เวียงสา ประตูการค้าสู่เมืองน่าน

เวียงสา ประตูการค้าสู่เมืองน่าน

 

เวียงสา ประตูการค้าสู่เมืองน่าน

บทบาทคนจีนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกิจกรรมท้องถิ่น

เวียงสาถือเป็นประตูสู่เมืองน่าน ด้วยเมื่อเข้าสู่เมืองน่านทางตอนใต้ต้องผ่านเวียงสาเป็นอำเภอแรกก่อน จึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการเดินทางทั้งทางน้ำและทางบก อีกทั้งยังมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์การฟื้นฟูเมืองน่านในช่วงทศวรรษที่ 2340 มาจนถึงยุคสมัยแห่งการทำสัมปทานป่าไม้ และเรื่อยมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถือว่าเป็นยุคสำคัญของการขับเคลื่อนเวียงสาด้วยระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยบทบาทของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่ทำให้พลวัตของเมืองเป็นย่านการค้าที่คึกคัก อันมีประจักษ์พยานคือย่านธุรกิจบนถนนเจ้าฟ้า รวมถึงการก่อตั้งโรงเรียนจีนแห่งแรกในจังหวัดน่าน

 

แต่เมื่อเส้นทางการคมนาคมเริ่มเปลี่ยนไป บทบาทของตัวจังหวัดน่านเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นในฐานะศูนย์กลางของการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม เวียงสาจึงกลายเป็น “เมืองผ่าน” ธุรกิจการค้าที่เคยคึกคักเริ่มซบเซาจนมีบรรยากาศเงียบสงบในที่สุด กระทั่งเมื่อมีการรวมกลุ่มของเหล่าลูกหลานทายาทพ่อค้าในยุคอดีตกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน แนวคิดถวิลหาอดีตเมื่อครั้งเคยรุ่งเรืองเริ่มหวนกลับมา จนเกิดการร่วมไม้ร่วมมือกันทำกิจกรรมทางสังคมขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้เวียงสามีชีวิตชีวาในแบบที่พวกเขาต้องการ

 

 

ชุมทางโบราณกับการฟื้นเวียงสา เมืองน่าน

เวียงสาเป็นพื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์การฟื้นฟูเมืองน่านในยุคสมัยของเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เป็นรอยต่อของยุคผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจากกรุงธนบุรีสู่กรุงรัตนโกสินทร์ของการเมืองในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเมืองน่านก็อยู่ในสถานการณ์ท่ามกลางการฟื้นเวียง ซึ่งมีการขับไล่ต่อสู้อำนาจทางฝั่งอังวะหรือฝั่งพม่า นักวิชาการท้องถิ่นในน่านเรียกยุคนี้ว่า “ยุคฟื้นน่าน" [1] และเหตุการณ์รอยต่อแห่งประวัติศาสตร์เมืองน่านนั้นเกิดขึ้นที่เวียงสา โดยมีจุดสำคัญของตำนานที่เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ท่าปลา สันนิษฐานว่าปัจจุบันน่าจะอยู่บริเวณระหว่างวัดคือเวียงกับบ้านไผ่งาม 

 

ศาลเจ้าเมืองเวียงสา

 

ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้าศูนย์น่านศึกษา (หออัตลักษณ์นครน่าน) กล่าวว่า การฟื้นฟูเมืองน่านที่ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดคือวัดบุญยืน วัดใหญ่สำคัญกลางเวียงสา ซึ่งถือว่าเป็นวัดประจำพระองค์ของเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ  ในพงศาวดารเมือน่านระบุไว้ว่า “เถิงจุลศักราชได้ 1159 ปีเมิงไซ้ อาชญาเจ้าอัตถวรปัญโญก็พาเอาเจ้านาย ท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายก่อสร้างก่อเสาพระวิหารวัดบุญยืน..” [2]

 

