จุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์อโยธยา
แวดวงเสวนา

จุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์อโยธยา

จุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์อโยธยา

โดย ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม

ส่วนหนึ่งในงานเสวนา “อโยธยา : ความสำคัญและอนาคต”

จัดโดย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี

วันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566

ณ ห้องประชุมริมน้ำ ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

 

 

กิจกรรมวันนี้เป็นการพูดคุยถึงจุดกำเนิดและการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองอโยธยาที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นการพัฒนาเส้นทางรถไฟยกระดับที่มีผลกระทบต่อเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้  ในหัวข้อ จุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์อโยธยา ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ได้ทำการสำรวจเมืองโบราณมากมาย และเรียกเมืองเหล่านี้ว่า “เมืองประวัติศาสตร์” เพราะที่เราเรียนทุกวันนี้จะไม่ได้สัมผัสในเชิงพื้นที่เท่าที่ควร สิ่งที่เราเห็นตามเมืองต่างๆ นั้นสามารถพบเรื่องราวของชุมชนที่ยังไม่ได้รับการศึกษา ดังนั้น เราจึงต้องดูร่องรอยหลักฐานต่างๆ ที่สามารถบอกเล่าความเก่าแก่และเรื่องราวของเมืองเหล่านี้ได้ เมืองโบราณโดยมากจะมีตำนานประกอบอยู่ เพราะเป็นเรื่องราวของชุมชน แต่ตำนานก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ดังนั้นเมื่อประกอบเข้ากับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ได้ทำการชำระแล้ว จึงนำมาอธิบายต่อไปว่าเมืองที่เราพบนั้นเป็นเมืองในตำนานหรือเมืองประวัติศาสตร์

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ระหว่างการบรรยายหัวข้อ "จุดเริ่มต้นของการค้นคว้าประวัติศาสตร์อโยธยา" 

(ที่มา : ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์)

 

เมืองอโยธยาเป็นเมืองแรกๆ ที่ได้ทำการศึกษา เพราะในวัยเด็กได้เล่าเรียนอยู่ที่อยุธยาถึง 6 ปี ในเวลานั้น มานิต วัลลิโภดม ผู้เป็นบิดา ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกสำรวจของกรมศิลปากร จึงได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปยังเมืองเก่าต่างๆ จนเกิดความคุ้นเคย  เรารับรู้ว่าฝั่งตรงข้ามของอยุธยา หรือที่มักเรียกว่าฝั่งทางรถไฟ เป็นเมืองเก่าคือเมืองอโยธยา ทั้งเจ้าคุณโบราณ (พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ผู้บุกเบิกการค้นคว้าประวัติศาสตร์อยุธยา) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์บางส่วนคิดว่าเป็นเมืองขอม กระทั่งเราได้ศึกษาจึงพบว่าอยุธยากับอโยธยาเป็นเมืองเดียวกัน มีความต่อเนื่องและไม่ได้ขาดช่วงไป โดยที่ผ่านมาเรามักตัดอโยธยาออกไปจากอยุธยา และมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อโยธยานั้นหมดสิ้นไป แท้จริงแล้วโบราณสถานหลายแห่งรวมทั้งลำน้ำต่างๆ ยังคงอยู่ เสมือนความต่อเนื่องของกรุงเทพฯ-ธนบุรี แต่ที่กลายมาเป็นอยุธยาก็เพราะบ้านเมืองเปลี่ยน เช่นเดียวกับอีกหลายเมือง เช่น เมืองแพรกศรีราชา ซึ่งเป็นเมืองสองฝั่งน้ำเช่นกัน ก็ด้วยเพราะบ้านเมืองขยาย

 

แผนที่ภาพวาดเมืองอโยธยาโดยวารสารเมืองโบราณ 

 

คูขื่อหน้า คูเมืองอโยธยาฝั่งตะวันตก

 

