สำรวจภาพเขียนสีที่ อ. น้ำโสม อุดรธานี

สำรวจภาพเขียนสีที่ อ. น้ำโสม อุดรธานี

 

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสที่บ้านนาเก็น ตำบลหนองแวง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี สมัยก่อนมีเส้นทางรถยนต์ ชาวบ้านต่างใช้เส้นทางเดินข้ามช่องเขา ไม่ว่าจะเป็นพรานป่าล่าสัตว์หรือชาวบ้านที่ไปหาของป่า ตลอดจนการต้อนวัวควายก็ใช้เส้นทางขึ้น-ลงข้ามช่องเขาเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าถึงการเดินไปเที่ยวงานบุญน้ำโมงเพื่อสักการะหลวงพ่อองค์ตื้อ ณ วัดศรีชมพูองค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เล่ากันว่าระหว่างเดินข้ามภูเขาจะผ่านน้ำตกสามเทพ ซึ่งมีห้วยหนองที่สามารถจับปลากินได้ ตลอดเส้นทางยังมีหลืบถ้ำและเพิงผาให้หลบแดดฝน

 

แหล่งที่พบภาพเขียนสีเป็นเพิงหินขนาดใหญ่

 

บริเวณโดยรอบเป็นลานหินทราย มีไม้เบญจพรรณและพุ่มไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่ทั่วไป

 

ที่ผ่านมาผู้เขียนกับเด็กๆ ในหมู่บ้านนาเก็นได้ทำการสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งได้พบกับหลักฐานโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่น เครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถือเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาและตั้งข้อสังเกตถึงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในบริเวณนี้ และจากคำบอกเล่าถึงเส้นทางสัญจรในอดีตจึงได้ทำการเดินสำรวจตามเส้นทางดังกล่าว ด้วยวิธีการเดินเท้า ประกอบกับการดูแผนที่จากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ โดยเริ่มต้นจากบ้านนาเก็น ตำบลหนองแวง อำเภอน้ำโสม ผ่านบ้านนาหลวง หมู่ 4 และบ้านสระครองพัฒนา หมู่ 3 ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ พบว่าตามเส้นทางบนเทือกเขาพบร่องรอยโบราณวัตถุหลายยุคสมัย เช่น เครื่องมือหิน พระพุทธรูปไม้สมัยล้านช้าง รวมถึงแหล่งแร่เหล็กฮีมาไทต์ (Hematite) นอกจากนี้ยังพบเพิงหินขนาดใหญ่ที่สามารถก่อไฟและใช้เป็นที่พักอาศัยได้ เพิงหินบางแห่งมีภาพสลักพระพุทธรูปและมีใบเสมาที่แตกหักวางกระจายอยู่ทั่วบริเวณ จากการเดินสำรวจยังพบเส้นทางเดินเท้าที่เชื่อมต่อไปยังเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

 

 

เด็กๆ โรงเรียนบ้านนาเก็นร่วมเดินเท้าเข้าไปสำรวจภาพเขียนสี 

 

นอกเหนือจากโบราณวัตถุที่พบอยู่เสมอแล้ว คณะสำรวจยังได้พบร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือภาพวาดบนเพิงผา ซึ่งพบเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ขณะเดินสำรวจตามเส้นทางเดินเท้าของคนในอดีต โดยพบที่บริเวณเขตรอยต่อบ้านนาหลวง หมู่ที่ 4 กับบ้านสระคลองพัฒนา หมู่ที่ 3  ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ลักษณะแหล่งเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบเป็นลานหินทราย มีไม้เบญจพรรณและพุ่มไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งคณะสำรวจได้ทำการถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับตำรา พร้อมทั้งบันทึกบริบทโดยรอบและติดต่อผู้เชี่ยวชาญทันที ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564  คุณทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ และคุณสิริวรรณ ทองขำ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งใหม่ ภาพเขียนที่พบมีทั้งรูปมือ รูปคน และลายเส้น

 

ผู้เชี่ยวชาญของสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ร่วมสำรวจเมื่อวันที่ 16  มีนาคม 2564

 


ผู้เขียนขณะร่วมสำรวจ

 

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบบนเทือกเขาทั้งภาพเขียนสี ขวานหินหลากหลายขนาดและรูปทรง ตลอดจนก้อนแร่เหล็ก ซึ่งสอดคล้องกับการพบก้อนแร่เหล็กที่ยังไม่ถลุง ตะกรัน ผนังเตา และท่อลมดินเผา กระจายอยู่ทั่วไปในชุมชนบ้านนาเก็น สะท้อนให้เห็นว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาภูพานน้อย โดยมีการเคลื่อนย้ายของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ข้ามไปมาระหว่างเทือกเขาในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทกับชุมชนต่างๆ ในเขตที่ราบลุ่มในหุบเขาที่บริเวณอำเภอน้ำโสมในปัจจุบัน อันมีห้วยน้ำโสมเป็นแหล่งน้ำสำคัญ

 

 

 

ศิลปะถ้ำที่ปรากฏมีทั้งรูปมือ คน และลายเส้นต่างๆ

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น