พลิกหน้าสารบัญ วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.2

พลิกหน้าสารบัญ วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.2

 

"..พุมเรียงเป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอำเภอไชยา ครอบคลุมพื้นที่บริเวณสันทรายชายฝั่งรอบๆ ปากคลองไชยาและคลองพุมเรียง ที่นี่จึงเป็นแหล่งจอดเรือ ทำการค้ามาแต่โบราณ และเคยเป็นศูนย์กลางของเมืองไชยาในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะตลาดเมืองไชยาซึ่งเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัยและย่านเศรษฐกิจคึกคัก ที่สำคัญเป็นบ้านเกิดของท่านพุทธทาสภิกขุ พระอริยสงฆ์ผู้อุทิศตัวเป็นทาสรับใช้พระพุทธศาสนา.."

 


พบกับหลากหลายบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และชีวิตวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองเก่าที่บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2562) “พุมเรียง เมืองไชยาเก่าและบ้านเกิดท่านพุทธทาส”

 

[1]

“ตลาดพุมเรียง : ตลาดเมืองไชยาเก่า” / อภิญญา นนท์นาท

 

ในอดีตพุมเรียงเป็นศูนย์กลางของเมืองไชยาเก่า บริเวณนี้จึงเจริญขึ้นเป็นย่านตลาดที่มีร้านค้าจำหน่ายสินค้านานาชนิด ดังปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังมีตลาดสดที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนชาวประมงที่พุมเรียงกับท้องถิ่นใกล้เคียงซึ่งเป็นท้องทุ่งนา ต่อมาเมื่อเกิดย่านตลาดใกล้กับสถานีรถไฟไชยาและมีการย้ายที่ว่าการอำเภอไชยาออกไปจากพุมเรียงเมื่อปี พ.ศ. 2478 ทำให้ตลาดพุมเรียงเริ่มซบเซาลง

 

ด้านหน้าของตลาดพุมเรียงในอดีตเมื่อราวปี พ.ศ. 2505 ขึ้นไป (ที่มา : หอจดหมายเหตุท่านพุทธทาส)

 

[2]

"ศรีวิชัยที่ไชยา" / อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

 

การค้นคว้าเรื่องอาณาจักรศรีวิชัยเกิดขึ้นราว 40 ปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นมีข้อเสนอว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา กระทั่งต่อมามีข้อเสนอใหม่ว่า ศูนย์กลางเมืองอาจตั้งอยู่บริเวณเมืองไชยา ที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ดี ให้หลังอีก 20  ปี เกิดแนวคิดใหม่ขึ้น โดยเชื่อว่า ศรีวิชัยเกิดจากการรวมตัวของเมืองทั้งคาบสมุทรและหมู่เกาะ ในลักษณะเป็น "มัณฑละ" หรือสหพันธรัฐ ศูนย์กลางอำนาจจะอยู่ที่ตัวผู้ปกครองเป็นสำคัญ

 

สถูปจำลองหินทรายแดงประดับเครื่องบนของปราสาทวัดแก้ว เป็นของทำขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

[3]

"ไชยา เมืองแห่งชัยชนะบนคาบสมุทรทะเลใต้" / วิยะดา ทองมิตร

 

มีข้อสันนิษฐานว่า 'ไชยา' น่าจะกร่อนมาจากคำว่า 'วิชะยะ' หรือ 'วิชัยยะ' แปลว่า 'ชัยชนะ' หรือ 'ผู้มีชัย' ... ‘ไชยา' เป็นหนึ่งในเมืองโบราณรอบอ่าวบ้านดอนซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญเพราะพื้นที่นี้ตั้งอยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทร เมืองไชยาจึงโดดเด่นและเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองท่า และที่พักสำหรับเรือเดินทะเลนานาชาติที่ผ่านไปมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยมาแล้วเป็นอย่างน้อย

 

พระพุทธรูปหินทรายแดงสกลุช่างไชยาหรือครหิ

 

[4]

"หลากเชื้อชาติของมุสลิมพุมเรียง" / เกสรบัว อุบลสรรค์

 

จากการสัมภาษณ์์คนเก่าคนแก่ ที่ 'บ้านหัวเลน' หมู่บ้านชาวมุสลิมกลุ่มใหญ่ของพุมเรียง พบว่า มุสลิมที่นี่มีหลายกลุ่มที่มา ทั้งกลุ่มที่เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจาก 'มุสลิมสายสุลต่านสุลัยมาน' ซึ่งอพยพจากหัวเขาแดง เมืองสงขลา ตั้งแต่สมัยอยุธยา บ้างเชื่อว่าตระกูลของตนสืบเชื้อสายมาจาก 'มุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย' ที่เข้ามาเพื่อเผยแผ่ศาสนา และบ้างเชื่อว่าบรรพบุรุษสืบเชื้อสายจาก 'มุสลิมปัตตานี' เป็นต้น

