ในบทความ “ตำนานเมืองใต้” ของ สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2521 - มกราคม 2522) หน้า 103-107 ได้เล่าถึงนิทานพื้นบ้าน 2 เรื่อง อันเป็นตำนานเล่าขานถึงที่มาของชื่อบ้านนามเมืองในจังหวัดสงขลา พัทลุง และตรัง
เกาะหนู-เกาะแมว
หากกล่าวถึงเมืองสงขลา หลายคนน่าจะรู้จัก “เกาะหนู” “เกาะแมว” “เขาตังกวน” และ “หาดทรายแก้ว” แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่ามีนิทานที่เล่าขานถึงความเป็นมาของสถานที่เหล่านี้
ภาพประกอบเรื่องเกาะหนู เกาะแมว โดย อ. จักรพันธุ์ โปษยกฤต
นิทานเรื่องดังกล่าวมีตัวละครเอกเป็นหมา แมว และหนู ที่อาศัยอยู่บนเรือสำเภาจีนที่มาจอดเทียบท่าค้าขายอยู่ที่เมืองสงขลา ความชุลมุนเกิดขึ้นเมื่อสัตว์ทั้งสาม ขโมยดวงแก้ววิเศษที่ช่วยให้ไม่จมน้ำมาจากเจ้าของเรือสำเภา ด้วยหวังว่าจะพากันว่ายน้ำหนีกลับขึ้นฝั่งเมืองสงขลาได้อย่างปลอดภัย
แต่อนิจจา… เพราะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างหนูกับแมว หนูกลัวว่าแมวจะมาแย่งลูกแก้วไปจึงรีบว่ายน้ำเข้าฝั่ง แต่ระหว่างที่แมวกับหนูกำลังไล่กันมาอยู่นั้น หนูไม่ทันระวังทำดวงแก้ววิเศษที่คาบอยู่ในปากหล่นออกมาจมน้ำหายไป หนูกับแมวจึงจมน้ำตามไปด้วยเพราะสิ้นอิทธิฤทธิ์ของดวงแก้ววิเศษ เมื่อตายไปจึงกลายเป็น “เกาะหนู” “เกาะแมว” อยู่เคียงกัน
ส่วนหมาที่ว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้ทัน ครั้นเมื่อหนูกับแมวจมน้ำตายกลายเป็นเกาะไปแล้ว หมาที่ยืนดูอยู่บนฝั่งก็กลายเป็นหินไปด้วย ซึ่งก็คือ “เขาตังกวน” ที่ตั้งอยู่ริมอ่าวสงขลา ส่วนดวงแก้ววิเศษที่จมลงไปในน้ำก็แตกละเอียดกลายเป็น “หาดทรายแก้ว”
เกาะหนู (ขวา) เกาะแมว (ซ้าย) ถ่ายจากยอดเขาตังกวน
“นายแรง”
เรื่องเล่าในเขตติดต่อเมืองพัทลุง - ตรัง
ในพื้นที่อำเภอกงหรา ต่อเนื่องกับบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นเขตป่าเขาที่อยู่ติดต่อกับจังหวัดตรัง มีนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงที่มาของภูเขาและหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ในแถบนี้ นั่นคือ นิทานเรื่อง “นายแรง”
เล่ากันว่า “นายแรง” เป็นคนกินจุมากจนพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ไหว จึงต้องระหกระเหินเดินทางจากเมืองพัทลุงไปยังเมืองตรัง ซึ่งระหว่างทางได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองที่อยู่ตามรายทาง อาทิ เขาจิงโจ้ เขาแดง คลองอีโต้ ที่อยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง บ้านท่าไคร อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นต้น
อ่านนิทานเรื่อง “เกาะหนู เกาะแมว” กับเรื่อง “นายแรง” ในบทความ “ตำนานเมืองใต้” ฉบับเต็มได้ที่ https://www.yumpu.com/xx/document/view/67682779/-5-2
ติดตามวารสารเมืองโบราณ 10 ปีแรก (พ.ศ. 2517-2527) ฉบับอื่นๆ คลิก 10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