“ส่วนมากจะอยู่ริมเขา ไม่ไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แถบวัดเชียงแสนก็มีหลายเตา แล้วยังพบที่ห้วยตาล บ้านป่าแงะ บ้านห้วยหม้อ บ้านป่าตึง ที่ห้วยลานซึ่งตอนนี้เป็นอ่างเก็บน้ำก็พบเยอะ ใกล้ๆ เตาเคยพบเสียมหิน เศษกระดูก เครื่องมือเหล็กด้วย”
ทวี กันตีฟอง ชาวบ้านบ้านป่าตึงวัย 65 ปีเล่าภาพจำ ก่อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องถ้วยที่พบจากแหล่งเตาต่างๆ นั้น ส่วนมากมักพบโดยบังเอิญจากการทำเกษตร หลักฐานที่พบจึงมีทั้งที่สมบูรณ์และแตกหักเสียหาย บางส่วนจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์วัดป่าตึง ระยะแรกหลังข่าวการพบเครื่องถ้วยแพร่กระจายออกไปจึงมีพ่อค้าคนกลางหลายคนมาติดต่อขอซื้อ ชาวบ้านเห็นว่าเป็นของมีราคาก็เริ่มออกขุดหาเพื่อส่งขาย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อราว 60 ปีก่อน ภาพชินตาในวัยเด็กของคุณทวีคือรถยนต์คันใหญ่วิ่งเข้าออกหมู่บ้าน ถ้าทราบข่าวว่าบ้านไหนพบเครื่องถ้วยชิ้นสมบูรณ์ ก็จะมีพ่อค้าคนกลางมาขอซื้อถึงบ้านในราคาหลายพันบาท คนแรกๆ ที่เข้ามาซื้อเครื่องถ้วยและทำให้เครื่องถ้วยสันกำแพงเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือนายไกรศรี นิมมานเหมินท์
ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยบางส่วนจากแหล่งเตาสันกำแพงในความครอบครองของคุณทวี กันตีฟอง
คุณทวียังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า มีชาวบ้านเคยพบเครื่องถ้วยจากเตาเวียงกาหลงและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงร่วมกับเครื่องถ้วยสันกำแพง แต่พบในปริมาณน้อย จึงอาจเป็นไปได้ที่เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาอื่นจะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวอย่างในการผลิตเท่านั้น และหากใกล้เตาเผาพบภาชนะที่ตกแต่งด้วยลวดลายแบบใด ในเตาเผานั้นก็จะเป็นภาชนะที่ตกแต่งด้วยลวดลายแบบเดียวกันเสมอ เป็นต้น
บรรยากาศการซื้อขายเครื่องถ้วยสันกำแพงที่บ้านป่าตึงในอดีต
ผู้ที่มาหาซื้อมีทั้งคนไทยที่มีฐานะและชาวต่างชาติ (เอื้อเฟื้อภาพโดย : คุณทวี กันตีฟอง)
เครื่องถ้วยที่พบจากแหล่งเตาสันกำแพงในความครอบครองของคุณทวี กันตีฟอง
แหล่งเตาสันกำแพง จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มเตาล้านนาซึ่งพบกระจัดกระจายในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แหล่งเตาในกลุ่มนี้ ได้แก่ แหล่งเตาเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แหล่งเตาวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง แหล่งเตาพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แหล่งเตาทุ่งเตาไห อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง แหล่งเตาบ้านแม่เตาไห อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งเตาห้วยแม่ต๋ำ และแหล่งเตาม่อนออม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา แหล่งเตาห้วยน้ำหยวก อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แหล่งเตาบ้านบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน แหล่งเตาวังไฮ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน แหล่งเตาเวียงท่ากาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และแหล่งเตาอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น แหล่งเตาสันกำแพงถูกพบกระจายตัวในเขตพื้นที่บ้านป่าตึง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง โดยพบมากในเขตหุบเขาริมลำห้วยสายเล็กสายรอง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำแม่ผาแหนและลำน้ำแม่ออน อย่างไรก็ดี แม้จะมีการลักลอบขุดหาเครื่องถ้วยและโบราณวัตถุจากแหล่งเตาต่างๆ ในพื้นที่มาเนิ่นนานก่อนปี พ.