“กะเลิง เป็นชนกลุ่มน้อยพวกหนึ่งในจำนวนหลายเผ่าพันธุ์ที่มีอยู่ในลุ่มน้ำโขงแถบนครพนมและสกลนคร... กะเลิงที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากการศึกษาภาคสนามที่บ้านนายอ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองสกลนครไปตามถนนสายอำเภอนาแก ประมาณ 7 กิโลเมตร ใกล้กับหมู่บ้านนี้มีลำห้วยวังช้างไหลผ่าน และอีกหมู่บ้านหนึ่งคือ หมู่บ้านโพนงาม ซึ่งอยู่ถัดไป”
บทความเรื่อง “กะเลิง” เป็นข้อเขียนของ สุรัตน์ วรางค์รัตน์ นักวิชาการที่มีความสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สกลนคร ตีพิมพ์ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 (สิงหาคม-พฤศจิกายน 2524) หน้า 108-114 เนื้อหาภายในบทความเป็นการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่บ้านนายอ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครเป็นหลัก ในยุคที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงกำลังจะถูกผสมกลมกลืนด้วยวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า เช่น ลาวอีสาน บทความดังกล่าวยังมีการสืบค้นเอกสารที่กล่าวถึงกะเลิงในยุคแรกๆ เช่น ในสมัยมณฑลเทศาภิบาล
จากการสืบค้นและเก็บข้อมูลโดยผู้เขียนนั้น ทำให้ทราบว่าพวกกะเลิงมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่แถบเมืองภูวานากะแด้ง แขวงเมืองภูวดลสว่าง ต่อแดนกับเมืองคำเกิด ใน สปป. ลาว ก่อนจะอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่แถบสกลนครและนครพนม ซึ่งการข้ามมาตั้งถิ่นฐานยังอีสานเกิดขึ้นหลายระลอก โดยเฉพาะช่วงสงครามฮ่อสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้มีชาวกะเลิงอพยพหนีภัยสงครามมาเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่น่าสนใจของบทความนี้คือ การเก็บข้อมูลภาคสนามเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ที่ยังหลงเหลือผู้คนที่สามารถถ่ายทอดเรื่องเล่าของบรรพบุรุษที่ข้ามมาจากฝั่งสปป. ลาว นอกจากนี้ในบทความยังได้อธิบายถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มกะเลิงไว้ด้วย อาทิ การสักตามร่างกาย การนับถือผี เป็นต้น ปัจจุบันชาวกะเลิงยังคงหลงเหลืออยู่จำนวนไม่น้อย และได้มีการฟื้นวัฒนธรรมกะเลิงขึ้นในหลายพื้นที่ ด้วยมีจุดเด่นในเรื่องภาษา ประวัติความเป็นมา และการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์
ติดตามอ่านบทความนี้ฉบับเต็มได้ใน “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิกที่ https://www.yumpu.com/xx/document/view/67695894/-7-3