คนจีนกับชีวิตไทยๆ ในจิตรกรรม
คลังบทความ

คนจีนกับชีวิตไทยๆ ในจิตรกรรม

 

เรื่องราวในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ประดับอยู่ภายในอุโบสถ วิหาร ตลอดจนอาคารศาสนสถานต่างๆ ของไทยนั้น นอกจากเนื้อเรื่องหลักที่ช่างวาดต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นพุทธประวัติ ชาดก หรือประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จะเห็นว่ามีการสอดแทรกภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านเพื่อเป็นสีสันของเรื่องราว หากมองในมุมของการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม ภาพประกอบเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงสภาพสังคมตลอดจนกลุ่มคนชนชาติต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่อสังคมไทยในอดีต

 

“คนจีน” เป็นกลุ่มชนที่มีความสัมพันธ์กับคนไทยมาช้านาน จากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดสำคัญหลายแห่ง พบว่ามีรูปคนจีนปรากฏอยู่ในฉากเหตุการณ์ต่างๆ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทรงผม เครื่องแต่งกาย และอาชีพ

 

ไพฑูรย์ ทิณพงษ์ และสมพงษ์ ทิมแจ่มใส ได้คัดเลือกภาพชาวจีนในจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจจากวัดสำคัญต่างๆ มานำเสนอในบทความเรื่อง “คนจีนกับชีวิตไทยๆ”ประกอบกับคำบรรยายอย่างออกรสซึ่งเป็นการจินตนาการถึงคนจีนที่ใช้ ชีวิตแบบไทยๆ ในห้วงอดีต มีทั้งหมด 6 ภาพ ดังนี้

 

 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ฉากหนึ่งเป็นภาพขบวนแห่เทพี 4 คน กำลังหาบข้าวไปสู่มณฑลพิธีที่จัดไว้ ขณะที่ชาวบ้านพากันยืนดูขบวนแห่อย่างสนุกสนาน ที่มุมเล็กๆ ของภาพมีรูปชายชาวจีนกำลังนั่งหมดอาลัยตายอยากอยู่โคนต้นไม้ ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายถึงชายชาวจีนผู้นี้ไว้ว่า

 

“น่าสงสารจีนผู้หนึ่ง สวมหมวกกุยเล้ย นั่งซึมเศร้าอย่างทอดอาลัยตายอยากอยู่โคนต้นไม้ หันหลังให้กับภาพอันร่าเริงบันเทิงนั้นเสีย เขาอาจจะขายของจนหมดทุนรอน มิฉะนั้นก็ถูกโกงจากหุ้นส่วน หรือจะเล่นหวย ก. ข. โดยทุ่มไปจนหมดตัว ด้วยหวังว่าคงจะรวยกันเสียที”

 

 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง สมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏภาพชายชาวจีน สวมรองเท้า นุ่งกางเกงแพร ไม่สวมเสื้อ กำลังจูงลูกเดินเล่นที่ตลาดท้ายวัง เข้าใจว่าเป็นเถ้าแก่หรือคหบดี ด้วยราศีบ่งบอกว่าเป็นคนมีเงิน

 

 

 

ภาพคนจีนกำลังเดินหาบของพะรุงพะรัง เผชิญหน้ากับฝูงสุนัขที่พร้อมจะกระโจนเข้าใส่ ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง สมัยรัตนโกสินทร์

 

 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ฉากงานเฉลิมฉลอง มีมหรสพและการละเล่นต่างๆ เช่น ละครนอก ญวนหก ไต่ลวด ในภาพจะเห็นพ่อค้าจีนหาบซาลาเปานึ่งเร่ขาย นุ่งกางเกงขาก๊วย สวมหมวกกุยเล้ย ไม่สวมเสื้อผ้าตามแบบคนไทยสมัยก่อน เพราะอากาศร้อนอบอ้าว

 

 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว จังหวัดน่าน ในฉากเรื่อง “จันทคาธชาดก ตอน เทวธิสังกาลภนวิโยคภัณฑ์” กล่าวถึง จันทคาธใช้ใบยาทิพย์ชุบนางเทวธิสังกาให้กลับฟื้นคืนชีวิต ในภาพมีชายชาวจีนไว้ผมเปียอยู่ร่วมในฉากนี้ด้วย สันนิษฐานว่าอาจเป็นคหบดีหรือหมอยา

 

 

 

“กินนร” ในภาพจิตรกรรมฝาผนังหอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ ฝีมืออาจารย์นาคแห่งสำนักวัดสุวรรณาราม สมัยรัชกาลที่ 1 กินนรเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะพิเศษที่ร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก ในภาพนี้เขียนเป็นรูป “กินนรจีน” คือ ร่างกายท่อนบนเป็นชายชาวจีนไว้ผมเปีย ซึ่งแปลกกว่าที่อื่นๆ

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมานำเสนอ หากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในที่ต่างๆ ลองกวาดสายตามองหาคนจีนที่ซ่อนอยู่ในภาพ อาจพบกับประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากนี้ก็ได้

 

ติดตามอ่านบทความเรื่อง “คนจีนกับชีวิตไทยๆ” โดย ไพฑูรย์ ทิณพงษ์ และ สมพงษ์ ทิมแจ่มใส ได้ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม-กันยายน 2522) หน้า 5-11 อ่านฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/en/document/view/67682806/-5-6

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น