เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจัดเสวนาเรื่อง "กำแพงเมืองพริบพรี แผนที่เมืองโบราณ และการขุดค้น" ณ Think Cafe มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวิทยากร ได้แก่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองเพชร นักเขียนประจำสำนักพิมพ์เพชรภูมิ คุณจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชำนาญการ หัวหน้าคณะทำงานขุดตรวจสอบทางโบราณคดี แนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี และอาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมพูดคุยและดำเนินรายการ งานนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน
ผศ.ดร. เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
วงเสวนา "กำแพงเมืองพริบพรี แผนที่เมืองโบราณ และการขุดค้น"
ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และตำนาน สู่แผนที่เมืองโบราณ
อาจารย์ศรีศักรเริ่มต้นด้วยทัศนะต่อเมืองเพชรบุรีว่าเป็นเมืองที่มีชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้จากร่องรอยของกำแพงเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนที่มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมาหลายยุคสมัย ต่างจากเมืองโบราณหลายแห่งในประเทศไทย แผนที่ฉบับเมืองโบราณ ทั้งเมืองพริบพรีและเมืองโบราณแห่งอื่นๆ ที่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณจัดทำขึ้นโดยใช้หลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศ การสำรวจร่องรอยโบราณสถาน หลักฐานทางโบราณคดี การตีความจากตำนานเมือง แล้วนำมาประกอบสร้าง (Reconstruct) เป็นภาพแผนที่เมืองโบราณ ซึ่งจะนำมาสู่การค้นคว้าต่อยอดโดยผู้คนในท้องถิ่น และร่วมกันอภิปรายในวงกว้างเพื่อขยายองค์ความรู้ต่อไป
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
"เจตนาคือจะใช้แผนที่เมืองโบราณมาศึกษาบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของคนเพชรบุรีจะเติมเต็มข้อมูลว่าตรงนี้เรียกอะไร ถามและอธิบายกันได้ เป็นหลักฐานทางสังคม มาที่นี่ดีกว่าไปอยุธยา ซึ่งมีแต่คนเข้ามาอยู่ใหม่ทับซ้อนบนพื้นที่เมืองเก่า เพชรบุรียังมีแบบแผนบ้านช่องเรือนไทยแบบเพชรบุรีที่สืบมาตั้งแต่อยุธยา เพชรบุรีถึงเป็น Living city เห็นเมืองที่มีชีวิตชีวา มีถนนแบบอยุธยาที่ฝรั่งทำไว้ วันนี้ได้เอาผังเมืองมาให้คนเพชรบุรีดู ให้ช่วยกันใส่ข้อมูลให้เต็ม สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยว"
ในการจัดทำแผนที่เมืองโบราณให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลจากตำนาน ซึ่งนักโบราณคดีส่วนใหญ่มักให้ความเห็นว่าตำนานเป็นเรื่องเล่าที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ในทัศนะของอาจารย์ศรีศักรมองว่าตำนานเป็นประวัติศาสตร์สังคมที่ผู้คนในท้องถิ่นสร้างขึ้นเพื่ออธิบายตนเอง เช่นชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในตำนาน เช่น ตำนานท้าวอู่ทอง เมืองเพชรบุรีกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมืองนครศรีธรรมราช ที่ยกกองทัพไปปะทะและเจรจาแบ่งเขตกันที่บริเวณอำเภอทับสะแกและอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน การเรียนรู้จากตำนานเป็นการศึกษาเข้าใจคนในพื้นที่ ต่างจากประวัติศาสตร์ที่เน้นเรื่องการกำหนดอายุสมัยทางประวัติศาสตร์แต่ขาดมุมมองในการเข้าถึงเรื่องราวของคนในพื้นที่
"เมืองมรดกโลก เช่น หลวงพระบางในลาว ฮอยอันในเวียดนาม เน้นการจัดการที่ไม่เอื้ออาทรกับตำนาน เมืองเหล่านี้กลายเป็นตลาดนานาชาติ ที่ไม่มีคนในพื้นที่อยู่อาศัย เมืองในประเทศไทยที่เหลืออยู่ เห็นจะมีแต่เมืองเพชรบุรีและเมืองแพร่ที่ยังเป็นเมืองที่มีชีวิต เมื่อผู้คนมาเที่ยวไปตามถนนหนทางต่างๆ ยังหลงเหลือชื่อและเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้รู้ว่าคนเพชรบุรีเป็นอย่างไร และสิ่งที่ตามมาคือการรู้จักบ้านเมืองตัวเอง"
วารสารเมืองโบราณ ฉบับเมืองพริบพรี ที่จัดทำขึ้นนั้น เลือกสำรวจข้อมูลในพื้นที่บริเวณที่เป็นแนวเขตชายทะเลโบราณ โดยศึกษาผ่านภูมิวัฒนธรรม (Culture landscape) ตั้งแต่นครศรีธรรมราช ลงมาถึงเพชรบุรีและราชบุรี เพื่อทำความเข้าใจสภาพพื้นที่และการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งจะเห็นความเป็นบ้านเมืองตั้งแต่ราชบุรี คูบัว เพชรบุรี ไปถึงทุ่งเศรษฐี ถนนท้าวอู่ทอง ถนนโบราณเลียบชายทะเล ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมก่อนตัดถนนเพชรเกษม ซึ่งมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยทวารวดี ดังปรากฏชื่อถนนท้าวอู่ทองในเมืองเพชรบุรี ซึ่งพ้องกับตำนานท้าวอู่ทอง และเมื่อสำรวจพื้นที่บริเวณอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบแท่งหินซึ่งพ้องกับเรื่องราวการแบ่งเขตเมืองเพชรบุรีกับเมืองนครศรีธรรมราชในตำนาน
สำรวจกำแพงเมืองเพชรบุรีโดยนักวิชาการท้องถิ่น
คุณทวีโรจน์ กล่าวถึงความสำคัญของเพชรบุรีว่าชื่อเมืองเพชรบุรีปรากฏอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา สภาพบ้านเมือง เช่น ภาพประตู กำแพงเมือง ป้อมปราการ และวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตที่สะท้อนผ่านจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างเมืองเพชร เช่นที่วัดมหาธาตุ วัดพลับพลาชัย วัดเกาะแก้วสุทธาราม เป็นต้น ถือเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องราวในตำนาน พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมไปถึงประวัติศาสตร์ชาติ
คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์
คุณทวีโรจน์ยกตัวอย่างที่น่าสนใจว่า "ท่านลองสังเกตภาพเขียนที่เพชรบุรีส่วนใหญ่ถอดเสื้อ นุ่งโสร่งลายตาราง หรือลายหมากรุก ท่านลองย้อนกลับไปดูที่บ้านตัวเอง ถ้าเป็นคนเพชรบุรีจะเห็น ปู่ ตา ลุง พ่อ นุ่งโสร่งกันแบบนี้ บางทีมาถึงพวกเราด้วยซ้ำ ความเคยชินเหล่านี้เรารับอิทธิพลมาจากมลายูหรือไม่ ซึ่งพื้นที่ทางเพชรบุรีนั้นมีสัมพันธภาพกับทางใต้เยอะมาก"
