ชุดภาพงานบุญสารทเดือนสิบจัดขึ้นที่วัดหัวอิฐ ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช บันทึกภาพเมื่อราว พ.ศ. 2519 โดยกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ
ในภาคใต้ของไทยงานบุญสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือ บุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และเป็นงานบุญที่บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะต้องกลับมาทำร่วมกัน ในบางท้องถิ่นเรียกงานบุญสารทเดือนสิบว่า ประเพณีรับ-ส่งตายาย โดย "วันรับตายาย" จะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เชื่อว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะขึ้นมายังโลกมนุษย์ บรรดาลูกหลานจะนำสำรับอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้ จากนั้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 จะเป็น "วันส่งตายาย" ซึ่งถือเป็นงานบุญใหญ่ ลูกหลานจะจัดเตรียม หมฺรับ หรือสำรับ นำไปถวายวัดเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
ชาวบ้านพากันนำหมฺรับมาที่วัดเพื่อร่วมงานบุญสารทเดือนสิบ
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
การจัดเตรียมงานจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ชาวบ้านจะออกไปจ่ายตลาดหาซื้อข้าวของต่างๆ และจัดเตรียมทำขนมเดือนสิบที่จะใช้สำหรับจัดหมฺรับ ซึ่งจะทำกันในวันรุ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่วันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 แต่ละครอบครัวจะทำการจัดหมฺรับ ซึ่งก็คือการจัดข้าวของเครื่องใช้ อาหารแห้ง และขนมต่างๆ ลงในภาชนะ เดิมนิยมใช้กระบุงหรือเข่งที่สานด้วยตอกไม้ไผ่ เรียกว่า พานหมฺรับ โดยการจัดเรียงสิ่งของต่างๆ นั้น จะใส่ข้าวสารและอาหารแห้ง เช่น หอม กระเทียม เกลือ น้ำตาล และผักผลไม้ที่เก็บได้นานลงไปก่อน แล้วจึงใส่สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ไม้ขีด เข็ม ด้าย ถ้วยชาม จากนั้นปิดท้ายด้วยขนมประจำสารทเดือนสิบอีก 5-6 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดล้วนสื่อความหมาย
การจัดหมฺรับหรือตะกร้าบรรจุข้าวของเครื่องใช้และขนมเดือนสิบ
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ภายในหมฺรับจะบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้ และขนมเดือนสิบที่มีหลากหลายอย่าง
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ขนมประจำสารทเดือนสิบหรือที่เรียกกันว่า “ขนมเดือนสิบ” ประกอบไปด้วย ขนมพอง หมายถึง แพที่ให้ผู้ล่วงลับใช้ข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา ใช้แทนเสื้อผ้าแพรพรรณ ขนมกง หรือขนมไข่ปลา ใช้แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ ใช้แทนเงินทองที่จะนำไปใช้สอย ขนมบ้า ใช้แทนลูกสะบ้าเพื่อให้ผู้ล่วงลับเอาไว้ใช้เล่นกัน บ้างมีการใส่ ขนมลอย ลงไปด้วย ใช้แทนฟูกที่นอน หมอน และผ้าห่ม
ชาวบ้านนำหมฺรับมาที่วัดเพื่อร่วมงานบุญสารทเดือนสิบ
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
หมฺรับของชาวบ้านจะตั้งรวมกันอยู่บนศาลาการเปรียญเพื่อรอทำพิธีต่อไป
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
หมฺรับจำนวนมากที่ชาวบ้านต่างยกมาร่วมกันที่วัด ตั้งวางเรียงรายอยู่บนศาลาการเปรียญ
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันสารทหรือวันหลองหมฺรับ (ฉลองหมฺรับ) ชาวบ้านจะพากันยกหมฺรับไปที่วัด การถวายหมฺรับแก่พระสงฆ์ใช้วิธีการจับฉลากหรือที่เรียกว่า สลากภัต นอกจากนี้ยังมีการตั้งเปรต ซึ่งเป็นการนำอาหารคาวหวาน รวมถึงขนมเดือนสิบไปวางไว้เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยมีที่ซึ่งจัดเตรียมไว้เฉพาะ หากเป็นศาลาจะเรียกว่า หลาเปรต โดยเมื่อเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ก็จะมีพิธีชิงเปรต บรรดาเด็กๆ และหนุ่มสาว ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปจะเข้าไปแย่งชิงขนมและอาหารต่างๆ ที่หลาเปรต นอกจากเป็นไปเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังเชื่อกันว่าหากใครได้กินอาหารที่แย่งชิงมาได้ ถือว่าจะได้บุญกุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
นอกจากหมฺรับแล้ว ก็มีปิ่นโตอาหารคาวหวานที่นำมาถวายพระด้วย โดยชาวบ้านจะประกอบพิธีถวายภัตตาหารร่วมกัน ก่อนจะเริ่มทำพิธีชิงเปรต
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
บริเวณ "หลาเปรต" ที่จัดเตรียมไว้สำหรับพิธีชิงเปรต
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)