 

ทางเดินภายในชุมชนบ้านหัวเลน ไม่ไกลจากสุเหร่าล่าง (ที่มา : ซันมา เหร่าหมัด)

 

[5]

"ท้องนาแห่งทุ่งไชยา" / เมธินีย์ ชอุ่มผล

 

นักประวัติศาสตร์เรียกพื้นที่เมืองไชยาว่า "เขตปลูกข้าวเก่า" ขณะที่คนในพื้นที่เรียกว่า "ทุ่งไชยา" ทุ่งไชยากินพื้นที่ตั้งแต่เขตตำบลเลม็ด ตำบลทุ่ง ตำบลป่าเว ตำบลเวียง และตำบลตลาดไชยา ทุ่งไชยาพื้นที่ราบลุ่มเหมาะกับการเพาะปลูกข้าว เล่าสืบต่อกันมาว่า ข้าวไชยาอร่อยนักหนา แต่เมื่อนโยบายชาตินำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มาใช้ จากทุ่งไชยาก็กลายเป็นสวนปาล์มและสวนยาง จากชาวนาก็กลายเป็นชาวสวน พันธุ์ข้าวที่คุ้นเคยก็ค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป

 

คุณวิฑูรย์ แก้วสอาด หรือตาเคลื้อน หมอขวัญหนึ่งเดียวในบ้านเลม็ดขณะกำลังทำพิธีผูกข้าวก่อนเริ่มเก็บเกี่ยว (ที่มา : คุณสุธรรม ทองแช่ม)

 

[6]

"หลากลูกปัดในพื้นที่สุราษฎร์ธานี" / ศิวะพัฒน์ สวัสดิ์ว่าย

 

เมืองไชยา เมืองเก่าของสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่เมืองโบราณหลายยุคสมัย และยังเป็นเมืองท่าการค้า (Port city) ที่สำคัญของเส้นทางการค้าโบราณ ดังปรากฏว่ามีการค้นพบลูกปัด (Beads) มากมายหลายชนิด ความโดดเด่นของลูกปัดที่ไชยาคือ เป็นลวดลายของลูกปัดเนื้อแก้วทั้งจากการหลอมและแก้วลาย ที่เรียกว่า แก้วโมเสก มีรูปร่างหลากหลาย ส่วนลูกปัดที่พบในแหล่งอื่นๆ ของสุราษฎร์ธานีก็มีความแตกต่างกันออกไป ที่ท่าชนะจะพบลูกปัดเนื้อหิน ที่พุนพินบริเวณเขาศรีวิชัยพบทั้งเนื้อหินและเนื้อแก้ว และที่บ้านท่าข้ามของพุนพินยังพบลูกปัดที่หลากหลายมากขึ้นคือ มีทั้งเนื้อหิน เนื้อแก้วหลอด และเนื้อทองคำ เป็นต้น

 

ลูกปัดแก้วโมเสกมีสีจัดจ้าน ส่วนลูกปัดแก้วทรงมะยมพบหลากสีเช่นเดียวกับลูกปัดตา / สมบัติของคุณจุติมา บูรณวนิช

 

[7]

"เครื่องถ้วยชามยุโรปโบราณที่พบในชุมชนพุมเรียง" / ดร.พรชัย สุจิตต์

 

เครื่องถ้วยชามโบราณที่ผลิตจากยุโรปที่พบอยู่ตามบ้านเรือนในย่านตลาดพุมเรียง ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดที่กลายเป็นของสะสมของคนรุ่นปัจจุบัน มีคำบอกเล่าว่า เครื่องถ้วยชามเหล่านี้เป็นของที่มีพ่อค้านำเข้ามาขายและเป็นที่นิยมเก็บใช้กันในครัวเรือน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะดี น่าสนใจว่าเครื่องถ้วยชามยุโรปเหล่านี้มีแหล่งผลิตอยู่ที่ใด ? และถูกนำเข้ามาที่พุมเรียงตั้งแต่เมื่อไหร่ ?  

