[Chapter 4]
Just go inside twice a day...Keep walking in Petra
“เข้าสู่หุบเขาแห่งนครศิลาสีชมพู”
การเดินทางเข้าสู่เมืองเปตราเริ่มต้นที่บริเวณประตูทางเข้า The Petra Archaeologic Park หรือ อุทยานโบราณคดีเมืองเปตรา ซึ่งเป็นจุดที่ขายตั๋วเข้าชมและให้บริการคำแนะนำแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่มีตั๋วเข้าชมต้องซื้อที่บริเวณจุดขายซึ่งเปิดบริการอยู่ทางด้านหน้า ส่วนนักท่องเที่ยวที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์มาแล้ว ก็ต้องมาทำการยืนยันก่อนเช่นเดียวกัน โดยตั๋วที่จำหน่ายมีทั้งแบบวันเดียว 2 วัน และ 3 วัน นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ http://www.visitpetra.jo นอกจากการเข้าเยี่ยมชมบริเวณเมืองเปตราโดยรอบแล้ว ภายในยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้อีกด้วย
วีซ่านักท่องเที่ยวของประเทศจอร์แดน ประเภทพ่วงตั๋วเข้าชมอุทยานโบราณคดีเปตราได้ 2 วัน ราคา 75 JD หรือราว 3,500 บาท
แผ่นพับนำชมภายในเปตรา มีคำอธิบายหลายภาษาแต่ไม่มีภาษาไทย
ปัจจุบันประเทศจอร์แดนอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ซื้อตั๋วท่องเที่ยวเมืองเปตราพร้อมกับการขอวีซ่าเข้าประเทศจอร์แดนผ่านทางออนไลน์ หากสนใจเข้าชมเมืองเปตราเป็นเวลา 2 วัน รวมกับค่าธรรมเนียมวีซ่าแล้ว สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 75 ดีนาร์จอร์แดน (JD) นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวและค้างคืนในเมืองเปตรา เส้นทางไต่เขา และยังมี Petra by night ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมืองเปตราในบรรยากาศค่ำคืน ซึ่งจัดขึ้นโดยคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ภายในเมืองเปตราปัจจุบัน คนเหล่านี้ในช่วงเวลากลางวันก็คือ บรรดาคนขับรถม้า คนให้บริการเช่าม้า และพ่อค้าขายของที่ระลึกภายในพื้นที่อุทยาน
ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยาน
แผนที่เส้นทางเดินภายในเปตรา ระบุจุดที่ต้องแวะชม ระยะทาง และระยะเวลาในการเดินไปถึงแต่ละจุด
เส้นทางเข้าสู่เมืองเปตราเป็นถนนทราย หากไม่ขี่ม้าหรือนั่งรถม้า จะต้องเดินเข้าไป ถนนถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ฝั่งหนึ่งสำหรับคนเดิน อีกฝั่งหนึ่งสำหรับม้ากับรถม้า ตลอดทางจะมีคนมาเสนอบริการให้เช่าม้าสำหรับขี่ แต่หากอยากจะนั่งรถม้าเข้าไปนั้น จะมีจุดบริเการอยู่ที่บริเวณปากทางเข้า คิดราคาเที่ยวละ 20 JD หรือถ้าซื้อแบบเหมาไปกลับจะคิดราคาเพียง 25 JD เท่านั้น ระหว่างทางสังเกตว่าเหล่านักท่องเที่ยวที่เป็นเพื่อนร่วมทางมีจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ถึงกับแน่นขนัด เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปและเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน รวมถึงคนไทยที่มีอยู่ประปราย
โรงแรม Petra Guest House ตั้งอยู่ใกล้ทางเข้าอุทยานโบราณคดีเปตรา
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามซอกเขา เหมาะสำหรับคนที่รักในการปีนป่าย ซึ่งทางอุทยานจะมีบริการนำเที่ยวบนเส้นทางนี้ ใช้เวลาเดินทางราว 6 ชั่วโมง ส่วนเส้นทางเดินตามปกตินั้นจะมีระยะทางราว 2 กิโลเมตรเท่านั้น คนส่วนใหญ่มักจะเลือกเส้นทางปกติเพราะใช้เวลาน้อยกว่า