ยุคฟื้นน่านปรากฏเด่นชัดในงานศิลปกรรมขององค์วิหาร วัดบุญยืน ที่เป็นเครื่องไม้ขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดน่าน มีกลิ่นอายของศิลปะแบบล้านนา แต่ฝีมือเชิงช่างเป็นแบบล้านช้าง สะท้อนถึงอัตลักษณ์ศิลปะแบบเมืองน่านที่มีความผสมผสานหลากวัฒนธรรม ซึ่งถูกส่งผ่านจากสถานการณ์การเมืองภายในที่ต้องสัมพันธ์กับบริบทสังคมภายนอกเมืองน่าน อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในของน่านเริ่มคลี่คลาย เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญได้ย้ายเวียงไปอยู่เมืองน่าน และได้บูรณะปฏิสังขรณ์น่านใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2343-2344 คือมีการซ่อมแซมกำแพงและภายในเวียงใหม่ [3] แต่การกลับไปฟื้นฟูเมืองน่านของท่านนั้นก็หาได้ละทิ้งเวียงสา ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดคือ “ถนนเจ้าฟ้า” ซึ่งเป็นเส้นทางบกที่คู่ขนานกับเส้นทางน้ำ

 

 

เส้นทางสัญจร การค้า และอุตสาหกรรมในท้องถิ่นเวียงสา

หากดูภาพแผนที่หรือภาพถ่ายทางอากาศจะพบว่า ในพื้นที่จังหวัดน่านและเวียงสามีชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำตลอดทั้งแนวของแม่น้ำน่าน อาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ชุมชนต่างๆ ริมแม่น้ำน่าจะมีอายุราว 300 ปี เป็นชุมชนเก่าแก่ โดยมีศูนย์กลางของชุมชนคือวัด และทุกวัดริมแม่น้ำน่านจะหันหน้าลงสู่แม่น้ำซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักในอดีต เส้นทางน้ำเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดโครงข่ายการสัญจรของคนผู้คนในเวียงสาและเมืองน่าน กล่าวคือในยุคสมัยที่ใช้การเดินทางทางน้ำเป็นหลัก ผู้คนอาศัยและตั้งถิ่นฐานใกล้กับลำน้ำ เช่น ชุมชนวัดบุญยืนที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของเวียงสา ชุมชนติดวัดไผ่งาม และชุมชนติดวัดคือเวียง ที่มีตำนานเล่าขานถึงการเป็นเวียงเก่า ชุมชนที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองน่านเหล่านี้ล้วนอยู่ติดริมแม่น้ำทั้งสิ้น

 

วัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ภาพถ่ายโดย วิชัย จันทวาโร

 

เมื่อลำน้ำเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ เรือจึงเป็นเสมือนหัวใจของชาวเวียงสาและเมืองน่าน เพราะเป็นพาหนะสำคัญของการสัญจรทางน้ำ มีความสำคัญกับผู้คนในชุมชน เป็นสมบัติของท้องถิ่น และทุกชุมชนหวงแหนเรือเป็นอย่างมาก แต่ละท้องถิ่นในจังหวัดน่าน เรือลำสำคัญของแต่ละหมู่บ้านจะถูกจัดวางอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างวัดบุญยืนมีเรือชื่อ “เจ้าแม่สายฟ้า” ถูกนำไปจัดแสดงและยกย่องอยู่บริเวณข่วงเวียงสา ซึ่งถือเป็นจุดที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของเวียง บ้านบง บ้านบุญเรืองมีเรือเสือเฒ่าบุญเรือง เป็นเรือเก่าที่อายุร้อยกว่าปีซึ่งปัจจุบันไม่ได้ลงน้ำแล้ว แต่ชาวบ้านยกย่องและถือเป็นของรักที่ควรเก็บรักษาของชุมชน [4] หรือแม้แต่ในอาคารที่ว่าการอำเภอสาหลังเก่า ก็มีการจัดแสดงเรื่องราวของเรือเป็นนิทรรศการสำคัญของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เรือมีค่ากับชาวเวียงสาและชาวน่านดังชีวิตและจิตวิญญาณ

 

น้ำคือชีวิต คืออาหาร คือความเจริญ เวียงสาจึงเป็นพื้นที่ที่เจริญสุดในช่วงที่มีการสัญจรทางน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่แห่งการรวมผู้คน และเป็นพื้นที่ที่ปากแม่น้ำสาไหลลงมาสบกับแม่น้ำน่าน ทำให้เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในการหาอยู่หากิน รวมไปถึงยุคแห่งอุตสาหกรรมการค้าไม้ ที่มีบทบาทอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนทางภาคเหนือ

 

กลุ่มทุนที่เติบโตจากการสัมปทานป่าไม้นั้น ถือเป็นกลุ่มทุนสำคัญในท้องถิ่น โดยระยะแรกราวทศวรรษที่ 2450-2470 มีบทบาทเป็นลูกช่วงของบริษัทตะวันตก หลังจากทศวรรษที่ 2480 เริ่มมีการทำโรงเลื่อยขนาดเล็กจนสามารถตั้งตัวดำเนินกิจการของตนเองได้ [5] การขยายตัวของกิจการป่าไม้ในดินแดนล้านนา มีส่วนกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มของประชากรที่มีการเดินทางข้ามพรมแดนเข้ามา อาทิ เงี้ยว พม่า ขมุ และต่องสู่ เนื่องด้วยการทำป่าไม้เป็นกิจการที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก [6] ในเวียงสาพบว่ามีการอพยพของผู้คนมากมายเช่นกันในยุคแห่งการสัมปทานป่าไม้ [7] 

 

เวียงสาปรากฏพื้นที่ที่เคยเป็นโรงเลื่อยขนาดใหญ่ใกล้ๆ กับวัดคือเวียง ปัจจุบันกลายสภาพเป็นที่ดินว่างเปล่า ส่วนหนึ่งถูกทำเป็นร้านค้าสะดวกซื้อ อาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ ฉายให้เห็นภาพว่าในช่วงแรกที่มีการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อตัดไม้เสร็จ ไม้ทั้งหมดจะถูกทิ้งลงแม่น้ำ และแม่น้ำทุกสายในน่านก็จะไหลดันซุงไม้ออกมาสู่ปากแม่น้ำที่อำเภอเวียงสา เพื่อขนขึ้นโรงเลื่อยแปรรูปที่นี่ จากนั้นจึงนำส่งออกจากจังหวัดน่าน 

 

คุณณฤต พุฒิกุลางกูร พ่อค้าชาวจีนทายาทร้านค้าไซ้ฮงเส็ง เล่าถึงประสบการณ์ร่วมที่เห็นโรงเลื่อยในเวียงสาว่า “การสัมปทานทางภาคเหนืออยู่ที่แพร่เป็นหลัก แล้วก็มีลูกข่ายออกมาจนถึงน่าน ตอนเด็กๆ เห็นเยอะว่าไม้ท่อนใหญ่ๆ ถูกส่งลงไปทางภาคกลางเป็นส่วนใหญ่” นอกจากนี้การทำไม้ยังเป็นจุดร่วมของประวัติศาสตร์เวียงสาที่เชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ได้ด้วย กรณีของเจ้าของร้านกาแฟจ๊างน่าน เป็นหนึ่งในตระกูลที่เคยทำสัมปทานป่า โดยมีกิจการและภูมิปัญญาในการจัดการช้าง มายุคหลังมีการใช้รถยนต์จึงขยับขยายมาเปิดเส้นทางเดินรถขนส่งสาธารณะระหว่างน่าน-เด่นชัย [8] จนมาสู่ธุรกิจร้านกาแฟที่รองรับนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

 

จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางทางน้ำที่เป็นจุดยุทธศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในสมัยโบราณ มีความสำคัญสืบเนื่องมากับการก่อเกิดอาชีพและทำให้มีการรวมผู้คน เกิดเศรษฐกิจการค้าขาย กระทั่งเกิดเส้นทางทางบกที่ทำให้เกิดธุรกิจการค้าและการคมนาคมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นในเวียงสา

 

 

ถนนเจ้าฟ้าเส้นทางบกที่สำคัญแห่งเวียงสาและเมืองน่าน

แม้ทางน้ำจะเป็นการสัญจรที่สำคัญของผู้คนเวียงสาและน่านในอดีต แต่เส้นทางทางบกก็เป็นอีกหนึ่งการเดินทางของผู้คน รวมไปถึงเจ้าหลวงเมืองน่านด้วย จากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองน่านของอาจารย์ยุทธภูมิพบว่า เจ้าหลวงเมืองน่านได้มีการสัญจรทั้งสองเส้นทาง คือทางน้ำและทางบก จนปรากฏชื่อ “ถนนเจ้าฟ้า” ถนนเจ้าฟ้าเป็นถนนที่เลาะเลียบไปตามแม่น้ำน่าน เชื่อมระหว่างเมืองน่านกับเวียงสา และยังทอดไกลไปเชื่อมกับดินแดนน่านตอนใต้ คืออำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น และไปจนถึงเมืองหิน

 