นอกจากนี้คุณทวีโรจน์ยังนำเสนอการสำรวจเมืองเพชรบุรีโดยใช้แผนที่เมืองเพชรบุรีที่เขียนขึ้นโดยคุณบรรหาร พึงใจ หมอยาร้านมหาธาตุโอสถ ในแผนที่ประกอบไปด้วยตำแหน่งกำแพงเมืองโบราณ ประตูเมือง ป้อมปราการ ลำคลอง และวัดร้างที่มีอยู่หลายแห่ง คุณทวีโรจน์ได้นำตำแหน่งของกำแพงเมืองในแผนที่ดังกล่าวมาขยายความเพิ่มเติมข้อมูลที่ตนเองได้ทำการสำรวจและศึกษาไว้ โดยกล่าวถึงกำแพงเมืองเพียงสามด้าน ยกเว้นกำแพงเมืองด้านทิศเหนือที่ยังมีความคิดเห็นแย้งกับข้อมูลจากแผนที่ของคุณบรรหาร มีรายละเอียดดังนี้
แนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก มีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองธรรมชาติ แนวกำแพงเมืองเก่าปัจจุบันคือถนนพานิชเจริญ โดยตำแหน่งของศาลเจ้าเดิมเป็นประตูเมือง แต่เดิมเป็นศาลทรงไทยและมีซากกำแพงเมืองอยู่ทางด้านหน้าศาล ตามประวัติเล่าว่านายเสริม บูรมาน ผู้ใหญ่บ้าน ได้พบพระพุทธรูปไม้ลอยมาตามแม่น้ำ จึงอัญเชิญขึ้นมาแล้วสร้างศาลไว้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ต่อมาถูกปรับเปลี่ยนเป็นศาลเจ้าจีน พื้นที่บริเวณนี้แต่เดิมเคยมีต้นโพธิ์ ชาวบ้านเรียกว่าต้นโพธิ์ประตูเมือง ต่อมาเมื่อมีการสร้างศาลจึงเรียกกันว่าศาลเจ้าต้นโพธิ์ประตูเมือง จนเมื่อเปลี่ยนเป็นศาลเจ้าจีนแล้ว ก็ยังคงตั้งชื่อเป็นภาษาจีนที่มีความหมายถึงศาลเจ้ากำแพงเมืองอันเก่าแก่ด้วย
ถนนจากศาลเจ้าตรงไปยังท่าน้ำที่เรียกว่า ท่าตรง คุณทวีโรจน์สันนิษฐานว่าในอดีตหากเดินทางมายังเมืองเพชรบุรีตามเส้นทางน้ำน่าจะมาขึ้นที่ท่าตรง แล้วเข้าประตูเมืองตรงตำแหน่งต้นโพธิ์ประตูเมืองที่กล่าวถึงนี้ จากนั้นตรงไปจะพบกับวัดลาด ศาลหลักเมืองเพชรบุรี จึงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นศูนย์กลางที่เข้าสู่ใจกลางเมือง ซึ่งบริเวณนี้พบวัดร้างจำนวนมาก เช่น วัดสัตตพันพาน วัดกุฎีดาว วัดวิหารเขียน วัดวัง ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่โรงเรียนและฮวงซุ้ย
แนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้ซึ่งคือถนนท่าหิน แนวกำแพงหน้าวัดป้อมในปัจจุบัน อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองเพชร เคยให้ข้อมูลไว้ว่ามีป้อมเจดีย์และอยู่บริเวณนี้ มีคูเมืองตามแนวกำแพงเรียกว่า คลองวัดเกาะ ซึ่งสัมพันธ์กับพราหมณ์ซึ่งตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้มาแต่โบราณ ไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของวัดพริบพรี มีเสาชิงช้า บริเวณนี้เมื่อเชื่อมโยงกับนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่เป็นคนในตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรและประตูเมืองด้านทิศใต้นี้อาจเป็นประตูไม้ไผ่ตามที่สุนทรภู่รจนาไว้ในนิราศเมืองเพชรก็ได้
แนวกำแพงด้านทิศตะวันออกคือแนวกำแพงด้านเดียวกับที่ทำการขุดตรวจสอบทางโบราณคดีอยู่ในปัจจุบัน มุมกำแพงตรงวัดกุ่มซึ่งเป็นวัดร้างคือเส้นที่เป็นแนวกำแพงเมืองเดิมด้านทิศตะวันออกที่เรียกกันว่าประตูบางจาน ตามแผนที่ระวาง รศ. 128 มีการกล่าวถึงตำแหน่งวัดร้างคือวัดท่าเรือ และระบุว่าเป็นกำแพงเมืองเก่า ประตูบางจานนี้เป็นชื่อที่ปรากฏในพงศาวดารที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระยาละแวกเข้าปล้นเมืองเพชรบุรี ซึ่งคุณทวีโรจน์สันนิษฐานว่าเหตุการณ์พระยาละแวกปล้นเมืองเพชรบุรีนี้มีความเชื่อมโยงกับการพบวัดร้าง กรุพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ในพื้นที่แถบนี้ อาทิ วัดนก วัดนาน้อย พื้นที่วัดนาน้อยร้างไปและได้กลายเป็นที่ทิ้งขยะของเทศบาลในปัจจุบัน ซึ่งโบราณวัตถุจากวัดร้างเหล่านี้สามารถอธิบายพัฒนาการของเมืองเพชรบุรี
