“...แม่น้ำลำคลองหลายสายรวมเรียกว่าลุ่มน้ำ ดังเช่น ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำลพบุรี เป็นต้น ซึ่งในแต่ละลุ่มน้ำจะพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเกิดเป็นบ้านเมืองและเป็นรัฐขึ้นในที่สุด ลุ่มน้ำเพชรบุรีเป็นที่ลาดลุ่มและราบลุ่มชายทะเลอ่าว ก ในภาคกลางของประเทศไทย แบ่งได้เป็นลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบนในที่สูง ตอนกลางเป็นที่ราบ และตอนล่างเป็นช่วงปลายน้ำที่ต่ำออกสู่ทะเล...”
ชื่อบทความ ลุ่มน้ำเพชรบุรี
ผู้เขียน อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ปีที่พิมพ์ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2563)
“พริบพรี : นครประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม”
ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ ไทยมีที่ราบกว้างใหญ่กว่าประเทศอื่นๆ ทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลางและที่ราบสูงโคราชในภาคอีสาน อันเป็นแหล่งเกิดบ้านเมืองโบราณที่มีอายุแต่สมัยต้นพุทธกาลลงมาจำนวนมาก ที่ราบสูงโคราชนับเนื่องเป็นดินแดนภายในของชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ภาคกลางเป็นบริเวณที่มีทางออกชายฝั่งทะเลในเขตอ่าวไทยของดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยา ซึ่งผู้รู้ทางภูมิศาสตร์เรียกว่า อ่าว ก เพราะส่วนบนของอ่าวมีรูปเว้าของชายฝั่งทะเลเหมือนพยัญชนะ ก และอ่าว ก ที่ว่านี้มีจังหวัดเพชรบุรีและชลบุรีเป็นส่วนฐานของดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยา ที่ต่างกันคือมีแม่น้ำสายสำคัญไหลมาออกทะเล ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรีทางซีกตะวันตกและแม่น้ำบางปะกงทางซีกตะวันออก ทั้งแม่น้ำเพชรบุรีและบางปะกงไม่ได้ถือกำเนิดมาจากการรวมตัวของลำน้ำจากภาคเหนือ คือ ปิง วัง ยม และน่าน หากเป็นแม่น้ำที่เกิดจากลำน้ำลำห้วยที่ไหลลงมาจากเทือกเขาทางตะวันตกและตะวันออกที่ขนาบลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เทือกเขาตะนาวศรีทางตะวันตก และเทือกเขาเพชรบูรณ์ทางตะวันออก
วารสารเมืองโบราณฉบับนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองเพชรบุรี และลุ่มน้ำเพชรบุรีในทางภูมิวัฒนธรรมของการเกิดชุมชนบ้านเมืองแต่อดีตลงมาจนถึงปัจจุบัน เมืองเพชรบุรีเป็นนครรัฐร่วมสมัยกับเมืองพระเวียงหรือนครศรีธรรมราช ที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา และมีสภาพแวดล้อมทางภูมิวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน คืออาจแบ่งพื้นที่ทางวัฒนธรรมออกเป็น 3 บริเวณที่สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ บริเวณเมือง ภูเขาและที่สูง และชายทะเล ผู้คนในแต่ละพื้นที่วัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กันทางสังคมและเศรษฐกิจที่คล้ายกัน ดังเช่นนครศรีธรรมราช หรือแม้แต่พัทลุงซึ่งอยู่ชายทะเลสาบสงขลา มีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นเกลอหรือสหาย หรือที่ในภาคอีสานเรียกว่าเสี่ยว เป็นต้น ดังมีคำพูดให้ได้ยินบ่อยๆ ว่า เกลอเขา เกลอนา และเกลอเล
