สะพานเฉลิมวันชาติ อนุสรณ์ยุคคณะราษฎร

สะพานเฉลิมวันชาติ อนุสรณ์ยุคคณะราษฎร

 

สะพานเฉลิมวันชาติ เป็นสะพานข้ามคลองบางลำพูหรือคลองรอบกรุง เปิดใช้งานเมื่อปีพุทธศักราช 2483 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับถนนประชาธิปไตย ที่ปัจจุบันเชื่อมต่อกับถนนกรุงเกษม ผ่านหน้าวัดตรีทศเทพ มาบรรจบกับถนนพระสุเมรุที่สี่แยกสะพานวันชาติ โดยฝั่งตรงข้ามกันคือถนนดินสอ ซึ่งเชื่อมกับถนนราชดำเนินกลางที่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความสำคัญของสะพานเฉลิมวันชาติและถนนประชาธิปไตยคือ เป็นอนุสรณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยและเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติในยุคคณะราษฎร

 

บริเวณสี่แยกสะพานวันชาติ จุดที่ถนนดินสอกับถนนประชาธิปไตยมาบรรจบกับถนนพระสุเมรุ

 

“วันชาติ” ยุคคณะราษฎร

 

ภายหลังจากที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ต่อมาในปี 2481 เมื่อครั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ถือว่าวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็น วันชาติ  ประกาศมา ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2481 และได้จัดงานเฉลิมฉลองวันชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนอกจากการเฉลิมฉลองวันชาติแล้ว ยังเป็นการฉลองสนธิสัญญาที่ประเทศไทยทำร่วมกับนานาชาติในคราวเดียวกันด้วย

 

ในสุนทรพจน์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงในโอกาสงานเฉลิมฉลองวันชาติและสนธิสัญญาครั้งแรกนั้น มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงความสำคัญของวันชาติในขณะนั้นว่า 

"วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และวันที่ 24 มิถุนายนของปีต่อ ๆ มาทุกปี ตลอดจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2482 นี้ พี่น้องชาวไทยทั้งหลายย่อมกำหนดจดจำได้ดีว่าเป็นวันสำคัญยิ่งของชาติไทยในปรัตยุบันสมัย เพราะวันนั้นเป็นวันที่ประชาชนชาวไทยได้ร่วมแรงร่วมใจสมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เริ่มทำการเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดิน… ฉะนั้นจึงกล่าวได้เต็มปากว่าวันที่ 24 มิถุนายนนั้น เป็นวันมงคลของชาติ… ซึ่งได้เริ่มการปกครองใหม่ในระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายบังคับสูงสุด คือ วันชาติ อันต้องตามมติมหาชน”

 

ตราไปรษณียากรเนื่องในโอกาสงานเฉลิมฉลองวันชาติ จัดพิมพ์เมื่อปี 2482 

เป็นภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม และคำว่า "๒๔ มิถุนายน" อยู่ภายในกรอบรูปคบเพลิงคู่ ภายใต้มีคำว่า "สยาม-SIAM"   

(ที่มา : venusstamps.tarad.com)  

 

ขณะที่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 อันเป็นวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นครั้งแรก ถือเป็นวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมัยนั้นรัฐบาลได้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้น เป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นหลายวันในช่วงที่คาบเกี่ยวกับวันที่ 10 ธันวาคม โดยสถานที่จัดงานในกรุงเทพฯ จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปหลายที่ เช่น ท้องสนามหลวง วังสราญรมย์ สวนอัมพร เขาดินวนา ภายในงานมีซุ้มจัดแสดงผลงานของหน่วยงานราชการและห้างร้านต่างๆ ของเอกชน ตลอดจนการแสดงมหรสพต่างๆ นอกจากนี้ในแต่ละจังหวัดก็มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

 

ป้ายข้อมูลที่ติดตั้งอยู่ที่เชิงสะพานวันชาติ ให้ข้อมูลว่าวันชาติเดิมคือวันที่ 10 ธันวาคมนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 

 

กระทั่งในช่วงทศวรรษ 2490 - 2500 เป็นต้นมา ซึ่งเริ่มมีการฟื้นแนวคิดราชาชาตินิยม ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญที่เชื่อมโยงกับคณะราษฎรก็ค่อยๆ ถูกลดลงจนเบาบาง ขณะที่ภาพจำเรื่องรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญถูกเน้นความสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกับ วันชาติ  ที่เดิมเคยเชื่อมโยงกับคณะราษฎรก็ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเดียวกันนี้ 

 

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ด้วยคณะรัฐมนตรีขณะนั้นเห็นว่าการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายนแต่เดิม มีข้อที่ไม่เหมาะสมบางประการ ทั้งยังมีประชาชนและหนังสือพิมพ์เสนอให้พิจารณาเรื่องนี้หลายครั้ง จึงต้องคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาโดยมีพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยยึดตามขนบของประเทศอื่นๆ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งเดิมก็ถือเป็นวันสำคัญที่ต้องเฉลิมฉลองอยู่ก่อนแล้ว และให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องวันชาติเมื่อ พ.ศ. 2481

 

ปัจจุบันวันชาติของประเทศไทยยังคงเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 9 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9  ประกาศ ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

 

 

ตราไปรษณียากรชุดวันชาติ 5 ธันวาคม 2560 ทำเป็นภาพแผนที่ประเทศไทย พื้นหลังเป็นภาพเงาพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์วีรชนต่างๆ

ถือเป็นตราไปรษณียากรที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันชาติเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ออกชุดแรกมาเมื่อปี 2482

(ที่มา : https://www.thailandpost.co.th/) 

 

