วารสารเมืองโบราณ เล่มใหม่ 44.3 “ไชยบุรี ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง” นอกจากภาพวาดเมืองโบราณไชยบุรีที่สวยสมจริงแล้ว ภายในเล่มยังมีบทความที่น่าสนใจอีกมากมาย หลายเรื่อง ทั้งในกลุ่มคอลัมน์ภูมิวัฒนธรรม ปกิณกะ และบทความพิเศษ อาทิ
“ไชยบุรี : ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง” / วิยะดา ทองมิตร
พัทลุงเป็นดินแดนที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ พัทลุงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาแล้วหลายแห่ง “เมืองไชยบุรี” เป็นเมืองศูนย์กลางหลักแห่งหนึ่งของพัทลุง มีบทบาทเป็นเมืองชายขอบด้านคาบสมุทรมลายู หรือทางใต้ของอยุธยา เป็นศูนย์กลางการปกครองชุมชนต่างๆ บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา เช่น เมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองสงขลา และเมืองปะเหลียน เมืองไชยบุรีมีการสร้างป้อมปราการ และบ้านเมืองขึ้นในหมู่เขา โดยเป็นศูนย์กลางการปกครองของพัทลุงในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2192-2310
“ภูมิวัฒนธรรมการสร้างบ้านแปงเมืองที่ทะเลสาบสงขลา” / ศรีศักร วัลลิโภดม
การตั้งถิ่นฐานของผู้คนรอบทะเลสาบสงขลา ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งฝั่งตะวันตกแถบพัทลุงและตะวันออกในเขตสงขลา ได้มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองสืบมาโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งตะวันออกตั้งแต่ระโนดจนถึงหัวเขาแดง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเกาะอันเกิดจากการทับถมของปะการังและสันทราย ถือเป็นเมืองท่าสำคัญในยุคต้นประวัติศาสตร์ ดังปรากฏร่องรอยหลักฐานต่างๆ ทั้งโบราณวัตถุและโบราณสถานให้เห็นในปัจจุบัน
เศียรพระหินทรายแดงขนาดใหญ่พบที่วัดเขียนบางแก้ว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19
“ชาวจีนที่สี่กั๊ก พัทลุง” / ปรมินทร์ อินทรักษา
“สี่กั๊ก” ศูนย์กลางธุรกิจของเมืองพัทลุงที่มีมาตั้งแต่เริ่มมีรถไฟผ่านตัวเมืองพัทลุง ย่านธุรกิจพัฒนาและเติบโตขึ้นโดยกลุ่มคนจีนซึ่งอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองพัทลุงครั้งแรกที่บางแก้ว และค่อยๆ ขยายมาทำธุรกิจในเมือง นับเป็นฟันเฟืองของการพัฒนาธุรกิจ คนจีนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มทุนที่มีความสำคัญต่อธุรกิจการค้าต่างๆ ในเมือง รวมทั้งทำให้ย่านสี่กั๊กเป็นที่รู้จักของคนพัทลุงจนถึงปัจจุบัน
จุดที่เป็นสี่กั๊ก ถ่ายภาพหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นย่านอาคารพาณิชย์ของชาวจีน
อาคารขวามือแรกเป็นร้านถ่ายรูป “จิตต์ปิ่น” ร้านถ่ายรูปร้านแรกของเมืองพัทลุงที่สี่กั๊ก (ที่มา : ปรมินทร์ อินทรักษา)
“สาคูต้น” ที่บ้านหัวพรุ / อภิญญา นนท์นาท
เรียนรู้วิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่าสาคูของคนบ้านหัวพรุ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่ยังคงเก็บรักษาป่าสาคูผืนใหญ่และมีการใช้ประโยชน์สืบเนื่องมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยเฉพาะการทำ “แป้งสาคูต้น” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการผลิตอาหารที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ
“เรื่องไม่เล็กแห่งทะเลน้อย” / เมธินีย์ ชอุ่มผล
