กว่า 2 ปีมาแล้ว ที่วารสารเมืองโบราณได้ออกสำรวจโบราณสถานบริเวณโดยรอบเกาะพระนครศรีอยุธยา โดยมุ่งไปที่วัดร้างซึ่งหลบซ่อนสายตาผู้คนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและยังคงสภาพเดิม หากแต่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา บ้างมีสิ่งก่อสร้างอื่นเกิดขึ้นรายรอบ การสำรวจครั้งนี้เป็นการ “หยั่งดูเบื้องต้น” ถึงการมีอยู่ของโบราณสถาน นับแต่คราวอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ หรือประยูร อุลุชาฎะ ได้ทำการสำรวจไว้เป็นเวลากว่า 5 เดือน ระหว่างปี พ.ศ. 2509-2510 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในงาน “อนุสรณ์อยุธยา 200 ปี” โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย ...
“... มีข้อแม้อยู่เพียงว่า ต้องการตรวจค้นศิลปะอยุธยาตามแหล่งต่างๆ เท่าที่อาจจะมีหลงเหลืออยู่ ถ้าหากจะเป็นได้ ก็ควรคัดลอกถ่ายถอนแบบอย่างนั้นๆ เอาไว้ เพื่อจะได้นำผลงานเหล่านั้นมาติดตั้งแสดงให้ประชาชนในภายหลัง นอกเหนือไปจากนั้นเป็นเรื่องที่จะดำเนินการตามใจชอบทุกอย่าง ข้าพเจ้าจึงตั้งจุดมุ่งหมายขึ้นบ้าง เพื่อค้นหาความจริงตามแหล่งต่างๆ ...”
(ข้อความบางส่วนจากภาคนำ ในหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา)
หนังสือ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510
ครั้งนั้น อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้ตั้งเป้าหมายเกินกว่าที่ได้รับมอบหมาย กล่าวคือได้ใช้เวลาที่มีอยู่เพียรพยายามสำรวจโบราณสถานในอยุธยาให้ได้มากที่สุด ทั้งในและนอกเกาะเมือง รวมไปถึงต่างอำเภอ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มาเป็นฐานในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอยุธยา อีกทั้งเป็นการไขข้อข้องใจถึงการมีอยู่ของเมืองอโยธยา อันมีข้อมูลเบื้องต้นเป็นเอกสารและแผนที่โบราณ รวมถึงงานเขียนของพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ที่ได้ทำการสำรวจสืบค้นและถือเป็นผู้บุกเบิกในยุคเริ่มแรก ผลิตผลจากการศึกษาสำรวจของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ถูกเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2510 นับเป็นเอกสารที่บันทึกประวัติศาสตร์บ้านเมืองกรุงเก่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วไว้อย่างละเอียด นับเป็นมรดกสำคัญให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษาและเดินตามรอยสืบมาจนถึงยุคปัจจุบัน
สำหรับการลงพื้นที่สำรวจวัดร้างในอยุธยาโดยวารสารเมืองโบราณครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากคุณสุรเจตน์ เนื่องอัมพร นักโบราณคดีภาคประชาชน ผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขชาวกรุงเก่าที่มีความผูกพันกับแผ่นดินเกิด และได้ดำเนินการสืบค้นร่องรอยราชธานีเก่าแห่งนี้มาโดยตลอด นับเป็นการค้นหาเรื่องราวที่หายไป เพื่อธำรงหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด สำหรับเป็นมรดกให้แก่ชาวอยุธยารุ่นหลัง
สุรเจตน์ เนื่องอัมพร นักโบราณคดีภาคประชาชนคนกรุงเก่า