อนุสรณ์แห่งประชาธิปไตย

 

“เมื่อฟังรายงานการสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยและสิ่งก่อสร้างร่วมบริเวณนี้ คือ ถนนประชาธิปไตย และสพานเฉลิมวันชาติ พ.ศ. 2483 ประกอบกับที่ได้มาเห็นประจักษ์แก่สายตา ณ ที่นี้ด้วยแล้ว ก็ทำให้บังเกิดความปลาบปลื้มปีติยิ่งนักในการที่ชาติที่รักของเราได้วัตถุที่ระลึกอันมีค่าและวิจิตรงดงาม”  - - จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้” ของกาญจนาคพันธุ์ (สง่า กาญจนาคพันธุ์ หรือขุนวิจิตรมาตรา) ได้บันทึกถึงสภาพแวดล้อมของถนนราชดำเนินกลางในสมัยก่อนการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและตึกแถวริมถนนว่า เดิมริมถนนมีต้นมะฮอกกานีและรั้วต้นพู่ระหงอยู่ตลอดแนว อาคารบ้านเรือนมีเพียงประปรายไม่กี่หลัง ทางฝั่งซ้ายของถนนราชดำเนินตั้งแต่ถนนตะนาวที่สี่แยกคอกวัวเรื่อยมาถึงถนนดินสอ ตรงสี่แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน มีแนวรั้วพู่ระหงยาวตลอด มีซอยแยกเข้าไป 2-3 ซอย มีบ้านเรือนเพียงไม่กี่หลัง และมีที่โล่งว่างสำหรับทิ้งขยะมูลฝอยของเทศบาล

 

อาคารตึกแถวบนถนนราชดำเนินกลาง 

 

กระทั่งในปี พ.ศ. 2482 มีโครงการปรับปรุงถนนราชดำเนินและสร้างตึกแถวขึ้นทั้งสองฝั่ง บริเวณพื้นที่ว่างตรงถนนดินสอถูกใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งย้ายมาจากบริเวณตึกดินที่อยู่อีกฟากหนึ่งของถนนราชดำเนิน และในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นตรงสี่แยกถนนดินสอ มีพิธีวางศิลาฤกษ์โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามในงานฉลองวันชาติ พ.ศ. 2482 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในงานฉลองวันชาติ ปี พ.ศ. 2483

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีพิธีเปิดในงานเฉลิมฉลองวันชาติวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 

 

นอกจากการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเป็นอนุสรณ์แล้ว ในคราวเดียวกันนี้ยังมีโครงการตัดถนนประชาธิปไตยและสะพานเฉลิมวันชาติ ซึ่งแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้งานในปี พ.ศ. 2483 และถือเป็นอนุสรณ์หนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ดังปรากฏในคำกล่าวรายงานการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า การตัดถนนประชาธิปไตยก็เพื่อส่งเสริมการจราจรและปรับปรุงเขตพระนครในบริเวณนี้ให้ถูกสุขลักษณะ สอดคล้องกับโครงการผังเมืองโดยรวมของกรุงเทพมหานคร การตัดถนนดังกล่าวเทศบาลนครกรุงเทพเป็นผู้ดำเนินการ ใช้เวลารวม 65 วัน นับตั้งแต่เริ่มสำรวจจนถึงการติดตั้งเสาไฟฟ้า ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 161,554.32 บาท

 

 

สะพานเฉลิมวันชาติข้ามคลองบางลำพูหรือคลองรอบกรุง 

 

ปัจจุบันย่านสะพานเฉลิมวันชาติเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งจำหน่ายธงต่างๆ ทั้งค้าปลีกและส่งแหล่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ร้านจำหน่ายธงร้านแรกคือ ร้านเสาธงชาติ หรือร้านธงบรรณการ ของหลวงสิทธิบรรณการ (สำเนียง สิทธิสุข) ผู้บุกเบิกเมื่อ พ.ศ. 2486 นับแต่นั้นก็มีร้านจำหน่ายธงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา รวมไปถึงการเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทุกวันนี้นอกจากธงต่างๆ แล้ว ยังมีสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ พระบรมฉายาลักษณ์ ตราสัญลักษณ์ พานพุ่มดอกไม้ เพื่อรองรับโอกาสสำคัญต่างๆ 

 

 

ปัจจุบันย่านสะพานเฉลิมวันชาติเป็นแหล่งจำหน่ายธงชาติและธงสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งค้าปลีกและส่ง

 

แหล่งอ้างอิง

ชาตรี ประกิตนนทการ. ศิลปะ สถาปัตยกรรม คณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.

ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ถือวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติ. เล่ม 55 ตอน 0ง วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2481 หน้า 55.

_____________. ประกาศกระทรวงเศรษฐการ เรื่อง สร้างตราไปรษณียากรวันชาติ. เล่ม 56  ตอน 0ง วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2482 หน้า 578.

_____________. สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงแด่ประชาชนชาวไทยทั้งมวลในอภิลักขิตสมัยแห่งงานเฉลิมฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482. เล่ม 56  ตอน 0ง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 หน้า 811.

______________. รายงานการสร้างอนุสาวรีย์ “ประชาธิปไตย”. เล่ม 57 ตอน 0ง วันที่ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 หน้า 870.

______________. คำกล่าวตอบของ พณฯ นายกรัฐมนตรีในการเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ วันชาติ 2483. เล่ม 57 ตอน 0ง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 หน้า 876.

______________. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย. เล่ม 77 ตอน 43 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 หน้า 1452.

______________. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติ. เล่ม 134 ตอนพิเศษ 44ง วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หน้า 1.

สง่า กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2542.   

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