ระหว่างทางเดินไปยัง “The Siq”
โบราณสถานริมทางแห่งแรกที่พบอยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ห่างจากทางเข้าราว 100 เมตร เรียกว่า “Bab Al Siq” เป็นภาษาอาหรับหมายถึง ประตูทางเข้าไปยัง Siq (gateway to the Siq) บริเวณนี้จะได้พบกับ Djinn blocks ซึ่งเป็นแท่งหินสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ สลักลวดลาย ซึ่งคำว่า Djinn / Genie / ญิน เป็นคำเรียกสิ่งเหนือธรรมชาติในความเชื่อของชาวอาหรับโบราณ
แท่งหินสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่มีลวดลายสลักอยู่ เรียกว่า Djinn blocks ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า Bab Al Siq หรือประตูทางเข้าไปยัง Siq
นอกจากนี้ยังมี Obelisk Tomb สร้างขึ้นโดยชาวนาบาเทียน ประกอบด้วยเสาโอเบลิสก์ทรงพีระมิดจำนวน 4 ต้น ตรงกลางระหว่างเสาทั้ง 4 นั้น มีภาพสลักรูปบุคคลประดับอยู่ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นสุสานฝังศพ ถัดลงมาเป็นส่วนที่เรียกว่า Bab Al Siq Triclinium จะเห็นร่องรอยของด้านหน้าอาคารที่สลักเป็นหน้าบันและเสาติดผนัง สันนิษฐานว่าเป็นห้องจัดเลี้ยง (banqueting hall)
Obelisk Tomb ด้านบนมีเสาทรงพีระมิดจำนวน 4 ต้น สันนิษฐานว่าเป็นสุสานฝังศพ
ถัดลงมาด้านล่างเรียกว่า Bab Al Siq Triclinium สันนิษฐานว่าเป็นห้องจัดเลี้ยง
ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับ Obelisk Tomb สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่พักของชาวนาบาเทียนที่ขุดเจาะภูเขาเข้าไปเป็นถ้ำ และถัดมาอีกราว 100 เมตรก่อนจะเดินเข้าสู่ “The Siq” ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของเมืองเปตรา จะพบกับคลองและสะพานที่ใช้เดินข้ามไปยังเมืองเปตรา เป็นส่วนหนึ่งในระบบการจัดการน้ำที่ยังมีให้เห็นของเมืองโบราณแห่งนี้
“บ้านถ้ำ” ที่อยู่อาศัยของชาวนาบาเทียนสมัยก่อน
ฝายกั้นน้ำเพื่อชะลอน้ำที่ไหลเข้ามามาบริเวณช่องเขาและผันน้ำเข้าสู่เมืองเปตรา
จากนั้นก็เข้าสู่ “The Siq” ที่เป็นเส้นทางเดินในซอกเขา ซึ่งเป็นศิลาทรายสีชมพู ปัจจุบันรัฐบาลจอร์แดนได้ใช้ก้อนหินมาปูทับบนเส้นทางเดิมซึ่งเป็นพื้นทรายเพื่อความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เพราะหากฝนตกก็จะไม่เฉอะแฉะและสามารถระบายน้ำออกได้โดยง่าย ตลอดระยะทางราว 1.5 กิโลเมตร สองข้างทางกระหนาบด้วยผาหินทรายสูงชัน คาดว่ามีความสูงจากพื้นถนนราว 50-100 เมตร เส้นทางนี้ได้รับการขนานนามว่า “ถนนสีชมพู” หรือ “ถนนสีกุหลาบ” คงเป็นเพราะส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู มีหินสีขาวและสีดำแซมอยู่บ้างประปราย ซึ่งสีสันของผาหินแห่งนี้จะแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาที่พระอาทิตย์สาดแสงผ่าน
The Siq เป็นซอกเขาที่ใช้เป็นเส้นทางหลักเข้าสู่เมืองเปตรา
คลองส่งน้ำขนาดเล็กสำหรับรับน้ำที่ไหลลงมาจากหน้าผาด้านบน
