เค้าเงื่อนเรื่อง ‘พระแก้ว’ ที่ลำปาง?
คลังบทความ

เค้าเงื่อนเรื่อง ‘พระแก้ว’ ที่ลำปาง?

 

ในบทความ “เรื่องชวนคิดที่อาจจะเป็นไปได้เกี่ยวกับเค้าเงื่อนพระแก้วคู่บัลลังก์พุทธจักรเชียงแสนที่ลำปาง” โดย ศักดิ์ รัตนชัย มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระแก้วดอนเต้าอย่างน่าสนใจว่า พระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง ก็คือพระแก้วที่เคยประดิษฐาน ณ เกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน ตามที่กล่าวถึงในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61

 

“...ศักราชได้ 744 (พ.ศ.1925) ตัวปีลวงเล้าวันนั้น ยังมีมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อว่าศิริวังโสนำเอาพระพุทธรูป 2 องค์ คือว่า พระแก้วและพระคำมหาธาตุเจ้ามาแต่ช้าคาวมาถึงแล้ว ยามนั้นท่านเล็งเห็นเกาะดอนแท่นที่นั้นเป็นที่พึงใจนัก จักใคร่สร้างวัดสองหลังนี้...สร้างวิหารวัดพระคำไว้ด้านเหนือวิหารพระแก้วไว้ด้านใต้...”

 

เจดีย์ประธานวัดพระแก้วดอนเต้า (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

โดยผู้เขียนเชื่อว่าเมืองช้าคาว ก็คือ ชากังราว เมืองสุโขทัย ซึ่งผู้เขียนระบุว่ามีความสอดคล้องกับลักษณะพุทธศิลป์ของพระแก้วดอนเต้าที่ปรากฏอิทธิพลเชิงช่างสมัยสุโขทัย ต่อมาจึงถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายลงมาประดิษฐาน ณ วัดพระแก้วดอนเต้าเมื่อคราวเชียงแสนแตก และถูกย้ายมาเก็บรักษายังวัดพระธาตุลำปางหลวงจนกระทั่งปัจจุบัน

 

พระแก้วดอนเต้า ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

 

ส่วนพระแก้วมรกตรัตนพิมพ์ หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนั้น ผู้เขียนตีความว่าสร้างขึ้นในสมัยท้าวมหาพรหม เมืองเชียงราย โดยโปรดให้คนจำลองแบบมาจากพระแก้วที่ประดิษฐาน ณ เกาะดอนแท่น ดังปรากฏพุทธศิลป์ว่าได้รับอิทธิพลเชิงช่างสมัยเชียงแสน ครั้นต่อมาท้าวมหาพรหมประชวรหนักจึงออกอุบายให้นำพระแก้วมรกตรัตนพิมพ์ไปพอกปูนจนทั่วแล้วลงรักปิดทองบรรจุลงย่ามใบใหญ่ไปใส่ในโพรงเหนือองค์พระเจดีย์ สมัยต่อมาเกิดฟ้าผ่าขึ้นที่พระเจดีย์นั้น พระแก้วมรกตที่ถูกเก็บซ่อนไว้จึงปรากฏขึ้นอีกครั้ง

 

พระแก้วมรกตรัตนพิมพ์หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

 

พระพุทธรูปขุดพบในบริเวณกุฏิร้าง วัดพระแก้วดอนเต้า 

 

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน ศักดิ์ รัตนชัย, “เรื่องชวนคิดที่อาจจะเป็นไปได้เกี่ยวกับเค้าเงื่อนพระแก้วคู่บัลลังก์พุทธจักรเชียงแสนที่ลำปาง” ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 (เม.ย.-พ.ค.2522), หน้า 69-80. อ่านฉบับเต็มคลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67682791/-5-4

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