การเดินทางของหมอบรัดเลย์สู่... จันทบูร สมัยรัชกาลที่ 3

การเดินทางของหมอบรัดเลย์สู่... จันทบูร สมัยรัชกาลที่ 3

 

หมอบรัดเลย์ หรือนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan B. Bradley) เป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามายังบางกอกในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนา ตลอดจนวิทยาการสมัยใหม่ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางการแพทย์แผนตะวันตกในสยาม รวมไปถึงเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ ด้วยการก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในสยาม

 

“จดหมายเหตุหมอบรัดเลย์” เป็นบันทึกการเดินทางของหมอบรัดเลย์ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ซึ่งพิมพ์จำหน่ายเพียงปีละเล่ม ตั้งแต่ พ.ศ. 2402-2416 และเคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเพียงบางส่วน โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 5 ต่อมา นายป่วน อินทุวงศ์ (หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์) ได้ทำการแปลบันทึกของหมอบรัดเลย์และคนอื่นๆ ที่เขียนขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2378-2379 ถึงแม้ว่าการแปลในครั้งนั้นผู้แปลจะแปลและเรียบเรียงขยายความจากบันทึกต้นฉบับให้ละเอียดขึ้น แต่เป็นการขยายความเพียงบางช่วงเท่านั้น

 

ในบทความ “ข้อสังเกตการเดินทางของหมอบรัดเลย์สู่จันทบูรในสมัยรัชกาลที่ 3” โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ จึงนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองจันทบุรีที่อาจตกหล่นไปจากการแปลครั้งที่ผ่านมา โดยศึกษาเทียบเคียงกับจดหมายเหตุหมอบรัดเลย์ ฉบับ The Missionary Herald, Containing The proceedings at large of the American board of commissioners for foreign missions, with a general view of other benevolent operations. ทำให้ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมเมืองจันทบุรีอยู่ไม่น้อย อาทิ สภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต / อู่ต่อเรือสยามที่ ‘ท่าแฉลบ’ / เรือกำปั่นใบลำแรกของสยาม / ข้อสังเกตเรื่องชุมชนชาวจีนที่บางกะจะและท่าใหม่ เป็นต้น

 

(ที่มาภาพ : http://collection.lib.uwm.edu)

 

ทำความรู้จักเมืองจันทบูรสมัยรัชกาลที่ 3 ในสายตาหมอบลัดเลย์ ผ่านการตั้งข้อสังเกตใหม่ของ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้จากบทความเรื่อง “ข้อสังเกตการเดินทางของหมอบรัดเลย์สู่จันทบูรในสมัยรัชกาลที่ 3” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ 44.2  “ย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า”

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น