นามว่า “เจ้าฟ้า” น่าจะมาจากการที่เจ้านายเมืองน่านใช้เส้นทางนี้สัญจรไปมาร่วมกับชาวบ้าน รวมถึงเป็นตำนาน “การฟื้นฟูเมืองน่าน” โดยมีวัดบุญยืนพระอารามหลวง ที่เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญได้รวมรวมกลุ่มช่างมากฝีมือจากแหล่งต่างๆ มาสร้าง อาทิ การเห็นถึงฝีมือเชิงช่างแบบล้านช้าง แต่ยังคงเอากลิ่นอายของล้านนา นักวิชาการท้องถิ่นจึงยกย่องว่าวิหารวัดบุญยืนเป็นเครื่องไม้ขนาดใหญ่ สมบูรณ์ และยังคงรักษาไว้ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน และมีความสำคัญในฐานะของวัดประจำพระองค์ของเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ จึงถือเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญของสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูเมืองน่าน ซึ่งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า

 

ในช่วงระยะเวลาที่ล่วงเลยมา จากตำนานเส้นทางการฟื้นเมืองของเจ้านาย ได้แผ้วถางทางให้ชาวบ้านได้เดินทางสัญจร ตั้งถิ่นฐาน เริ่มแปรสภาพกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียงสา รวมถึงสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเข้ามาของผู้คนกลุ่มใหม่ๆ ที่เข้ามาอาศัยและตั้งรกรากในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ขายที่มาจากประเทศจีน จากการสำรวจพบว่า ในเวียงสาแหล่งการค้าและบริการที่สำคัญเรียงรายเกาะกลุ่มกันอยู่บนถนนเจ้าฟ้าเป็นส่วนใหญ่ และในมิติการค้าและเศรษฐกิจท้องถิ่นนี้ปฏิเสธการบทบาทของกลุ่มพ่อค้าแม่ขายชาวจีนไปไม่ได้เลย เมื่อชาวจีนเข้ามาประกอบธุรกิจมากมาย เช่น ร้านค้า โรงมหรสพ ตลาด ปั๊มน้ำมัน การเดินรถสาธารณะ ฯลฯ และมีการรวมกลุ่มประกอบกิจกรรมทางสังคม จนผลักดันการสร้างโรงเรียนจีนแห่งแรกในจังหวัดน่านในเวลาต่อมา

 

โรงเรียนไคหนำ

 

 

การค้าและบทบาทคนจีนในเวียงสา

ในอดีตเวียงสาถือเป็นย่านการค้าที่สำคัญจุดหนึ่ง โดยมีคนจากทางน่านใต้ (อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น) และผู้คนทางฝั่งสปป. ลาวเข้ามาจับจ่ายซื้อของ ทำให้เวียงสาคึกคักไม่แพ้ตัวเมืองน่าน เนื่องจากมีคนจีนเข้ามาตั้งรกรากหลายครอบครัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ทศวรรษ 2480) จนเกิดอาชีพค้าขายและบริการที่หลากหลาย  คุณณฤตเล่าต่อว่า “ปุ่ย แซ่ซือ” อากงของตน เป็นคนจีนแคะที่เดินทางมาจากประเทศจีน ประกอบธุรกิจหลายอย่างในเวียงสา เช่น โรงบ่มใบยาจำนวน 5 - 6 แห่ง และทำร้านจำหน่ายสินค้า โดยมาสร้างตึกแถวหลังแรกบริเวณหน้าสถานีตำรวจหลังเก่าเมื่อปี พ.ศ. 2485 จากนั้นเริ่มขยับขยายเปิดร้านค้าที่ทันสมัยที่สุดในเวียงสา คือร้าน “ไซ้ฮงเส็ง” ในช่วงปี พ.ศ. 2490 เป็นอาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวตึกหลังแรกของจังหวัดน่าน (ยกเว้นของสถานที่ราชการ) สร้างโดยฝีมือช่างชาวจีน เพื่อหวังให้เป็นแบบบ้านของชาวจีนในจังหวัดน่าน และจังหวัดทางภาคเหนือหลายๆ พื้นที่ อาคารเก่าต่างๆ บนถนนเจ้าฟ้านี้จึงเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์แห่งการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนที่เก่าแก่ และถูกอนุรักษ์ไว้ในจังหวัดน่านได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากอาคารพาณิชย์คนจีนในตัวจังหวัดน่านถูกเหตุการณ์อัคคีภัยพรากประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่นไปเสียแล้ว

 

