ช่างตีเหล็กบ้านสันมะฮกฟ้า

ช่างตีเหล็กบ้านสันมะฮกฟ้า

 

การตีเหล็กเป็นงานหัตถกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนเช่นเดียวกับงานปั้นดินเผา เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาอยู่หากินของผู้คนทุกยุคสมัย โดยแต่ละชุมชนมักมีงานหัตถกรรมทั้งสองอย่างอยู่ควบคู่กัน ที่บ้านสันมะฮกฟ้า ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมมีช่างตีเหล็กที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น ทว่าผู้สืบทอดรุ่นปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว ช่างตีเหล็กที่บ้านสันมะฮกฟ้าจึงเหลือเพียงความทรงจำ...  

 

ช่างตีเหล็กบ้านสันมะฮกฟ้า

บ้านสันมะฮกฟ้า ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสี่แยกบ่อสร้าง เป็นย่านที่ชาวไทเขินตั้งรกรากมายาวนาน งานหัตถกรรมของบ้านสันมะฮกฟ้าที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคืองานเครื่องหวาย นอกจากนี้ยังเคยมีช่างตีเหล็กที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เท่าที่สืบชั้นบรรพบุรุษขึ้นไปได้ นับตั้งแต่รุ่นทวดอุ๊ยหมา ลือชา สืบต่อมายังรุ่นตาเติง ลือชา ผู้เป็นบุตรชายของทวดอุ๊ยหมา และคุณชัยวัฒน์ ลือชา บุตรชายของตาเติง ตามลำดับ ในรุ่นของคุณชัยวัฒน์โดยมากรับงานตีเหล็กประเภทเครื่องมือทำการเกษตรและมีดชนิดต่างๆ แต่ด้วยปัญหาสุขภาพทำให้คุณชัยวัฒน์ต้องยุติการผลิตเครื่องมือเหล็กไปเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตาม ที่บ้านยังคงเก็บรักษาเตาหลอม อ่างน้ำ และเครื่องมือในการผลิตต่างๆ ส่วนผู้สานต่องานช่างตีเหล็กรุ่นปัจจุบันคือ คุณเอนก ลือชา หลานชายของคุณชัยวัฒน์ ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก โดยยังยึดอาชีพช่างตีเหล็กและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเปิดเป็นโรงผลิตขนาดย่อม

 

คุณชัยวัฒน์ ลือชา ช่างตีเหล็กฝีมือดีแห่งบ้านสันมะฮกฟ้า ปัจจุบันเลิกผลิตแล้วด้วยปัญหาสุขภาพ (ภาพจากนิตยสาร เข็มทิศเชียงใหม่)

 

เตาเผาและเครื่องมือการตีเหล็กที่บ้านสันมะฮกฟ้ายังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม แม้จะยุติการทำไปแล้ว

 

การสืบทอดและต่อยอดผลิตภัณฑ์

คุณเอนกกล่าวย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการช่างตีเหล็กว่าเป็นเพราะได้คลุกคลีอยู่กับตาเติงมาตั้งแต่เล็ก ได้เห็นการผลิตเครื่องมือเหล็กชนิดต่างๆ มาโดยตลอด เมื่อโตขึ้นจึงได้ช่วยทำงานชิ้นเล็กๆ ก่อน เริ่มจากการเจียเหล็กแหลมที่นำไปติดตั้งตามแนวรั้ว ต่อมาพัฒนาฝีมือเป็นการผลิตมีดเหลา (มีดขนาดเล็ก มักใช้เหลาเส้นตอกไม้ไผ่) ก่อนจะเริ่มผลิตชิ้นงานที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่โป่ง คุณเอนกเริ่มรับงานซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้บอกกันปากต่อปากจึงทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หลังจากที่คุณชัยวัฒน์ ผู้เป็นน้าชาย เลิกผลิตเครื่องมือเหล็กแล้วก็ได้แนะนำลูกค้าเก่าที่เคยอุดหนุนให้มายังแหล่งผลิตแห่งใหม่นี้ด้วย อย่างไรก็ดี รูปแบบเครื่องมือเหล็กที่ผลิตในปัจจุบันได้พัฒนาไปตามสมัยนิยมและความสนใจของตนเองมากขึ้น เนื่องจากมีความสนใจอาวุธของมีคมต่างๆ มาตั้งแต่สมัยเรียน โดยเรียนรู้จากนิตยสารอยู่เสมอ ปัจจุบันจึงเน้นผลิตมีดสวยงามซึ่งเป็นของสะสม โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ที่สนใจซึ่งอยู่ในแวดวงเดียวกัน

 

 

คุณเอนก ลือชา ทายาทรุ่นที่ 4

 

