จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแหล่งใหญ่ทางตอนใต้ของไทย คือ แหล่งผลิตภาชนะดินเผาเตาหม้อบ้านปะโอ จังหวัดสงขลา โดยเป็นชุมชนผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เจริญรุ่งเรืองเมื่อช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ที่ผ่านมา แต่หากพูดถึงชุมชนปั้นหม้อที่ได้รับการยอมรับว่า สืบทอดเทคนิควิธีการปั้นหม้อด้วยกรรมวิธีแบบโบราณมานั้น คือ ชุมชนสทิงหม้อ ซึ่งอยู่ถัดจากบ้านปะโอลงมาทางทิศใต้ที่ริมคลองสทิงหม้อราว 15 กิโลเมตร
บริเวณปากคลองสทิงหม้อในปัจจุบัน
ผู้สูงอายุในชุมชนสทิงหม้อเล่าต่อกันมาว่า “...บรรพบุรุษของชาวสทิงหม้อน่าจะอพยพมาจากชุมชนโบราณในคาบสมุทรสทิงพระ เช่น ชุมชนโบราณสทิงพระ ชุมชนโบราณพังยาง คนรุ่นแรกที่อพยพมามีความชำนาญในการทำภาชนะดินเผา จึงยึดอาชีพนั้นเลี้ยงตัวและส่งต่อความรู้สู่ลูกหลานสืบมา... ชาวสทิงหม้อจึงเป็นนักปั้นหม้อกันทั้งหมู่บ้าน เป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนอย่างเดียวที่ทำให้ชาวสทิงหม้อเลี้ยงตัวอยู่ได้...”
คลองสทิงหม้อ
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า จากการลงพื้นที่สำรวจภายในบริเวณชุมชนบ้านสทิงหม้อเมื่อเดือนสิงหาคม ปีพุทธศักราช 2561 กลับไม่พบบ้านปั้นหม้อภายในชุมชนอีก...
ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบบริเวณปากคลองสทิงหม้อ
อย่างไรก็ดี ก่อนที่องค์ความรู้ด้านการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณของชุมชนสทิงหม้อจะสูญหายไปตามกาลเวลา คุณอมรา ขันติสิทธิ์ และคุณศรีอนงค์ ทองรักษาวงศ์ ได้เก็บข้อมูล บันทึกภาพเหตุการณ์ และถ่ายทอดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหน้าสำคัญทั้งหมดนั้นลงในบทความเรื่อง “สทิงหม้อ แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ” โดยตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 – เดือนมีนาคม พ.ศ. 2524 หน้า 100-112 อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67695800/-7-1
ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบบริเวณปากคลองสทิงหม้อ