“เล้าข้าว” เป็นภาษาถิ่นอีสานใช้เรียกสิ่งปลูกสร้างที่ใช้สำหรับเป็นที่เก็บข้าวเปลือก ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “ยุ้ง” หรือ “ฉาง” ที่เรียกกันในภาคกลาง นอกจากนี้ในภาคอีสานยังมี “ซอมข้าว” สร้างยกพื้นเตี้ยๆ หรืออยู่ติดกับพื้นดินที่ปรับให้เรียบเสมอกัน แล้วใช้ไม้ไผ่สานกั้นเป็นรูปวงกลม ทำหลังคาคลุม ใช้สำหรับเป็นที่เก็บข้าวเปลือกแต่บรรจุได้ไม่มากนัก
จากการศึกษาของอาจารย์สมชาย นิลอาธิ พบว่าเล้าข้าวในภาคอีสานโดยทั่วไปมีลักษณะรูปร่าง รูปทรง และโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกัน คือ เป็นอาคารที่สร้างแยกออกจากตัวบ้าน ยกใต้ถุนสูงจากพื้น 1-2 เมตร นิยมสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2-4 ช่องเสา ขนาดของเล้าข้าวจะสัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวพันกับจำนวนพื้นที่ทำนาและปริมาณผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี
เล้าข้าวตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้าน แต่จะสร้างแยกออกจากเรือนที่อยู่อาศัยและนิยมยกใต้ถุนสูง 1-2 เมตร
วัสดุที่ใช้ทำส่วนต่างๆ ของเล้าข้าว เป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบโครงสร้างของเล้าข้าวสะท้อนถึงภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยเล้าข้าวที่ดีจะต้องรองรับน้ำหนักข้าวได้จำนวนมากและเก็บรักษาได้อย่างมิดชิด กันแดด-ฝน และปลอดภัยจากสัตว์ที่อาจมารบกวน หลังคาเล้าข้าวที่พบในภาคอีสาน นิยมทำเป็นทรงจั่ว รุ่นแรกๆ จะมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก หญ้าคา ต่อมาจึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้แผ่นไม้หรือสังกะสีเพื่อความคงทนถาวร พื้นเล้าข้าวจะใช้ไม้เนื้อแข็งปูเรียงกันโดยจะต้องทำการตี “ลีกไม้” ระหว่างร่องกระดานเพื่อปิดให้สนิท ป้องกันไม่ให้ข้าวเปลือกร่วงหล่นลงไป โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรตีปิดร่อง หรือใช้แผ่นไม้กระดานตีทับตามแนวร่องกระดานก็ได้
ส่วนฝาเล้าข้าว รุ่นแรกนิยมใช้ไม้แซง ไม้แขม หรือไม้ไผ่ นำมาจักเป็นเส้นกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร นำมาสานเป็นลายขัดธรรมดา แล้วนำขี้วัวขี้ควายที่ผสมเข้ากับดินโคลนและน้ำ ทาให้ทั่วทั้งฝาเพื่ออุดรอยรั่ว ขั้นตอนนี้ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า “เปี๋ย” ต่อมาภายหลังนิยมนำไม้จริงมาทำฝาเล้าข้าวเพราะมีความคงทนมากกว่า แต่ก็ต้องตีลีกไม้เพื่อปิดร่องกระดานเหมือนอย่างการทำพื้นเล้าข้าว
การเข้าฝาใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ แล้วเอาขี้วัว ขี้ควาย ผสมน้ำและดินโคลน มาทาให้ทั่วเพื่ออุดรอยรั่ว
การสร้างเล้าข้าวยังมีการออกแบบส่วนประกอบอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะโดยคำนึงถึงความสะดวกในการใช้สอยเป็นสำคัญ เช่น ประตูเล้าข้าวที่ต่างจากประตูบ้านทั่วไป คือ จะใช้ไม้กระดานหลายแผ่นใส่จากด้านบนของวงกบทีละแผ่นๆ โดยจะทำการเซาะร่องตามแนวตั้งของวงกบทั้งสองข้างไว้สำหรับใส่แผ่นไม้ เวลาเอาข้าวเข้าเล้าจะปิดไม้กระดานทีละแผ่น โดยจะดูจากปริมาณข้าวที่บรรจุอยู่ภายใน การเอาข้าวออกจากเล้าก็จะเปิดไม้กระดานออกทีละแผ่นเช่นเดียวกัน
การทำประตูเล้าข้าวสมัยหลังมักใช้ประตูแบบปิด-เปิด เพราะสะดวกในการก่อสร้างมากกว่า
นอกจากลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแล้ว การสร้างเล้าข้าวในภาคอีสานยังมีคติความเชื่อที่ต้องยึดถือ เช่น ห้ามหันประตูเล้าข้าวไปทางทิศดาวช้าง (ดาวจระเข้) ซึ่งปกติจะขึ้นทางทิศเหนือ เพราะถือว่าช้างจะกินข้าวจนหมด เป็นเหตุให้เก็บรักษาข้าวไม่อยู่ ห้ามหันประตูเล้าข้าวเข้าหาเรือน ห้ามตั้งเล้าข้าวในตำแหน่งทิศหัวนอนของเรือน ห้ามนำไม้ที่รื้อจากเล้าข้าวไปสร้างเรือนพักอาศัย เป็นต้น ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามนี้ คนในบ้านจะอยู่ไม่เป็นสุข มีแต่เรื่องทุกข์ร้อนใจ เจ็บไข้ได้ป่วย
ติดตามอ่านเรื่องเล้าข้าวในวิถีชีวิตชาวอีสาน ทั้งในแง่มุมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและคติความเชื่อได้ในบทความเรื่อง “เล้าข้าว” โดย สมชาย นิลอาธิ ตีพิมพ์ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 (สิงหาคม-พฤศจิกายน 2526) หน้า 121-131 อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67732018/-9-3