การนับถือผีและสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นความเชื่อที่ผูกพันและหยั่งรากลึกในสังคมไทยมานาน และยังเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมและควบคุมให้สังคมดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นเป็นปกติสุข เมื่อปี พ.ศ. 2522 สุรพล ดำริห์กุล ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่หมู่บ้านแม่เฮียวใต้ จังหวัดลำปาง และพบว่า ชาวบ้านที่นั่นนับถือ ผี กันอย่างเหนียวแน่น โดยสามารถแบ่งผีที่ชาวบ้านนับถือออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. ผีเจนบ้านเจนเมือง หรือผีประจำหมู่บ้าน ทำหน้าที่ดูแลหมู่บ้านและควบคุมพฤติกรรมการติดต่อกับสังคมภายนอก
2. ผีวงศ์ หรือผีประจำตระกูล มีทั้งหมด 4 สายตระกูล ส่งต่อผ่านทางผู้หญิง
3. ผีเรือน เป็นผีประจำบ้าน จะทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของคนทั้งในเรื่องการทำมาหากินและการใช้ชีวิต หากผิดผีจะแสดงออกด้วยอาการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว
ผีแต่ละกลุ่มยังประกอบไปด้วยผีที่มีลำดับศักดิ์น้อยใหญ่อีกหลายตน ในแต่ละปีชาวบ้านจะจัดงานบวงสรวงบูชาให้ผีเหล่านั้น เป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด
ศึกษาคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีของชาวบ้านในหมู่บ้านแม่เฮียวใต้ จังหวัดลำปาง เพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง "การนับถือผีในหมู่บ้านภาคเหนือ" โดย สุรพล ดำริห์กุล ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 (เมษายน – พฤษภาคม 2522) หน้า 25-35 ในคอลัมน์ "10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ" คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67682791/-5-4