เมืองฟ้าแดดสูงยาง หรือฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านเสมา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านก้อม” ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2479 จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2510 พบร่องรอยโบราณสถานทั้งหมด 14 แห่ง รวมถึงพระพิมพ์ จารึก ภาชนะดินเผา และที่สำคัญคือใบเสมาหิน พบทั้งแบบเรียบไม่มีลวดลาย และที่จำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติและชาดก ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษที่โดดเด่น บางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม (วัดบ้านก้อม) แต่บางส่วนก็ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่อื่น เช่น ศาลหลักเมืองกาฬสินธุ์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
ใบเสมาจำหลักภาพพุทธประวัติ ตอนนางพิมพาพิลาป พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึงใบเสมาหินที่เมืองฟ้าแดดสูงยางไว้ว่า “ใบเสมาเมืองฟ้าแดดสูงยาง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น จำหลักเป็นรูปจากคัมภีร์ปฐมสมโพธิ ตอนนางพิมพาพิลาป เป็นศิลปทวารวดีที่ประทับใจยิ่งนัก การใช้เส้นอ่อนหวานกับการจัดภาพอันได้สัดส่วนพอดี ทำให้รูปจำหลักนี้มีค่าทางศิลปเป็นเอกเหนือกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน... ยังมีใบเสมาจำนวนหลายสิบแผ่น ซึ่งล้วนมีขนาดสูงใหญ่ ค้นพบในอาณาบริเวณของเมืองฟ้าแดดสูงยาง ได้รวบรวมไว้จุดเดียวกันที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม โดยนำมาปักไว้รอบๆ เป็นอาณาเขตวัด และที่รอบอุโบสถวัดแห่งนี้ ก็มีใบเสมาประดิษฐานอยู่แปดทิศ มีขนาดเดียวกันแทบทั้งสิ้น เรื่องราวที่จำหลักล้วนเป็นเรื่องจากชาดก...”
ลายเส้นอ่อนหวานกับการจัดภาพอันได้สัดส่วนพอดี ถือเป็นความงดงามของใบเสมาจำหลักภาพเล่าเรื่องที่พบในบริเวณเมืองฟ้าแดดสูงยาง
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
“พระพุทธรูปที่ปรากฎรอยจำหลักบนแผ่นเสมาเมืองฟ้าแดดสูงยางนี้เป็นพระพุทธรูปแบบทวารวดี บางรูปก็ประทับนั่งห้องพระบาทแบบนั่งเก้าอี้ ลวดลายที่ปรากฎเป็นลายเครือเดียวกับที่พบยังแหล่งศิลปทวารวดีแหล่งอื่นๆ ไป ศิลปทวารวดีที่นี่แม้ว่าจะมีรูปลักษณะของศิลปะคล้ายกับที่อื่นๆ แต่ก็มีคติบางอย่างที่ผิดเพี้ยนกันไป เช่น การสร้างใบเสมาขนาดใหญ่โตมโหฬารจำนวนมากเช่นนี้ ไม่เคยพบในอาณาจักรทวารวดีแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาเลย”
อ่านบทความ "ศิลปที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง" โดย น. ณ ปากน้ำ ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 มกราคม-มีนาคม 2518 ได้ใน 10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67593089/-1-2