ศ. 2500 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วยล้านนาหลายท่านให้ความสนใจลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบ อีกทั้งกรมศิลปากรก็เห็นความสำคัญดังได้จัดส่งนักโบราณคดีมาสำรวจเก็บข้อมูลและดำเนินงานทางโบราณคดีเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับแหล่งเตาแห่งนี้มาแล้วหลายครั้ง
บรรยากาศการซื้อขายเครื่องถ้วยสันกำแพงที่บ้านป่าตึงในอดีต
ผู้ที่มาหาซื้อมีทั้งคนไทยที่มีฐานะและชาวต่างชาติ (เอื้อเฟื้อภาพโดย : คุณทวี กันตีฟอง)
กล้องยาสูบจากแหล่งเตาสันกำแพงในความครอบครองของคุณทวี กันตีฟอง
“ห่างจากตัวเมืองนครเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 23 กิโลเมตร ปรากฏว่าพบเศษเครื่องถ้วยเคลือบเรี่ยราดไปตามป่า ข้าพเจ้าได้สอบถามชาวบ้านใกล้เคียง ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดทราบว่าเศษเครื่องถ้วยเคลือบที่พบเรี่ยราดไปนั้น ได้มีมาตั้งแต่ครั้งไหนและสมัยไหน อีกประการหนึ่งชาวบ้านในตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพงนี้ ล้วนแต่อพยพเข้ามาอยู่ในตอนหลังๆ ทั้งสิ้น จึงไม่มีผู้ใดทราบถึงประวัติเดิมของท้องที่เท่าใดนัก โดยเหตุที่เครื่องถ้วยเคลือบนี้ได้พบภายในเขตท้องที่อำเภอสันกำแพง ข้าพเจ้าจึงขอเรียกชื่อว่า ‘เครื่องถ้วยสันกำแพง’...” [1] ผู้บัญญัติศัพท์เรียกเครื่องถ้วยสันกำแพงและเผยแพร่เรื่องราวของเครื่องถ้วยสันกำแพงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือนายไกรศรี นิมมานเหมินท์ โดยนายไกรศรีได้นำข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจแหล่งเตาสันกำแพงเมื่อปี พ.ศ. 2495 ไปบรรยายในงานสัมมนาโบราณคดีสุโขทัย เมื่อเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2503
บรรยากาศการซื้อขายเครื่องถ้วยสันกำแพงที่บ้านป่าตึงในอดีต
ผู้ที่มาหาซื้อมีทั้งคนไทยที่มีฐานะและชาวต่างชาติ (เอื้อเฟื้อภาพโดย : คุณทวี กันตีฟอง)
ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาสันกำแพงในความครอบครองของคุณทวี กันตีฟอง
ในครั้งนั้นนายไกรศรีให้ข้อมูลว่าได้สำรวจพบเตาสันกำแพงทั้งสิ้น 83 เตา มีทั้งเตาเผาที่ตั้งบนพื้นราบ อยู่ในเขตป่าทึบ และกระจายตัวอยู่ริมฝั่งลำน้ำแม่ผาแหน ลำน้ำแม่ออน และลำห้วยสายเล็กที่เชื่อมต่อกับลำน้ำทั้ง 2 โดยเตาเผาทั้งหมดไม่ใช่เตาแบบก่ออิฐเหมือนเตาสวรรคโลกและเวียงกาหลง แต่ใช้วิธีขุดโพรงตามเนินเขาแล้วปิดปากโพรงด้วยอิฐหรือดินเหนียว ส่วนเตาบนที่ราบจะขุดเป็นหลุมแล้วก่ออิฐปิดฝาหลุม ซึ่งนายไกรศรีเชื่อว่าการก่อเตาในลักษณะนี้ทำให้เตาเผาสันกำแพงไม่คงทน เมื่อถูกความร้อนสูงจะทำให้ผนังเตายุบพัง จึงน่าจะเป็นสาเหตุให้พบเตาเป็นจำนวนมาก ลักษณะการก่อเตาเช่นนี้ยังส่งผลต่อการระบายอากาศ ทำให้ผิวของเครื่องถ้วยสันกำแพงมีความด้าน น้ำเคลือบไม่ขึ้นมันและมีผลผลิตเสียหายต่อครั้งมาก อย่างไรก็ดีนายไกรศรียังกล่าวอีกว่าได้สำรวจพบเครื่องถ้วยจีนจำนวน 3 ชิ้น ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องถ้วยจีนที่ถูกนำมาเป็นตัวอย่างในการผลิต เครื่องถ้วยจีนชิ้นหนึ่งมีตัวอักษรจีน 6 ตัว อ่านได้ว่า (ต้า) หมิงซวนเต๊อะเหนียนเจ้า แปลว่าเครื่องถ้วยนี้ผลิตในรัชกาลจักรพรรดิซวนเต๊อะ (เซวียนเต๋อ) สมัยราชวงศ์หมิง ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1969-1978 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนสร้างวัดเชียงแสนที่ระบุในจารึกหมื่นดาบเรือนกว่า 50 ปี เมื่อรวมกับลวดลายที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยสันกำแพงบางชิ้นซึ่งเชื่อว่าคลี่คลายมาจากสัญลักษณ์มงคลของจีน นายไกรศรีจึงสันนิษฐานว่า ช่างปั้นจากแหล่งเตาสันกำแพงอาจมีครูเป็นชาวจีนหรือสืบทอดเทคนิควิธีแบบชาวจีนเช่นเดียวกับช่างปั้นจากแหล่งเตาสุโขทัยและสวรรคโลก สอดคล้องกับผลการศึกษาของปริวรรต ธรรมาปรีชากร และคณะ [2] ซึ่งได้เปรียบเทียบเครื่องถ้วยสันกำแพงกับเครื่องถ้วยจีน พบว่าไหเคลือบสีเขียวหรือสีน้ำตาลของเตาสันกำแพงมีลักษณะคล้ายคลึงกับไหทรงก่วนของจีนสมัยราชวงศ์เอวี๋ยน (พ.ศ. 1823-1911) นอกจากนั้นการตกแต่งภาชนะด้วยลายดอกไม้ตัดเส้นเป็นกลีบดอก 2 ชั้น ยังแสดงว่าได้รับอิทธิพลจากเครื่องลายครามเวียดนามที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21
เครื่องมือหินพบที่แหล่งเตาสันกำแพงในความครอบครองของคุณทวี กันตีฟอง
เตาเผาเครื่องถ้วยสันกำแพงตรงข้ามวัดเชียงแสน
ทั้งนี้นายไกรศรีได้ให้เหตุผลถึงความเหมาะสมของพื้นที่ต่อการเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงไว้หลายประการ เช่น ตำแหน่งที่ตั้งของอำเภอสันกำแพงอยู่บนเส้นทางการค้าโบราณ สะดวกแก่การลำเลียงผลผลิตไปขายยังตลาดในเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ประการต่อมาคือบริเวณที่พบแหล่งเตาเผานี้นอกจากจะมีแหล่งน้ำและฟืนจากผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีดินเหนียวในลำห้วยที่มีคุณสมบัติพอเหมาะสำหรับปั้นเครื่องถ้วย มีต้นมะก่อตาหมูซึ่งให้น้ำเคลือบสีเขียวอย่างเซลาดอน อีกทั้งถัดออกไปแถบอำเภอดอยสะเก็ดไม่ไกลจากบริเวณนี้ยังมีดินแดงปนแร่เหล็ก ซึ่งช่างปั้นใช้เป็นน้ำยาสำหรับเขียนลวดลายลงบนเครื่องถ้วยอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2513-2514 นายพจน์ เกื้อกูล และนายมรกต ลออพันธุ์สกุล จากหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ได้ร่วมกันสำรวจและขุดค้นเพื่อศึกษาแหล่งเตาเผาสันกำแพง โดยอาศัยข้อมูลเบื้องต้นจากแผนผังแสดงตำแหน่งแหล่งเตาสันกำแพงของนายไกรศรี ซึ่งจากการดำเนินงานในครั้งนั้นทำให้จำแนกกลุ่มเตาสันกำแพงที่พบได้เป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มเตากอบง กลุ่มเตาจำป่าบอน กลุ่มเตาต้นแหน 1 กลุ่มเตาต้นแหน 2 กลุ่มเตาต้นโจ้ก กลุ่มเตาดงดำ และกลุ่มเตาวัดเชียงแสน
เตาเผาเครื่องถ้วยสันกำแพงบ้านป่าตึง ขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2562
ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกลบหลุม(เอื้อเฟื้อภาพโดย : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่)
จากนั้นในปี พ.ศ. 2527-2528 โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) [3] ได้ดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีภายในวัดเชียงแสน พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพงในชั้นดินก่อนการสร้างวัดเชียงแสน นอกจากนั้นคณะทำงานยังลงพื้นที่สำรวจแหล่งเตาเผาสันกำแพงและร่วมคัดเลือกโบราณวัตถุที่ได้รับบริจาคเพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดป่าตึงด้วย ผลจากการสำรวจไม่เพียงพบเครื่องมือหินบนเขตเขาสูงทางฟากตะวันออกของบ้านป่าตึง ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงว่ามีกลุ่มคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่อำเภอสันกำแพงอยู่ก่อนแล้ว ผลจากการสำรวจยังช่วยจำแนกกลุ่มเตาสันกำแพงออกเป็น 8 กลุ่ม คือ เตาเผากลุ่มห้วยป่าไร่ กลุ่มห้วยบวกปีน กลุ่มดอยโตน กลุ่มห้วยปู่แหลม กลุ่มทุ่งโห้ง กลุ่มต้นแหน กลุ่มต้นโจ้ก และกลุ่มเหล่าน้อย ทั้งหมดเป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น (Cross-draft Kiln Type)
กลุ่มเตาสันกำแพงทางทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบใกล้แหล่งเตา
สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก [4] พบว่ากลุ่มเตาเผาสันกำแพงที่พบจากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2513-2514 และ ปี พ.ศ. 2527-2528 นั้น แม้จะเป็นเตาเผาประเภทระบายความร้อนแนวเฉียงเช่นเดียวกัน แต่ก็สามารถแบ่งตามลักษณะของเตาที่พบได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. เตาในดินโครงสร้างผนังโบกยาดินเหนียว พบในกลุ่มเตาห้วยป่าไร่ กลุ่มเตาทุ่งโห้ง กลุ่มเตาห้วยบวกปีน กลุ่มเตาห้วยปู่แหลม กลุ่มเตาต้นแหน กลุ่มเตาต้นโจ้ก กลุ่มเตาดงดำ กลุ่มเตาวัดเชียงแสน เตาเผาประเภทนี้มีขนาดราว 2.28-3.70 x 1.10-1.90 เมตร โดยมักพบตามเนินดินริมลำห้วยหรือร่องน้ำ ปล่องระบายควันจะหันขึ้นสู่เนินดินเสมอ เตาลักษณะนี้สร้างด้วยการขุดโพรงรูปเตาเข้าไปในเนินริมลำห้วยแล้วเอาดินเหนียวผสมทรายหยาบยาผนัง บ้างก็จะใช้วิธีขุดเนินดินเป็นหลุมยาวเท่าขนาดเตาแล้วนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นโครงผนังเตา ก่อนเอาดินเหนียวผสมทรายพอกทับลงไป พื้นเตาเป็นดินเหนียวอัดพื้นแข็ง ช่องใส่ไฟและปล่องระบายควันไฟมักมีลักษณะแคบๆ โดยเตาเผาแต่ละหลังสามารถใส่ภาชนะขนาดกลางได้ราว 250 ใบ แต่คุณภาพของเตาประเภทนี้คงไม่ดีนัก เพราะพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเสียหายอยู่รอบเตาเป็นจำนวนมาก
2. เตาในดินโครงสร้างก่ออิฐผนังโบกยาดินเหนียว พบในกลุ่มเตาจำป่าบอนและกลุ่มเตากอบง กลุ่มเตาประเภทนี้มีขนาดราว 3.60 x 1.45 เมตร พื้นเตาถมด้วยทรายหยาบหนา 20 เซนติเมตร กลุ่มเตาจำป่าบอนมีคันกันไฟที่ก่อด้วยดินเหนียว ส่วนกลุ่มเตากอบงมีคันกันไฟที่ก่อด้วยอิฐ
เครื่องถ้วยสันกำแพงที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
อย่างไรก็ดี โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) พบว่ากลุ่มเตาสันกำแพงที่พบจากการสำรวจระหว่างปี พ.ศ. 2527-2528 ทั้ง 8 กลุ่มนั้น มีรูปแบบเครื่องถ้วยเด่นของแต่ละเตาที่แตกต่างกัน คือ เป็นกลุ่มเตาเฉพาะงาน ตัวอย่างเช่น ลักษณะเด่นของเครื่องถ้วยสันกำแพงจากเตาต้นโจ้กจะเป็นจานปากกว้างทรงเตี้ย ตกแต่งด้วยการเคลือบสีเขียวอ่อนหรือสีเทาอมเขียว ส่วนผลผลิตจากกลุ่มเตาต้นแหนจะเป็นจำพวกไหเคลือบสีน้ำตาล ครกเคลือบสีเขียวอ่อน และจานปากกว้างทรงสูง เครื่องถ้วยจากเตาเหล่าน้อยมีไหเคลือบสีน้ำตาลอ่อน จานเขียนสีใต้เคลือบมีลายรูปปลาและใบไม้ที่ก้นจาน เคลือบทับด้วยสีเขียว ชามเขียนสีดำใต้เคลือบใส และจานปากกว้าง ทรงเตี้ย ปากผายออก ขอบปากตั้งตรง เป็นต้น