ในชั้นแรกของการสำรวจ ได้เน้นไปที่บริเวณซึ่งเคยปรากฏรายชื่อวัดทั้งจากเอกสารของพระยาโบราณราชธานินทร์และอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เช่น นอกเกาะเมืองฝากตะวันออกและฝั่งใต้ ซึ่งถือเป็นบริเวณที่มีความน่าสนใจ ด้วยยังคงมีวัดร้างที่ซ้อนตัวอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้รกชัฏและบ้านเรือนราษฎรที่ขึ้นล้อมหรือเบียดเสียดแทรกอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
โคกวัดร้างที่ซ่อนเร้นอยู่ท่ามกลางบ้านอยู่อาศัย
วัดร้างฝั่งตะวันออกเกาะเมืองอยุธยาที่มองเห็นได้แต่ไกลขณะนั่งรถไฟขึ้นเหนือ
ฟากตะวันออกเกาะเมืองและลำน้ำป่าสัก คุณสุรเจตน์ ได้พาไปสำรวจวัดร้างที่ปรากฏรายชื่อ เช่น วัดโบสถ์ราชเดชะ วัดประดู่เก่า วัดโคกพระนอน วัดยักษ์ ฯลฯ โดยภาพรวมแล้วพบว่าบางพื้นที่สามารถเดินทางเข้าถึงได้ง่ายและติดกับถนนใหญ่ อีกทั้งมีการบูรณะไปเป็นเบื้องต้นแล้ว และบางวัดอยู่ในบริเวณซึ่งมีอาคารสมัยใหม่ตั้งประชิด แต่บางพื้นที่ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปด้านใน พบว่าวัดร้างหลายแห่งยังคงถูกทับถมอยู่ในชั้นดิน ปรากฏชิ้นส่วนพระพุทธรูปโผล่พ้นผิวดินขึ้นมา บ้างเห็นเพียงชิ้นส่วนอิฐหักกระเบื้องแตกจำนวนหนึ่งกระจายอยู่บนผิวดินเท่านั้น
“วัดโคกพระนอน” ปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว
“วัดท่าหอย” อยู่ระหว่างการบูรณะ
ฟากใต้เกาะเมืองแถบคลองตะเคียนและคลองคูจาม เบื้องต้นพบว่าพื้นที่แถบนี้มีวัดร้างปรากฏอยู่หนาแน่นพอสมควร เช่น วัดโคกขมิ้น วัดท่าหอย วัดเตว็ด วัดแก้วฟ้า วัดพระยากง วัดนางกุย ฯลฯ โดยหลายวัดยังคงอยู่ในดงไม้ ซึ่งบางแห่งมีบ้านคนอยู่อาศัยปะปน มีบางวัดที่กำลังดำเนินการบูรณะ เช่น วัดเตว็ด วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม เป็นต้น
อาคารทรงตึกที่วัดเตว็ด กับการค้ำยันระหว่างการบูรณะ
ชิ้นส่วนดินเผาและปูนปั้นที่พบภายในวัดเตว็ด
ส่วนยอดเจดีย์ทรงมอญ หลักฐานการมีอยู่ของผู้คนต่างภาษาในวัดเตว็ด
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปศิลาซึ่งพบที่วัดพญากง
โดยสรุป จากการสำรวจเบื้องต้นครั้งนี้ ทำให้เห็นสภาพวัดร้างในปัจจุบันว่ายังคงอยู่หรือไม่ก็ถูกรบกวนมากน้อยแตกต่างกัน ทั้งยังเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากยุค 50 ปีที่แล้วได้เห็นแนวทางการขุดตรวจ สำรวจ และบูรณะ ทั้งยังได้พบข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้น
เจดีย์โบราณวัดบางกะจะ รอการบูรณะในวันข้างหน้า
เจดีย์ย่อมุมขนาดใหญ่
คุณสุรเจตน์กำลังชี้ลวดลายปูนปั้นของสิ่งก่อสร้างโบราณที่หลบซ่อนสายตาอยู่ในดงป่า
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่ได้มาล้วนเป็นเพียงข้อมูลจากการสำรวจในเบื้องต้น ซึ่งทางวารสารเมืองโบราณจะทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ทราบถึงร่องรอยของบ้านเมืองในอดีตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบ้านเมือง หรือมีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อตอบรับกระแสการท่องเที่ยว อันอาจเป็นแนวทางในการพัฒนาของบ้านเมืองต่อไปในวันข้างหน้า
ขอขอบคุณ: คุณสุรเจตน์ เนื่องอัมพร