เขาสามแก้ว : เมืองท่ายุคแรกบนเส้นทางสายไหมทางทะเล
หนังสือหนังหา

เขาสามแก้ว : เมืองท่ายุคแรกบนเส้นทางสายไหมทางทะเล

 

ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ได้มีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่พื้นที่เขาสามแก้ว บ้านสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยเป็นความร่วมมือทางวิชาการครั้งสำคัญของไทยและฝรั่งเศส ซึ่งนำโดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (Centre national de la recherche scientifique, CNRS) เพื่อศึกษาถึงพัฒนาการของแหล่งโบราณคดีที่เขาสามแก้ว ที่สันนิษฐานว่ามีความสำคัญในฐานะเมืองท่ายุคแรกเริ่ม ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ 

 

ผลจากการขุดค้นและศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ ได้เผยแพร่ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Khao Sam Keao: An Early Port City between the Indian Ocean and the South China Sea” จัดพิมพ์โดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École française d'extrême-Orient) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 โดยมี เบเรนิซ เบลลิน่า (Bérénice Bellina) นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส เป็นบรรณาธิการ

 

ภายในเล่มประกอบด้วยบทความต่างๆ ของทีมผู้วิจัย นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี พร้อมด้วยการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อสันนิษฐานและข้อเสนอแนะ ทั้งในด้านธรณีวิทยาทางโบราณคดี โบราณคดีพฤกษศาสตร์ ระบบการตั้งถิ่นฐาน การแลกเปลี่ยน และอุตสาหกรรมในยุคโบราณ โดยนำเสนอเป็นบทความภาษาอังกฤษ และมีบทคัดย่อภาษาไทยประกอบอยู่ในแต่ละบท 

 

สาระสำคัญของการศึกษาในครั้งนี้  ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเขาสามแก้ว ที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรไทย-มาเลย์ เป็นเมืองท่าในยุคโบราณและเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเล (The Maritime Silk Road) จากโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะดินเผา ลูกปัดสี หินมีค่า โลหะ และกลองมโหระทึก อาจกล่าวได้ว่าเขาสามแก้วเป็นเมืองท่าแห่งแรกในแถบทะเลจีนใต้ ที่มีระบบผังเมืองและอุตสาหกรรม มีอายุราวศตวรรษที่ 4 - ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล สันนิษฐานว่าเมืองท่าที่เขาสามแก้วอาจจะมีพัฒนาการมาก่อนการเดินเรืออ้อมคาบสมุทร โดยใช้เส้นทางผ่านหุบเขาและลำน้ำต่างๆ ในแถบคอคอดกระ เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างอ่าวเบงกอลกับทะเลจีนใต้

 

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของเขาสามแก้ว เมืองโบราณสำคัญในเส้นทางข้ามคาบสมุทร (ที่มา : วารสารเมืองโบราณ) 

 

ด้วยเหตุนี้ เขาสามแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายทางของเส้นทาง จึงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อและเป็นที่พักของชาวต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนและผลิตสินค้าที่มีลักษณะผสมผสานทางวัฒนธรรม ทั้งจากเครือข่ายชุมชนโบราณตามชายฝั่งทะเลจีนใต้และจากภายนอก โดยเฉพาะจากเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ก่อนจะส่งออกไปยังที่อื่นๆ

               

ภายในเล่ม แบ่งออกเป็นบทต่างๆ ตามลักษณะของวิธีการศึกษาและกลุ่มโบราณวัตถุที่พบ ดังนี้

ส่วนที่ 1 ภูมิศาสตร์ของคาบสมุทรตอนบนและสภาพแวดล้อมบรรพกาล (Palaeoenvironment) ของพื้นที่เขาสามแก้ว เสนอวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์โบราณคดี ได้แก่ ธรณีวิทยาทางโบราณคดี (Geoarchaeology) และ โบราณคดีพฤกษศาสตร์ (Archaeobotany) 

 