ชีวิตคนพัทลุงในลุ่มน้ำทะเลน้อย ทั้งคนจากคลองลำปำ และคลองปากประ ต่างเติบโตและหาอยู่หากินกับทรัพยากรในทะเลสาบเกือบทุกบ้าน “ยอ” เครื่องมือจับปลาที่มีวิวัฒนาการจากยอขนาดเล็กจนปัจจุบันมีขนาดกว้างถึง 20 เมตร กลายเป็น “ยอยักษ์” ยอยักษ์ในลำคลองต่างๆ และที่อยู่ริมทะเลน้อยกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองพัทลุงไปอย่างมิได้ตั้งใจ แต่ก็แสดงถึงชีวิตของคนกับทะเลได้อย่างลงตัว
“จีนบางแก้ว ฟันเฟืองเศรษฐกิจในตัวเมืองพัทลุง” / สุดารา สุจฉายา
สืบหาตัวตน “จีนบางแก้ว” กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใน อ.บางแก้ว จ.พัทลุง กลุ่มคนจีนผู้มีบทบาทต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการบุกเบิกที่ทำนา สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน ไปจนถึงวางผังเมืองที่บางแก้ว ก่อนจะขยับขยายมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองพัทลุงในสมัยต่อมา
อาคารที่ตั้งบริษัทปากพลที่บ้านควนโหมด ซึ่งขณะถ่ายภาพนี้ได้เลิกบริษัทไปแล้ว และขายให้คนอื่นอยู่อาศัยแทน ก่อนจะรื้อทิ้งไปเมื่อ 2-3 ปีมานี้
“ขุนศรีศรัทธา” ตำนานครูต้นโนราแห่งบ้านท่าแค / เกสรบัว อุบลสรรค์
ขุนศรีศรัทธา ขุนศรัทธา หรือพ่อขุนศรัทธาท่าแค ถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางวัฒนธรรม (Culture Hero) จากตำนานของกลุ่มคนในแวดวงโนรา ซึ่งชุมชนที่นับถือศรัทธาขุนศรีศรัทธาอย่างเข้มข้นจะกระจายตัวอยู่รอบๆ ทะเลสาบสงขลา โดยมีศูนย์กลางความเชื่ออยู่ที่ “บ้านท่าแค” ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแผ่นดินใหญ่ทางฟากตะวันตกของทะเลสาบสงขลา
“ช้างพัทลุงยุคสุดท้าย” / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
พัทลุงเป็นบ้านเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับ "ช้าง" ตั้งแต่ตำนานสร้างบ้านแปงเมือง รวมถึงชื่อพัทลุงที่เชื่อกันว่ามีที่มาจากเสาตะลุงล่ามช้าง และด้วยสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นผืนป่า อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งฝึกช้างป่าเพื่อใช้งานมาทุกยุคสมัย ทุกวันนี้ช้างพัทลุงยังคงมีบทบาทในกิจการสวนยาง แต่ด้วยจำนวนที่ลดน้อยลง ส่งผลต่อความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของช้างรวมถึงอาชีพควาญช้างที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
ช้างถือเป็นทรัพยากรสำคัญของบ้านเมือง ถูกเน้นย้ำความสำคัญและความต้องการมากขึ้นในสมัยมณฑลเทศาภิบาล
ภาพนี้เป็นภาพวาดช้างเมืองนครศรีธรรมราชที่กำลังถูกใช้งาน (ที่มา : หนังสือห้าปีในสยาม)
วิถีชน บนตำนาน ...ตำนานนางเลือดขาวของพัทลุง-นครศรีธรรมราช / ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา
“ตำนานนางเลือดขาว” เป็นตำนานเก่าแก่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ของไทยลงไปถึงแหลมมลายู มีหลายสำนวน เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่มีลักษณะพิเศษเพราะ “นางมีเลือดเป็นสีขาว” จึงถูกเรียกว่า “นางเลือดขาว” อันเป็นลักษณะพิเศษของผู้มีบุญญาธิการ
สร้างบ้าน สร้างเรือน ตอน “เรือนฝากระดาน เมืองพัทลุง” / อภิญญา นนท์นาท
เยี่ยมยลวังเจ้าเมือง และสำรวจบ้านเรือนเก่าตามรายทาง ดูร่องรอยพัฒนาการ “เรือนฝากระดาน” ในลุ่มทะเลสาบสงขลาเมืองพัทลุงที่ปรับเปลี่ยนจากหลังคาทรงจั่วแบบภาคกลาง สู่ความนิยมหลังคาทรงปั้นหยาในสมัยหลัง
ภาพถ่ายเก่าจัดแสดงอยู่ภายในวังเก่าของเจ้าเมืองพัทลุง จะเห็นว่าตัววังเดิมทำเป็นหลังคาทรงจั่ว
มุงกระเบื้องดินเผา ฝาเรือนตีไม้กระดานเรียงซ้อนตามแนวนอนและแนวตั้งแบบฝาสายบัว
ติดตามอ่านบทความเพิ่มเติมได้ใน "วารสารเมืองโบราณ 44.3 : ไชยบุรี ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง"