โบราณสถานร้างบนเขาพระพุทธบาท สระบุรี

โบราณสถานร้างบนเขาพระพุทธบาท สระบุรี

 

วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับตำนานพระพุทธบาทในคัมภีร์ปุณโณวาทสูตร กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเขาสัจพันธบรรพต ซึ่งคนไทยนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเชื่อว่าพระองค์ได้ประทับรอยพระบาทเอาไว้และเป็นรอยเดียวกับที่ปรากฏอยู่บนเขาพระพุทธบาท สระบุรี ที่ผ่านมามีพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์หลายพระองค์เดินทางมาทำนุบำรุง รวมถึงเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลต่างเดินทางมาสักการะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ในฐานะพุทธสถานสำคัญของสยาม

 

วัดพระพุทธบาท ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเชิงเขาพระพุทธบาท

 

เขาพระพุทธบาท วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ในบริเวณกึ่งกลางของภูเขา พบกลุ่มโบราณสถานเก่าแก่

 

อาณาบริเวณของวัดพระพุทธบาท อันมีมณฑปครอบรอยพระบาทเบื้องซ้ายซึ่งเป็นประธานของวัด ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเชิงเขาพระพุทธบาท เขาหินปูนขนาดย่อมที่ทอดตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือถึงตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวราว 800 เมตร และมียอดเขาสูงสุดราว 113 เมตร บริเวณตอนกลางค่อนมาทางตอนล่างของเขา จากชานมณฑปพระพุทธบาทมีบันไดที่สามารถเดินขึ้นไปสู่ด้านบน ซึ่งมีอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กและถ้ำที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังมีเส้นทางธรรมชาติที่สามารถเดินลัดเลาะยอดเขาสูงไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นทางที่แวดล้อมด้วยป่าไผ่และร่องรอยของเศษอิฐปูน ที่ค่อยๆ ลาดเทลงไปยังชั้นพักที่อยู่กึ่งกลางของภูเขา บริเวณดังกล่าวสามารถพบกลุ่มโบราณสถานร้างอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างภายหลังจากเพจ “ตามรอยวัดเก่าลุ่มน้ำลพบุรี” เดินทางมาสำรวจและเผยแพร่ออกไปตามสื่อออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีรายละเอียดของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ดังนี้

 

อาคารโบราณ วางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก 

 

ฐานเสาทางด้านหน้าของตัวอาคาร บ่งบอกว่าในอดีตเคยมีพาไล

 

ชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาพบอยู่โดยทั่วไปในบริเวณโดยรอบ

 

อาคารก่ออิฐถือปูน วางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ขนาด 4 ห้อง (ช่วงเสา) มีหน้าต่างอยู่ด้านทิศเหนือและใต้ฝั่งละ 1 บาน นอกจากนี้ยังมีเสาหลอกอยู่ตามมุมและระหว่างผนังซึ่งเป็นตัวแบ่งห้องและบ่งบอกถึงการเป็นอาคารที่ใช้ผนังรับน้ำหนัก ทางด้านทิศตะวันตกมีประตู 2 บาน ส่วนตะวันออกมีประตู 1 บาน รวมถึงพบร่องรอยของการก่อพื้นอยู่ด้านหน้ารวมถึงฐานเสาซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าแต่เดิมเคยมีพาไลปรากฏอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง โดยรอบตัวอาคารยังพบเศษกระเบื้องกาบกล้วยแบบเก่าและกระเบื้องหางแหลมแบบยุคหลัง ด้านหน้าอาคารฝั่งตะวันออกมีร่องรอยของหลุมซึ่งคงเคยถูกขุดหาสมบัติ สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจเคยมีสถูปเจดีย์มาก่อน นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายลูกนิมิตที่ใช้หินธรรมชาติมาเป็นตัวบอกเขต แต่เท่าที่พบยังไม่ครบทุกมุมโดยรอบของอาคาร จึงยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าอาคารหลังนี้เป็นอุโบสถหรือวิหาร

 

 

ด้านหน้าอาคารฝั่งตะวันออกมีร่องรอยของหลุมซึ่งคงเคยถูกขุดหาสมบัติ

 

กองหินขนาดใหญ่ที่นำมาถมไว้ที่บริเวณส่วนฐานของเจดีย์

 

การวางอิฐลักษณะคล้ายองค์ประกอบของเจดีย์แบบย่อมุม

 