จาก การศึกษาด้านธรณีวิทยาทางโบราณคดีที่เขาสามแก้ว โดย S. Jane Allen แสดงให้เห็นถึงปัจจัยของสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการและความโรยราของชุมชนโบราณที่เขาสามแก้ว พบว่าเขาสามแก้วมีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีผืนดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก มีผืนป่าที่อุดมไปด้วยของป่าที่มีค่าในการแลกเปลี่ยนสินค้า และมีแม่น้ำสายหลักที่มีปริมาณน้ำจืดเพียงพอต่อผู้ตั้งถิ่นฐานและผู้มาเยือน ทั้งยังเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งขึ้นไปยังพื้นที่ตอนเหนือ ขณะที่หลักฐานทางธรณีสัณฐานวิทยาพบการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการตั้งถิ่นฐานในยุคต่อๆ มา ได้แก่ การกัดเซาะของชั้นดิน การเปลี่ยนเส้นทางน้ำ และการยื่นล้ำของแผ่นดินที่เกิดจากตะกอนดินงอกตามชายฝั่งทะเล

 

ส่วน การศึกษาทางโบราณคดีพฤกษศาสตร์ โดย Cristina Castillo ได้นำเสนอถึงระบบเกษตรกรรมในพื้นที่ และการเคลื่อนย้ายของผู้คนตามเส้นทางแลกเปลี่ยนโดยการศึกษาผ่านเมล็ดพันธุ์ต่างถิ่นที่พบในแหล่ง โดยหลักฐานที่พบมีทั้งประเภทธัญพืชและถั่ว ทั้งแบบเต็มเมล็ดและชิ้นส่วนขนาดเล็กๆ ได้แก่ ข้าว ข้าวฟ่างหางหมา (Foxtail millet) ถั่วเขียว ถั่วฮอร์สแกรม (Horse-Gram) และรำข้าว โดยที่สำคัญและน่าสนใจคือ ข้าวฟ่างหางหมา ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของจีน เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังพบไม่มากนักในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังพบหลักฐานพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อีก ได้แก่ ชิ้นส่วนเมล็ดฝ้ายและดีปลี ผู้ศึกษายังได้ทำการวิเคราะห์กลุ่มวัชพืชที่พบร่วมกับข้าว เพื่อให้เห็นถึงสภาพพื้นที่ในอดีตว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง (Dryland) หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงระบบการเพาะปลูกในพื้นที่เขาสามแก้ว ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายได้

 

นอกจากนี้ยังมีบทความที่กล่าวถึงมีการวิเคราะห์ยางไม้ ด้วยกระบวนการ GC-MS (Gas chromatography–mass spectrometry) ศึกษาโดย Pauline Burger Armelle Charrie-Duhaut  Jacques Connan และ Pierre Albrecht ทำการวิเคราะห์ชิ้นส่วนยางชันที่ได้จากการขุดค้นจำนวน 2 ชิ้น เพื่อระบุคุณลักษณะทางชีววิทยา โครงสร้างโมเลกุล และชนิดของสายพันธุ์

 

ส่วนที่ 2 การตั้งถิ่นฐานที่เขาสามแก้ว เริ่มต้นด้วยเรื่องรูปแบบสัณฐานและขอบเขตของเมือง การจัดระบบการตั้งถิ่นฐานตามรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย จากการศึกษาของ Bérénice Bellina และ Vincent Bernard พบว่าการตั้งถิ่นฐานที่เขาสามแก้วในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีการแบ่งแนวเขตด้วยลักษณะภูมิประเทศโดยธรรมชาติและแนวคันดินที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์โดยรอบบริเวณพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งระบบการทำคันดินล้อมรอบเช่นนี้ ไม่พบในแหล่งอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ร่วมสมัยกับที่เขาสามแก้ว ยกเว้นที่แหล่งโบราณคดี Co Lao ทางตอนเหนือของเวียดนามที่พบว่ามีการทำคูเมืองล้อมรอบพื้นที่

 

นอกจากนี้แนวคันดินที่สร้างตัดขวางหุบเขา ยังทำเพื่อประโยชน์ในการจัดการน้ำอีกด้วย จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณต่างๆ ยังแสดงให้เห็นว่ามีการแบ่งพื้นที่ตามลักษณะการใช้ประโยชน์หรือกิจกรรม เช่น แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งฝังศพ และแหล่งผลิตงานช่างฝีมือ เช่น ภาชนะดินเผา หินมีค่า โลหะ นอกจากนี้ยังเสนอเรื่องการลำดับช่วงเวลาของแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว ด้วยการหาค่าอายุโบราณวัตถุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี และการกำหนดอายุตราประทับที่มีจารึก

 

อีกบทความที่น่าสนใจในส่วนนี้คือ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ของเมืองท่ายุคแรกเริ่ม โดย Julie Malakie และ Andrew Bevan ที่ใช้วิธีการทางสถิติ เพื่อทำความเข้าใจการกระจายตัวของข้อมูลและโบราณวัตถุที่พบในบริเวณต่างๆ ในพื้นที่เขาสามแก้ว

 

ส่วนที่ 3 การศึกษาระบบสังคมเทคโนโลยี  จากโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผา หิน โลหะ และตราประทับ สะท้อนให้เห็นถึงระบบอุตสาหกรรมและเครือข่ายการค้าในยุคเริ่มแรก จากการศึกษาภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ ที่พบในบริเวณเขาสามแก้วของ Phaedra Bouvet  พบว่า สามารถกำหนดอายุได้ราวศตวรรษที่ 4 – ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล พบทั้งกลุ่มภาชนะดินเผาในท้องถิ่น และกลุ่มภาชนะดินเผาอินเดีย ซึ่งรวมถึงที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือกรรมวิธีการผลิต เช่น กลุ่มภาชนะดินเผาขัดมันสีดำและแดง (Lustrous Black and Red Wares) กลุ่มภาชนะดินเผาที่ขึ้นรูปโดยใช้แป้นหมุนแบบที่พบในอินเดีย เป็นได้ว่าอาจนำเข้ามาจากอินเดีย หรือผลิตขึ้นโดยช่างในท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดวิธีการผลิตมาจากช่างชาวเอเชียใต้ แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยน การติดต่อสัมพันธ์ และการเคลื่อนย้ายของผู้คน ทั้งพ่อค้าและช่างฝีมือ นอกจากนี้ยังพบกลุ่มภาชนะดินเผาที่ผลิตขึ้นในแถบทะเลจีนใต้ประเภท Sa Huynh-Kalanay ซึ่งพบมากใน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว และคาบสมุทรไทย-มาเลย์ และยังพบเครื่องจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นจำนวนมากอีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อกันระหว่างแหล่งต่างๆ ในบริเวณทะเลจีนใต้

 

ส่วนกลุ่มโบราณวัตถุประเภทหินมีค่าและเครื่องประดับทำจากหิน ซึ่งเป็นหลักฐานที่พบอยู่เป็นจำนวนมากที่เขาสามแก้ว จากการวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการผลิตโดย Bérénice Bellina พบว่ามีทั้ง รูปแบบทะเลจีนใต้ ชนิดที่ทำจากหินซิลิเลียส (Siliceous) คุณภาพสูงจากเอเชียใต้ และที่ผลิตจากหินหยกประเภทเนไฟรต์ (Nephrite) และไมก้า (Mica) ที่เป็นวัตถุดิบในแถบทะเลจีนใต้ และ รูปแบบเอเชียใต้ ที่ผลิตจากหินซิลิเลียสคุณภาพสูง และมีการใช้สัญลักษณ์มงคลแบบที่พบในแถบเอเชียใต้

 

