พลิกหน้าสารบัญ 44.4

พลิกหน้าสารบัญ 44.4

 

วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 44.4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561) “สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านสุไลมาน” ยังคงปักหลักกันที่ภาคใต้ โดยเน้นพื้นที่ศึกษาเก็บข้อมูลกันที่ “สงขลา” เมืองสำคัญที่มีมาแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีชัยภูมิสำคัญอยู่ ณ หัวเขาแดง ทำให้สามารถควบคุมเส้นทางเข้าออกระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลาได้ ตัวเมืองตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาทางทิศเหนือ มีแนวกำแพงป้องกัน 3 ด้าน ทางทิศใต้ใช้เขาแดงเป็นปราการธรรมชาติ มีป้อมปืนเรียงรายโดยรอบถึง 18 ป้อม บริเวณชายหาดมีที่จอดเรือสินค้าและกำบังคลื่นลมได้ดี สงขลาที่หัวเขาแดงจึงเป็นสถานีการค้านานาชาติที่มีความรุ่งเรืองมากในคาบสมุทรภาคใต้ 

 

แต่ความน่าสนใจของเมืองสงขลาในวารสารเมืองโบราณ ๔๔.๔ “สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านสุไลมาน” ไม่ได้มีเพียงเท่านี้... ภายในเล่มยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวิถีวัฒนธรรมของเมืองสงขลาที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ดังต่อไปนี้ 

 

 

“สงขลาหัวเขาแดง เมืองท่านานาชาติแห่งคาบสมุทรภาคใต้”

โดย วิยะดา ทองมิตร

เมืองสงขลาหัวเขาแดงมีพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร หรือราว 625 ไร่ มีขนาดใหญ่กว่าเมืองสทิงพระประมาณ 10 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่าเมืองสงขลาที่บ่อยางซึ่งเป็นตัวเมืองสงขลาในปัจจุบันประมาณ 2 เท่า เมืองสงขลาหัวเขาแดงก่อตั้งขึ้นเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 โดยผู้นำชาวมุสลิม ด้วยสภาพภูมิประเทศตั้งอยู่บริเวณปากน้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาและเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลด้านอ่าวไทย จึงมีความเหมาะสมในการเป็นเมืองท่าและเป็นสถานีการค้าสำคัญที่รองรับผู้คนจากนานาชาติ มีชายหาดกว้าง จอดเรือ หลบลมมรสุมได้ ทั้งยังมีการเมืองการปกครองที่แข็งแกร่ง ที่นี่จึงเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในคาบสมุทรภาคใต้

 

 

“เส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมิ”

โดย ศรีศักร วัลลิโภดม

ตามหาร่องรอยเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทยยุคสุวรรณภูมิ อันเป็นเส้นทางการค้าที่ใช้ติดต่อระหว่างฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งทะเลอ่าวไทย จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุมากมายที่พบ อาทิ เหรียญเงิน ลูกปัด และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ล้วนพบอยู่ตามเส้นทางข้ามคาบสมุทร ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางจากเขาขะเมายี้ ประเทศพม่า มายังเขาสามแก้ว ชุมพร และเส้นทางจากตักโกลา ที่เชื่อว่าอยู่บริเวณวัดคลองท่อม กระบี่ มายังนครศรีธรรมราช เป็นต้น

 

 

“เรื่องเล่าริมเลสาบ”

โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

"ข้าวพื้นเมืองภาคใต้" "เก็บไข่เต่า" "โจรสลัดเกาะนางคำ" "ปั้นหม้อที่สทิงหม้อ" ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เก็บตกจากการลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและเรื่องเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบทะเลสาบสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2542 นับเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในลุ่มทะเลสาบสงขลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในปัจจุบัน

 

 

“ชีวิตในดงโหนดที่สทิงพระ”