 

 

[8]

"วิถีแห่งมวยไชยาในยุคปัจจุบัน" / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

 

มวยไชยา เป็นศาสตร์การต่อสู้ท้องถิ่นแบบมือเปล่า อาศัยชั้นเชิง เข่า ศอก ถือเป็น "อวัยวุธ" สำคัญ มีการทุ่ม-ทับ-จับ-หัก คู่ต่อสู่ แต่ด้วยยุคสมัยที่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ ควบคุมไม่ให้มวยไชยาสามารถออกอาวุธทั้งหมดได้บนเวทีมวย มวยไชยาจึงเริ่มซบเซาลง กระทั่งเกิดกระแสการต่อสู้รูปแบบใหม่ เช่นมวย MMA ที่สามารถออกอาวุธได้หลากหลาย ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งให้มวยไชยาฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

 

การชกมวยหน้าพระที่นั่งราวสมัยรัชกาลที่ 6 (ที่มา : หนังสือมวยไทย)

 

[9]

พระศรีวรวงศ์ : พระเจ้าอาเธอร์แห่งคาบสมุทรไทย / ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

 

ไขตำนานวรวงศ์ ชาดกพื้นเมืองที่นิยมเล่ากันในเขตภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยปรากฏการเล่าชาดกเรื่องนี้ ทั้งในเพลงกล่อมเด็ก "เพลงชาน้อง" ของภาคใต้ และในหนังสือนิราศเขาพัง เนื้อเรื่องในชาดกได้ผูกโยงเข้ากับสถานที่ต่างๆ ในเมืองไชยา และเมืองอื่นๆ รอบอ่าวบ้านดอนด้วย

 

 

[10]

"เรือน ร้าน บ้านเก่า" / อภิญญา นนท์นาท

 

เรือน ร้าน บ้านเก่า นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชาวพุมเรียง สมัยก่อนลักษณะอาคารบ้านเรือนในพุมเรียงมีอยู่ 2 ประเภทคือ เรือนเครื่องผูกกับเรือนฝากระดาน ปัจจุบันเรือนเครื่องผูกแทบไม่มีแล้ว ส่วนเรือนฝากระดานรุ่นเก่ายังคงมีให้เห็นอยู่ไม่น้อย ถึงแม้ว่าบางหลังจะมีการบูรณะซ่อมแซมจนเปลี่ยนไปจากสภาพเดิม แต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

 

"บ้านศรียาภัย" ด้านหน้าเปิดเป็นร้านค้า ด้านหลังเป็นเรือนไทยต่อกันสองหลัง มีชานเรือนเชื่อมตรงกลาง

ที่ประตูเรือนสลักไว้ว่า "เรือนหลังนี้ ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2456" บันทึกภาพเมื่อปี พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

[11]

"โบสถ์โถงในภาคใต้" / อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

 

สมัยก่อนโบสถ์ในภาคใต้ของประเทศไทยมักสร้างเป็นโบสถ์โถง ไม่มีผนังกั้น เพื่อระบายอากาศและให้ลมพัดผ่าน ดังเช่นอาคารโบสถ์หลังเก่าของของวัดจำปา ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ถูกถอนพัทธสีมา กลายเป็นวิหารและบูรณะกั้นฝาผนังทั้ง 4 ด้าน จนไม่เหลือเค้าความเป็นโบสถ์โถงแต่โบราณ คงเหลือเพียงภาพถ่ายเก่าที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน

 

 

นอกจากนี้ยังมีบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจใน "คอลัมน์ปกิณกะ" และ "บทความพิเศษ" อีกหลายเรื่อง เช่น "วังตรอกสาเก" โดย อาจารย์วราห์ โรจนวิภาต "ซอยเท็กซัส ตรอกไทร ตรอกถั่วเกิด" โดยพรพิมล เจริญบุตร และ "พุทธคยา : สระมุจรินทร์กับพญานาคในพุทธภูมิ" โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นต้น

 

ดูสารบัญทั้งหมด คลิก วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.2

 

 

สนใจสั่งซื้อวารสารเมืองโบราณ

1. ร้านหนังสือริมขอบฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. โทร 02 622 3510 / E-mail : rimkhobfabooks@gmail.com / Facebook : RimkhobfaBookstore

2.  ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113 / E-mail : memberskd@gmail.com / Line ID : 0815835040 / Facebook : สารคดี-เมืองโบราณ-นายรอบรู้

3.  ทำรายการสั่งซื้อด้วยตนเองผ่านเว็ปไซด์ : ร้านหนังสือออนไลน์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ คลิก http://www.lek-prapaibookstoreonline.com/…/วารสารเมืองโบราณ…

 

รายละเอียดการสมัครสมาชิก-ต่ออายุสมาชิก คลิก >> www.muangboranjournal.com/สมัครสมาชิก

หรือติดต่อโดยตรงที่ ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด

โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113

E-mail : memberskd@gmail.com

Line ID : 0815835040

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น