การแบ่งพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมดังกล่าว คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่ขึ้นอยู่กับแม่น้ำลำคลอง อันเป็นเสมือนเส้นชีวิตของสังคม ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นบริเวณต้นน้ำที่อยู่ในที่สูง บริเวณกลางน้ำที่อยู่ในที่ราบ และบริเวณปลายน้ำที่ต่ำไปออกทะเล เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงแม่น้ำลำคลองที่ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น ข้าพเจ้าจึงเรียกว่าเป็นลุ่มน้ำ ดังเช่นลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำลพบุรี เป็นต้น ซึ่งในแต่ละลุ่มน้ำจะแลเห็นพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานชุมชน เกิดเป็นบ้าน เป็นเมือง และเป็นรัฐขึ้นในที่สุด
แก่งกระจานเป็นแหล่งต้นน้ำแห่งหนึ่งของลำน้ำเพชรบุรีที่รับน้ำซึ่งไหลมาจากบริเวณป่าเขาบนเทือกเขาตะนาวศรี
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ลุ่มน้ำเพชรบุรี
ลุ่มน้ำเพชรบุรีเป็นที่ลาดลุ่มและราบลุ่มชายทะเลอ่าว ก ในภาคกลางของประเทศไทย มีแม่น้ำที่ถือกำเนิดมาจากเทือกเขาตะนาวศรี อันเป็นสันหลังของคาบสมุทรไทย มีต้นน้ำมาจากบริเวณหุบเขาป่าละอูในบริเวณที่ต่อกับพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับแก่งกระจาน นับเป็น 2 บริเวณต้นน้ำอันเป็นจุดเริ่มต้นของลุ่มน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งหลักแหล่งทำกินของผู้คน เป็นชุมชนอยู่ที่ปลายเขาไม้รวก อันเป็นบริเวณที่ลำน้ำจากป่าละอูไหลลงมาจากลาดเขาทางใต้ ผ่านลงสู่ที่ลาดลุ่มตอนปลายเขาทางเหนือของเขาไม้รวกในเขตตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง ที่มีลำน้ำเพชรบุรีอีกสายจากเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งอยู่ในหุบเขาตะนาวศรีทางตะวันตกเฉียงเหนือไหลมาสมทบ กลายเป็นลำน้ำใหญ่ที่เรือเล็กสามารถเข้ามาได้ จึงเรียกตำบลนี้ว่า ท่าไม้รวก นับได้ว่าแม่น้ำเพชรบุรีเกิดขึ้นและเริ่มขึ้น ณ ท่าไม้รวกแห่งนี้ เป็นบริเวณที่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำเพชรบุรีเป็นที่ลุ่ม มีหนองน้ำและเนินเขายื่นล้ำลงมา เรียกเขาลูกช้าง เกิดเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ที่เป็นตัวเทศบาล และมีวัดพระพุทธบาทเขาลูกช้างเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
จากเขาลูกช้าง ลำน้ำเพชรบุรีไหลลงที่ลาดขึ้นมาทางเหนือ ผ่านตำบลกลัดหลวงมายังบ้านหนองเตียน อันเป็นที่ตั้งของชุมชนใหญ่ในพื้นที่ลาดลุ่มซึ่งมีหนองน้ำและลำน้ำไหลคดเคี้ยวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปลายเขาไม้รวก ที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ตีนเขา เรียกหนองชุมแสง จากปลายเขาไม้รวกผ่านลงสู่ที่ลาดลุ่มไปยังบ้านหนองขานาง และต่อไปทางตะวันออกยังบ้านสระพระ เป็นลำน้ำที่ชื่อว่าคลองสายหนึ่ง ไหลวกลงไปยังบ้านเนินทราย