โดย อภิญญา นนท์นาท

ตาลโตนดที่ขึ้นเรียงรายเป็นทิวแถว สลับกับท้องทุ่งนา ถือเป็นภูมิทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของคาบสมุทรสทิงพระ การทำนาควบคู่ไปกับการทำน้ำตาลโตนดนั้น เป็นระบบเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยเฉพาะน้ำตาลโตนด หรือที่ในภาษาถิ่นเรียกว่า “น้ำผึ้งโหนด” ถือเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดอย่างหนึ่งของคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งในปัจจุบันยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดอาชีพทำน้ำตาลโตนด แม้จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนานัปการ

 

 

“ระโนดในความเปลี่ยนแปลง”

โดย ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอำเภอระโนด ที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระทางตอนเหนือของจังหวัดสงขลา ในอดีตสัมพันธ์กับ “วิถีโหนด-นา-เล” ทั้งยังเป็นตลาดย่านการค้า ด้วยเพราะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมต่อผู้คนรอบทะเลสาบ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวระโนดที่ต้องปรับตัวตามไปด้วย

 

 

“ตามรอยสมเด็จเจ้าพะโคะ แปลงศรัทธาสู่การท่องเที่ยว”

โดย เมธินีย์ ชอุ่มผล

“สมเด็จเจ้าพะโคะ” หรือ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” พระอริยสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนเมืองสทิงพระ จังหวัดสงขลา เมื่อเกิดความศรัทธาจึงอยากให้ทั้งคนในและคนนอกเกิดความเข้าใจ นำมาสู่โครงการสืบค้นประวัติของหลวงปู่ทวดและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเมื่อพร้อมทั้งข้อมูลและเครือข่ายทำงาน ประกอบด้วยพระสงฆ์ ชาวบ้านและข้าราชการในท้องถิ่น จึงเกิดกระบวนการจัดการที่นำความเชื่อ ความศรัทธาต่อหลวงปู่ทวดมาร้อยเรียงกับตำนาน ผูกเข้ากับสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับประวัติของท่าน มาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายบุญของอำเภอสทิงพระ เป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ใช้ชื่อว่า “ตามรอยหลวงปู่ทวด”

 

 

“คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

โดย สามารถ สาเร็ม

คนมุสลิมแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มักเรียกตัวเองว่า “คนแขก” เรียกคนที่นับถือศาสนาพุทธว่า “คนไทย” และเรียกลูกหลานชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองสงขลาไม่ว่าจะอำเภอไหนๆ ว่า “คนจีน” คำเรียกเหล่านี้อาจจะไม่แปลกหูสำหรับท่านทั่วไป แต่ก็มีภาษาและถ้อยคำที่ถ่ายทอดทางวัฒนธรรมสืบกันมาหลายชั่วคนที่อาจไม่คุ้นหู เช่น มีคำเรียกลำดับญาติพี่น้องที่มีการใช้ทั้งภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษามลายู และภาษาชวา มาผสมผสานกัน นอกจากวัฒนธรรมเรื่องภาษาแล้ว ยังปรากฏหลักฐานการผสมผสานทางวัฒนธรรมแบบอื่นๆ เช่น การทำจาดมูโลด การกินนูหรี การจัดจาดในงานแต่งงาน เป็นต้น นับเป็นวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของ “คนแขก” แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่น่าศึกษาเรียนรู้

 

 

“ทวดหัวเขาแดง : ศรัทธาปลายคาบสมุทร”

