“กรุงเทพฯ เมืองหลวง ปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย”
ปาฐกถาพิเศษ โดย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในงานเสวนา “ย้ายเมืองหรืออยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ ?”
วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น.-16.00 น.
ณ ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ชัชชาติ ผู้ว่าฯ เปิดประเด็นสำคัญว่าด้วยปัญหาของเมือง “น้ำท่วม เมืองทรุด น้ำทะเลหนุน รถติด การจราจร คุณภาพชีวิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่อาศัยราคาแพง ผังเมืองไม่ดี ฯลฯ” หลากหลายปัญหาซึ่งโหดร้ายยิ่งกว่าเรื่องน้ำท่วม นำมาสู่คำถามที่ว่า “ทำไมต้องย้ายกรุงเทพฯ?”
“น้ำท่วมเป็นปัญหาสำคัญ แต่การย้ายเมืองหลวงมีมิติอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เราย้ายในสมัยสุโขทัย หรือย้ายจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพฯ ซึ่งนั่นย้ายโดยราชการ เพราะเมื่อก่อนเศรษฐกิจควบคุมจัดการโดยภาครัฐ แต่ปัจจุบันเป็น Market Control ไปแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่ตัดสินใจอาจจะไม่ใช่รัฐบาลด้วยซ้ำ อย่างขณะนี้จะเห็นได้ว่าภาคเอกชนได้ย้ายการลงทุนออกไปจากกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองแอ่งกะทะ สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1-1.5 เมตร จุดที่จะดูความน่ากลัวของน้ำท่วมกรุงเทพฯ ดีที่สุดคือประตูระบายน้ำพระโขนง ถ้าประตูระบายน้ำพระโขนงแตก น้ำจะท่วมทั่วกรุงเทพฯ น้ำทุกหยดในกรุงเทพฯ จะต้องผ่านคลอง ผ่านท่อระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาค่อนข้างสูง และมีคันกั้นน้ำตลอดระยะทางไปถึงอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำใหม่ การตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน เสี่ยงต่อการทรุดตัวของดิน แต่ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่าสำหรับเมืองกรุงเทพฯ คือระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มีข้อมูลที่ระบุว่ากรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 เมืองที่มีโอกาสจมน้ำเร็วที่สุดในโลก”
อย่างไรก็ตาม “ปัญหาการจราจร เรื่องคุณภาพชีวิต ระบบสาธารณสุขที่คนจนลำบาก ศูนย์เด็กเล็กที่ขาดแคลนงบประมาณ พื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้อาจจะหนักหนากว่าประเด็นน้ำท่วม... น้ำท่วมเกิดจากปัญหาการระบายน้ำออกจากพื้นที่ เนื่องจากขยะอุดตัน มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของ Behavior (พฤติกรรม) ปัญหาคอขวดของการระบายน้ำลงสู่ทะเล ผลของสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น น้ำทะเลหนุน และน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ”
การปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย และการย้ายเมืองคืออะไร ? เป็นสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ ชักชวนให้มาช่วยกันหาคำตอบ
“ปัญหาราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นจากการกระจุกตัวของเมือง เมืองขยายขณะที่คนถูกผลักออกไปอยู่พื้นที่รอบนอก ปัญหาการออกแบบผังเมืองและความต่อเนื่องของผังเมือง... เมืองคือคน เมืองคือตลาดแรงงาน (Labor Markets) อดีตเราย้ายเมืองกันได้ เพราะราชการเป็นเจ้าของ Labor Markets ราชการเป็นผู้จ้างงาน เพราะฉะนั้นอยากย้ายไปไหนก็ได้ แต่ปัจจุบันคนที่จ้างงานส่วนใหญ่คือภาคเอกชน ราชการจึงแทบไม่มีอำนาจในการย้ายเมือง การย้ายเมืองคือการย้ายคน ย้ายเศรษฐกิจ การย้ายราชการจึงแทบไม่มีความหมาย เมืองไหนที่มีราชการเยอะแสดงว่าเมืองนั้นล้าสมัย ดังนั้นจึงอย่าไปคิดว่าราชการจะย้ายเมืองได้เอง เพราะการค้าและเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐอีกต่อไป ตัวอย่างการย้ายเมืองของต่างประเทศ เช่น บราซิล ย้ายเมืองหลวงจากนครริโอ เดอจาเนโร ไปบราซิเลีย แต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังอยู่ที่ริโอ เดอจาเนโร ขณะที่บราซิเลียเป็นเมืองสวยงาม ผังเมืองดี แต่ความเป็นเมืองราชการก็จะขาดชีวิตจิตใจ ขาดองค์ประกอบในการใช้ชีวิต หรือกรณีการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
“แทนที่จะคิดถึงเรื่องการย้ายเมือง อาจต้องคิดเรื่องการกระจายเมือง ขยายความเจริญออกไปตามย่านต่างๆ ปัจจุบันคนอยู่ในเมืองไม่ได้เพราะราคาที่อยู่อาศัยในเมืองแพง ประชากรต้องหนีออกไปอยู่พื้นที่รอบนอก เช่น เขตสายไหม มีนบุรี การที่ออฟฟิศอยู่ในเมือง แต่ที่อยู่อาศัยอยู่นอกเมือง ทำให้รถติด ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ยาก ควรใช้แนวทางการแก้ปัญหาเช่นเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่กระจายความเจริญของเมืองออกจากศูนย์กลางพัฒนาเป็นย่านที่สำคัญต่างๆ และออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมการใช้ชีวิต เป็นเมืองย่อยในเมืองใหญ่ กระจายเมืองมากขึ้น เอางานไปใกล้คนมากขึ้น
“ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่แก้ได้ด้วยการสร้างแก้มลิงที่กักเก็บน้ำ ขุดและขยายคลองเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำ ทำแนวกั้นน้ำ กรณีน้ำทะเลขึ้นสูง… การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย การเปลี่ยนรูปแบบของงานในอนาคต “อนาคต Location เป็นเรื่องไม่สำคัญแล้ว คนสามารถย้ายการทำงานไปอยู่บน Cloud กันหมดแล้ว ขาย Digital Service ผ่านระบบออนไลน์ อนาคตเมืองจะเปลี่ยนไป รวมถึงการให้บริการของระบบราชการ หากอยากจะย้ายกรุงเทพฯ ย้ายการให้บริการทั้งหมดไปอยู่บน Cloud ให้มีประสิทธิภาพ ให้เกิดความโปร่งใส เช่นการใช้แพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ในการแจ้งเรื่องร้องเรียน ดังนั้นรูปแบบการทำงานในอนาคตอย่าไปยึดติดกับพื้นที่ ดังนั้นการย้ายเมืองหลวง ผมเชื่อว่าการให้บริการสามารถใช้ดิจิทัล ไม่ต้องรู้ว่าคนให้บริการอยู่ที่ไหน ก็สามารถรับการบริการได้ อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องความโปร่งใส กล่าวโดยสรุปคือการย้ายเมืองหลวงอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วม การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องที่เราจะสั่งการ ต้องเกี่ยวข้องกับหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ ในเบื้องต้นคงต้องช่วยกันปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้นก่อน”
เชิญชมเสวนาย้อนหลังได้ทาง YouTube Muang Boran journal คลิก https://youtu.be/wRiYmVLt0gw
Highlight งานเสวนา คลิก https://youtu.be/tYdqmHgjzOk