ที่นี่... สถานีชุมทางบ้านภาชี

ที่นี่... สถานีชุมทางบ้านภาชี

 

บ้านภาชี มีชื่อปรากฏในบันทึกและวรรณกรรมอย่างชัดเจนเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งในบันทึกและงานวรรณคดีโบราณที่ตกทอดมาจากสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวถึงการเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาท หรือไปไหว้พระพุทธฉายที่สระบุรีนั้นไม่ปรากฏชื่อของบ้านภาชี มีเพียงชื่อบ้านนามเมืองบางแห่งที่ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอภาชีและอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น ใน ปุณโณวาทคำฉันท์[1] ตอนที่กล่าวถึงการเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท ผ่าน “ท่าเจ้าสนุก” ซึ่งเป็นหมู่บ้านในอำเภอท่าเรือ มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นสถานที่บนเส้นทางเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททางชลมารค นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อบ้าน “อรัญญิก ตะเคียนด้วน ศาลาลอย” ซึ่งมีพื้นที่ติดกับอำเภอภาชี  

 

ใน นิราศพระบาท ของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นราวปี  พ.ศ. 2350  และ “บางม่วง” ใน โคลงนิราศพระบาท สำนวนนายจัด เส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างบางกอกกับอยุธยาและเมืองสระบุรีนั้น ส่วนใหญ่ในอดีตใช้เส้นทางเรือเป็นหลักการบรรยายกล่าวถึงชุมชนต่างๆ จึงยังไม่ปรากฏชื่อบ้านภาชี ประจวบกับพื้นที่อำเภอภาชีเกือบทั้งอำเภอนั้น ไม่มีส่วนใดที่ติดกับแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักเลย ส่วนที่อยู่ติดกับแม่น้ำนั้นจะค่อนไปทางพื้นที่ของอำเภอท่าเรือและอำเภอนครหลวงเสียมากกว่า ดังจะเห็นได้ว่าในงานประพันธ์ที่แต่งขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 มิได้กล่าวถึงบ้านภาชีหรือกลุ่มบ้านที่กระจุกตัวอยู่ในเขตบ้านภาชีในปัจจุบัน แต่กลับปรากฏชื่อบ้านนามเมืองของหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงเช่น บ้านอรัญญิก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอภาชี ห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร  หรือ บ้านบางม่วง ซึ่งอยู่ใกล้กับแม่น้ำป่าสักและอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอภาชีเช่นกัน ขยับใกล้เข้ามาอีกนิดคือ บ้านศาลาลอย ที่อยู่ในเขตอำเภอท่าเรือก็ใกล้กับอำเภอภาชีเช่นกัน

 

รถไฟสายสั้นที่วิ่งผ่านสถานีชุมทางบ้านภาชี เป็นพาหนะที่สะดวกและประหยัดที่สุดในการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

ในภาพเห็นวัดภาชีหรือวัดนายี่ซึ่งมีมาก่อนการสร้างสถานีรถไฟ

 

สันนิษฐานได้ว่าช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนแผ่นดินรัชกาลที่ 3 บริเวณที่เป็นบ้านภาชียังไม่มีการอยู่อาศัยเป็นชุมชนตั้งบ้านเรือนหรือสร้างหมู่บ้านถาวร อาจเป็นเพียงทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงม้าที่ใช้ในการศึกสงครามเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา หลังจากที่มีศึกสงครามกับทางฝั่งลาว ได้มีการกวาดต้อนเชลยศึกชาวลาวเวียงจากทางเวียงจันทน์และภาคอีสานเข้ามา ทำให้มีบ้านเรือนของชาวลาวกระจายตัวตั้งถิ่นฐานตั้งแต่อำเภอหนองแซง  จังหวัดสระบุรี เรื่อยมาจนถึงอำเภอท่าเรือและในพื้นที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ยังคงไม่ได้เรียกที่นี่ว่า “ภาชี”

 

ก่อนปีพ.ศ. 2479[2]ทางราชการได้มีการจัดสร้างที่ทำการอำเภอและเรียกว่า “ที่ทำการบ้านภาชี” มีอำนาจการปกครองทั้งหมด 6 ตำบลคือ ตำบลพระแก้วตำบลไผ่ล้อม ตำบลดอนหญ้านาง  ตำบลโคกม่วง ตำบลกระจิวและตำบลหนองน้ำใส ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ได้มีการยกฐานะจากที่ทำการบ้านภาชีขึ้นเป็น “กิ่งอำเภอภาชี” ขึ้นกับอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและในปี พ.ศ. 2496 ได้ยกฐานะขึ้นเป็น “อำเภอภาชี” มีเขตการปกครองครอบคลุม 8 ตำบล โดยเพิ่มตำบลสระโสมและตำบลภาชีเข้ามาด้วย

 

ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คำว่า “ภาชี” แปลว่า ผู้แบ่ง แต่คนที่ภาชีหรือแม้กระทั่งนายสถานีรถไฟภาชีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ภาชี แปลว่า ทางแยก” ซึ่งหากดูจากความหมายของคำ ก็เข้าเค้าว่าจะมีความหมายมาจากความเข้าใจเดียวกันอีกทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับชื่ออำเภอนั้นมีว่า เมื่อเกิดสถานีชุมทางรถไฟขึ้น ชาวบ้านที่เป็นชาวลาวเรียกว่า “ปาซี” ซึ่งในภาษาลาวเวียงแปลว่า ทางแยก แล้วจึงเพี้ยนมาเป็นภาชี[3] ชื่อของ “ภาชี” เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการ เมื่อมีการสร้างสถานีชุมทางรถไฟบ้านภาชี ซึ่งการตัดเส้นทางรถไฟระยะแรกเริ่มจากกรุงเทพฯ มายังอยุธยา มีระยะทาง 71 กิโลเมตร และเมื่อตัดเส้นทางระยะที่ 2 จากอยุธยาผ่านชุมทางบ้านภาชีถึงสถานีแก่งคอยเพิ่มอีก 53 กิโลเมตร และจากสถานีแก่งคอยต่อไปยังสถานีนครราชสีมาอีก 126 กิโลเมตร จึงแล้วเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2443

 

 

ผู้โดยสารจากบ้านภาชีและบริเวณใกล้เคียงมารอขึ้นรถไฟกันแต่เช้า เพื่อมุ่งเข้าตัวเมืองอยุธยาและกรุงเทพฯ

 

ก่อนที่จะริเริ่มสร้างระบบการคมนาคมขนส่งชนิดใหม่ขึ้นมาในสยามนั้น การเดินทางในที่ราบภาคกลางส่วนใหญ่ใช้เส้นทางน้ำ เพราะสามารถเชื่อมต่อกันได้ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของภาค คือนับจากจังหวัดนครสวรรค์ที่เป็นต้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา และจังหวัดชัยนาทที่เป็นต้นทางของแม่น้ำท่าจีนทั้ง ๒ ลำน้ำนี้เป็นต้นน้ำสำคัญของที่ราบลุ่มภาคกลางและจังหวัดในภูมิภาคตะวันตก ส่วนจังหวัดในภาคตะวันออกมีสายน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาชีปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นชาวลาวและบอกเล่าแก่คนนอกอย่างหนักแน่นว่า เป็น ลาวเวียง ซึ่งมีที่มาจากหลายพื้นที่ด้วยกัน จากประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายของพวกเขาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยังคงมีการรบพุ่งระหว่างสยามกับเมืองรายรอบ เช่น ล้านนา เขมร ลาว อยู่นั้นปรากฏ การเคลื่อนย้ายของคนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในฐานะเชลยศึก 3 ครั้งใหญ่[4]ด้วยกัน คือ ครั้งแรก ปีพ.ศ. 2321 สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กลุ่มเชลยครัวลาวเวียงครั้งนี้กระจายตัวอยู่ในจังหวัดสระบุรีลพบุรี และพระนครศรีอยุธยาเพื่อเป็นแรงงานและทหารยามมีศึกสงคราม ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปีพ.ศ. 2334 และปี พ.ศ. 2337 ซึ่งเป็นช่วงที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียงไม่กี่ปีให้ชาวลาวจากสิบสองจุไทและเชียงขวางที่เป็นพวกไททรงดำหรือลาวโซ่ง และไทพวนหรือลาวพวน ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางหัวเมืองฝั่งตะวันตกเพื่อเป็นหน้าด่านกันชนกับพม่า ได้แก่เมืองกาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐมจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ปรากฏว่ามีชุมชนเชื้อสายลาวเวียงเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำป่าสักในเขตอำเภอนครหลวง คือ บ้านสามไถ บ้านต้นโพธิ์ และบ้านไผ่หนอง พวกเขาเป็นกลุ่มช่างฝีมือทั้งช่างทอง ช่างตีเหล็ก ที่อพยพหนีความแห้งแล้งกันดารจากเวียงจันทน์เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 3 ระหว่าง พ.ศ. 2369-2371 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวลาวเวียงถูกกวาดต้อนมาจำนวนมาก ให้กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ราชบุรี นครนายก ลพบุรี ชัยนาท กำแพงเพชร บางพวกอพยพต่อไปแถบจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี สุโขทัย หรือขึ้นไปทางภาคเหนือก็มีขณะเดียวกันมีชาวลาวจากเมืองนครพนมถูกเทครัวให้ไปอยู่ทางหัวเมืองตะวันออก เช่น พนัสนิคม พนมสารคาม ประจันตคามกบินทร์บุรี เป็นต้น ด้วยเหตุจากศึกสงครามนี้เองทำให้มีชาวลาวเวียง ชาวลาวจากสิบสองจุไท เชียงขวาง และชาวลาวจากพื้นที่แถบอีสานกระจายตัวอยู่ทั่วภาคกลางของสยาม  

 

[1]ปุณโณวาทคำฉันท์ แต่งโดย พระมหานาค วัดท่าทราย มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ไม่ปรากฏว่าแต่งขึ้นเมื่อใด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในคราวแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ได้มีการสมโภชพระพุทธบาทเมื่อราวปี พ.ศ. 2293-2310 [2]ข้อมูลจาก WWW.thenartblog.files.wordpress.com [3]จากคำบอกเล่าของนายสถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี และเอกสารของสถานีฯ ซึ่งไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ [4]ข้อมูลจาก www.e-shann.com  

 

ติดตามอ่านบทความ "ที่นี่... สถานีชุมทางบ้านภาชี" โดย เมธินีย์ ชอุ่มผล ได้ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 (ม.ค. - มี.ค. 2560) 


Tags

กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น