หินหยกประเภทเนไฟรต์และไมก้า ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่พบและมีความน่าสนใจ Hsiao Chun Hung และ Yoshiyuki Ilzuke ได้ทำการศึกษาโบราณวัตถุที่ทำด้วยหยก หรือหินคล้ายหยกที่พบจากการขุดค้นที่เขาสามแก้ว ด้วยการวิเคราะห์ทางธรณีเคมีเพื่อหาแหล่งที่มาของหินประเภทนี้ พบข้อมูลสำคัญว่าแร่เนไฟรต์มีแหล่งวัตถุดิบมาจากไต้หวัน ส่วนไมก้ามาจากฟิลิปปินส์ อีกทั้งพบว่าที่เขาสามแก้วเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่ทำจากหินไมก้าเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับที่มีเครือข่ายการค้าทางทะเลที่กว้างขวางในภูมิภาค และใช้วัตถุดิบจำนวนมากที่นำเข้ามาจากโพ้นทะเล ซึ่งอาจรวมถึงการเคลื่อนย้ายของช่างฝีมือจากภายนอก หรือการถ่ายทอดความรู้ให้ช่างท้องถิ่น

 

เช่นเดียวกับโบราณวัตถุที่ทำด้วย แก้ว (Glass) ซึงพบอยู่เป็นจำนวนมาก จากการศึกษาของ Laure Dussubieux และ Bérénice Bellina พบว่าเขาสามแก้วเป็นทั้งศูนย์การผลิตและการแลกเปลี่ยนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบโบราณวัตถุที่ทำด้วยแก้ว ราว 2,500 ชิ้น มีทั้งลูกปัด กำไล และเศษวัตถุที่เป็นแก้ว จากการวิเคราะห์ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์พบว่ามีทั้งวัตถุดิบจากแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและจากทางตอนใต้ของจีน นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุที่ทำด้วยแก้วแบบเดียวกับที่เขาสามแก้ว ในบริเวณอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์

 

หลักฐานทางด้านอุตสาหกรรมโลหะที่เขาสามแก้ว ทำการศึกษาโดย Thomas Oliver  Pryce Mercedes Murillo Barroso Lynn Biggs  Marcos Martinon-Torres และ Bérénice Bellina พบว่ามีการใช้และการผลิตโลหะหลายประเภท ได้แก่ ทองคำ เหล็ก ทองแดง และสำริด ซึ่งที่น่าสนใจคือ การผลิตสำริดที่มีส่วนผสมของดีบุก ด้วยเทคนิคแบบเอเชียใต้  ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของช่างฝีมือจากเอเชียใต้ และมีแหล่งผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในบริเวณคาบสมุทร  ส่วนเครื่องมือประเภทขวานหิน ก็พบอยู่มากเช่นกัน จากการศึกษาของ Tessa Boer-Mah เสนอว่ามีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าขวานหินที่พบจากภูมิภาคอื่นของประเทศ เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์

 

หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงเครือข่ายการค้าระหว่างอ่าวเบงกอลและทะเลจีนใต้คือ ตราประทับ จากการศึกษาตราประทับที่พบในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว โดย Brigitte Borell พบว่ามีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่มีจารึกและแบบที่มีสัญลักษณ์มงคลแบบเอเชียใต้ นอกจากนี้ยังพบตราประทับทองแดงแบบจีนด้วย รวมถึงรูปแกะสลัก จำพวกหัวแหวนที่ทำเป็นรูปต่างๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าตราประทับเหล่านี้น่าจะเป็นของกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางเข้ามา

 

รายงานการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วเล่มนี้ ถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในการศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับพัฒนาการของบ้านเมืองยุคแรกเริ่มบนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ด้วยการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมในหลายด้าน ทั้งสภาพภูมิศาสตร์และกลุ่มโบราณวัตถุประเภทต่างๆ โดยมีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์โบราณคดีมาร่วมด้วย สามารถชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและขยายภาพความเป็นเมืองท่าและนครรัฐในยุคเริ่มแรกของ “เขาสามแก้ว” ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่นๆ ในแถบทะเลจีนใต้ และเอเชียใต้ได้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ        

 

               

ขอขอบคุณ

สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