ก่อนการตั้งหลักปักฐาน บรรพบุรุษรุ่นแรกของไซ้ฮงเส็งใช้วิธีหาบสินค้าออกไปขายตามหมู่บ้าน หลังจากนั้นเริ่มมีคนท้องถิ่นรู้จัก จึงได้หาทำเลที่ตั้งร้านค้าอย่างถาวร เพื่อให้ผู้คนตามมาซื้อที่ร้าน สินค้าและบริการโดยมากเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค หลังจากนั้นความต้องการต่างๆ เริ่มหลากหลาย ร้านค้าเติบโตจากการนำสินค้าจากกรุงเทพฯ มาขาย เส้นทางการค้าของคนจีนยุคหลังการมีรถไฟเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสถานีเด่นชัยที่จังหวัดแพร่เป็นหมุดหมายสำคัญ จี วิลเลียม สกินเนอร์ กล่าวถึงบทบาทชาวจีนแคะที่มีจำนวนมาก และเป็นกลุ่มทุนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน เชียงราย แพร่ และลำปาง โดยครอบคลุมอาณาเขตที่มีทางรถไฟ และพื้นที่ที่ถนนทางหลวงเข้าถึง [9]

 

กลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนจีนไคหนำ

 

จากคำบอกเล่าของคุณณฤตว่า ที่อำเภอเด่นชัยมียี่ปั๊ว (ผู้ค้าส่ง) คนสำคัญ และที่ร้านไซ้ฮงเส็งมีหลักฐานบางชิ้นยืนยันว่ายี่ปั๊วคนดังกล่าวเคยส่งของมาที่นี่ นั่นคือนมผง เพราะสมัยก่อนประเทศไทยยังไม่มีการผลิต ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยผ่านยี่ปั้วที่เด่นชัย เด่นชัยจึงเป็นจุดส่งสินค้าที่สำคัญของผู้คนแพร่-น่าน และสินค้าอีกส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่นำมาจากกรุงเทพฯ โดยตรง และมีรถขนส่งขึ้นมา ในขณะที่อาม่าครองพรรณ พุฒิกุลางกูร แม่ของคุณณฤต ซึ่งเป็นสะใภ้ผู้ดูแลร้านไซ้ฮงเส็งรุ่นที่ 2 บอกเล่าถึงประสบการณ์สมัยที่ดำเนินกิจการร้านค้าด้วยตนเองว่า ต้องสลับกับหนานหล่อ (ชื่อที่คนท้องถิ่นเรียกขาน) ผู้เป็นสามี เดินทางไปซื้อของที่กรุงเทพฯ ทุกๆ เดือน ซึ่งขากลับต้องเหมาตู้รถไฟและนำรถไปรับที่เด่นชัย สินค้ายุคนั้นเป็นเครื่องครัว ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องเขียนเด็กนักเรียน ของชำร่วย และเครื่องมือทำการเกษตร ฯลฯ [10]

 

ภายหลังการมีรถไฟสายเหนือ ปี พ.ศ. 2455 สินค้าสำเร็จรูปที่มาจากกรุงเทพฯ จึงเป็นที่นิยม เนื่องจากถูกขนส่งผ่านทางรถไฟที่สะดวก จำนวนมาก และมีชนิดของสินค้าที่หลากหลายมากจากเดิม จึงทำให้สินค้าจากท่ามะละแหม่งไม่สามารถสู้กับสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ ได้ การค้าขายกับทางพม่าจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด [11] บทบาทพ่อค้าชาวจีนจึงค่อยๆ เริ่มชัดเจนมากขึ้น นอกจากร้านค้าไซ้ฮงเส็งจะเป็นจุดสำคัญที่มีสินค้าหลากหลายแล้ว เวียงสายังมีบริการอื่นๆ ที่ดำเนินกิจการโดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนครอบครัวอื่นๆ อีกหลายธุรกิจ ที่ถือเป็นตัวการสำคัญแห่งการขับเคลื่อนเมืองในทางเศรษฐกิจ

 

คุณหล่อ คุณครองพรรณ และคุณณฤต พุฒิกุลางกูร ทายาทร้านไซ้ฮงเส็ง หรือพิพิธภัณฑ์ร้านค้าสะดุดเวลา ถ่ายโดย วิชัย จันทวาโร

 