สิ่งที่ได้จากการศึกษาเมืองอโยธยา เราพบว่าเป็นเมืองที่เกิดขึ้นทางฝั่งลำน้ำลพบุรี-ป่าสัก เป็นการตั้งถิ่นฐานในบริเวณลำน้ำป่าสักที่คดโค้ง ใกล้ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า (Old Delta) ลำน้ำป่าสักเมื่อไหลผ่านสระบุรีลงมาได้แตกออกเป็นแพรก แพรกหนึ่งเรียกว่าคลองพระแก้ว ไหลอ้อมไปทางตะวันออก ผ่านบ้านสร้าง วังน้อย ไหลไปเป็นคลองโพธิ์จนสบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกาะพระ อีกแพรกหนึ่งไหลผ่านอำเภอนครหลวง จนมาถึงเกาะเมืองอยุธยา ด้านตะวันตกของลำน้ำป่าสักช่วงนี้จะมีลำน้ำลพบุรีไหลมาจากทางทิศเหนือ ลำน้ำทั้งสองจะมีทางน้ำเชื่อมต่อถึงกัน สะท้อนการใช้เส้นทางน้ำในการคมนาคมเมื่อครั้งอดีต

 

ย่านหัวรอและเกาะลอย อดีตชุมทางการค้าและจุดรวมสายน้ำหลายสาย

 

เจดีย์วัดอโยธยาหรือวัดเดิม

 

เมืองอโยธยาอยู่ในบริเวณที่ลำน้ำป่าสักแพรกที่ 2 ไหลอ้อม ซึ่งเราเรียกบริเวณนี้ว่า “คลองหันตรา” บริเวณดังกล่าวโดยเฉพาะแถบหัวรอ ถือเป็นชุมทางของผู้คนในยุคก่อน นอกจากนี้ยังมีการขุดคูเป็นแนวยาวลงไปจนถึงบริเวณวัดพนัญเชิง เรียกว่า “คูขื่อหน้า” เจตนาให้เป็นทางระบายน้ำด้วยเพราะการมีลำน้ำหลายสายไหลมาสมทบกันบริเวณเหนือหัวรอขึ้นไป อีกประการหนึ่งคือการเป็นคูเมืองอโยธยา แต่เรายังไม่พบหลักฐานว่าขุดขึ้นเมื่อไหร่ ทราบเพียงว่ามีการขุดลอกสายน้ำในสมัยสมเด็จพระมหินทราชาธิราช เพราะฉะนั้น หลักสำคัญของการศึกษาเมืองโบราณต้องดูที่คูน้ำหรือคูเมือง อันเป็นลักษณะเดียวกันกับลำน้ำเจ้าพระยาที่มีการขุดจากปากคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ไปจนถึงคลองบางกอกน้อย เมืองอโยธยามีคูขื่อหน้าอยู่ทางตะวันตก ส่วนทางเหนือจะมีลำน้ำหันตราหรือลำน้ำป่าสักไหลอ้อม ภายในเมืองประกอบด้วยวัดสำคัญ ได้แก่ วัดดุสิตาราม วัดอโยธยา วัดจักรวรรดิ วัดกุฏีดาว วัดสมณโกฎฐาราม เรียงรายเป็นแกนกลาง และเป็นรูปแบบศิลปะอย่างอโยธยา-สุพรรณภูมิ ดังเช่นอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) ให้คำจำกัดความเอาไว้  

 

วัดกุฎีดาว 

 

 

บริเวณปากคลองกระมัง ซึ่งเป็นลำคลองที่ไปสู่ทุ่งอุทัยทางตะวันออก

 