ฐานเจดีย์ย่อมุม อยู่ทางด้านตะวันออกไม่ไกลจากตัวอาคารในตำแหน่งซึ่งเป็นเชิงผา มีร่องรอยการเสริมก้อนหินขนาดใหญ่ให้ส่วนฐานของเจดีย์สูงขึ้น ในส่วนนี้สามารถสังเกตเห็นฐานสิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นฟันปลา แต่เดิมอาจเป็นฐานเจดีย์ย่อมุมที่มีความนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ใกล้กันยังเป็นทางลาดลงไปชั้นพักอีกจุดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏขั้นบันไดแต่อย่างใด

 

หอระฆังโบราณที่พบในกลุ่มโบราณสถานร้างบนเขาพระพุทธบาท 

 

หอระฆังวัดสะพานเกลือ เกาะลอย อยุธยา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่พบบนเขาพระพุทธบาท 

 

หอระฆัง อยู่บริเวณชั้นพักที่ต่ำลงมา มีลักษณะเป็นทรงเหลี่ยมซ้อนชั้นลดหลั่นตามความสูง มีทั้งหมดราว 4 ชั้น ส่วนฐานล่างมีปูนปั้นลักษณะอย่างบัวลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นไปชั้นที่ 1 แต่ละด้านทำเป็นซุ้มยอดโค้งแหลม เป็นเพียงช่องตื้นๆ ก่อทึบ ไม่ปรากฏร่องรอยปูนปั้นประดับ ถัดขึ้นไปส่วนชั้นที่ 2 ทั้งสี่ด้านเจาะช่องโปร่งโดยทำเป็นซุ้มโค้งยอดแหลม ภายในมีแกนโลหะไว้สำหรับห้อยระฆัง ส่วนชั้นที่ 3-4 เป็นส่วนยอด มีร่องรอยการขุดเจาะจนเป็นโพรงและส่วนยอดบนสุดได้หักพังลงมา มีข้อสังเกตว่ารูปแบบหอระฆังเช่นนี้ดูคล้ายกับหอระฆังวัดสะพานเกลือ เกาะลอย พระนครศรีอยุธยาอยู่ไม่น้อย

 

ก้อนหินขนาดใหญ่ที่พบจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร.

 

ไม่ไกลกันมีก้อนหินขนาดใหญ่ บนหินมีจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และเลขไทยระบุ รศ. 115 (พ.ศ. 2439) ในหนังสือ สมุดภาพเมืองสระบุรี อธิบายว่าแต่เดิมยังมีจารึกตัวเลขศักราชอื่นๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จมาอีก คือ รศ. 79  รศ. 91 และ รศ. 104 แต่คงเลือนรางไปจนไม่สามารถมองเห็นได้ในปัจจุบัน 

 

จารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และตัวเลข  “๑๑๕”


 

ก้อนหินเดียวกันนี้ยังปรากฏในชุดภาพสเก๊ตช์ของอ็องรี มูโอต์

 

จากปากคำของคนในท้องถิ่นพบว่ากลุ่มโบราณสถานรกร้างแห่งนี้เป็นที่รับรู้ของคนรุ่นปู่รุ่นย่ามานานแล้ว ทั้งยังมี “ศาลเจ้าพ่ออู่ทอง” ตั้งอยู่ใกล้กับก้อนหินขนาดใหญ่อีกก้อนหนึ่ง ตรงจุดเปลี่ยนผ่านจากชั้นพักเป็นทางลาดลงไปยังชุมชนด้านข้างเขาพระพุทธบาทฝั่งเหนือ ซึ่งในอดีตเคยมีการนำวัวเทียมเกวียนขึ้นมายังบริเวณนี้ได้อย่างสะดวก จึงอาจเป็นเส้นทางหลักในยุคที่สิ่งก่อสร้างต่างๆ ยังใช้งานอยู่ก็เป็นได้ สำหรับหินที่กล่าวถึงนี้ยังปรากฏอยู่ในภาพสเก๊ตช์ของอ็องรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ได้เดินทางมาในปี พ.ศ. 2401 อีกด้วย  ปัจจุบันกลุ่มโบราณสถานดังกล่าวยังไม่ได้รับการบูรณะและกำหนดอายุอย่างชัดเจนโดยหน่วยงานภาครัฐ มีเพียงผู้ที่สนใจเดินทางขึ้นมาศึกษา รวมถึงชาวบ้านในท้องถิ่นที่เห็นคุณค่าและร่วมกันมาดูแล ตัดกิ่งไม้ ถางหญ้าในบริเวณนี้เท่านั้น

 

“ศาลเจ้าพ่ออู่ทอง” ตั้งอยู่ใกล้กับก้อนหินขนาดใหญ่อีกก้อนหนึ่ง 

ตรงจุดเปลี่ยนผ่านจากชั้นพักเป็นทางลาดลงไปยังชุมชนด้านข้างเขาพระพุทธบาทฝั่งเหนือ

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