สุดปลายของถนนเส้นนี้ เราจะพบกับจุดหมายตาสำคัญของเมืองเปตรา ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปกันมากที่สุด นั่นคือโบราณสถานที่เรียกว่า The Treasury หรือ Al Khazna สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ในรัชสมัยของ King Aretas IV ซึ่งเป็นกษัตริย์ของชาวนาบาเทียน แต่ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด บ้างว่าเป็นศาสนสถาน บ้างว่าเป็นพระคลังมหาสมบัติ บ้างก็ว่าเป็นสุสาน ซึ่งยังต้องมีการศึกษาทางโบราณคดีกันต่อไป
แท่งหินสีชมพูแกะสลักเป็นรูปอาคาร พบระหว่างทางเดินใน The Siq เป็นจุดหมายตาว่าอีกไม่ไกลก็จะเข้าสู่เขตเมืองเปตรา
ผนังหินถูกเจาะเป็นช่องๆ ภายในแกะสลักเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ของชาวนาบาเทียน
ภายใน The Treasury จัดแบ่งเป็น 2 ชั้น มีห้องทั้งหมด 3 ห้อง ปัจจุบันสามารถเข้าชมได้แต่ภายนอกเท่านั้น เดิมเคยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมภายในได้ แต่ด้วยผลกระทบต่อโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหรือการไม่เคารพกฎของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มได้สร้างความเสียหายแก่โบราณสถาน ปัจจุบันจึงปิดไม่ให้เข้าชม
เมื่อสิ้นสุดทาง The Siq จะพบกับ “The Treasury” อาคารหินสีชมพูตั้งตระหง่านอยู่
ห้องชั้นล่างของ The Treasury เชื่อกันว่าภายในเป็นห้องเก็บสมบัติ ปัจจุบันไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในได้
ลักษณะของ The Treasury เป็นอาคารที่ผสมผสานระหว่างศิลปะโรมันกับนาบาเทียน ในช่วงเวลาดังกล่าวอิทธิพลวัฒนธรรมโรมันแผ่ขยายเข้ามายังเปตราผ่านเส้นทางการค้า ปรากฏให้เห็นผ่านรูปแบบงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า นอกจากนี้ชาวนาบาเทียนยังรับเอาความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าของซีเรีย กรีก และฮินดู ดังปรากฏในรูปเทพเจ้าแกะสลักที่ประดับอยู่บนชั้น 2 ซึ่งมีทั้งเทพเจ้าโรมัน เทวีไอซิของอียิปต์ นกอินทรีของซีเรีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการประดับด้วยเสาโรมันแบบคอรินเทียน (Corinthian order) ที่หัวเสาทำเป็นลวดลายพรรณพฤกษา
งานประดับสถาปัตยกรรมอันสวยงามที่อาคาร The Treasury
บริเวณ The Treasury ถือเป็นจุดพักของนักท่องเที่ยว มีร้านขายเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ น้ำอัดลม เปิดให้บริการตั้งแต่เช้าจรดเย็น เราจะเห็นนักท่องเที่ยวนั่งพักอยู่ในมุมต่างๆ ตามอัธยาศัย บ้างนั่งพื้น บ้างนั่งผิงผนังหิน หรือจะเดินขึ้นเนินไปตามทางเดินเล็กๆ เพื่อหามุมถ่ายรูปสวยๆ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบของที่ระลึก ในบริเวณจะมีคนท้องถิ่นนำของที่ระลึกหลากหลายอย่างมาจำหน่าย เช่น เครื่องประดับ เหรียญแบบโบราณ ก้อนหินหลากสีสัน นอกจากนี้ยังมีจุดบริการถ่ายรูปกับอูฐ สัตว์สัญญลักษณ์คู่ทะเลทราย หรือหากจะเปลี่ยนใจไปขี่ม้า ลา นั่งรถม้าเที่ยวชมส่วนอื่นๆ ในเมืองเปตรา ก็มีให้บริการในบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน
บริเวณลานด้านหน้า The Treasury เป็นจุดแวะพักและมีอูฐคอยให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการขี่อูฐชมภายในเมืองเปตราหรือจะแค่ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก็ได้
ร้านค้าตั้งอยู่เรียงรายที่ด้านหน้า The Treasury ดำเนินการค้าขายโดยคนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ภายในเมืองเปตรา
อุทยานโบราณคดีเมืองเปตรากำหนดปิดบริการเวลา 17.00 น. บรรดานักท่องเที่ยวจึงต้องทยอยเดินตามกันออกมาก่อนเวลาปิด ตลอดทางเดินกลับราว 2 กิโลเมตร จะพบบรรดาพ่อค้าของที่ระลึกที่มีทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ คอยตามมาขายสินค้าอยู่ไม่ขาด การเดินกลับใช้ระยะเวลาเพียง 40 นาทีเท่านั้น เมื่อมาถึงประตูทางเข้าอุทยานก็พลบค่ำพอดี แต่ผู้เขียนยังไม่รีบกลับเพราะมีนัดเที่ยวชมเมืองเปตรายามค่ำคืนในกิจกรรม Petra by Night
“รถเก็บขยะ” เป็นรถชนิดเดียวที่ได้รับการอนุญาตให้ขับผ่านเข้ามายังเขต The Siq ได้
ราคาตั๋วเข้าชม Petra by Night อยู่ที่ 17 JD เจ้าหน้าที่นัดแนะให้นักท่องเที่ยวมารวมตัวกันตอนประมาณ 20.00 น. ช่วงระหว่างรอเวลารวมพล นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมร้านขายของที่ระลึกและรับประทานอาหารในร้านอาหารต่างๆ ที่เปิดให้บริการยามค่ำ ส่วนใหญ่เป็นอาหาร Fast Food แบบอาหรับ มีทั้งข้าว แฮมเบอร์เกอร์ สลัดผัก และเครื่องดื่มหลากหลาย เรียกได้ว่านักท่องเที่ยวที่รอเข้าชมตอนกลางคืนแทบไม่ต้องออกไปไหนไกล
บัตรเข้าชม Petra By Night ที่จัดขึ้นบริเวณลานด้านหน้า The Treasury ในยามค่ำคืน
บรรยากาศยามค่ำคืนในเมืองกลางทะเลทรายมีความสวยงามแปลกตา บนท้องฟ้ามองเห็นพระจันทร์ดวงโต หุบเขาและทั่วอาณาบริเวณถูกอาบด้วยแสงจันทร์เป็นสีเหลืองนวลตา เมื่อถึงเวลาเข้าชม นักท่องเที่ยวกว่า 500 คน ค่อยๆ เดินตามกันเข้าไป มีการตามประทีปตลอดเส้นทาง ให้บรรยากาศที่สวยงาม ดูลึกลับ แตกต่างจากเวลากลางวัน
เส้นทางเข้าชมเมืองเปตรายามค่ำคืนจะมีการตามประทีปโดยตลอด
เมื่อเดินเข้าไปถึงบริเวณลานโล่งด้านหน้า The Treasury เจ้าหน้าที่จะจัดให้นักท่องเที่ยวเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อชมการแสดง เริ่มต้นด้วยมีผู้ออกมาเล่าเรื่องวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองเปตราตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นชาวเบดูอินที่อาศัยอยู่ในนครเปตรามาหลายชั่วคน นอกจากนั้นยังเล่าถึงการกินอยู่และการทำมาหากิน ก่อนจะเข้าสู่การแสดงดนตรีแบบชนเผ่าพร้อมกับการขับลำนำ นักท่องเที่ยวจะได้รับชามินต์ร้อนๆ จิบไปพลางระหว่างชมการแสดง ระยะเวลาที่ใช้ราว 1 ชั่วโมง 30 นาที
แสง-สีตระการตาในการแสดง Petra by Night
เมื่อการแสดงจบลง พวกเราเดินกลับมายังลานจอดรถหน้าอุทยาน ยามค่ำคืนเมืองนี้ดูเวิ้งว้างน่ากลัว แม้มีแสงจันทร์กระจ่างอยู่บนฟ้า เพราะมองไปทางใดล้วนเป็นภูเขาสูงและทะเลทรายอันมืดมิด เราจึงรีบกลับที่พัก เพื่อพักผ่อนออมแรงไว้สำหรับเดินทางเข้าสู่เมืองเปตราอีกรอบในวันรุ่งขึ้น
ทิวทัศน์ของวาดิ มูซา ยามค่ำคืน
การเดินทางสู่นครเปตราจะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตาม “ ‘เปตรา’ นคร(ที่เคย)ร้างกลางทะเลทราย” ตอนต่อไปได้ในคอลัมน์ “เที่ยวแบบวารสาร”