พันนาพูเลา จากเชียงแสนสู่สันกำแพง

พันนาพูเลา จากเชียงแสนสู่สันกำแพง

 

เชื่อว่าคนบ้านต้นเปาถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองพันนา ไม่ใช่คนเชียงใหม่ดั้งเดิม คนเชียงใหม่ยุคนั้นมาจากเชียงตุง เชียงแสน สิบสองพันนา ดูจากสำเนียงภาษาคนเชียงใหม่สมัยก่อน พูดคนละสำเนียง พวกต้นเปาพูดสำเนียงไทเขิน พวกดอยสะเก็ดออกไทลื้อ สันกำแพงก็เป็นไทลื้อด้วย มีไทเขินด้วย บรรพบุรุษของคนบ้านต้นเปานำภูมิปัญญาการทำกระดาษสามาจากสิบสองพันนา” พ่อหลวงแก้ว หรือนายวิจิตร ญี่นาง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านต้นเปา เล่าประวัติความเป็นมาของชาวบ้านต้นเปาตามที่เคยได้ยินได้ฟัง

 

คำอธิบายถึงที่มาของชาวสันกำแพงอีกสำนวนหนึ่งซึ่งสอดคล้องและถูกบอกเล่าถ่ายทอดกันมาเสมอนั้น มีที่มาจากศิลาจารึกหมื่นดาบเรือนที่พบภายในวัดเชียงแสนหรือวัดสาลกัญณมหันตาราม ตามชื่อเรียกที่ปรากฏในศิลาจารึก ก่อนได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพดี วัดเชียงแสนเคยเป็นศาสนสถานร้างที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาขุนตาลบนระดับความสูงประมาณ 380 เมตร ในเขตพื้นที่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีลำน้ำแม่ผาแหนไหลผ่านทางทิศตะวันออก โดยทางน้ำนี้อยู่ห่างออกไปเพียง 100 เมตร ส่วนทางทิศตะวันตกของวัดมีลักษณะลาดลงสู่ที่ต่ำซึ่งเป็นทั้งทุ่งนาและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหลายชุมชน โดยมีวัดป่าตึงเป็นศาสนสถานสำคัญซึ่งอยู่ห่างจากวัดเชียงแสนไปทางทิศตะวันตกราว 2.5 กิโลเมตร

 

 

อาคารพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง ณ วัดป่าตึง ต. ออนใต้ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ 

 

ศิลาจารึกหมื่นดาบเรือนถูกพบฝังดินอยู่ภายในวัดเชียงแสน (ร้าง) โดยพระครูจันทสมานคุณ หรือครูบาหล้าแห่งวัดป่าตึง ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2475 ท่านได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าตึง ก่อนย้ายมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพงภายในวัดป่าตึง ศิลาจารึกหลักนี้มีลักษณะเป็นแท่งหินทรายรูปสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 42 เซนติเมตร สูง 1.20 เมตร แต่ละด้านจารตัวอักษรไทยล้านนา สภาพแตกหักเล็กน้อย มีข้อความที่ถอดได้ดังนี้

 

เมื่อพระเจ้าศรีสัทธัมมังกูรมหาจักรวรรดิราชาธิราช ได้ขึ้นครองราชย์ในเมืองพิงค์เชียงใหม่ ก็ทรงโปรดฯ ให้มนตรีผู้หนึ่ง ชื่อ อติชวญาณบวรสิทธิ เป็น หมื่นดาบเรือน

ในปีจุลศักราช 850 ตัว (ตรงกับปี พ.ศ. 2031-2032) ปีวอกสัมฤทธิศกเดือน 7 ขึ้น 8 ค่ำ วันกาบสี (พุธ) หมื่นดาบเรือนได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธาทั้งมวลมีชาวพูเลาเป็นต้น มาร่วมกันสร้างมหาวิหาร มหาเจดีย์ หอพระไตรปิฎก ปลูกไม้มหาโพธิ์ เสร็จแล้วตั้งชื่อว่า สาลกัลญาณมหันตราม พระเจ้าศรีสัทธัมมังกูรพระราชทานขอบเขตให้วัดนี้ หมื่นดาบเรือนอาราธนาพระสงฆ์จากวัดต่างๆ เช่น มหาเถรสุนธร วัดหมื่นพาย มหาเถรวชิรญาณ วัดหมื่นครืน มหาเถรอนัทปัญญโญ และพระสงฆ์อีก 9 รูป มาอุปถัมภ์วัดนี้

ปีจุลศักราช 853 (พ.ศ. 2034-2035) พระเจ้าศรีสัทธัมมังกูรมหาจักรวรรดิราชาธิราช พระราชทานนามีค่า 450,000 เบี้ยแก่หมื่นดาบเรือน หมื่นดาบเรือนก็เอามาถวายวัดสาลกัลญาณมหันตารามนี้ โดยอ้างพันญาณรังสี ล่ามร้อยพรม ล่ามโสมดาบเรือน ตนเจ้าหมอสะเมธาชื่อนายแก้วเป็นพะยาน

นอกจากนี้หมื่นดาบเรือนได้ถวายข้าพระ 25 ครัว รวม 78 คน และแสดงบัญชีค่าก่อสร้างเจดีย์ 14,600 เบี้ย สร้างมหาวิหาร 11,700 เบี้ย สร้างหนังสือ 20,000 เบี้ย ผ้าห่อหนังสือ 1,000 เบี้ย ค่าหล่อพระพุทธรูป 5 องค์ รวมค่าช่าง 6,000 เบี้ย ค่าครัวข้าวัด 20,560 เบี้ย ถวายเงินเป็นนิจจภัตต์ ปัจจัย 3,000 เบี้ย เพื่อเก็บดอกผลนำมาทำจังหันถวายพระสงฆ์ 10 สำรับ ค่าทำสำรับอีก 300 เบี้ย รวมเป็น 148,960 เบี้ย

หมื่นดาบเรือนขอให้บุญทั้งมวลที่กระทำจงเป็นปัจจัยให้ตนได้พบปรารถนาแห่งปัญญาสัพพัญญุตญาณ และสาปแช่งไว้ว่าหากผู้ใดเอาไร่นา ข้าพระ ที่ตนถวายออกไปจากวัดนี้ ขอให้พบภัยพิบัติไฟไหม้ในอบายทั้งสี่อย่าให้หนีพ้น

 

 

 

ศิลาจารึกหมื่นดาบเรือนในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง จ.เชียงใหม่

 

สำหรับพระพุทธรูป 5 องค์ที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ปัจจุบันพบเพียง 2 องค์ ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ภายในวัดป่าตึงตั้งแต่สมัยครูบาหล้า พระพุทธรูปทั้ง 2 องค์เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย องค์แรกคือ พระเจ้าฝน หรือ พระเจ้าฝนแสนห่า หน้าตักกว้าง 68.5 เซนติเมตร สูง 106 เซนติเมตร ที่ฐานเขียงมีข้อความจารด้วยอักษรไทยล้านนา ความว่า พระเจ้าฝนนี้หนักแสนทอง เจ้าหมื่นกัลญาณดาบเรือนให้หล่อในปีเปลิกสัน ไว้ให้คนทั้งหลายไหว้ บุญอันนี้จะให้เป็นปัจจัยแก่---สัพพัญญุตญาณเทอญ บุญอันนี้จงจำเริญแก่สัตว์ทั้งหลายในอนันตวัตร

 