หักวกลงใต้ผ่านบ้านนายางลงสู่พื้นที่ของทะเลสาบแบบลากูนที่มีทางออกทะเลที่บ้านบางเก่า อาณาบริเวณของทะเลสาบนี้กว้างใหญ่ แต่ตื้นเขินกลายเป็นหนองน้ำหลายแห่ง ทว่าแหล่งที่สำคัญคือหนองบัว ซึ่งมีร่องรอยของชุมชนโบราณสมัยอยุธยากระจายอยู่ทางเหนือ ตั้งแต่บ้านหนองศาลาลงมาถึงบ้านโตนดหลวงที่เป็นชุมชนใหญ่ มีวัดโตนดหลวงซึ่งมีโบสถ์สมัยอยุธยาตั้งอยู่ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าสมัยอยุธยาก็คือ ตอนปลายของทะเลสาบนี้สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีที่บ้านทุ่งเศรษฐี เชิงเขาเจ้าลาย ที่มีวัดทุ่งเศรษฐีและพระมหาสถูปสมัยทวารวดีตั้งอยู่ เป็นบริเวณที่เคยเป็นเมืองท่าสมัยทวารวดี ที่เรือเดินทะเลผ่านเข้ามาทางปากลากูนในเขตบ้านบางเก่า
ที่กล่าวมาแต่ตอนต้นก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี เริ่มต้นในตำบลท่าไม้รวก อันเป็นบริเวณที่มีเขาใหญ่ 2 ลูก คือเขาไม้รวกและเขาเจ้าลายที่อยู่ใกล้ทะเลบริเวณชายหาดชะอำ อันเป็นแหล่งที่พบหลักฐานบ้านเมืองสมัยทวารวดีที่ต่อเนื่องเป็นชุมชนชายทะเลมาถึงสมัยอยุธยา จากบริเวณต้นน้ำตำบลท่าไม้รวก ลำน้ำเพชรบุรีไหลผ่านที่ลาดลุ่มในเขตอำเภอท่ายาง ที่มีลำคลองแม่ประจันต์ไหลลงจากหุบเขาในเขตแก่งกระจานมาสมทบกับแม่น้ำเพชรบุรี อันเป็นบริเวณที่มีการกักเก็บน้ำของกรมชลประทานที่เรียกว่า เขื่อนเพชร (โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี) เพื่อกระจายน้ำไปตามลำคลองชลประทาน หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมยังเขตชายทะเล ตั้งแต่หาดปึกเตียนไปถึงหาดเจ้าสำราญ จากเขื่อนเพชรที่อำเภอท่ายาง แม่น้ำเพชรบุรีไหลคดเคี้ยวผ่านที่ลุ่มสองฝั่งน้ำเข้าสู่พื้นที่อำเภอบ้านลาด อันเป็นบริเวณที่ราบลุ่มสลับที่ดอน เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เกิดการตั้งหลักแหล่งของผู้คนเป็นชุมชนกระจายอยู่ตามลำน้ำและลำคลอง บริเวณอำเภอบ้านลาดนี้นับเป็นพื้นที่มหัศจรรย์ของลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน ที่มีที่ลาดลุ่มกว้างใหญ่ โดยมีแนวเขาตะนาวศรีอยู่ทางตะวันตก มีลำน้ำลำห้วยหลายสายไหลลงมาจากเทือกเขา ผ่านที่ดอนมายังลำน้ำเพชรบุรีที่อยู่ตอนกลาง บริเวณที่แม่น้ำเพชรบุรีไหลคดเคี้ยวเกิดลำน้ำคดโค้ง (Oxbow Lake) มากมาย อีกทั้งมีสายน้ำแยกจากบริเวณวัดไสค้าน (วัดราษฎร์บำรุง) ผ่านที่ลาดลุ่มไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะวนผ่านถ้ำรงค์มารวมกับแม่น้ำเพชรบุรีในเขตวัดศาลาเขื่อนและวัดม่วงงาม อาจพูดได้ว่าบริเวณวัดถ้ำรงค์ที่อยู่ในบริเวณลำน้ำคดโค้งนี้เป็นแหล่งชุมชนที่เก่าแก่ที่สุด เพราะพบแหล่งโบราณคดีสำคัญ 2 แห่งบนเนินเขาเตี้ย 2 ลูกริมลำน้ำ เขาลูกหนึ่งคือเขาถ้ำรงค์ เป็นเขาหินปูนสูงราว 36 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีถ้ำศาสนสถานสลักภาพพระพุทธรูปยืนและนั่ง ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา ส่วนเขาอีกลูกหนึ่งสูงราว 33 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ต่ำจากเขาถ้ำรงค์มาทางใต้เล็กน้อย มีถ้ำหินปูนอันเป็นที่พระสงฆ์หรือนักพรตครั้งสมัยทวารวดีไปจำศีล ปั้นและสลักพระพุทธรูป เทวดา และฤๅษีไว้ที่ผนังถ้ำ นับเป็นศิลปะทวารวดีที่งดงามมาก
ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน
ในการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรม ข้าพเจ้าให้ความสำคัญกับลำน้ำเพชรบุรีที่ไหลแยกจากลำน้ำใหญ่ตั้งแต่บริเวณวัดไสค้านขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงบริเวณเขาถ้ำรงค์ เพราะสัมพันธ์กับพื้นที่ราบลุ่มใหญ่ทางด้านตะวันออกของลำน้ำ แม้แต่เขาถ้ำรงค์และวัดถ้ำรงค์ก็หันหน้าลงสู่ที่ราบลุ่มนี้ ที่ราบลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างลำน้ำเพชรบุรีกับพื้นที่เป็นโคกดอนและหนองน้ำ มีร่องรอยการขุดคลองจัดการน้ำเพื่อการเกษตรมาแต่โบราณ ดังเห็นได้ที่เขาพรหมชะแง้ อันมีวัดโบราณตั้งอยู่ มีร่องรอยการขุดคลองเหมืองราษฎร์จากชายขอบที่สูงผ่านเขาพรหมชะแง้มาลงทุ่งนา ในทำนองที่มีการดึงน้ำจากลำน้ำเพชรบุรีมาเชื่อมต่อกับคลองเหมืองราษฎร์ ขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำเพชรบุรีจากบริเวณวัดไสค้านมาถึงเขาถ้ำรงค์เป็นที่ราบลุ่มเพื่อการทำนาเช่นเดียวกัน
ที่ราบลุ่มทั้งสองฝั่งลำน้ำเพชรบุรีสะท้อนให้เห็นว่าชาวเมืองเพชรบุรีมีอาชีพเป็นทั้งชาวสวนและชาวนา โดยส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวสวน เพราะแทบทุกแห่งที่ลำน้ำเพชรบุรีไหลคดเคี้ยวเป็นบริเวณที่ดอนใกล้กับพื้นที่ที่ผู้คนสร้างบ้านเรือนและเรือกสวนไปตลอด มีต้นตาลขึ้นกระจายในพื้นที่นาจำนวนมาก ทำให้เพชรบุรีเป็นบ้านเมืองที่ผลิตน้ำตาลโตนดมาแต่โบราณ การตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองตามลำน้ำเพชรบุรี ตั้งแต่อำเภอท่ายางจนถึงอำเภอบ้านลาดดังกล่าว ถ้าดูจากหลักฐานทางโบราณคดีที่เขาถ้ำรงค์และถ้ำยายจูงหลาน สามารถบอกได้ว่ามีมาแต่สมัยทวารวดีแล้ว และเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนเข้ามาหนาแน่นแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา ล้วนเป็นผู้นับถือพุทธศาสนาเถรวาทที่มีเมืองเพชรบุรีเป็นศูนย์กลาง
ท่ายางและบ้านลาด เป็นพื้นที่ในลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน เป็นแหล่งทำเกษตรกรรมของเพชรบุรี มีการทำสวนทำไร่
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
จากเขาถ้ำรงค์ขึ้นมาทางเหนือ ลำน้ำเพชรบุรียิ่งไหลคดเคี้ยวมากขึ้น ประกอบกับมีลำน้ำจากที่สูงทางตะวันตกไหลมาสมทบ ทำให้เกิดที่ลุ่มและที่ดอนตามสองฝั่งแม่น้ำมากมาย เกิดชุมชนหมู่บ้านที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ใกล้ๆ กันเป็นชุมชนชาวสวนคล้ายกันกับทางลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ธนบุรี ที่แตกต่างก็คือทางสมุทรสงครามและธนบุรีเป็นบริเวณที่มีการขุดลำกระโดงชักน้ำมาหล่อเลี้ยงสวน แต่ทางบ้านลาดของเพชรบุรีเป็นลำน้ำคดเคี้ยวและไม่ใช้เรือมากเหมือนกับสมุทรสงครามและธนบุรี ลักษณะทางภูมิวัฒนธรรมเช่นนี้ คือสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนชาวสวนตาลโตนดที่มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน มีการสืบทอดขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม มาแต่สมัยอยุธยา ดังเห็นได้จากรูปแบบของวัดประจำหมู่บ้านที่มีโบสถ์เป็นสถานที่สำคัญ มีผังบริเวณและกำแพงล้อมรอบเหมือนกับวัดที่มีพุทธาวาส อาจกล่าวได้ว่าบ้านลาดและชุมชนชาวสวนของเพชรบุรี ส่วนใหญ่มีแต่วัดโบสถ์ (วัดที่มีอุโบสถ) อันเป็นวัดเฉพาะหมู่บ้าน มีวัดธาตุซึ่งเป็นวัดใหญ่ มีพุทธาวาสและพระสถูปเป็นศูนย์กลางน้อย และเท่าที่เห็นก็มักเป็นวัดธาตุที่เกิดขึ้นในสมัยหลังมากกว่า
ตั้งแต่ตำบลตำหรุ ลำน้ำเพชรบุรีกว้างใหญ่ขึ้น มีวัดสำคัญเรียงรายอยู่สองฝั่งน้ำ ได้แก่ วัดม่วงงาม วัดขลุบ วัดศาลาเขื่อน วัดศาลาราม วัดลาดศรัทธาธรรม วัดป่าแป้น วัดหาดทราย วัดท่าไชยศิริ วัดไม้รวกสุขาราม วัดโพธาวาส วัดเสาธงเรียง มายังวัดท่าศิริในเขตตำบลบ้านหม้อ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรีมีโคกเนินอันเป็นที่ตั้งของมหาสถูปใหญ่ที่เรียกว่า เจดีย์แดง เป็นพระเจดีย์แบบสุพรรณภูมิ-อโยธยาที่มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา พระเจดีย์องค์นี้ถูกบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงทำให้ทางราชการคิดว่าเป็นพระเจดีย์สมัยอยุธยา แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเป็นพระมหาสถูปใหญ่ที่ตั้งอยู่ชายขอบของเมืองเพชรบุรี ก่อนที่แม่น้ำเพชรบุรีจะไหลวกไปทางตะวันออก นับว่าเป็นตอนปลายสุดของลำน้ำเพชรบุรีตอนบน เพราะเหนือตำบลบ้านหม้อขึ้นไป นับเนื่องเป็นบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนกลาง เป็นเขตที่มีเขาลูกโดดที่สัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งเมืองเพชรบุรี ได้แก่ เขาบันไดอิฐ เขาวัง (พระนครคีรี) และเขาหลวง ซึ่งล้วนเป็นศาสนสถานสำคัญของเมือง
บ้านลาดยังเป็นท้องทุ่งนาและเป็นแหล่งทำน้ำตาลโตนดมาจนถึงปัจจุบัน (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนกลาง
โดยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ตัวเมืองเพชรบุรีจัดอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนกลาง ตั้งอยู่บนเนินเขาบันไดอิฐ เขาวัง และเขาหลวง ที่แม่น้ำเพชรบุรีไหลจากอำเภอบ้านลาดผ่านลงมาที่ราบลุ่มทางเหนือและทางตะวันออก อันเกิดจากการทับถมของโคลนตะกอนที่แม่น้ำเพชรบุรีและลำน้ำลำห้วยอื่นๆ ไหลลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรีทางด้านตะวันตก ทำให้เกิดเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ไปจดชายทะเลทางตะวันออก ที่เริ่มแต่แหลมผักเบี้ยอันเป็นจุดเริ่มต้นของทะเลตมไปจนถึงตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม และปากน้ำแม่กลอง ตำแหน่งที่เมืองเพชรบุรีตั้งอยู่ จึงนับว่าอยู่บนชายขอบที่สูงที่เป็นแนวชายฝั่งทะเลเดิม ที่เรียกว่าถนนท้าวอู่ทอง อันเป็นเส้นทางคมนาคมจากเมืองเพชรบุรีผ่านตำบลวังตะโก ตำบลหัวสะพาน ตำบลต้นมะพร้าว ตำบลหนองปรง อันเป็นที่ดอนใหญ่ พบโคกพระสถูปสมัยทวารวดีและโกลนพระพุทธรูปหิน ผ่านตำบลเขาย้อย ตำบลสระพัง จังหวัดเพชรบุรี ไปยังตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ผ่านชุมชนสมัยทวารวดีตั้งแต่วัดป่าไก่ไปบ้านหนองเกสรและเมืองคูบัว ผ่านเมืองคูบัวต่อไปยังเมืองราชบุรีที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง
จากหลักฐานทางโบราณคดี เมืองเพชรบุรีน่าจะเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับเมืองราชบุรีที่พัฒนาขึ้นเป็นเมืองใหญ่แทนเมืองคูบัว อันเป็นเมืองสมัยทวารวดี และเป็นนครรัฐร่วมสมัยกับเมืองสุพรรณภูมิ เมืองอโยธยา เมืองแพรกศรีราชา เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองพระเวียงที่นครศรีธรรมราช เมืองเพชรบุรีพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าริมทะเลที่ทุ่งเศรษฐี อันเป็นเมืองในสมัยทวารวดีที่ร่วมสมัยกับเมืองคูบัว ความเป็นนครรัฐที่เป็นเมืองท่า (Port city) ของเพชรบุรีนั้น เห็นได้จากตำแหน่งที่ตั้งและขนาดของเมือง คือตั้งอยู่ในบริเวณที่สูง แวดล้อมด้วยเขาที่เป็นศาสนสถานสำคัญของบ้านเมือง คือ เขาบันไดอิฐ เขาวัง และเขาหลวงที่มีหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 ลงมา และมีความรุ่งเรืองที่สุดในสมัยอยุธยา จึงอาจกล่าวได้ว่าเพชรบุรีคือเมืองสมัยอยุธยาที่มีความสืบเนื่องทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม รวมทั้งลักษณะบ้านเรือนและลวดลายปูนปั้นประดับวัดวาอาราม
เมืองเพชรบุรีมีขนาดกว้างยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจตุรัส มีกำแพงเมืองที่สร้างมาหลายครั้ง และใช้แม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลผ่านหน้าเมืองทางด้านตะวันตกเป็นคูเมือง โดยมีชานกำแพงกว้างสำหรับจอดเรือและขนถ่ายสินค้า ส่วนกำแพงเมืองด้านอื่นมีชานกำแพงและขุดคูคลองโดยรอบ เพื่อให้เรือราษฎรจอดได้ เพราะเพชรบุรีเป็นเมืองที่มีการคมนาคมทางน้ำ คล้ายกันกับอยุธยา กรุงเทพฯ และนครศรีธรรมราช ดังเห็นได้จากเส้นทางน้ำที่เป็นลำคลองเล็กๆ กระจายอยู่ทางด้านเหนือและด้านตะวันออกในที่ราบลุ่มไปถึงชายฝั่งทะเล
แม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลผ่านตัวเมือง ใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปสู่อำเภอต่างๆ และคนต่างอำเภอก็นำสินค้าขึ้นล่องมาขาย
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง
จากเมืองเพชรบุรี แม่น้ำเพชรบุรีไหลลงสู่ที่ราบลุ่มทางเหนือ ผ่านเขาหลวงลงสู่พื้นที่ที่เคยเป็นทะเลเดิม บริเวณนี้นับเป็นลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนปลายหรือตอนล่าง ที่แม่น้ำนำโคลนตะกอนมาถมสองฝั่งน้ำให้สูง เป็นบริเวณที่เกิดชุมชนบ้านสวนตามลำน้ำ รวมทั้งมีพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ในการทำนา มีการขุดคลองแยกและคลองซอยเพื่อการตั้งถิ่นฐานชุมชนและวัดไปทั่ว ตามเส้นทางที่ลำน้ำไหลผ่านมีชุมชนใหญ่ๆ หลายแห่ง มีวัดตั้งอยู่เป็นระยะ เช่น ชุมชนในเขตตำบลบ้านกุ่ม ที่มีการขุดคลองท่าแร้งแยกจากแม่น้ำเพชรบุรีไปทางตะวันออก ลงสู่ปากทะเลที่บางขุนไทร เป็นต้น ส่วนแม่น้ำเพชรบุรีไหลขึ้นเหนือมาถึงบ้านปากคลองก็หักเหไปทางตะวันออก ผ่านตำบลบางครกและวัดบางลำภูไปออกทะเลที่บ้านแหลม
