เรามักจะคุ้นชินเรื่องราวของ “พระเจ้าตากสิน” ในฐานะพระมหากษัตริย์ยอดนักรบ และวีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติ ซึ่งเป็นพระราชประวัติ “เด่น” ที่ได้รับการเล่าขานในหมู่คนไทยมาโดยตลอด “พระเจ้าตาก” จึงยังมีตัวตนและอยู่ในความรับรู้ของคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย แม้จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ครองกรุงธนบุรีด้วยระยะเวลาเพียง 15 ปี (พ.ศ. 2310-2325) เท่านั้น แม้ว่าในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สถานะของพระองค์อาจไม่ได้รับการยกย่องให้ทัดเทียมกับพระมหากษัตริย์องค์อื่น แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการเทิดพระเกียรติสูงยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดที่เคยมีมา แม้เรื่องราวในพระราชประวัติหลายช่วงหลายตอนจะยังเต็มไปด้วยปริศนาและความคลุมเครือก็ตาม
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ กลายเป็นจุดหมายตา (landmark) สำคัญของฝั่งธนบุรี
ดังที่ทราบกันว่า พระบรมราชานุสาวรีย์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งอยู่ที่วงเวียนใหญ่ ทันทีที่รถเลี้ยวเข้าสู่วงเวียนใหญ่ ศูนย์กลางสำคัญของฝั่งธนบุรี จุดบรรจบของถนนประชาธิปก ถนนลาดหญ้า ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และถนนอินทรพิทักษ์ ภาพ “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ก็ปรากฏขึ้น พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้างรวม 19 ปี (พ.ศ. 2478-2497) และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเงินบริจาคจากประชาชน พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการออกแบบให้อยู่ในชุดทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราช พาหนะคู่พระทัย พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบชูเหนือพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทรงบังเหียน พระเศียรทรงพระมาลาเบี่ยง พระพักตร์ผินไปทางซ้ายเล็กน้อย พระเนตรฉายแววมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว พระขนงขมวดเข้าหากัน เหนือพระโอษฐ์มีพระมัสสุ ประดิษฐานบนแท่นคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝั่งซ้ายขวามีภาพปูนปั้นนูนต่ำแสดงความสิ้นหวังของประชาชนเมื่อครั้งเสียกรุง ภาพทรงเกลี้ยกล่อมให้ประชาชนร่วมกันกู้ชาติ ภาพทรงออกรบ และภาพประชาชนที่อาศัยอยู่อย่างมีความสุขภายหลังได้รับอิสรภาพ
ส่วนด้านหน้าของแท่นคอนกรีตมีข้อความว่า “อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เฉลิมพระบรมราชกฤดาภินิหาร แห่ง สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช พระองค์ผู้ทรงเป็นมหาวีรบุรุษของชาติไทย ประสูติ พ.ศ. ๒๒๗๗ สวรรคต พ.ศ. ๒๓๒๕ รัฐบาลไทยพร้อมด้วยประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันสร้างขึ้นประดิษฐานไว้ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2497 เพื่อเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงเพียรพยายามปราบปรามอริราชศัตรู กอบกู้เอกราชของชาติไทยให้กลับคืนคงดำรงอิสรภาพสืบมา” อนุสาวรีย์มีความสูงจากเท้าม้าสุดยอดพระมาลา 6 เมตร และความสูงของแท่นคอนกรีตอีกราว 9 เมตร ทั้งหมดเป็นผลงานการออกแบบและอำนวยการปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และคณะ พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ นอกจากจะแสดงถึงการยอมรับความมีตัวตนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กษัตริย์ผู้มาจากสามัญชนอย่างเป็นทางการแล้ว พระบรมรูปที่ปรากฏนี้ดูจะกลายเป็นภาพจำของใครหลายคน เมื่อนึกถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
1 ใน 7 แบบพระบรมราชานุสาวรีย์ที่กรมศิลปากรออกแบบให้ประชาชนลงมติเลือก ก่อนสร้าง
พระเจ้าตาก : เรื่องจริง เรื่องเท็จ เรื่องเกร็ดกระซิบ
“...พระเจ้าตาก ท่านเป็นนักรบที่เก่งกาจ กู้ชาติคืนจากพม่า ปราบปรามพวกกลุ่มก๊กที่คิดไม่ซื่อกับแผ่นดิน ฝักใฝ่พม่า ท่านพาผู้คนลงเรือมาปักหลักตั้งบ้านเรือนแถวๆ ที่เป็นพระราชวังเดิม แล้วท่านก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ บางคนว่าท่านเป็นเพียงลูกจีน แต่จริงๆ แล้ว ท่านเป็นพระราชบุตรของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอยุธยา แต่ต้องหลบออกจากวังและปกปิดฐานะที่แท้จริงไว้ ช่วงตั้งกรุงธนบุรีใหม่ๆ บ้านเมืองย่ำแย่ ไม่เรียบร้อย เพราะเพิ่งพ้นสงครามใหญ่ ทุกอย่างต้องตั้งต้นจากศูนย์ พระเจ้าตากต้องยืมเงินจากเมืองจีน พอยืมมากเข้า ไม่มีเงินคืน ท่านจึงวางแผนผลัดแผ่นดินให้รัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์แทน ส่วนพระองค์ได้หลบไปบวชเป็นพระอยู่ที่นครศรีธรรมราช...” เรื่องเล่าอย่างออกรสของคุณลุงเจ้าของแผงเครื่องรางของขลัง บริเวณท้ายวิหารพระเจ้าตากในวัดอรุณราชวราราม
วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ หน่วยงานราชการและประชาชนจะวางพานพุ่มถวายสักการะ เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ในบทความ "ปู่ตาก: ผีเมืองจากศรัทธาประชาชน" โดย เกสรบัว อุบลสรรค์ ที่ วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2560)