พระพุทธรูปองค์ที่ 2 มีขนาดใหญ่กว่าพระเจ้าฝน คือมีหน้าตักกว้าง 115 เซนติเมตร สูง 156 เซนติเมตร และไม่พบจารึกที่ฐาน โดยเมื่อเปรียบเทียบจากลักษณะทางพุทธศิลป์แล้ว พระพุทธรูปองค์ใหญ่น่าจะสร้างขึ้นก่อนพระเจ้าฝน คือสร้างเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 จึงอาจไม่ใช่หนึ่งในพระพุทธรูปที่ระบุในจารึก อย่างไรก็ดี จากข้อความในศิลาจารึกนอกจากจะทำให้ทราบชื่อเดิมของวัดเชียงแสนแล้ว ยังทำให้ทราบว่า ศาสนสถานสำคัญแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี จ.ศ. 850 หรือปี พ.ศ. 2031-2032 ตรงกับสมัยพระยอดเชียงราย ซึ่งอาจเป็นอีกพระนามของพระเจ้าศรีสัทธัมมังกูรมหาจักรวรรดิราชาธิราชตามชื่อที่ปรากฏในจารึกก็เป็นได้

 

ภาพพระเจ้าฝนหรือพระเจ้าฝนแสนห่าจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง 

 

แผนที่แสดงตำแหน่งวัดป่าตึง วัดเชียงแสน และแหล่งเตาเผา จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์  

 

สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก [1] สันนิษฐานไว้ตอนหนึ่งว่า แม้ข้อความในจารึกจะไม่ได้กล่าวถึงการทำเครื่องปั้นดินเผาเลย แต่จากศาสนวัตถุเครื่องบูชาพระศาสนาที่ปรากฏและที่ดินซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่พระราชทานให้ ย่อมสะท้อนได้ถึงความสำคัญของพื้นที่นี้ ซึ่งหากพิจารณาจากทำเลที่ตั้งจะพบว่าไม่เหมาะสำหรับการเป็นชุมชนเกษตรเข้มข้นที่ผลิตจนได้ผลดี ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่กลับมีวัตถุดิบที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา ดังพบโบราณวัตถุจำพวกเครื่องถ้วยและแหล่งเตาเผาในบริเวณใกล้เคียงหลายกลุ่ม ประกอบกับผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่องค์ก่อนหน้าพระยอดเชียงรายคือ พระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1985-2030) ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่เมืองเชียงใหม่เจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ชุมชนแถบวัดเชียงแสนในช่วงนั้นจึงน่าจะเติบโตและเป็นชุมชนสำคัญ เพราะเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงแหล่งใหญ่ที่สืบทอดต่อมาจากสมัยก่อนหน้า โดยมีหมื่นดาบเรือนผู้มั่งคั่ง ทำหน้าที่ผู้นำท้องถิ่นและเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ดูแลควบคุมกิจการของชุมชนแห่งนี้

 

หมื่นดาบเรือนได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธาทั้งมวลมีชาวพูเลาเป็นต้น” กลุ่มคนที่หมื่นดาบเรือนชักชวนให้อพยพย้ายจากถิ่นฐานเดิมอาจมีหลายกลุ่ม แต่คนกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มสำคัญซึ่งมีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่ย้ายเข้ามาพร้อมกันในครั้งนั้นคือกลุ่มชาวพูเลา เชื่อว่าหมายถึงพันนาพูเลา [2]  ซึ่งสมัยนั้นขึ้นตรงต่อเมืองเชียงแสน ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย ชาวพูเลาถูกระบุว่าชักชวนให้ย้ายมาเพื่อ “ร่วมกันสร้างมหาวิหาร มหาเจดีย์ หอพระไตรปิฎก ปลูกไม้มหาโพธิ์ชื่อของชาวพูเลาที่ปรากฏในศิลาจารึกหมื่นดาบเรือนจึงเป็นที่มาของเรื่องเล่าสืบต่อกันในหมู่ชาวสันกำแพงว่า บรรพบุรุษรุ่นเก่าของตนน่าจะอพยพย้ายถิ่นและสืบสายรากเหง้ามาจากชาวพันนาพูเลา แขวงเมืองเชียงแสน

 

เจดีย์วัดเชียงแสน 

 

ทั้งนี้หากพิจารณาจากข้อมูลการอพยพเทครัวของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์มาหลายครั้ง เช่น คราวพระเจ้าบุเรงนองยกทัพเข้ายึดเมืองและกวาดต้อนช่างฝีมือจำนวนมากกลับไปยังพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2101 เหตุการณ์ในช่วงสมัยธนบุรีที่เมืองเชียงใหม่ยังไม่พ้นจากการรุกรานของพม่า ต้องระส่ำระสายถูกโจมตีเพื่อยึดเมืองคืนอยู่บ่อยครั้ง จนบ้านเมืองมีสภาพไม่ต่างจากเมืองร้าง รวมทั้งคราวเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองในสมัยพระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้กวาดต้อนผู้คนจำนวนมากจากชุมชนทางเหนือเข้ามาอาศัยในเมืองเชียงใหม่ หลังเมืองเชียงแสนแตกเมื่อปี พ.ศ. 2347 ก็มีความเป็นไปได้ว่า คนสันกำแพงอาจไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวพูเลาตามที่เข้าใจและเล่าสืบต่อกันมา โดยพลเมืองชาวเชียงใหม่รวมทั้งที่อาศัยในพื้นที่แถบสันกำแพงสมัยหลังการเข้ามาของชาวพูเลา คงมีการเคลื่อนย้ายถ่ายเททิ้งร้างและผสมผสานกับคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาในแต่ละช่วงสมัย จนไม่อาจระบุกลุ่มคนหรือช่วงศักราชชัดเจนเริ่มแรกได้

 

 

อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน ต. ออนใต้ อ.สันกำแพง 

 

อย่างไรก็ดี จากการดำเนินงานขุดตรวจชั้นดินภายในวัดเชียงแสนหรือวัดสาลกัลญาณมหันตารามเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยกรมศิลปากร พบว่าชั้นดินก่อนการสร้างวัดเชียงแสนมีชิ้นส่วนเครื่องเคลือบสีเขียวอ่อนจากกลุ่มเตาวัดเชียงแสนปะปนอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงจากกลุ่มเตาต่างๆ น่าจะเกิดขึ้นก่อนการสร้างวัดเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 2031-2032 หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ 21 จึงเป็นไปได้ว่าในพื้นที่ริมลำน้ำแม่ผาแหน ลำน้ำแม่ออนและลำน้ำสาขาสายเล็กสายรองในพื้นที่อำเภอสันกำแพงซึ่งพบร่องรอยกิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงนั้น น่าจะมีชุมชนช่างปั้นอาศัยอยู่ก่อนการเข้ามาของกลุ่มชาวพูเลาแล้ว โดยกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงนี้ อาจมีส่วนหนึ่งที่เคลื่อนย้ายสลับสับเปลี่ยนกับชาวพูเลาและคนกลุ่มอื่นที่เข้าออกเมืองในสมัยหลัง ก่อนทิ้งร้างไปในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ดังพบว่าการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงขาดหายไป ไม่สืบช่วงลงมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

 

เชิงอรรธ 

[1] โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, แหล่งเตาล้านนา, (กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2533).

[2] อุษณีย์ ธงไชย (2558) ให้ความหมายว่า พันนา คือหน่วยปกครองที่อยู่ภายใต้ศูนย์กลางและเมือง แต่ละพันนามีผู้ปกครองตำแหน่งหมื่นคอยควบคุมดูแล เช่น หมื่นเรืองปกครองพันนาท่ากาน หมื่นทวรปกครองพันนาทวร เป็นต้น หน้าที่ของพันนาคือส่งส่วยและกำลังคนให้กับเมือง และเมื่อเกิดสงครามก็จะถูกเกณฑ์มาช่วยเมืองในการทำสงครามด้วย

 

(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงโบราณและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)     

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