หลา

หลา

 

“ศาลา” เป็นอาคารโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมากการสร้างศาลาจะทำขึ้นเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ในพระพุทธศาสนาการสร้างศาลาถือเป็นการบริจาคทานอย่างหนึ่งที่ให้อานิสงส์ผลบุญมาก อาคารประเภทนี้พบทั่วไปตามวัดและชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

 

ศาลาแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามลักษณะการใช้งาน เช่น ศาลากลางหนหรือที่พักริมทางสัญจร ศาลาท่าน้ำใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ ศาลาโรงธรรมหรือศาลากลางบ้าน บ้างเรียกว่า ศาลากลางย่าน สำหรับเป็นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชน ศาลาการเปรียญสำหรับเป็นที่ให้พระสงฆ์แสดงธรรมและใช้ประกอบพิธีกรรมทำบุญเลี้ยงพระ ศาลาบาตรมีลักษณะเป็นโรงยาว มีแท่นฐานสำหรับตั้งบาตรได้หลายลูก ใช้เป็นที่ทำบุญตักบาตร ศาลาตั้งศพ เป็นต้น

 

"ศาลาหลบเสือ" ที่ ต.หัวเขา อ. สิงหนคร จ.สงขลา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันได้รับการซ่อมบูรณะแล้ว

 

ในภาษาถิ่นภาคใต้เรียกศาลาเป็นคำสั้นๆ ว่า “หลา” เป็นอาคารที่มีประโยชน์ใช้งานไม่ต่างจากภาคอื่นๆ เว้นแต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ตลอดจนวัสดุก่อสร้าง มีการออกแบบและเลือกสรรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ตั้งแต่อำเภอระโนดจนถึงหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พบว่ามีหลาหรือศาลาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ศาลากลางหน ซึ่งเป็นศาลาที่พักตามริมทาง มักตั้งอยู่ตามจุดสำคัญ เช่น ปากคลอง ทางเข้าชุมชนหมู่บ้าน บริเวณด้านหน้าวัด มัสยิด หรือสถานที่สำคัญ โดยมีทั้งที่สร้างเป็นอาคารไม้มุงกระเบื้องดินเผาแบบดั้งเดิม และที่บูรณะซ่อมแซมด้วยวัสดุก่อสร้างที่คงทนมากยิ่งขึ้น

 

ศาลาใกล้ฮวงซุ้ยเจ้าเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านในละแวกนั้น 

 

ศาลาปากซอยข้างป่าช้า ต.กระดังงา อ.สทิงพระ ริมถนนสาย 408

รายล้อมด้วยเจดีย์บรรจุอัฐิและฮวงซุ้ย อาจใช้สำหรับเป็นสถานที่ทำบุญอุทิศส่วนกุศล

 

สมัยที่ยังไม่มีถนนและรถยนต์ การเดินทางของผู้คนในคาบสมุทรสทิงพระใช้การเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดและมีฝนตกชุก จึงมีการสร้างศาลาขึ้นตามริมทางสัญจรเป็นระยะๆ เพื่อใช้เป็นที่พักพิงระหว่างทาง หลบแดดหลบฝน บางแห่งก็จะขุดบ่อน้ำไว้ใกล้กัน และหากเป็นศาลาที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลอง มักสร้างสะพานข้ามคลองไว้พร้อมกันด้วย ตามทุ่งนาก็มีศาลาสร้างไว้เช่นกัน เพื่อเป็นที่พักของชาวนาและคนที่ไปขึ้นตาลโตนดที่สมัยก่อนยังใช้การเดินเท้าหาบเลียงข้าว (ฟ่อนข้าว) หรือกระบอกรองน้ำตาลโตนดกลับมายังบ้าน

 

ศาลาหน้าวัดสุวรรณคีรี ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ตรงกลางยกพื้นเป็นร้านนั่ง และทำชายคายื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันแดดฝน 

 

ศาลาขนาดเล็กที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย เป็นพื้นที่ใช้สอย ภายในวัดธรรมโฆษณ์ ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ. สงขลา

 

การสร้างศาลากลางหนเหล่านี้ สร้างขึ้นด้วยการเรี่ยไรเงินของชุมชน บางแห่งมีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นสาธารณูปโภคโดยข้าราชการท้องถิ่น หรือสร้างขึ้นโดยผู้มีทรัพย์ที่ต้องการบริจาคทานและอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

 

"ศาลาคุณแม่เดียน" ภายในวัดสีหยัง อ.ระโนด จ.สงขลา สร้างขึ้นเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