"หน้ากาล" มีแต่ใบหน้า ไม่มีลำตัว

"หน้ากาล" มีแต่ใบหน้า ไม่มีลำตัว

 

ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะสังเกตเห็นผ้าพระภูษาโยงที่ทอดมาจากพระบรมโกศ ผ่านปากของใบหน้าหนึ่งที่ไม่มีลำตัว ซึ่งอยู่บนฐานของพระแท่นสุวรรณเบญจดล ทอดไปยังพระภิกษุสงฆ์เพื่อใช้สดับปกรณ์ (บังสุกุล) โดยสิ่งที่เห็นอยู่นี้มีที่มาและความหมาย

 

 

ลวดลายประดับรูปใบหน้าที่ไม่มีลำตัวนี้เรียกกว่า หน้ากาล มีลักษณะเป็นรูปใบหน้ายักษ์ปนสิงห์ ลักษณะดุร้าย นัยน์ตากลมโต ปากกว้างเห็นแต่ฟันบน ไม่มีริมฝีปากล่างและไม่มีลำตัว โดยมากจะสวมกระบังหน้าเป็นเครื่องประดับศีรษะ คำว่าหน้ากาลนั้น ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อธิบายว่า มีความหมายถึงกาลเวลาที่จะกลืนกินทุกสรรพสิ่งให้หมดไป นอกจากนี้ กาล (กา-ละ) ยังเป็นอีกชื่อหนึ่งของพระยมอีกด้วย

 

 

หน้ากาลยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“เกียรติมุข” หรือ “กีรติมุข” อรุณศักดิ์ กิ่งมณี ได้อธิบายไว้ในหนังสือ ทิพยนิยายจากปราสาทหิน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ เมื่อปี พ.ศ. 2555 ว่า ในคัมภีร์ปัทมปุราณะของฮินดู กล่าวถึงพญายักษ์ชลันธรบำเพ็ญตบะจนได้รับพรจากพระศิวะ ไม่มีผู้ใดสู้ได้ แต่ท้ายที่สุดถูกพระศิวะสั่งให้กินร่างตัวเองเป็นอาหาร พญายักษ์จึงกัดกินลำตัวของตนเองจนเหลือแต่หัว ไม่มีร่าง ไม่มีแขนขา รูปหน้ากาลถือเป็นลวดลายประดับที่พบอย่างแพร่หลายทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักพบประดับอยู่ในตำแหน่งทางเข้า หน้าบัน  ทับหลัง หรือกรอบซุ้มประตูศาสนสถาน เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการปกปักรักษาจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงอีกด้วย

 

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