากการที่บรรพบุรุษแต่งงานกับผู้คนในวัฒนธรรมดังกล่าว นอกจากนี้ยังรวมถึงการรับเอาอาหารของวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนในสอดคล้องกับวิถีอิสลามอีกด้วย
เชิงอรรถ
[1] อ่านเพิ่มเติมใน: https://bit.ly/3KLWWVN
[2] รอมฎอนเป็นชื่อเดือนลำดับที่เก้าตามปฏิทินอาหรับ มุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้จะใช้คำเรียกว่าเดือนบวช ส่วนมุสลิมมลายูปตานีใช้คำเรียกว่า “บูแลปอซอ” ภาษามลายูกลางเรียกว่า “บูลัน ปัวซา” (Bulan Puasa) สำหรับการถือศีลอดนั้นมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เรียกว่าถือบวช มุสลิมมลายูปตานีใช้ว่า “ปอซอ” และภาษามลายูกลางคือ “Puasa” คำเรียกดังกล่าวเป็นการรักษาคติดั้งเดิมที่มีก่อนการนับถือศาสนาอิสลามของมุสลิมมลายูในภูมิภาคอุษาคเนย์เพราะภาษาอาหรับเรียกว่า “ศิยาม”
[3] ขนมแคง ตาหยาบ เกอตาหยาบ เครือญาติที่ใกล้ชิด, ฮุสนา จันทวดี, สามารถ สาเร็ม อ่านเพิ่มเติมใน: https://bit.ly/3nY1ob5