โดย เกสรบัว อุบลสรรค์

“ศาลทวดหัวเขาแดง” ตั้งอยู่ตรงช่วงโค้งด้านเหนือสุดของเขาแดง ฟากตะวันตกของปากน้ำสงขลา ด้วยชัยภูมิและตำแหน่งที่ตั้งเช่นนี้ บริเวณที่ตั้งศาลทวดหัวเขาแดงจึงเป็นเสมือน “ด่าน” เข้าออกของนักเดินเรือผู้มาจากแผ่นดินตอนในรอบทะเลสาบสงขลากับบ้านเมืองภายนอกในเขตอ่าวไทยจนถึงดินแดนที่ไกลออกไปทางซีกโลกตะวันออก “ทวดหัวเขาแดง” เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะมีการจัดงานบุญสมโภชเป็นประจำทุกปีแล้ว ทุกครั้งที่ผ่านทาง ชาวบ้านจะบีบแตรรถแทนการแสดงความเคารพต่อทวด ส่วนชาวประมงที่จะออกเรือ เมื่อเรือแล่นถึงโค้งน้ำหน้าศาล ก็มักพากันจุดประทัดเสียงดังสนั่น เชื่อว่าเป็นการบอกกล่าว ขอพร เอาฤกษ์เอาชัยให้เดินทางปลอดภัย และได้ปลากลับมามากๆ

 

 

“หลวงปู่ทวด นักบุญศักดิ์สิทธิ์แห่งคาบสมุทรสทิงพระ”

โดย ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

“หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” คำขยายนามที่บ่งให้รู้ว่าพระภิกษุรูปนี้ มีคุณสมบัติพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดา พระภิกษุรูปนี้เป็นใคร? มีชีวิตอยู่ในสมัยใด? เมื่อบุคคลในตำนานและเรื่องเล่ากลับมีชีวิตอยู่จริงเมื่อกว่า 400 ปีที่แล้ว เหตุใดเรื่องราวของท่านจึงยังมีการเล่าขานสืบต่อมา และสามารถสร้างศรัทธาข้ามกาลเวลาอยู่มิเสื่อมคลาย...

 

 

“หลา”

โดย อภิญญา นนท์นาท

“หลา” เป็นภาษาถิ่นภาคใต้ ใช้เรียก “ศาลา” ซึ่งเป็นอาคารโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากการสำรวจพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ตั้งแต่อำเภอระโนดจนถึงหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พบว่ามี “หลา” อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ศาลากลางหน” หรือศาลาที่พักตามริมทาง มักตั้งอยู่ตามจุดสำคัญ เช่น ปากคลอง ทางเข้าชุมชนหมู่บ้าน ด้านหน้าวัด มัสยิด เป็นต้น ศาลากลางหนบางแห่งถือเป็นโบราณสถานที่มีอายุนับร้อยปีเลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ ยังมีบทความที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น “เรื่องเล่าชาวกรุง : วงเวียนเล็ก” วราห์ โรจนวิภาต / “ศาลพระภูมิคู่บ้าน” เมธินีย์ ชอุ่มผล / “ราชคฤห์ : เมืองและเรื่องราวของราชันย์” อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม / “ผ้านุ่งกับการกำหนดอายุใบเสมาสลักภาพที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี” กฤษฎา นิลพัฒน์ และ “เมืองแกลง ภูมิวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่” วลัยลักษณ์ ทรงศิริ ติดตามทั้งหมดได้ใน วารสารเมืองโบราณ 44.4 “สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านสุไลมาน”

 

 

สนใจสั่งซื้อวารสารเมืองโบราณเล่มใหม่

1. ร้านหนังสือริมขอบฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ร้านเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. โทร 02 622 3510 / E-mail : rimkhobfabooks@gmail.com /

Facebook  https://www.facebook.com/RimkhobfaBookstore

2.  ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113 / E-mail : memberskd@gmail.com / Line ID : 0815835040 / Facebook : ฝ่ายสมาชิก สารคดี-เมืองโบราณ

3.  ทำรายการสั่งซื้อด้วยตนเองผ่านเว็ปไซด์ : ร้านหนังสือออนไลน์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ คลิก http://www.lek-prapaibookstoreonline.com/…/วารสารเมืองโบราณ…

 

รายละเอียดการสมัครสมาชิกหรือต่ออายุสมาชิกวารสารเมืองโบราณ คลิก http://www.muangboranjournal.com/สมัครสมาชิก


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น