ในอดีตที่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึงในภูมิภาค โดยเฉพาะไฟฟ้าส่องสว่าง ได้เริ่มมีธุรกิจค้าขายน้ำมันก๊าดเพื่อใช้ในการจุดตะเกียง บ้านเต็งไตรรัตน์ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเวียงสาและเมืองน่านในส่วนนี้ โดยได้มีการติดต่อค้าขายกับน้ำมันก๊าดตรามงกุฎ ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จากนั้นเริ่มขยับขยายเปลี่ยนมาเป็นปั๊มน้ำมัน ควบคู่กับการค้าจักรยานจนทั่วทั้งจังหวัดน่าน ปัจจุบันมีปั๊มน้ำมันเชลล์ในนามของเต็งไตรรัตน์ในหลายอำเภอ และหนึ่งในนั้นคืออยู่ในอำเภอเวียงสาด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนจากการค้าจักรยานมาก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์จักรยาน ชื่อ “เฮือนรถถีบ” [12]

 

เวียงสาในยุคที่รุ่งเรืองทางการค้า ผู้มีบทบาทขับเคลื่อนสำคัญก็คือคนจีน ซึ่งในเวียงสามีอยู่หลากหลายกลุ่ม ทั้งจีนแคะ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ จนทำให้เวียงสากลายเป็นชุมชนของคนจีนที่มาประกอบธุรกิจการค้าและบริการ นำมาสู่แนวคิดรวมกลุ่มกันพัฒนาเมือง หนึ่งในกิจกรรมทางสังคมนั้นคือการสร้างโรงเรียนสอนภาษาจีนเพื่อลูกหลานชาวจีนในเวียงสา รวมถึงคนทั่วไปด้วย ในยุคนั้นเวียงสามีโรงเรียนไคหนำที่ถือเป็นโรงเรียนจีนโรงเรียนแรกในจังหวัดน่าน โดยมีอากงปุ่ย แซ่ซือ ร้านไซ้ฮงไถ่ เป็นหัวเรือใหญ่ร่วมกับกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในละแวกจัดตั้งขึ้น หลังจากนั้นในตัวจังหวัดน่านก็เกิดโรงเรียนซินจงตามมา โรงเรียนไคหนำจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการมีอยู่ของย่านพี่น้องไทยจีน ที่มีบทบาทสูงในทางการค้าขายในพื้นที่เวียงสา [13]

 

คุณจามรี เต็งไตรรัตน์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เฮือนรถถีบ

 

 

ความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเวียงสาเคยคึกคัก

เมื่อก่อนเท่าที่จำได้ 2-3 ทุ่มร้านยังเปิดอยู่ คนยังเดินออกมาหาซื้อเสื้อผ้ากัน พื้นที่ใกล้ๆ นี้เมื่อ 40-50 ปีก่อน สมัยผมยังเด็ก มีโรงหนังเล็กๆ ตอนเย็นเอาผ้ามาล้อมเป็นวิก ส่วนตอนเช้าเป็นตลาด โตขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นโรงหนังสาสวรรค์” คุณณฤต ฉายภาพบรรยากาศความครื้นเครงของถนนเจ้าฟ้าในละแวกบ้านตนเอง ที่มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาจนมืดค่ำ กอรปกับวัฒนธรรมบันเทิงของชาวบ้านที่เติบโตมาพร้อมๆ กับระบบเศรษฐกิจของเมือง ความคึกคักของเวียงสามีองค์ประกอบของเมืองที่น่าสนใจ คือ มีโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ มีร้านรวงที่มีข้าวของที่ทันสมัยมาจากต่างประเทศและจากรุงเทพฯ ทำให้บรรยากาศของตลาดค้าขายคึกคักจากผู้คนใกล้และไกล

 

ฝั่งตรงข้ามปั๊มน้ำมันของเต็งไตรรัตน์ยังหลงเหลืออาคาร “สาสวรรค์” โรงหนังสแตนอโลน ที่ชวนให้ย้อนนึกถึงความคึกคักของวัฒนธรรมบันเทิงแห่งเวียงสาในอดีต ที่เติบโตพร้อมๆ กับเศรษฐกิจและการขยายตัวเมืองของเวียงสา ซึ่งปัจจุบันกลายสภาพมาเป็นโกดังเก็บของที่เจ้าของเปลี่ยนมาดำเนินกิจการอย่างอื่นไปแล้ว คุณจามรี เต็งไตรรัตน์ เล่าว่า “บ้านอยู่ตรงข้ามกับโรงหนังพอดี สมัยเด็กจำได้ว่าทุกๆ หัวค่ำจะมายืนรอฟังเพลงมาร์ชอยู่หน้าบ้าน ตื่นเต้นที่จะออกไปดูผู้คนที่มาชมภาพยนตร์เพราะคนจะมาเยอะมาก” จากการเข้าไปสำรวจยังพบว่าในโรงหนังมีเก้าอี้ไม้เป็นแถวยาวๆ ด้านบนที่ราคาสูงกว่าเป็นที่นั่งเดี่ยว ก่อนจะกลายมาเป็นที่อยู่ของเหล่านกมาทำรังในทุกวันนี้ ความคึกคักในอดีตของย่านการค้าสำคัญควบคู่กับเมืองน่านยังคงเหลือไว้เป็นความทรงจำของใครหลายคน กระทั่งเกิดแนวคิดที่จะฟื้นฟูลมหายใจของเมืองที่เงียบสงัดให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในแบบที่คนท้องถิ่นต้องการ

