เส้นทางรถไฟสายแม่กลอง-บ้านแหลม

เส้นทางรถไฟสายแม่กลอง-บ้านแหลม

 

จากบทความ “หลายชีวิตบนเส้นทางสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย” ที่ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับ 43.4 “ธนบุรี : เมืองแห่งลำน้ำคูคลองและย่านสวนใน” ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนบนเส้นทางสายรางเหล็ก ระหว่างสถานีวงเวียนใหญ่ แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี ไปยังเขตชานเมืองฝั่งตะวันตกที่สถานีมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร อย่างไรก็ดี เส้นทางรถไฟฝั่งตะวันตกมิได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่เชื่อมต่อกันคือ เส้นทางรถไฟสายแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ไปยังบ้านแหลม ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่คนละฝั่งลำน้ำกับมหาชัย จากการเดินทางตามเส้นทางรถไฟสายแม่กลอง ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คนและสภาพภูมินิเวศของแต่ละย่านที่แตกต่างกัน  ในโอกาสนี้จึงขอเก็บตกสิ่งละอันพันละน้อย มาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง โดยเริ่มต้นจากต้นสายที่สถานีรถไฟแม่กลองเป็นลำดับแรก

 

ต้นสายรถไฟแม่กลอง

รถไฟสายแม่กลอง เริ่มจากตัวเมืองสมุทรสงครามไปถึงบ้านแหลม ตำบลท่าฉลอม ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำท่าจีนกับตัวเมืองสมุทรสาคร รถไฟสายนี้เปิดใช้งานในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2448 ต่อเนื่องจากรถไฟสายคลองสาน -มหาชัย ซึ่งเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2447 เดิมทีเส้นทางรถไฟสายคลองสาน - มหาชัย เริ่มต้นที่สถานีปากคลองสาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2504 ได้ยุบสถานีปากคลองสาน ไปเริ่มต้นที่สถานีวงเวียนใหญ่

 

รถไฟสายแม่กลองเป็นเส้นทางระยะที่ 2 เชื่อมระหว่างบ้านเมืองบนลุ่มน้ำแม่กลองกับท่าจีน โดยมีระยะทางประมาณ 33.57  กิโลเมตร ประกอบด้วย 15 สถานี ข้ามผ่านพื้นที่อันหลากหลาย ใกล้กับสถานีรถไฟแม่กลองเป็นศูนย์กลางย่านตลาด มีตลาดร่มหุบที่คุ้นหูกันดีในแวดวงนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีร้านค้าทั้งของสดของแห้ง อาหารคาวหวานมากมาย และมีวัดบ้านแหลม(แม่กลอง) หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวแม่กลองและพื้นที่ใกล้เคียง

 

ตลาดร่มหุบริมทางรถไฟ เมื่อขบวนรถเคลื่อนผ่านจะต้องคอยหลบหลีกกัน


หากเดินทางจากสถานีรถไฟแม่กลองในยามเช้า เราจะพบเห็นพ่อค้าแม่ขายเดินทางมาจับจ่ายซื้อของกันในย่านตลาดซึ่งอยู่ติดกันตั้งแต่เวลาย่ำรุ่ง ในส่วนรถไฟจากแม่กลองทั้งขาขึ้นและขาล่อง (ขาไปและขากลับ) จะมีรถไฟดีเซลราง แบบประตูเปิดปิดอัตโนมัติ คาดเขียว-แดง ให้บริการ 3 ขบวนต่อวัน โดยเที่ยวเช้าจะออกจากสถานีแม่กลอง เวลา 06.20 น. ค่าโดยสารก็แสนจะถูก ตกสถานีละ 2 บาทเท่านั้น ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชนด้วยการไม่เก็บค่าโดยสาร เพิ่งจะมาเริ่มเก็บกันใหม่เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมานี้เอง

 

พื้นที่ ผู้คน และสถานีรายทาง
ออกจากสถานีแม่กลองจะต้องผ่านบริเวณตลาดร่มหุบเป็นลำดับแรก ซึ่งแท้จริงแล้วถือเป็นบริเวณที่การรถไฟอนุโลมให้มีการค้าขาย ด้วยเป็นพื้นที่ชุมชนและเชื่อมโยงกับย่านตลาดใหญ่ ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวแม่กลองที่ได้ทำมาค้าขายกันมาอย่างยาวนาน โดยมีการนำเอาของสดต่าง ๆ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา หมู ไก่ ตลอดจนผักสดและผลไม้มาขายกัน  เมื่อรถไฟเคลื่อนผ่าน เหล่าพ่อค้าแม่ขายและลูกค้า ต่างขยับชิดริมทางเพื่อให้พ้นจากขบวนรถไฟ หากอยู่บนขบวนรถ จะสามารถมองเห็นย่านตลาดสดได้ในระยะใกล้ แต่ต้องระวังไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายยื่นออกจากขบวนรถเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นกฎสำคัญของการโดยสารรถไฟอีกด้วย

 

ตลาดร่มหุบตั้งแผงขายกันตั้งแต่ย่ำรุ่ง
 

เมื่อหลุดจากใจกลางเมืองแม่กลอง พบว่าสองฝั่งข้างทางรถไฟที่มีบ้านเรือน ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นนาเกลือแทบทั้งสิ้น บ้างจะเห็นคนกำลังไขน้ำเข้านา บ้างเห็นเป็นกองเกลือพูนสูงเสมอตัวคน ซึ่งสถานีแรกที่จอดคือสถานีบางกระบูน ต่อด้วยสถานีลาดใหญ่ และสถานีเขตเมือง ถือเป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดสมุทรสงครามกับจังหวัดสมุทรสาคร 