ณ บริเวณวัดปากคลองมีการขุดคลองต่อจากแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นมาทางเหนือ นับเนื่องเป็นลำน้ำเพชรบุรี ผ่านตำบลบางครกที่เป็นดินดอนกว้างใหญ่ อันเกิดจากการสะสมของตะกอนแม่น้ำและลำน้ำที่ไหลจากเขาและที่สูงทางตะวันตก จากชายฝั่งทะเลเดิมเป็นแนวยาวไปจดอ่าวบางตะบูน ลำน้ำเพชรบุรีที่เป็นคลองขุดยาวไปถึงเขาตะเครา อันเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญของเพชรบุรีแห่งหนึ่ง และผ่านเขาตะเคราขึ้นเหนือไปสมทบกับคลองบางสามแพรกในบริเวณวัดคุ้งตำหนัก กลายเป็นลำคลองไหหลำไหลไปออกทะเลที่อ่าวบางตะบูน
การขุดคลองจากวัดปากคลองไปเขาตะเครา และต่อขึ้นไปทางเหนือจนถึงวัดคุ้งตำหนัก สบกับคลองบางสามแพรกกลายเป็นลำน้ำใหญ่ไปออกปากอ่าวบางตะบูนดังกล่าว น่าจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงการเสด็จมาตกปลาทะเลของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ในสมัยอยุธยาตอนปลาย และประทับแรมอยู่ ณ วัดคุ้งตำหนัก เพราะบริเวณอ่าวบางตะบูนเป็นทะเลตมที่อุดมสมบูรณ์ด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นเส้นทางคมนาคมจากอยุธยาไปเพชรบุรีทางทะเลด้วย เพราะเมื่อเดินทางเข้ามาที่อ่าวบางตะบูนแล้ว จะสามารถเดินทางผ่านคลองขุดที่กลายเป็นลำน้ำเพชรบุรีไปยังเมืองเพชรบุรีได้
บ้านแหลม บางตะบูน อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างใกล้กับปากแม่น้ำที่ออกสู่ทะเล
ผู้คนในเขตนี้จึงทำนาเกลือมาแต่โบราณ ทั้งยังทำประมงและเลี้ยงหอยในท้องทะเลอีกด้วย
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการขุดคลองต่อจากลำน้ำเพชรบุรี จากวัดปากคลองมาออกปากอ่าวบางตะบูนนั้น มีความหมายต่อการขยายตัวในการตั้งหลักแหล่งชุมชนบ้านเมืองชายทะเล จากปากแม่น้ำแม่กลองมาสู่พื้นที่ป่าชายเลนที่มีการงอกขึ้นใหม่ จากการทับถมของโคลนตะกอนแม่น้ำและลำน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาและที่สูงทางตะวันตก เป็นดินดอนเกิดใหม่นอกชายขอบทะเลเดิมที่เรียกว่าถนนท้าวอู่ทอง แต่ทว่าการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดินดอนที่เคยเป็นป่าชายเลนดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ง่าย เพราะขาดน้ำจืดในการอุปโภคบริโภค ดังนั้นเมื่อมีการขุดคลองจากลำน้ำเพชรบุรีไปยังอ่าวบางตะบูน จึงเป็นการช่วยนำน้ำจืดลงไปยังพื้นที่รอบอ่าว เป็นเหตุให้ผู้คนจากอ่าวบางตะบูนต้องนำเรือจากแหล่งที่อยู่อาศัยรอบอ่าวที่มีแต่น้ำกร่อยน้ำเค็ม ไปบรรทุกน้ำจืดที่มาจากแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค เกิดเป็นประเพณีที่สังคมของคนบางตะบูนเรียกว่า การล่มน้ำ ซึ่งหมายถึงการนำเรือกระแชงขึ้นไปยังบริเวณเขาตะเครา ระยะทางราว 4 กิโลเมตรที่น้ำจืดจากแม่น้ำเพชรบุรีลงมาถึง แล้วเอียงกราบเรือให้จม เอาน้ำเข้าเรือให้เพียงพอกับความต้องการแล้วนำกลับไปยังที่อยู่อาศัย