เครื่องถ้วยสันกำแพงที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2539-2541 สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ นำโดยนายทรรศนะ โดยอาษา ได้ดำเนินการสำรวจตรวจสอบตำแหน่งแหล่งเตาสันกำแพง พบว่ามีกลุ่มเตากระจายตัวในพื้นที่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง ครอบคลุมอาณาบริเวณ 5.5 ตารางกิโลเมตร เพิ่มเติมจากคราวสำรวจระหว่างปี พ.ศ. 2527-2528 อีก 4 กลุ่มเตา รวมพบกลุ่มเตาสันกำแพงในพื้นที่ทั้งหมด 12 กลุ่มเตา ได้แก่ เตาเผากลุ่มห้วยป่าไร่ กลุ่มห้วยบวกปีน กลุ่มดอยโตน กลุ่มห้วยปู่แหลม กลุ่มทุ่งโห้ง กลุ่มต้นแหน กลุ่มต้นโจ้ก กลุ่มเหล่าน้อย กลุ่มเตาวัดเชียงแสน กลุ่มเตาวัดป่าตึง กลุ่มเตากอบง และกลุ่มเตาริมอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนด้านทิศใต้
เครื่องถ้วยสันกำแพงที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
ถัดมาในปี พ.ศ. 2562 นงไฉน ทะรักษา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเตาเผาบ้านป่าตึง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มเตาวัดเชียงแสนกับกลุ่มเตาวัดป่าตึง เพื่อหาค่าอายุของเตาสันกำแพงด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อศึกษาเตาสันกำแพงกลุ่มนี้ กลุ่มเตาบ้านป่าตึงตั้งบนที่เนินสูงกว่าพื้นที่รอบๆ เล็กน้อย จากการขุดค้นทำให้ทราบว่าเป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนในแนวเฉียงเช่นเดียวกับเตาสันกำแพงกลุ่มอื่นๆ โดยเป็นเตาขนาดเล็ก ก่อด้วยดินดิบ มีความยาวราว 2 เมตร กว้าง 1.65 เมตร ภายในเตามีการแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นช่องใส่ไฟซึ่งอยู่ด้านหน้าสุดและมีระดับพื้นอยู่ต่ำกว่าส่วนอื่น ถัดมาเป็นห้องสำหรับบรรจุภาชนะซึ่งมีการทำยกพื้นสำหรับวางภาชนะและเพื่อกันไฟ พื้นมีความลาดเอียงไปทางปล่องไฟซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนสุดท้ายของเตา ปล่องไฟมีขนาดเล็กมาก ซึ่งการที่มีขนาดเล็กเช่นนี้อาจเพราะต้องการให้ความร้อนหมุนวนอยู่ภายในเตาให้นานที่สุดก็เป็นได้
เครื่องถ้วยสันกำแพงและโบราณวัตถุอื่นที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง
จากโบราณวัตถุที่พบภายในเตาบ้านป่าตึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า เตาบ้านป่าตึงน่าจะถูกสร้างเพื่อผลิตเครื่องเคลือบขนาดเล็ก เช่น กระปุก ถ้วย และตุ๊กตารูปสัตว์ โดยกี๋ที่ใช้รองภาชนะเครื่องปั้นในเตามีทั้งกี๋แผ่นและกี๋ท่อขนาดเตี้ยๆ นงไฉนยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า เตาสันกำแพงจะเผาชิ้นงานต่างๆ 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อไล่ความร้อน และเผาครั้งที่ 2 เพื่อเผาเคลือบ จากการส่งตัวอย่างถ่านที่พบในช่องใส่ไฟเพื่อหาค่าอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ C-14 ได้ค่าอายุในช่วงระหว่าง 600-661 ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยล้านนาตอนต้น ซึ่งเก่ากว่าปีที่สร้างวัดเชียงแสนตามที่ระบุในจารึกหมื่นดาบเรือนกว่า 100 ปี