 

เมื่อขบวนรถเคลื่อนผ่านใจกลางเมืองสมุทรสงคราม ภูมิทัศน์สองข้างทางจะเป็นนาเกลือ


ต่อมาถึงสถานีบ้านนาโคก เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีวัดและโรงเรียนตั้งอยู่ พบว่าจะมีคนทำงาน นักเรียนนักศึกษาขึ้น-ลงกันที่สถานีแห่งนี้ค่อนข้างมาก ถัดต่อไปเป็นสถานีบ้านนาขวาง ต่อด้วยสถานีบ้านกาหลง ถือเป็นสถานีที่อยู่ในชุมชนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ณ จุดนี้จะพบคนวัยทำงานโดยสารรถไฟเป็นจำนวนมาก

 

ถึงสถานีบ้านกาหลงมีทั้งคนวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษา ขึ้น-ลง เป็นจำนวนมาก

 

จากสถานีบ้านกาหลงเป็นต้นไป พบว่าพื้นที่นาเกลือค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นนากุ้ง และยังพบกองไม้หมอนรถไฟที่ปลดระวางแล้ว วางกองริมเส้นทางยาวกว่าร้อยเมตร สถานีถัดไปคือ สถานีบางโทรัดและสถานีบ้านบ่อ ถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ด้วยอยู่ใกล้กับชุมทางสายน้ำ คือคลองสุนัขหอน คลองบางยี่พระ คลองบางขุด และคลองบางยี่พาด

 

จากสถานีบ้านกาหลงเป็นต้นไป สองข้างทางมีการทำนากุ้งกันมาก

 

ไม้หมอนเก่าที่ปลดระวางถูกแทนที่ด้วยหมอนคอนกรีตเสริมเหล็กยุคใหม่


สถานีถัดไปคือ สถานีบางกระเจ้า สถานีบางสีคต และสถานีคลองนกเล็ก ซึ่งตลอดสองข้างทางพบว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีป่าจากแซมด้วยมะพร้าวเป็นจำนวนมาก สถานีถัดไปคือ สถานีบ้านชีผ้าขาว และสถานีท่าฉลอม ถือเป็นเขตเมือง มีการทำบ่อกุ้งกุลา ตึกรามบ้านช่องหนาแน่น รวมถึงเป็นท่าเรือสินค้าขนาดใหญ่ โดยมีวัดช่องลม หรือวัดสุทธิวาตวราราม เป็นวัดสำคัญของย่าน

 

เริ่มเข้าเขตเมืองตำบลท่าฉลอม สุดพื้นที่บ่อกุ้งจะเป็นบ้านเรือน โรงงาน และท่าเรือ

 

จุดหมายปลายทางของรถไฟขบวนนี้อยู่ที่สถานีบ้านแหลม ซึ่งเป็นเขตชุมชนหนาแน่นอีกแห่งหนึ่ง มีวัดแหลมสุวรรณาราม เป็นศูนย์กลางของชุมชน สำหรับผู้โดยสารที่จะข้ามแม่น้ำท่าจีนไปยังฝั่งตัวเมืองมหาชัย จะต้องลงที่สถานีปลายทางแห่งนี้ แล้วเดินผ่านวัดแหลมสุวรรณารามไปยังท่าเรือข้ามฟากหรือท่าเรือท่าฉลอม ตลอดระยะทางราว 300 เมตรนี้ จะต้องผ่านบ้านเรือนและร้านค้าของทะเลแห้งมากมาย เช่น ปลาหมึก กุ้ง ปลาอินทรี และสินค้าอื่น ๆ อีกหลายอย่าง จากนั้นเดินเข้า “ถนนถวาย” หรือซอยท่าเรือ เพื่อไปรอเรือข้ามฟากสีเขียวคาดขาวขนาดใหญ่ที่บรรทุกรถจักรยานยนต์และผู้โดยสารได้จำนวนมาก เพื่อข้ามไปยังฝั่งตัวเมืองมหาชัย

 

อาหารทะเลมีจำหน่ายตลอดสองข้างทางของ "ถนนถวาย" 

 

เรือข้ามฟากที่ท่าฉลอมเป็นเรือขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกได้ทั้งผู้โดยสาร สินค้า และรถจักรยานยนต์

 

ตลาดมหาชัยถือเป็นแหล่งค้าอาหารทะเลขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง มีทั้งพ่อค้ารายย่อยและรายใหญ่ นำสินค้าสดใหม่มาวางขายกันเต็มสองข้างทาง ใกล้กันนี้ยังเป็นศูนย์รวมของรถโดยสารประจำทาง จากมหาชัยไปยังอำเภอต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นต้นทางสถานีรถไฟสายมหาชัย ซึ่งไปสิ้นสุดที่สถานีวงเวียนใหญ่ อันเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ 

 

 

ตลาดมหาชัยถือเป็นแหล่งค้าอาหารทะเลที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำท่าจีนและปริมณฑล

 

ผู้คนกำลังรอต่อรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่

 

เมื่อรถไฟจอดเทียบที่สถานี ผู้ที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จะทยอยเดินขึ้นขบวนรถเพื่อจับจองที่นั่ง เป็นภาพที่คุ้นชินในทุกค่ำเช้า 

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