การผลิตและปรับตัว

การผลิตเริ่มจากเลือกรูปแบบที่สนใจแล้วหาวัตถุดิบต่างๆ ประกอบด้วยเหล็กแหนบ นำไปเผาโดยใช้เชื้อเพลิงจากถ่านไม้รัก แล้วนำมาตีขึ้นรูปโดยใช้ค้อนตีบนทั่งเหล็ก เมื่อตีขึ้นรูปแล้วจึงนำไปเจียด้วยสายพานมอเตอร์ KMG จนเรียบเนียน จากนั้นนำไปขัดด้วยกระดาษทรายละเอียด เพื่อให้ใบมีดมีความมันวาวแลดูสวยงาม นอกจากนี้องค์ประกอบที่สำคัญของมีดสวยงามเหล่านี้คือด้ามและฝัก ซึ่งทำมาจากไม้ที่มีลวดลายเนื้อไม้สวยงาม ชนิดไม้ที่นิยม เช่น  ไม้ขี้เหล็ก ไม้ประดู่ ไม้พยุง โดยจำหน่ายกันในราคาแท่งละ 600 บาท สามารถนำมาทำเป็นด้ามหรือฝักได้ 2 ชิ้น เมื่อกระบวนการผลิตเสร็จเป็นที่เรียบร้อยจะได้มีดที่สมบูรณ์และสวยงาม เช่น มีดพกและดาบรูปแบบต่างๆ สนนราคาราว 1,500 บาท ขึ้นไป ต่างจากการผลิตมีดที่ใช้ในชีวิตประจำวันแต่เดิม ซึ่งมีราคาราว 300 บาท ถือเป็นการต่อยอดงานหัตถกรรมเดิมให้สามารถเพิ่มรายได้ในปัจจุบัน

 

ถึงแม้จะผลิตมีดสวยงามเพื่อการสะสมเป็นหลัก แต่มีดประเภทที่ใช้งานและเครื่องมือการเกษตร

ยังคงผลิตออกมาเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวบ้านทั่วไป

 

สำหรับกลยุทธ์การขาย แต่เดิมนั้นเป็นการผลิตเพื่อขายให้กับคนในชุมชน แต่ปัจจุบันสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มผู้คนที่หลากหลายและสะดวกรวดเร็ว จึงเปลี่ยนมาขายโดยใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก โดยประกาศขายตามเพจซื้อ-ขายของมีคมต่างๆ ซึ่งมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังมีผู้ติดต่อสั่งทำเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเองก็สามารถซื้อหามีดสวยงามเพื่อนำไปสะสมได้โดยสะดวก

 

การผลิตมีดสมัยใหม่เน้นที่ความสวยงามเป็นหลัก

 

ความเชื่อที่ดำรงอยู่

ถึงแม้วิถีการผลิตและการซื้อขายจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทว่าคติความเชื่อที่เคยสืบทอดต่อกันมายังคงฝังรากลึก ทั้งการไหว้ครูช่างเพื่อแสดงความเคารพต่อครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาช่าง โดยนำอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ มาวางบนโต๊ะ มีการจัดขันครู น้ำส้มป่อย เหล้า 1 ไห ไก่ 1 คู่ เพื่อใช้ประกอบในพิธี โดยเลือกวันพญาวัน หรือวันที่ 15 เมษายน อันเป็นวันมงคลที่สุดในรอบปีของชาวล้านนา เป็นวันที่ทำพิธีดังกล่าว นอกจากนี้ทุกวันพระยังมีการไหว้ครูช่างโดยใช้หมวกของตาเติงที่นำมาเก็บไว้ที่บนหลังตู้เป็นสิ่งของแทนครูช่างรุ่นบรรพบุรุษ มีการจัดขันครูซึ่งประกอบด้วยดอกไม้ธูปเทียนนำมาสักการะ สำหรับข้อห้ามที่ส่งต่อกันมายังศิษย์รุ่นต่างๆ ก็มี เช่น ห้ามผลิตของมีคมในวันพระเพราะเชื่อว่าเป็นวันที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จะหยุดเว้นการปกปักรักษาตัวของช่าง ซึ่งหากทำงานในช่วงเวลานี้ก็อาจเป็นอันตรายได้ อีกความเชื่อหนึ่งที่เป็นคำแนะนำของตาเติงคือ ห้ามรับซ่อมดาบเก่าหรือดาบโบราณ เพราะเชื่อว่าอาจมีอาถรรพ์ติดตามมาจากการเข่นฆ่าชีวิตผู้คนหรือสัตว์ต่างๆ อาจนำมาซึ่งผลร้ายต่อผู้ตัวของผู้ซ่อมนั่นเอง

 

(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงโบราณและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)     

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