“สมัยก่อนมีเตาอยู่ในวัดป่าตึง แต่ตอนหลังปรับพื้นที่วัดก็รื้อไป ที่หน้าโรงเรียนเคยมีแต่ถนนก็ทับไปเหมือนกัน แล้วปีก่อนเขามาขุดเตาที่หลังสหกรณ์โคนมไม่ไกลจากวัดป่าตึง ตอนนี้ยังไม่กลบหลุม แต่เข้าไปยาก ที่ยังเห็นชัดคงเป็นตรงวัดเชียงแสนกับใกล้ๆ อ่างเก็บน้ำ” คุณลุงเจ้าของพื้นที่เอ่ยเล่า แม้ทุกวันนี้บนพื้นที่เชิงเขาริมลำห้วยหรือในที่ไร่ที่นาของชาวบ้านในตำบลออนใต้ จะยังคงพบชิ้นส่วนภาชนะเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาสันกำแพงอยู่เสมอ แต่เตาสันกำแพงที่ได้รับการขุดแต่งและเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้มี 2 แห่ง คือ เตาสันกำแพงตรงข้ามวัดเชียงแสน และเตาสันกำแพงทางทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่ ซึ่งทั้ง 2 แห่งก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ทั้งนี้ชาวบ้านหลายคนยังให้ข้อมูลตรงกันว่า ลึกเข้าไปจากถนนในเขตป่าทางฟากตะวันออกและทางทิศใต้ของหมู่บ้านยังมีเตาเผาเครื่องถ้วยสันกำแพงอีกหลายแห่งซุกซ่อนอยู่ บางแห่งเคยมีนักวิชาการเข้าไปสำรวจแล้ว แต่มีอีกหลายแห่งที่มีเพียงชาวบ้านนักเดินป่าท้องถิ่นเท่านั้นที่เคยพบเห็น
เครื่องถ้วยสันกำแพงและโบราณวัตถุอื่นที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง
จากข้อมูลในมิติต่างๆ ของแหล่งเตาสันกำแพงและเครื่องถ้วยสันกำแพงที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจประกอบกับข้อมูลจากการขุดค้นและขุดตรวจอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการทางโบราณคดีหลายครั้งที่ผ่านมา ร่วมกับหลักฐานแวดล้อมที่พบ ล้วนมีส่วนช่วยสร้างองค์ความรู้ให้อดีตของพื้นที่สันกำแพงแจ่มชัดยิ่งขึ้น กล่าวคือ พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว จากหลักฐานการพบเครื่องมือหินหลายรูปแบบจำนวนหนึ่งบนเขตเขาสูงทางฟากตะวันออกของบ้านป่าตึง โดยกลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยบนเขตเขาสูงนี้ อาจมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมการถลุงเหล็กและอาศัยสืบต่อมาจนเป็นเจ้าของกู่ลัวะหรือวัดกล้วย (ร้าง) ศาสนสถานร้างสมัยล้านนาซึ่งอยู่ถัดจากชุมชนช่างปั้นสันกำแพงขึ้นไปทางทิศเหนือราว 7 กิโลเมตร และอาจมีกลุ่มคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายอีกกลุ่มเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการฝังศพ ณ แหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าค่า ซึ่งพบว่าสมัยต่อมามีการติดต่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรหรือความรู้บางอย่าง ดังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพงในชั้นดินสมัยล้านนาที่บ้านสันป่าค่า และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพงปะปนอยู่บนเขตเขาสูงแถบป่าดงปงไหว ไม่ไกลจากกู่ลัวะ
เครื่องถ้วยสันกำแพงและโบราณวัตถุอื่นที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยสันกำแพง วัดป่าตึง
ทั้งนี้กลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์เหนือเขาสูงทางทิศตะวันออกของบ้านป่าตึงจะอาศัยต่อเนื่องมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนช่างปั้นเครื่องถ้วยสันกำแพงหรือไม่นั้น ยังต้องติดตามจากผลการศึกษาทางโบราณคดีเพิ่มเติมในอนาคต อย่างไรก็ดี จากการขุดค้นภายในวัดเชียงแสน ทำให้พบว่าชุมชนช่างปั้นเครื่องถ้วยสันกำแพงตั้งรกรากอาศัยอยู่ก่อนการเข้ามาของชาวพูเลา และก่อนการสร้างวัดเชียงแสนในพุทธศตวรรษที่ 21 หรือสมัยพระยอดเชียงราย (พ.ศ. 2031-2038) โดยชุมชนช่างปั้นกลุ่มนี้อาจเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อฝึกหัดผลิตเครื่องถ้วยมาก่อนสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1985-2030) ตั้งแต่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ดังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1969-1978) ไหเคลือบสีเขียวหรือสีน้ำตาลคล้ายไหทรงก่วนสมัยราชวงศ์เอวี๋ยน (พ.ศ. 1823-1911) และตัวอย่างถ่านที่นำไปหาค่าอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