วัดมเหยงค์ ถือเป็นวัดสำคัญแต่อยู่นอกคูเมืองในกลุ่มวัดทางตะวันออกใกล้กับวัดช้างและวัดสีกาสมุด วัดมเหยงค์เป็นวัดเก่ามีการซ่อมสร้างและขยายในสมัยพระเจ้าท้ายสระ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีร่องรอยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จากสุโขทัย ในตำนานมูลศาสนา กล่าวถึงพระภิกษุ 2 รูปจากสุโขทัย เดินทางมาร่ำเรียนพระพุทธศาสนาในอโยธยา ที่นี่จึงน่าจะเป็นแหล่งสอนพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในเวลาต่อมา ด้วยพบเจดีย์ทรงลังกาตั้งอยู่บนฐานช้างรอบแบบสุโขทัยอยู่ จากการศึกษายังพบว่าบริเวณตัวพระราชวังอโยธยาน่าจะเคลื่อนจากบริเวณตอนบนลงสู่ตอนล่าง ด้วยพบพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเล็กมีคูน้ำล้อมรอบ สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระราชวังและอยู่ใกล้กับคลองกระมัง ซึ่งถูกขุดจากคูขื่อหน้าทางตะวันตกไปทางตะวันออกแถบทุ่งอุทัย ท้องทุ่งแถบนี้ปรากฏอยู่ในลิลิตยวนพ่าย ว่าเป็นที่ประสูติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คลองสายนี้จึงน่าจะถูกขุดมานาแล้ว สะท้อนความสำคัญของพื้นที่มาช้านาน ด้วยเป็นย่านชุมชนและอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณ เห็นได้จากการมีเมืองอู่ตะเภา เมืองสมัยทวารวดีที่อำเภอหนองแซง อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไม่ไกลนัก สามารถเดินทางต่อไปยังเมืองโบราณขีดขิน รวมถึงเมืองละโว้หรือลพบุรีได้

 

วัดช้าง

 

เจดีย์ทรงลังกาบนฐานช้างรอบ วัดมเหยงค์

 

ที่น่าสนใจคือในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวถึงการสร้างวัดพนัญเชิงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี อันเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับสุโขทัยในสมัยพระยาลิไท บ่งบอกถึงการมีตัวตนของรัฐเก่าแก่ที่มิได้มีเพียงรัฐเดียวในเวลานั้น สอดคล้องกับจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ว่าเกิดจากการรวมตัวของ “เสียมก๊ก” หรือรัฐสุพรรณภูมิ กับ “หลอฮกก๊ก” หรือรัฐละโว้ ที่น่าจะหมายถึงอโยธยามากกว่าลพบุรี และเมื่อภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยน เมืองอโยธยาจึงได้ขยับขยายมาที่ใหม่ จนกลายมาเป็นอยุธยา

 

ฉนวนทางเดิน วัดมเหยงค์

 

ในกรณีรถไฟยกระดับมีแผนจะผ่านบริเวณเมืองอโยธยานั้น ต้องย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าพื้นที่ส่วนนี้เราไม่ทราบว่าเป็นเมืองสำคัญ จึงได้มีการวางเส้นทางรถไฟผ่านบริเวณอโยธยาด้านตะวันตกใกล้กับคูขื่อหน้า เช่นเดียวกับเมืองนครปฐมที่มีเส้นทางรถไฟผ่านตอนบนของเมืองโบราณ และมีถนนผ่านกลางเมือง อีกเมืองหนึ่งคือลพบุรี มีเส้นทางรถไฟพาดผ่านเช่นเดียวกัน ในกรณีของอโยธยามีความเห็นว่าสามารถให้เส้นทางรถไฟผ่านเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนบริเวณสถานีรถไฟเดิมไม่ควรมีการสร้างอะไรเพิ่มเติม เพราะเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับแนวกำแพงอโยธยา ควรสร้างตัวสถานีใหม่ให้อยู่นอกเมืองออกไป 

 

พื้นที่อโยธยาซึ่งประกอบด้วยบ้านจัดสรร ศูนย์การค้า และบ้านเรือนประชาชนที่กระจายอยู่ ควรมีการจัดระเบียบใหม่ รวมถึงพัฒนาวัดโบราณต่างๆ โดยเฉพาะด้านตะวันออก ได้แก่ วัดมเหยงค์ วัดช้าง วัดสีกาสมุด ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาด้านลังกาวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดมเหยงค์ อันเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลาย เสด็จพระราชดำเนินโดยใช้เส้นทางคลองหันตราเพื่อมาขึ้นท่าและผ่านฉนวนเข้าไปทอดพระกฐินที่วัดมเหยงค์แห่งนี้ ถือเป็นความสำคัญหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในฝั่งอโยธยา  

 

อาคารสถานีรถไฟอยุธยา

 

 เส้นทางรถไฟยกระดับที่กำลังก่อสร้างในเขตอำเภอบางปะอิน มุ่งสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