 

คุณอลงกต หล่อวัฒนา ทายาทโรงหนังสาสวรรค์

 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเวียงสามีพลวัตเปลี่ยนผันไปตามเส้นทางการคมนาคม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น จนทำให้เวียงสากลายเป็นแค่เมืองผ่านในที่สุด มายุคนี้ชาวเวียงสาโดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าที่กำลังสร้างเมืองใหม่ให้มีชีวิตชีวาแบบที่พวกเขาต้องการ ยังมีกำลังและความเข้มแข็ง ทำให้เมืองที่ซบเซาในทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟูในรูปแบบใหม่ โดยใช้การท่องเที่ยวมาเป็นปัจจัยในการหล่อเลี้ยง “กลไกสำคัญที่สุดคือพลเมือง ว่าเขาจะมองการพัฒนาเมืองในทิศทางใด จะรักษาความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นไว้ได้อย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ของคนเวียงสา” อาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ กล่าว ชาวเวียงสามีความมุ่งหวังเดียวกันว่าอยากจะเป็น “ประตูสู่เมืองน่าน” อีกครั้ง ในมิติใหม่ที่พวกเขากำลังร่วมกันสร้างขึ้นในยุคของพวกเขาเอง

 

เชิงอรรถ

[1] ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้าศูนย์น่านศึกษา (หออัตลักษณ์นครน่าน), สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

[2] พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ. (2543). พงศาวดารเมืองน่าน. เชียงใหม่ : ธนุชพริ้นติ้ง (โรงพิมพ์ดาว). หน้า 83

[3] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดน่าน, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2544, หน้า 54

[4] ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้า ศูนย์น่านศึกษา (หออัตลักษณ์นครน่าน), สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

[5] ชัยพงษ์ สำเนียง. (2560). พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายธุรกิจในภาคเหนือของไทย พ.ศ. 2446 – ปัจจุบัน. โครงการวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์” ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

[6] พูนพร พูลทาจักร. (2530). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร หน้า 31

[7] ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้า ศูนย์น่านศึกษา (หออัตลักษณ์นครน่าน), สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

[8] ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้า ศูนย์น่านศึกษา (หออัตลักษณ์นครน่าน), สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

[9] สกินเนอร์, จี. วิลเลียม. (2548). สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. (พรรณี ฉัตร พลรักษ์ และคณะ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หน้า 213

[10] ครองพรรณ พุฒิกุลางกูร, สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

[11] พูนพร พูลทาจักร. (2530). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร.หน้า 89 - 90

[12] จามรี เต็งไตรรัตน์, สัมภาษณ์วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

[13] ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้า ศูนย์น่านศึกษา (หออัตลักษณ์นครน่าน), สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

 

อ้างอิง

ชัยพงษ์ สำเนียง. (2560). พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือจ่ายธุรกิจในภาคเหนือของไทย พ.ศ. 2446-ปัจจุบัน.โครงการวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์” ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.)

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ. (2543). พงศาวดารเมืองน่าน. เชียงใหม่ : ธนุชพริ้นติ้ง (โรงพิมพ์ดาว).

พูนพร พูลทาจักร. (2530). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในมณฑลพายัพหลังการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สกินเนอร์, จี. วิลเลียม. (2548). สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. (พรรณี ฉัตร พลรักษ์ และคณะ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

 

สัมภาษณ์

ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้า ศูนย์น่านศึกษา (หออัตลักษณ์นครน่าน), สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ณฤต พุฒิกุลางกูร, สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ครองพรรณ พุฒิกุลางกูร, สัมภาษณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

จามรี เต็งไตรรัตน์,สัมภาษณ์วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น