กำแพงเมืองพริบพรีและการขุดค้น
คุณจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชำนาญการ ให้ข้อมูลความเป็นมาของโครงการว่าสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรีได้รับการอนุมัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2463 โครงการบูรณะโบราณสถานฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อทำการขุดตรวจสอบทางโบราณคดี แนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี ซึ่งก่อนการขุดตรวจสอบมีข้อมูลเบื้องต้นว่าบริเวณที่คนเพชรบุรีเรียกว่าถนนกำแพงสูงนี้เป็นพื้นที่กำแพงเมืองเพชรบุรีเก่า ขณะที่คุณกรรณิการ์ เปรมใจ นักโบราณคดีชำนาญการ ซึ่งเป็นชาวเมืองเพชรบุรีตรวจพบว่าบริเวณนี้มีการปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและมีการไถพื้นที่เพื่อการฝังกลบขยะ ซึ่งมีการขุดพบอิฐและศิลาแลงกันอยู่เนืองๆ จึงได้เจรจาและขออนุญาตจากดร. จันทิมา บุญวานิช ผู้จัดการมรดกและผู้ดูแลพื้นที่ในการดำเนินโครงการครั้งนี้
คุณจิรนันท์ คอนเซพซิออน
ระยะเวลาดำเนินการขุดค้นตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน - 11 กรกฎาคม 2563 ขณะนี้เสร็จสิ้นกระบวนการทำงานภาคสนาม อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน การวิเคราะห์โบราณวัตถุและหลักฐานทั้งหมด ซึ่งนำข้อมูลบางส่วนมานำเสนอในเวทีเสวนาครั้งนี้ในเบื้องต้น
วิทยากรนำเสนอข้อมูลผ่านภาพถ่ายทางอากาศซึ่งแสดงผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ได้รับคำบอกเล่าจากผู้สูงอายุในพื้นที่ว่ากำแพงด้านตะวันออกเดิมเป็นกำแพงสูงขนาดครึ่งเสาไฟฟ้า มีต้นสะแกขึ้นปกคลุมสองฝั่ง มองเห็นเป็นช่องตรงซึ่งเป็นที่มาของชื่อตำบลช่องสะแกในอำเภอเมืองเพชรบุรี ภายหลังถูกไถปราบเนื่องจากตลาดเมืองเพชรบุรีเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ราวปี พ.ศ. 2492 จึงมีการนำอิฐและดินไปปรับถมพื้นที่ในตลาดและนำอิฐไปใช้ที่สถานสงเคราะห์บ้านกุ่มสะแก
คุณจิรนันท์นำเสนอภาพระหว่างการขุดค้น
คุณจิรนันท์ได้นำข้อมูลการทำงานบางส่วนมาแบ่งปันกับผู้ร่วมเสวนาว่า ในการขุดค้นได้เลือกพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินที่ไม่ถูกรบกวนจากการปรับปรุงพื้นที่มากนัก กำหนดพื้นที่ขุดค้นขนาด 10 x 10 เมตร จัดพิธีบวงสรวงก่อนดำเนินการขุดค้น จากนั้นทำการขุดลอกชั้นทับถมของขยะออกซึ่งหนาเป็นเมตร ลอกชั้นดินพบร่องรอยซากฐานอาคารหนาประมาณ ๑ เมตร มีการปักป้ายเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ และเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการให้คนในพื้นที่ทราบ มีการขุดตรวจสอบแนวอิฐ ขุดตรวจสอบชั้นวัฒนธรรมใต้ดิน ขุดตรวจหาแนวความสัมพันธ์ของสิ่งก่อสร้างที่พบบนผิวดินและใต้ดิน ตรวจสอบเทคนิคการก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลในการดำเนินงานจะปรากฏอยู่ในรายงานทางโบราณคดีทั้งหมด ขณะนี้ต้องทำการปิดหลุมขุดค้นเพื่อรักษาสภาพและกำลังหารือเรื่องการบริหารจัดการแหล่งโบราณคดีและแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ต่อไป สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก "สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี"
ภาพถ่ายมุมสูงโครงการขุดตรวจสอบทางโบราณคดี แนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี
วิทยากรยังเล่าต่อไปอีกว่าระหว่างการทำงานนั้นมีนักวิชาการ กลุ่มบุคคลจากหน่วยงานต่างๆ และชาวเมืองเพชรบุรีที่สนใจเข้าเยี่ยมชมการทำงานอยู่เนืองๆ และจากการพูดคุยพบว่าหากเป็นชาวเมืองเพชรบุรีรุ่นเก่าจะยังพอทราบว่าเคยมีกำแพงสูงอยู่บริเวณนี้ ขณะที่เด็กรุ่นใหม่จะไม่เคยได้ยินข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้นการทำงานขุดตรวจสอบทางโบราณคดีครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างการเรียนรู้ให้คนเพชรบุรีรุ่นใหม่
บทส่งท้ายจากเวทีเสวนา
การเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและช่างและนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองเพชรบุรีเป็นอย่างมาก ช่วงท้ายรายการอาจารย์แสนประเสริฐ ผู้ดำเนินรายการขอให้วิทยากรทุกท่านทิ้งท้ายข้อคิดข้อเสนอแนะและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังเสวนาร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง
บรรยากาศในงานเสวนา
อาจารย์ศรีศักรชวนวิเคราะห์ยุคสมัยจากชั้นวัฒนธรรมใต้ดิน เชื่อมโยงกับผังเมืองเพชรบุรีและความเกี่ยวเนื่องทางวัฒนธรรมกับเมืองท่าชายทะเลอื่นๆ ซึ่งทำให้ขยายขอบเขตการศึกษาออกไปได้อีกมาก คุณทวีโรจน์เน้นย้ำเรื่องการสำรวจพื้นที่ตามลำน้ำคูคลอง วัดร้างต่างๆ ตามแนวคลองออกสู่ทะเล และเสนอว่าการจะต่อยอดเชิงเศรษฐกิจต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนร่วมกันจากทุกภาคส่วนในจังหวัดเพชรบุรี ด้านคุณจิรนันท์ให้ความเห็นว่ากรมศิลปากรยินดีสนับสนุนข้อมูลและการทำงานเชิงวิชาการ ขณะที่การจัดการแหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นไปแล้วนั้นต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ผู้เข้าฟังงานเสวนาร่วมเสนอข้อคิดเห็นและเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีเพชรบุรี
ทางด้านผู้เข้าฟังงานเสวนาได้เพิ่มเติมข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ การศึกษาประวัติศาสตร์เมืองพริบพรีจากแผนที่และโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป ชื่อบ้านนามเมืองจากตำนาน คำบอกเล่า เอกสารทางประวัติศาสตร์ และจากการสำรวจในพื้นที่ ซึ่งทุกท่านสามารถร่วมรับชมรับฟังการเสวนาย้อนหลังได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Muang Boran Journal หรือที่ https://youtu.be/zWBxVQlSH9E