จากนั้นกิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงน่าจะรุ่งเรืองถึงขีดสูงในช่วงยุคทองของล้านนา คือ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชและสมัยพระยอดเชียงราย ดังความบางช่วงในจารึกหมื่นดาบเรือนที่กล่าวถึงพระเจ้าเชียงใหม่หรือพระเจ้าศรีสัทธัมมังกูรมหาจักรวรรดิราชาธิราช ซึ่งก็คือพระยอดเชียงราย ว่าโปรดให้แต่งตั้งอติชวญาณบวรสิทธิเป็นหมื่นดาบเรือน แล้วส่งมาควบคุมการสร้างวัดเชียงแสน ซึ่งอาจหมายรวมถึงการมอบหมายให้หมื่นดาบเรือนเป็นตัวแทนดูแลชุมชนช่างปั้น ตลอดจนกิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงซึ่งได้รับความนิยมมากในขณะนั้นด้วย กิจกรรมการผลิตเครื่องถ้วยสันกำแพงนี้อาจผลิตต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038-2068) หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ก่อนจะถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวทัพพระเจ้าบุเรงนองเข้าโจมตีและกวาดต้อนช่างฝีมือพื้นเมืองเชียงใหม่จำนวนมากกลับไปยังพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2101 ซึ่งจากเหตุการณ์คราวถูกกวาดต้อนในครั้งนั้นทำให้เห็นว่า เมืองเชียงใหม่เมื่อช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ร่ำรวยไปด้วยเหล่าสล่าหลากหลายแขนงสาขา ทั้งช่างเขียน ช่างปั้น ช่างรัก ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างหล่อ ช่างปูน ช่างจักสาน ช่างย้อม ช่างปัก หมอช้าง และหมอม้า เป็นต้น
ชุมชนช่างปั้นเครื่องถ้วยสันกำแพงและกลุ่มผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ในงานช่างฝีมือดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่ จึงน่าจะขาดช่วงลงพร้อมกับการถูกกวาดต้อนโดยทัพพระเจ้าบุเรงนองในคราวนั้น ก่อนจะถูกพลิกฟื้นเมื่อคราวเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองในสมัยเจ้ากาวิละ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24
ภาพแผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งแหล่งโบราณคดีสำคัญ
เชิงอรรถ
[1] ไกรศรี นิมมานเหมินท์, “เครื่องถ้วยสันกำแพง,” ใน คำบรรยายสัมมนาโบราณคดีสมัยสุโขทัย พ.ศ. 2503, พิมพ์ครั้งที่ 2, (สมุทรสาคร : บางกอกอินเฮ้าส์, 2559).
[2] ปริวรรต ธรรมาปรีชากร สว่าง เลิศฤทธิ์ และกฤษฎา พิณศรี, ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : โอสถสภา, 2539), หน้า 59.
[3] โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) กรมศิลปากร, รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งเตาเผาเครื่องเคลือบที่เตาต้นแหน เตาต้นโจ้ก เตาเหล่าน้อย ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่, 2528)
[4] โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, แหล่งเตาล้านนา, (กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย,2533), หน้า 24-25.
(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)